ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #217 : ขบถในรัชกาลที่ 3

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 472
      1
      16 เม.ย. 53

     เมื่อเกิดขบถวุ่นวายทางใต้ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๗๕

                เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ผู้กำกับหัวเมืองข้างทะเลหน้าใน และเจ้าพระยาสงขลา ผู้กำกับหัวเมืองชายทะเลหน้านอก นั้นไม่สู้จะถูกกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๑

                ครั้นนั้น เมื่อแรกเกิดเรื่องที่ไทรบุรี ซึ่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและเจ้าเมืองสงขลา มีหน้าที่ช่วยกับระงับเหตุ

                แต่เรื่องราวบานปลาย เพราะบรรดาหัวเมืองทั้งหลายพากันเข้าเป็นฝ่ายตนกูเดนที่เข้ายึดไทรบุรีไว้

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ในรัชกาลที่ ๔) ยกกองทัพลงไป

                เจ้าพระยานครฯ และเจ้าพระยาสงขลาต่างมีใบบอกกราบบังคมทูลกล่าวโทษกันและกัน

                เจ้าพระยานครฯ ว่าเตรียมยกทัพจะไปปราบไทรบุรี จึงได้ให้พระสุรินทร์ ซึ่งเป็นข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ อยู่ ณ เมืองนครฯ เวลานั้น ลงไปเกณฑ์กองทัพเมืองสงขลาและหัวเมืองที่ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้ยกลงมาช่วยกันที่เมืองไทรบุรี

                (ที่มีข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ ลงมาอยู่ด้วยเห็นจะเนื่องจากเจ้าพระยานครฯ เป็นพระญาติสนิททางฝ่ายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ คือเจ้าพระยานครฯ เป็นน้องชายร่วมบิดากันกับเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ เจ้าจอมมารดาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ซึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ยังทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดฯให้ออกไปปลงศพ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (เจ้าพระยานครฯ คนก่อน) ผู้เป็นคุณตา แล้วเลยโปรดฯให้จัดวางแบบแผนการปกครองเมืองนครศรีธรรมราชด้วย)

                แต่ครั้งพระสุรินทร์ลงมาถึงสงขลา เจ้าพระยาสงขลาก็ให้พระสุรินทร์ไปเกณฑ์พวก ๗ หัวเมืองที่ขึ้นกับสงขลาเอาเอง

                ซึ่งพวก ๗ หัวเมืองนั้น นอกจากขัดขืนแล้วยังกำเริบขึ้นเว้นแต่เมืองยิหริ่งหรือยะหริ่ง (อีก ๖ หัวเมือง คือ เมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เมืองสายบุรี เมืองระแงะ)

                เจ้าพระยานครฯ จึงกล่าวโทษเจ้าพระยาสงขลาว่าปล่อยให้พระสุรินทร์ไปเกณฑ์พวกหัวเมืองเอง

    รับเสด็จที่เมืองตรังกานู (รูปทรงถ่าย)

                ฝ่ายเจ้าพระยาสงขลา ก็กล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ ว่า เหตุเกิดเพราะเจ้าพระยานครฯ ปกครองไม่ดีเอง จึงเกิดเรื่องไทรบุรี ซึ่งอยู่การกำกับดูแลของเมืองนครฯ แล้วยังจะมาพาให้เมืองสงขลาต้องรับผิดชอบเกณฑ์พวกหัวเมืองให้ไปรบกันเอง และกล่าวโทษว่า เมื่อพระสุรินทร์ไปเกณฑ์พวกหัวเมืองทั้ง ๗ นั้นได้ไปกะเกณฑ์เอาเงินทองทรัพย์สมบัติเขาด้วย จึงได้พากันกำเริบลุกลามใหญ่โต

                เรื่องเสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ไม่ชอบกันไม่ถูกกัน หรือว่าอย่างสำนวนสมัยใหม่ก็คือ ‘ไม่กินเส้น’ กันนี้ เป็นอยู่แทบทุกรัชกาล

                ควรยกย่องสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกระโน้น ที่ทรงพระปรีชาสามารถให้ ‘เสือ’ อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งต้องพระกรรณหนักและพระราชหฤทัยหนักแน่นให้ ‘เสือ’ ถวายความจงรักภักดี และทำงานให้แผ่นดินอย่างเต็มที่

                ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ที่หลวงอุดมสมบัติ จดไว้ว่า

                “...เป็นข้าแล้วก็รักอยู่ด้วยกันหมดนั่นแหละ...” (ในจดหมายฉบับที่ ๓ ถึงเมื่อวันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ.๒๓๘๑)

                ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ก็มีเรื่องจดไว้ในพระราชพงศาวดารว่า เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายกมีเหตุขัดใจกันกับเจ้าพระยามหาเสนา (สังข์) สมุหพระกลาโหมถึงกราบบังคมทูลฟ้องร้องกัน (มีเรื่องราวจากจินตนาการผสมผสานความเป็นจริงอยู่ใน ‘บุญบรรพ์’ บรรพ ๑)

                โปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นตุลาการตัดสิน

                และด้วย “เป็นข้าแล้วก็รักอยู่ด้วยกันหมด”

                ยังไม่ทันตัดสิน ก็พอดีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคต กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองราชย์

                ทันทีที่เสด็จขึ้นครองแผ่นดิน และทรงแต่งตั้งเสนาบดีขุนนาง ก็โปรดเพิ่มเกียรติยศให้ท่านผู้ใหญ่ทั้งสองท่านมีเกียรติยศสูงสุดเท่าเทียมกัน คือ “ขึ้นเสลี่ยงา กั้นกลด” เข้ามาในพระบรมมหาราชวังทุกวัน

                ขุนนางผู้ใหญ่อื่น นั่งแคร่ไม้ตามแต่จะประดิษฐ์ให้งาม หากแดดร้อนหรือเป็นขุนนางชรามักนั่งแคร่กัญญา คือมีเสารับหลังคาที่เรียกกันว่า หลังคากันแซงเตย (หลังคากระแชงสานด้วยเตย)

                สำหรับเจ้าพระยานครฯ และเจ้าพระยาสงขลานั้นท่านไม่ชอบกันมาแต่รัชกาลที่ ๑ สมัยเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ผู้เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ และบิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)

    สำรับเลี้ยงที่เมืองกลันตัน (รูปทรงถ่าย)

                กับเจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย)

                เมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๑ เมืองใหญ่ทางปักษ์ใต้ มีอยู่ ๒ เมือง คือเมืองถลางทางทะเลนอกเป็นหน้าด่านป้องกันพม่า และเมืองนครศรีธรรมราชกำกับดูแลหัวเมืองทางใต้ รวมทั้งเมืองสงขลา

                ต่อมาพระยาสงขลามีความดีความชอบช่วยตีหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องสำเร็จและต่อมามีพวกแขกสลัดจากทะเล ยกทัพเข้ามายึดเมืองสงขลา พระยาสงขลาถอยไปพัทลุง พอดีเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ยกกองทัพเมืองนครฯ ไปสมทบกับกองทัพพระยาสงขลา ช่วยกันตีพวกแขกสลัดแตกพ่ายไปจากเมืองสงขลา

                ในครั้งนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชดำริ ว่าพระยาสงขลามีฝีมือเข้มแข็ง ดังที่กล่าวกันมาว่าในรัชกาลที่ ๑ นั้น ผู้ใดรบเก่งก็โปรด จึงโปรดฯให้พระยาสงขลาเป็นเจ้าพระยา ให้ช่วยดูแลกำกับหัวเมืองฝ่ายใต้ แบ่งจากเมืองนครฯ เพื่อให้ดูแลกำกับได้ทั่วถึงและทันท่วงทีหากมีเรื่องมีราว

                ถึงรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์ ถึงอสัญกรรม บุตรชายได้เป็นเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ส่วนเจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) ก็ถึงอสัญกรรม ทรงตั้งหลานลุงของเจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาสงขลา (จ๋ง)

                ก็ปรากฏว่า ไม่ชอบกันอีก

                เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลลา) ในรัชกาลที่ ๑ ถึงอสัญกรรม บุตรชายแย่งกันเป็นเจ้าเมือง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งปะแงรัน บุตรชายที่ ๒ เป็นเจ้าเมือง ปัศนูบุตรชายที่ ๓ เป็นพระยาอภัยนุราช (รายามุดา ทำนองอุปราช) ปัศนูนั้นว่าเป็นลูกเมียหลวง

                แต่เมื่อปะแงรันกับปัศนู เกิดขัดแย้งเป็นอริกัน ปรากฏว่า เจ้าพระยานครฯถือท้ายปัศนู ด้วยรังเกียจว่าปะแงรันคบหาฝรั่ง ส่วนพระยาอภัยนุราช (ปัศนู) นั้น ว่าราชการอยู่เมืองสตูล ๑ ใน ๗ หัวเมือง มีเขตแดนติดต่อกับเมืองนครฯ

                แม้พระยาสงขลา (จ๋ง) ซึ่งเป็นพระยาวิเศษภักดีจะไม่ปรากฏว่าได้ถือท้ายปะแงรัน ทว่าทำนองก็จะกล่าวหาว่าเจ้าพระยานครฯ เป็นเหตุให้เจ้าพระยาไทรฯเอาใจออกห่างจากไทย เอาใจไปเผื่อแผ่พม่าบ้าง ฝรั่งบ้าง

                จนกระทั่งพระยาสงขลา (จ๋ง) ถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ ๓ โปรดฯตั้งน้องชายพระยาสงขลา (จ๋ง) เป็นพระยาวิเชียรคิรีศรีสมุทรสงคราม เป็นพระยาสงขลา (เซ่ง) แทน

                พระยาสงขลา (เซ่ง) ก็เช่นเดียวกับบรรพบุรุษ คือไม่ชอบกันกับเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ดังที่เล่ามาแต่ต้นว่า ต่างมีใบบอกกราบบังคมทูลกล่าวโทษกันและกัน เมื่อแขกสลัดกับตนกูเดนเข้ายึดเมืองไทรบุรี พ.ศ.๒๓๗๕

    หมายเหตุท้ายตอน

                ค้นหาภาพประกอบให้ตรงเรื่องหายากจริงๆ บังเอิญในหนังสือ เรื่อง “เสดจประพาสแหลมมลายู เมื่อ ร.ศ.๑๐๘ ๑๐๙ ๑๑๗ ๑๒๐ รวม ๔ คราว”

    (เวลานั้นยังไม่ได้พระราชทานเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู แกอังกฤษเพื่อแลกกับสัญญาให้คนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษขึ้นศาลไทย)

                หนังสือนี้ โปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดาราฯ กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา พ.ศ.๒๔๖๘

                ซึ่งมีภาพประกอบหลายภาพ

                สองภาพที่นำมาลงนี้ เป็นภาพฝีพระหัตถ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

                ภาพที่ ๑ ราษฎรรับเสด็จที่เมืองตรังกานู

                ภาพที่ ๒ สำรับอาหารที่จัดเลี้ยงเมืองกลันตัน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×