ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #208 : ศิลปะยุคต้นรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 355
      0
      15 เม.ย. 53

       ภาพประกอบที่เป็นภาพวาดในตอนนี้นำมาจากภาพจำลองประกอบโคลงบาทที่ ๒ ของโคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ คือ

                            “มโน มอบพระผู้      เสวยสวรรค์
                แขนมอบถวายทรงธรรม์        เทอดหล้า
                ดวงใจมอบเมียขวัญ              และแม่
                เกียรติศักดิ์รักของข้า            มอบไว้แก่ตัว”

                ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระองค์นั้น ทรงมีพระราชปรารภเอาไว้ เมื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลงพิมพ์ในหนังสือ ‘ดุสิตสมิต’ ดังนี้

                “นักรบฝรั่งเศสโบราณมีภาษิตอยู่อัน ๑ สำหรับเป็นบรรทัดฐานแห่งความประพฤติของเขา เป็นภาษิตที่น่าจับใจยิ่งนัก มีข้อความดังต่อไปนี้ “................” ภาษิตบทนี้เป็นที่จับใจข้าพเจ้ายิ่งนัก จึ่งได้นิพนธ์เทียบเป็นคำโคลงภาษาไทยขึ้นไว้ว่า “.................”

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ทอดบนพระราชบัลลังก์ (พระแท่นมหาเศวตฉัตร) ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เบื้องหลังคือพระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมาน

                เมื่อแต่งโคลงแล้ว ข้าพเจ้าได้ให้นายช่างชาติอิตาเลี่ยนในกรมศิลปากร ชื่อริโกลี เขียนภาพขึ้นไว้ ๔ ภาพ เพื่อประกอบโคลงบทนั้นบาทละภาพ ภาพทั้ง ๔ นี้ คณะ ‘ดุสิตสมิต’ ได้ขออนุญาตจำลองลงพิมพ์ใน ‘ดุสิตสมิต’ พร้อมกับโคลง

                ภาพนั้นนายช่างได้เขียนด้วยสีน้ำอย่างวิจิตร แต่ครั้นว่าจะจำลองเป็นหลายสีก็เกรงว่าจะไม่ได้งดงามเพียงพอ จึ่งได้ให้จำลองเป็นสีเดียว ซึ่งเป็นของที่ทำได้ดีโดยแน่นอน และ ‘ดุสิตสมิต’ ได้นำภาพเหล่านี้ลงในระหว่างเวลาที่เสือป่ากองเสนาหลวงรักษาพระองค์กำลังชุมพลอยู่ในสนามจันทร์ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๖๑”

                (วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันพระบรมราชสมภพใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)

                ภาพวาดที่นำมาลงนี้ เชื่อว่าคงวาดจากความเป็นจริง มิใช่เพียงแต่เกิดจากจินตนาการของศิลปินอย่างแน่นอน ก่อนวาด นายริโกลีคงต้องศึกษารายละเอียดตามความเป็นจริงในสมัยรัชกาลที่ ๑-๓ เป็นอย่างดีเยี่ยม

                โดยเฉพาะการประทับบนพระราชอาสน์พระแท่น (คือเตียงซึ่งคนทั่วไปใช้นั่ง หรือนอนพักผ่อนอิริยาบถ) เมื่อเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงอันเป็นพระราชนุกิจโดยปกติ มิใช่เป็นการเสด็จออกมหาสมาสมาคมในการพระราชพิธี ซึ่งต้องเสด็จขึ้นประทับเหนือพระราชบัลลังก์

                เป็นการอธิบาย คำว่า ‘เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง’ ตามที่จดไว้ในจดหมายเหตุและบรรยายไว้ในที่ต่างๆ ถึงพระราชานุกิจ

                เช่น ในรัชกาลที่ ๑ ว่า

                “เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ถวายภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้านายเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และช่วยปฏิบัติพระสงฆ์เวลาฉัน พระสงฆ์กลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลรายงานจ่ายเงิน

                แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง ข้าราชการกรมพระตำรวจเข้าเฝ้าถวายรายงานชำระฎีกา

                เบิกขุนนางเข้าเฝ้าประภาษด้วยอรรถคดี”

                และในรัชกาลที่ ๒ ว่า

                “ตอนเช้าเสด็จลงพระบาตร เสด็จออกเลี้ยงพระในท้องพระโรง ทรงฟังรายงานพระคลังมหาสมบัติ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เหมือนรัชกาลที่ ๑”

                และในรัชกาลที่ ๓ ว่า

    แขนมอบถวายทรงธรรม์  เทอดหล้า

                “๙. นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร ทรงบาตรเสร็จ เสด็จขึ้นบูชาพระในหอสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จลงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายพระองค์หญิงคอยเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น เสด็จผ่านไปยังหอพระธาตุมณเฑียรที่ไว้พระบรมอัฐิ ทรงบูชาพระบรมอัฐิ

                ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมริมทรวินิจฉัย เลี้ยงพระสงฆ์ พระสงฆ์กลับแล้ว เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกตำรวจเข้าเฝ้าฯ กราบทูลถวายรายงานความฎีกาก่อน แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้าฯ เสด็จออกเวลาเช้านี้ ประภาษเรื่องคดีความเป็นพื้น ถ้ามีราชการจรที่สลักสำคัญก็ประภาษด้วย”

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง ๓ รัชกาล เสด็จขึ้นพระแท่น ออกขุนนางในท้องพระโรงวันละ ๒ ครั้ง คือเวลาเช้าประมาณ ๑๐ นาฬิกา ถึงเที่ยง แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ (เป็นเสมือนหอนั่งเรือนคนทั่วไป เชื่อมต่อระหว่างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (พระวิมานที่บรรทม) และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  (ท้องพระโรงออกขุนนางฝ่ายหน้า)

                เสวย และทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถในรัชกาลที่ ๑ ประภาษราชกิจฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ทรงเป็นช่าง และกวี จึงมักจะทรงการช่างด้วยพระองค์เอง และหรือประชุมช่างประชุมกวี ตลอดจนการละคร

                ส่วนในรัชกาลที่ ๓ นั้น เวลาระหว่างเสวยเสร็จถึงเสด็จออกขุนนางตอนค่ำ (๘ นาฬิกา) คือประภาษด้วยเรื่องวัดวาอารามที่ทรงสร้าง และโปรดฯให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเข้าที่พระบรรทมประมาณ ๒ ชั่วโมง สรงเสวยแล้ว เสด็จลงท้องพระโรงใน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ผู้เป็นใหญ่ในราชการฝ่ายในเข้าเฝ้าฯ ประภาษราชกิจฝ่ายใน

                ๗ นาฬิกา จึงเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนา โปรดฯให้ข้างในออกฟังอยู่ในพระสูตร (ม่าน)

                ๘ นาฬิกา จึงเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางประภาษราชการแผ่นดิน ข้าราชการทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมเพรียงกัน หากไม่มีราชการสำคัญก็เสด็จขึ้นพระราชมณเฑียร ๑๐ นาฬิกา ถ้ามีราชการสำคัญเช่นศึกสงคราม ก็เสด็จขึ้นถึง ๑ นาฬิกา (ตี ๑) หรือ ๒-๓ นาฬิกา ก็มี”

                ทีนี้กลับมาพิจารณาภาพวาดกันอีก

                พระเจ้าแผ่นดินทรงพระภูษาจีบปล่อยชายพระภูษา ไม่ทรงฉลองพระองค์ ต้องด้วยในจดหมายเหตุและเอกสารตลอดจนคำบอกเล่ากันมาว่า ในรัชกาลที่ ๑-๒-๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนข้าราชการมิได้ทรงฉลองพระองค์และสวมเสื้อ เพิ่งมาทรงและสวมกันในรัชกาลที่ ๔

                ตลอดจนการเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางอย่างโบราณก็โปรดฯให้เลิก เมื่อเสด็จออกท้องพระโรง (ในต้นรัชกาล) เสด็จประทับพระราชอาสน์ (คงจะเป็นพระเก้าอี้ ดังในปัจจุบัน)

                ที่น่าสังเกต คือ พระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินในภาพวาดนั้น ละม้ายเหมือนพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังมีพระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมานอยู่เบื้องหลัง สมดังที่เล่ากันมาว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง ๓ รัชกาล เสด็จออกขุนนางนั้น จะประทับ ณ พระราชอาสน์ (พระแท่น) เบื้องล่าง

                แต่พระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมาน ซึ่งเป็นพระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนั้น เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีต่างๆ เช่นเสด็จออกรับราชทูต ทว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว จะเชิญพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทอดพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์เป็นที่ประทับ ดังใน (ภาพ ๒)

                ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อเชิญมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ไม่โปรดฯให้ย้ายกลับ โปรดฯให้ตั้งเป็นพระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยอีกองค์หนึ่ง

                ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง พระราชอาสน์ (พระแท่น) จึงอยู่ข้างหน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตรอีกทีหนึ่ง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×