ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #204 : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 355
      0
      15 เม.ย. 53

     ในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ กล่าวถึง ‘วัดแหลม’

                อาทิตย์หน้า จะถึงวันอาสาฬหบูชาและวันวิสาขบูชา จึงเห็นว่าน่าจะได้พูดเรื่องวัดและพระพุทธรูป เพื่อเป็นพุทธบูชา

                อัน ‘วัดแหลม’ นั้น ต่อมาก็คือ ‘วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม’ นั่นเอง

                แต่เดิมมาทีเดียว เข้าใจกันว่าอาจเป็นสมัยปลายอยุธยา หรือสมัยกรุงธนบุรี ที่ดินตรงที่ตั้งวัดแหลมนี้ เป็นที่ดินส่วนที่ยื่นออกไประหว่างที่สวนต่อกับท้องทุ่งนา ชาวบ้านทำมาหากินสองอย่าง คือทำสวนบ้างทำนาบ้าง  ตรงส่วนปลายแหลมซึ่งยื่นออกไปนั้น มีวัดโบราณอยู่วัดหนึ่ง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ‘วัดแหลม’ บางทีก็เรียกว่า ‘วัดไทรทอง’ เนื่องด้วยคงมีต้นไทรใหญ่อยู่ในวัดเป็นที่หมายอยู่

                ต่อมาถึงสมัยต้นรัชกาลที่ ๓  (พ.ศ.๒๓๖๙) เมื่อเกิดเรื่องกบฏ พระเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพเข้ามายึดนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้ยกทัพออกไปต่อสู้ต้านทานหลายทาง

                ส่วนทางป้องกันพระนครนั้น โปรดฯให้กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ เลื่อนเป็น กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) เป็นแม่ทัพบัญชาการกองทัพ ตั้งกองทัพเรียงรายตามชายทุ่ง ตั้งแต่ สามเสน ถึงทุ่งวัวลำพอง (หัวลำโพง) โค้งออกตามชายทุ่งบางกะปิไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา

                ทรงวางแนวที่สองตามแนวกำแพงพระนครด้านนอก (คลองบางลำภูโค้งไปตามคลองโอ่งอ่าง)

                แม่ทัพทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ที่บริเวณวัดแหลม

                แต่กองทัพเวียงจันทน์ พ่ายแพ้กองทัพไทยทุกด้านที่ยกเข้ามา ยังไม่ทันบุกเข้ามาถึงพระนคร

                กรมหมื่นพิพิธโภคภูเบนทร์ ทรงมีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน (เจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ ๒ เป็นเชื้อสายราชินิกุลบางช้าง) ๕ พระองค์ คือ

                ๑. พระองค์เจ้าหญิงวงศ์ ขณะนั้นพระชันษา ๓๕

                ๒. พระองค์เจ้าชายพนมวัน พระชันษา ๓๒ คือกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ (กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ต้นราชสกุล ‘พนมวัน ณ อยุธยา’

                ๓. พระองค์เจ้าชายกุญชร พระชันษา ๒๘ ขณะนั้นเป็นกรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ (เลื่อนเป็นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ในรัชกาลที่ ๔) ต้นราชสกุล ‘กุญชร ณ อยุธยา’

                ๔. พระองค์เจ้าชายทินกร พระชันษา ๒๕ (ทรงกรมเป็นกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ในรัชกาลที่ ๔) ต้นราชสกุล ‘ทินกร ณ อยุธยา’

                ๕. พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล พระชันษา ๒๒

                กรมหมื่นพิพิธฯ จึงทรงชักชวนเจ้าพี่เจ้าน้องให้ร่วมกันบูรณะวัดแหลม ทรงสร้างพระเจดีย์เรียงรายไว้หน้าวัด ๕ องค์ ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า ‘วัดเบญจบพิตร’ หมายถึงวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์

                ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงซื้อที่ดินราษฎรทางด้านสวนในบริเวณใกล้กับวัดเบญจบพิตร (วัดแหลม) เพื่อทรงสร้างวังส่วนพระองค์เป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถด้วยพระบรมมหาราชวังนั้นแน่นแออัด เป็นเหตุให้ไม่ทรงสบาย

                ที่ดินตรงที่ทรงซื้อไว้นั้น มีวัดโบราณอยู่ ๒ วัด วัดหนึ่งชื่อ ‘วัดดุสิต’ อีกวัดหนึ่งที่ต้องตัดถนนผ่านเป็นวัดร้างจำเป็นต้องรื้อทั้งสองวัด จึงต้องทรงทำ ‘ผาติกรรม’ คือ สร้างวัดใหม่ทดแทน

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชดำริว่า วัดเบญจบพิตร นั้น ทรุดโทรมแล้วและมีภูมิสถานอันควรแก่การสร้างขึ้นทดแทน จึงทรงถวายที่ดินเป็นที่วิสุงคามสีมา สร้างวัดเบญจบพิตรขึ้นใหม่ ให้งดงามพร้อมสรรพเป็นวัดใหญ่ พระราชทานนามให้ใกล้เคียงชื่อเดิมว่า ‘วัดเบญจมบพิตร’ เติม ‘ม’ ลงไป มีความหมายว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๕ ทรงสร้าง

    พระพุทธชินราชที่ประดิษฐาน อยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แต่แรกสร้าง จนถึงบัดนี้

                เมื่อ จะประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถใหม่ โปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ทรงเสาะแสวงหา พระพุทธรูป พระเจ้าน้องยาเธอฯ กราบบังคมทูลว่า พระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบได้นั้น คือ พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

                แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธชินราช นั้นเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองจะโปรดฯ ให้อัญเชิญมา ก็จะเป็นการทำลายน้ำใจชาวเมืองพิษณุโลก

                อันเมืองพิษณุโลกนั้นเป็นเมืองสำคัญ สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศศวรมหาราช เคยครองราชย์ในฐานะ ‘เจ้าประเทศราช’ ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยาต่อมาก็มีฐานะเป็นเมืองลูก หลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จมาครองก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา

                เมืองพิษณุโลกมีพระพุทธรูปเก่าแก่ งดงามยิ่งนัก สร้างคราวเดียวกันอยู่ ๓ องค์ คือพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา (บางแห่งว่า พระศาสดา)

                ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสรรเสริญว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ทั้ง ๓ องค์นี้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดา หากอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือแต่โบราณ

                แต่ทั้งพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา อัญเชิญลงมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วทั้ง ๒ องค์

                พระศรีศาสดา ผู้ใดจะอัญเชิญลงมาไม่ปรากฏ เล่ากันแต่ว่าเป็นเจ้าอธิการสงฆ์ เชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดอ้อยช้าง นนทบุรี ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ปฏิสังขรณ์วัดประดู่ในคลองบางหลวงอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดประดู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงทราบ จึงโปรดฯให้อัญเชิญไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ทว่ามิได้เป็นพระประธานถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดฯให้อัญเชิญไปประดิษฐานในพระวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร คู่กันกับ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งประดิษฐาน เป็นพระประธานในพระอุโบสถอยู่ก่อนแล้ว

                พระพุทธชินสีห์ เมื่อมีผู้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงมากรุงเทพฯแล้ว เหลือแต่พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์

                ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๗๒ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้า) โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยทรงเห็นว่า พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกชำรุดทรุดโทรม ขาดการปฏิสังขรณ์

    พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า) และพระศรีศาสดา (องค์หลัง) ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในภาพคล้ายกับประทับซ้อนกันอยู่ แต่ไม่ใช่พระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระศรีศาสดาเป็นประธานกลางพระวิหารที่อยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ หันพระพักตร์มาทางเดียวกัน เมื่อถ่ายภาพจึงดูคล้ายประทับซ้อนกัน

                ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงผนวชเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

                วัดบวรนิเวศวิหาร จึงมีพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดพิษณุโลกประดิษฐานอยู่ด้วยกัน เหมือนที่ท่านเคยอยู่ด้วยกันมาก่อน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกนั้น

                สำหรับพระพุทธชินสีห์นี้ ปรากฏในหนังสือเรื่อง พระพุทธเจ้าหลวงกับวัดเบญจมบพิตร เมื่อทรงพระราชปรารภโปรดฯ ให้จำลองพระพุทธชินราช เชิญลงมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถว่า

                “เมื่อครั้งเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมา ก็ไม่เป็นที่ชอบใจของชาวเมืองพิษณุโลกเป็นอันมาก เมื่อพระพุทธชินสีห์ออกจากวิหารนั้น ประชาราษฎร์พากันโศกเศร้าร้องไห้เป็นอันมาก เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมือง เหมือนศพลงจากเรือน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝนแล้งไปถึง ๓ ปี ชาวเมืองพิษณุโลกได้ความย่อยยับไปเป็นอันมาก ทั้งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรด้วยพระโรคมานน้ำได้ปีเศษ ก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวขานว่าเป็นเพราะเหตุที่ท่านไปเชิญพระพุทธชินสีห์ อันเป็นสิริมงคลของเมืองพิษณุโลกลงมานั่นเอง”

                อนึ่งพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์ ของเมืองพิษณุโลกนั้น มีตำนานกล่าวไว้ว่า

                เมื่อ พ.ศ.๑๕๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้ จึงทรงสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก ทำนองว่าเป็นเมืองอันพระวิษณุกรรมเสด็จลงมาสร้าง ทำนองนั้นครั้นสร้างพระนครเสร็จแล้ว มีพระราชศรัทธาสร้างวัดวาอาราม มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง แล้วทรงหล่อพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินราช ณ พระวิหารใหญ่ ทิศตะวันตกของพระมหาธาตุประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ณ พระวิหารใหญ่ทิศตะวันออก ทางทิศเหนือองค์หนึ่ง ทิศใต้องค์หนึ่ง พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา จึงประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกันตลอดมา ถึง ๙๐๐ กว่าปี จนกระทั่งอัญเชิญลงมากรุงเทพฯ ทั้งสององค์ ในเวลาต่างวาระกัน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×