ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #202 : เรื่องของเชียงรุ้งที่เกี่ยวข้องกับ "เวียงวังไทย" เมื่อ 100 กว่าปีก่อน 2

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.45K
      4
      15 เม.ย. 53

     ขอเล่าต่อเรื่องเมืองเชียงรุ้ง

                เพราะนอกจากจะมีเรื่องแย่งชิงกันครองแผ่นดินระหว่างราชวงศ์และเกิดจลาจล จนราชวงศ์ส่วนหนึ่งต้องหนีไปอยู่ในพระราชอาณาเขต ‘พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา’ แล้ว (สมัย ร.๑-๓ ประเทศต่างๆยังคงเรียกพระเจ้าแผ่นดินไทยว่า ‘พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา’ และเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ‘กรุงศรีอยุธยา’ อยู่อย่างเดิม)

                ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๑-๒๔๕๒ ปรากฏว่า ได้มี ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ นำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งโปรดฯให้รับอย่างเจ้าต่างประเทศฝ่ายใน

                พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระมเหสี พระอิสริยยศ ลำดับที่ ๕ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗
                ภาพเมื่อพระชันษาประมาณ ๑๗-๑๙

                ขอยกเรื่อง ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ไว้พูดถึงทีหลัง

                ตอนนี้เล่าเรื่องเมืองเชียงรุ้งต่อจากสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อ

                คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๒๓๙๔ ถึง พ.ศ.๒๓๙๕ เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้ง (คือเจ้าสาระวัน) ได้ขึ้นครองแผ่นดินเป็น ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ เรียบร้อยแล้ว (เข้าใจว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าอังวะ เพราะเมื่อเกิดจลาจลเจ้าแสนหวีฟ้าสาระวันหนีไปพม่า)

                เจ้าแผ่นดินสาระวัน (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ ตามเกียรติยศ เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้ง) จึงให้ท้าวพระยา คุมเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้ทองเงินส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเจ้าอุปราช (คือเจ้าออลนาวุธน้องชาย) มารดาน้องสาว และมหาไชย น้าชาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้กลับไปอยู่เมืองหลวงพระบาง และเมืองน่าน (ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสองเมือง) อย่างเดิมนั้น พร้อมทั้งเจ้าแสนหวีฟ้ารับว่า ในปีที่ ๓ จะจัดต้นไม้ทองเงิน ลงมาทูลเกล้าฯ ถวายทุกครั้งตลอดไป

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็โปรดฯให้เจ้าอุปราช และผู้อื่น คืนกลับไปเมืองไทลื้อ ตามที่ขอพระราชทานมา

                พร้อมกันนั้น ก็ทรงพระราชดำริอย่างเดียวกันกับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ ๓ ว่า เมืองน้อยเข้ามาพึ่งเมืองใหญ่ สมควรต้องอนุเคราะห์ให้ตลอดไป จึงจะสมเกียรติยศของเมืองใหญ่ แต่เมืองลื้อเชียงรุ้งนั้นขึ้นอยู่กับพม่าด้วย และจีนฮ่อด้วย ทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่าจะรับไว้เป็นข้าขอบขัณฑเสมา หากพม่าและจีนมาติดเมืองเชียงรุ้งก็ยากนักที่จะช่วยป้องกัน ด้วยหนทางนั้นไกลกันดารยิ่งนัก ครั้นจะไม่เอาธุระ เมื่อเขามาพึ่งพระเดชพระคุณ แล้วก็ไม่อาจทอดทิ้งได้

                เมื่อทรงปรึกษาเสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งหลายแล้ว เห็นพร้อมกันว่า หากจะช่วยเมืองลื้อในยามมีศึกแล้ว จะต้องตีเมืองเชียงตุง เพราะเมืองพม่านั้นมีอาณาเขตกว้างขวาง มีหัวเมืองใหญ่ยึดหน่วงกันเป็นชั้นๆออกมา เมืองหมอกใหม่ เมืองนายยึดเมืองเชียงตุงไว้ เมืองเชียงตุงยึดเมืองเชียงรุ้ง หากได้เมืองเชียงตุงตัดเสียให้ขาดระยะ ก็จะได้ประโยชน์ทั้งแก่ทางเราและทางรักษาเมืองเชียงรุ้ง

                ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นพระราชดำริมาแต่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั่นเอง

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ยกทัพไปตีเชียงตุง

                ทว่าการก็หาสมเร็จสมดังพระราชประสงค์ไม่ ด้วยเมืองเชียงตุง หนทางลำบากกันดาร หมดเสบียงอาหาร ยกเข้าตีถึง ๒ ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ จึงโปรดฯให้ยกทัพกลับ

                ต่อจากนี้พงศาวดารเมืองเชียงรุ้งไม่ได้จดเรื่อง ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ บอกแต่ว่า ไทลื้อ (สิบสองปันนา) ว่างเจ้าแผ่นดินอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่ง

                พ.ศ.๒๔๐๗ จึงมีเจ้าแผ่นดินเป็นองค์ที่ ๔๐

                ซึ่งที่จริงแล้ว ในระยะที่ว่างเจ้าแผ่นดิน ก็คือเกิดการแย่งชิงการขึ้นครองราชย์กันขึ้นอีก ระหว่างน้าชาย (มหาไชย) กับเจ้าอุปราช (ออลนาวุธ) หลังเจ้าแสนหวี (สาระวัน) สิ้นชนม์

    พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อพระชันษาประมาณ ๓๕

                ในที่สุด เจ้ามหาไชยชนะ ฆ่าออลนาวุธได้ จึงได้ครองแผ่นดินเป็น เจ้าแสนหวีฟ้าที่ ๔๐

                วงศ์ของเจ้ามหาไชย เป็นเจ้าแผ่นดินครองต่อกันมาอีก ๔ องค์ องค์สุดท้ายชื่อ ‘เจ้าหม่อมคำลื้อ’ ครองแผ่นดินตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐

                ต่อมาเมื่อจีนสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ฐานันดรศักดิ์ ‘เจ้าแผ่นดิน’ ของแคว้นสิบสองปันนา ก็สิ้นสภาพไปโดยปริยาย

                สิบสองปันนา หรือสิบสองพันนา หรือสิบสองเจ้าไทย (สิบสองจุไท) ถูกกำหนดขึ้นเป็นแขวงปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย

                สำหรับพวกราชวงศ์นั้น โดยเหตุที่แคว้นสิบสองปันนากับศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์หมิงราชวงศ์ชิง มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น มาแต่ประมาณ พ.ศ.๑๙๑๐-๒๔๕๔ เจ้าแผ่นดิน จึงได้รับ พระราชทานชื่อเป็นจีนว่า ‘ตาวจินเป่า’ และเจ้าแผ่นดินต่อมาพระนามจีนก็ขึ้นต้นว่า ‘ตาว’ มี ๒ พระนาม ควบกับพระนามภาษาไตลื้อ

                เมื่อราชวงศ์สลายแล้ว จีนจึงถือว่า แซ่ ‘ตาว’ เป็นแซ่ของราชตระกูลไตลื้อ หรือไทยลื้อแห่งแคว้นสิบสองปันนา

                เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่ามี ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ องค์หนึ่ง เชิญเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เวลานั้นชาววังทั้งหลายเรียกกันว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’

                โปรดเกล้าฯให้รับอย่างเจ้าหญิงต่างประเทศเป็นการฝ่ายใน

                ธรรมดาการรับเจ้าหญิง หรือสุภาพสตรีผู้เป็น ‘ฝ่ายใน’ ของประมุขต่างประเทศ มักโปรดฯให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จออกรับ

                แต่ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเจ้าหญิงแสนหวีของสถานถิ่นทางเหนือ จึงโปรดฯให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นเจ้าหญิงฝ่ายเหนือเสด็จออกรับ

                ตามคำบอกเล่าของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ซึ่งเป็น ๑ ในพระสนม ๒๐ ท่าน ที่โปรดฯให้ออกมานั่งประดับพระเกียรติยศอยู่ด้วยนั้น เล่าว่า

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จออกประทับพระราชอาสน์ (เก้าอี้) ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีฯ

                สองข้างพระราชอาสน์เจ้าจอมพระสนมนั่งเรียงรายซ้ายขวาข้างละ ๑๐ คน

                เบื้องหน้าพระราชอาสน์ เยื้องขวาพระองค์เล็กน้อย เป็นที่ประทับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประทับบนพื้น

                เจ้าหญิงแสนหวีคลานเข้มมาเฝ้าฯหน้าที่ประทับตรงกับพระเก้าอี้ และเบื้องหน้าพระราชชายาฯ ซึ่งประทับเยื้องไปทางซ้ายของผู้เข้าเฝ้าฯ

                การที่สมัยนั้นเรียกกันว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ก็คงหมายถึงเจ้าหญิงเมืองเชียงรุ้งนั่นเอง เพราะเวลานั้น (พ.ศ.๒๔๕๑) แม้สิบสองปันนาจะใกล้ชิดกับจีน ก็ยังมิได้เป็นของจีนเต็มที่ เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้งยังมีสัมพันธไมตรีนับถือพระเจ้าแผ่นดินไทยอยู่ แต่ก็นับว่าเจ้าหญิงเป็น ‘เจ้าต่างประเทศ’ มิใช่ เจ้าเมืองขึ้น

                ได้เล่าแล้วว่า ‘เจ้าแผ่นดิน’ เชียงรุ้ง นั้น เรียกกันว่า ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ เมื่อเจ้าหญิงเชียงรุ้งเข้ามาเฝ้า อาจพลอยเรียกเจ้าหญิงว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ไปด้วยก็เป็นได้

                อีกเรื่องหนึ่งอันเกี่ยวกับ ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ นั้น

                คนที่มีอายุพอจำความได้ ในสมัย พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔ ราวๆนั้น คงจำเพลงจากละครเรื่อง ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ บทละครของหลวงวิจิตรวาทการได้ที่ว่า

                “พวกชาวแสนหวี เราแสนยินดีรับรองเจ้าชายมาจากเขมรัฐ เราพากันจัดงานถวาย สมโภชเจ้าชายจากบ้านเมืองมา...ฯลฯ...”

                และเจ้าชายร้องตอบว่า

                “พวกชาวเขมรัฐ นี้ล้วนแต่พลัดบ้านเมืองเข้ามาบุกป่าฝ่าดงมุ่งตรงมานี่ เพื่อเห็นแสนหวีเมืองศรีสง่า...ฯลฯ...”

                ผู้เล่าจำได้เพียงแค่นี้ เข้าใจว่าหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ประพันธ์ละครเรื่องนี้ คงสมมุติเอาเมือง ๒ เมือง คือ ‘เชียงตุง’ เป็นเขมรัฐ และ ‘เชียงรุ้ง’ เป็น แสนหวีนั่นเอง ด้วยทั้งเชียงตุงและเชียงรุ้ง นั้น ว่าที่จริงเป็นไตลื้อหรือไทยลื้อด้วยกัน แม้ว่าพาวกเชียงตุงจะเรียกพวกตนว่า ‘ไทยใหญ่’ ก็ตาม

                แต่ทั้งนี้ อาจเป็นเพียง ‘การสันนิษฐาน’ ด้วยเหตุผลดังอ้างมาแล้ว เท่านั้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×