ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #205 : กรมพระราชวังหลัง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 619
      0
      15 เม.ย. 53

       “ถึงวังหลัง เป็นวัง สงัดเงียบ
    เย็นยะเยียบโรยรานิจจาเอ๋ย
    แต่ก่อนเปรื่องเฟื่องฟ้าสง่าเงย
    พระคุณเคยปกเกล้าชาวบุรี
    สามพระองค์ทรงชำนาญในการศึก
    ออกสะอึกราญรบไม่หลบหนี
    แต่ครั้งพวกพม่ามาราวี
    พระต้อนตีแตกยับอัปรา
    ทุกวันนี้
    มีแต่พระนามเปล่า
    พระผ่านเกล้านิพพานนานหนักหนา
    เสียดายองค์พงกษัตริย์ขัตติยา
    ชลนานองเนตรสังเวชวัง”

                ข้างบนนี้เป็นกลอนนิราศพระแท่นดงรังของหมื่นพรหมสมพักสร หรือเสมียนมี มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ครั้งยังทรงกรมเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

                นิราศพระแท่นดงรัง กล่าวถึงวังหลัง ซึ่ง ‘สงัดเงียบ เย็นยะเยียบ โรยรา’ จึงประมาณว่าเวลาที่แต่งนิราศ คงจะไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี หวังจากเจ้าของวังพระองค์สุดท้าย คือ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ สิ้นพระชนม์ (สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๓๗๗ ในรัชกาลที่ ๓)

                เท้าความเสียนิดว่า เมื่อสถาปนาพระบรมราชวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และโปรดเกล้าฯ ตั้งพระราชภาคิไนย (หลานน้า) พระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)

    บริเวณริมแม่น้ำทางด้านหน้า
    พระราชวังหลัง ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕
    เป็นที่จอดเรือแม่ปะ
    ซึ่งขึ้นล่องไปมาค้าขายจากทางเหนือ

                ในนิราศตอนนี้ เอ่ยถึง ‘สามพระองค์ทรงชำนาญในการศึก’ ‘สามพระองค์’ เห็นจะหมายถึงในกรมสามพระองค์ผู้เป็นพระโอรสในกรมพระราชวังหลัง

                เพราะก่อนกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตใน พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในพระราชนัดดา (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเป็นปู่น้อย) ทั้ง ๓ ทรงกรม

                เป็น กรมหมื่นนราเทเวศร์ (พระองค์เจ้าปาน)

                กรมหมื่นนเรศร์โยธี (พระองค์เจ้าบัว)

                กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ (พระองค์เจ้าแตง) ขณะนั้นพระชันษา ๓๗ ๓๒ และ ๓๐ ตามลำดับ

                ในกรมทั้ง ๓ พระองค์ มิได้แยกวัง ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังหลัง ด้วยพระชนนี ซึ่งพระญาติวงศ์เรียกกันว่า ‘เจ้าครอกทองอยู่’ บ้าง ‘เจ้าครอกวังหลัง’ บ้าง ส่วนคนทั่วไปมักออกพระนาม ‘พระอัครชายาวังหลัง’ หรือ ‘เสด็จข้างในวังหลัง’ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ซึ่งนับตามศักดิ์ญาติ ทรงเป็นลูกผู้น้องของกรมพระราชวังหลังตรัสเรียกว่า ‘ท่านข้างในวังหลัง’

                ในกรมทั้ง ๓ พระองค์ ทรงสร้างวังแยกกันประทับ ทางส่วนใต้ของพระราชวังหลัง ชาววังหลังเรียกกันตามพระฉายานามของเจ้านายว่าวังใหญ่ วังกลาง วังน้อย ตามลำดับ เมื่อจะเอ่ยถึงเจ้านายวังหลัง ๓ พระองค์นี้ ก็เรียกกันโดยทั่วๆว่า ‘เจ้าสามกรม’

                เมื่อสถาปนาพระบรมราชวงศ์ พ.ศ.๒๓๒๕ ‘เจ้าสามกรม’ มีพระชันษา ๑๒ ๗ และ ๕ ตามลำดับ หลังจากโสกันต์แล้ว หากมีศึกสงครามมักต้องตามเสด็จพระบิดาไปในกองทัพด้วย เพราะประเพณีการจัดทัพในสมัยนั้น หากสังกัดอยู่กับผู้ใดก็ต้องเข้ากองทัพไปกับผู้นั้น

                ‘เจ้าสามกรม’ มีชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ รัชกาลที่ ๒

                รัชกาลที่ ๑ เสด็จครองราชย์อยู่ ๒๗ ปี ระหว่างนั้นแทบจะไม่เคยว่างศึกสงคราม ต้องทำสงครามกับพม่าถึง ๘ ครั้ง

                ถึงรัชกาลที่ ๒ เสด็จครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี ระหว่างนี้เป็นระยะว่างเว้นศึกสงคราม แม้ว่าจะมีเรื่องเขมรกับญวนอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องภายในเมืองเขมรซึ่งพี่น้องมิได้ปรองดองกัน เจ้านายพระบรมวงศ์ไม่มีพระภาระต้องออกสงคราม มีอยู่คราวหนึ่งก็เพียงแต่ขัดตาทัพ

                จนกระทั่งขึ้นรัชกาลที่ ๓ จึงเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ ยืดเยื้อถึง ๒ ปี เป็นศึกใหญ่ มีญวนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จากนั้นก็เกิดศึกเขมร-ญวน ต้องทำการสู้รบอยู่ถึง ๑๕ ปี ด้วยญวนต้องการให้ทั้งลาวและเขมรตกอยู่ในอำนาจของญวน เกือบตลอดรัชกาลนี้ จึงต้องทรงมีราชการงานศึก ทั้งด้านลาว เขมร ญวน และทางปักษ์ใต้มลายู แทบจะไม่ว่างเว้น

    ในรัชกาลที่ ๕ ส่วนหนึ่งของพระราชวังหลัง โปรดฯให้สร้างเป็นโรงพยาบาล (ศิริราช) ภาพนี้เป็นภาพเมื่อแรกตั้ง

                ในรัชกาลนี้ เจ้านายเสนาบดี จึงต้องออกศึกสงครามกันแทบทุกพระองค์ทุกท่าน

                โดยเฉพาะครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งยกกองทัพเข้ามาหลายทาง กวาดต้อนผู้คน จนกระทั่งเข้ามายึดได้ถึงนครราชสีมา

                ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) กรมหมื่นนเรศโยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ (พระโอรสในวังหลัง ที่ยังทรงพระชนม์อยู่ขณะนั้น)

                และกรมหมื่น พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑  ๔ พระองค์

                กรมหมื่น พระราชโอรสใน วังหน้า ร.๑  ๒ พระองค์

                กรมหมื่น พระราชโอรสใน รัชกาลที่ ๒  ๒ พระองค์

                กรมหมื่น พระราชโอรสใน วังหน้า ร. ๒  ๑ พระองค์

                บรรดากรมหมื่นทั้ง ๑๑ พระองค์นี้ ล้วนมีพระชันษาระหว่าง ๓๐-๔๐ ไล่เรี่ยกัน

                ซึ่งพระเจ้าอนุวงศ์ ประมาทว่า

                “กรุงเทพมหานครทุกวันนี้ มีแต่เจ้านายเด็กๆ ขุนนางผู้ใหญ่ก็เหลือน้อยตัว ฝีมือทัพศึกนั้นก็อ่อนแอ”

                ในที่นี้จะเว้นไม่เล่าเรื่องการรบที่ได้ต่อสู้กันหลายจุด และทำให้ได้วีรสตรีมีชื่อเสียงเลื่องลือจนทุกวันนี้ คือท่านผู้หญิงโม (หรือโม้) หรือ ‘ย่าโม’ ของชาวโคราช

                แต่จะสรุปเพียงว่า ในที่สุดไทยมีชัยชนะ ตีได้เมืองเวียงจันทน์

                ทว่าที่ตั้งใจจะเล่านั้น เป็นเรื่องของ ๒ พระองค์ในเจ้าสามกรม ที่โปรดเกล้าฯให้เป็นทัพหน้าที่ ๒ ของกองทัพหลวง ซึ่งมีเรื่องจดไว้ในพงศาวดารว่า

                “เมื่อทัพไทยตีค่ายลาวแตกตามลำดับ จนถึงค่ายหนองบัวลำภู (ซึ่งพระเจ้าอนุวงศ์ตั้งมั่นอยู่ และพระเจ้าอนุวงศ์ถอยทัพไปแล้ว) ทัพหน้าที่ ๑ และทัพเจ้าพระยามหาโยธา (กองมอญ) ก็ยกไปตั้งที่ทุ่งส้มป่อย ลาวจัดทัพมา ๓ ทัพ ล้อมทัพไทยได้ แต่หักเอาค่ายไม่ได้ จึงล้อมไว้ให้อดอาหารถึง ๗ วัน จวนเจียนจะเสียที จึงกองหน้าทัพหน้าที่ ๒ ของกรมหมื่นเรศร์โยธียกขึ้นไปถึง มีคนติดตามไปด้วยเพียง ๑๐๐ คน จึงเข้าโจมตี พวกลาวเห็นไทยน้อยกว่า ก็หันเข้าตลุมบอน แต่กรมหมื่นนเรศร์โยธี มีอาจารย์ดีไปด้วย ๔ คน กล่าวกันว่าอาจารย์เหล่านั้นกระทำวิทยามนต์ให้พวกข้าศึกเห็นว่าเป็นคนมากมายอยู่บนต้นไม้ทุกต้น พวกลาวจึงตั้งใจยิงปืนขึ้นไปบนต้นไม้ทุกต้นอย่างเดียว ไม่ยิงต่ำมาข้างล่างเลย หม่อมแจ้งและพวกข้าไทของกรมหมื่นนเรศร์โยธี จึงมิได้เป็นอันตรายเลยสักคนเดียว พอดีกรมหมื่นเสนีบริรักษ์คุมกองทัพขึ้นไปทัน เข้าช่วยกันทั้งกองทัพที่ล้อมอยู่ จนกระทั่งลาวแตกพ่ายถึงค่ายช่องเขาสาร ทัพหน้าไทยก็ไปตั้งค่ายคอยรับเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ แม่ทัพหลวง ซึ่งยกมาตีค่ายลาวทางด้านอื่น ฝ่ายกรมหมื่นนเรศร์โยธี และกรมหมื่นเสนีบริรักษ์พี่น้องสองพระองค์ ก็ข้ามแม่โขงไปตั้งทัพอยู่ ณ เมืองเวียงจันท์”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×