ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #201 : เรื่องของเชียงรุ้งที่เกี่ยวข้องกับ "เวียงวังไทย" เมื่อ 100 กว่าปีก่อน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 448
      0
      15 เม.ย. 53

         มีพระรูปฉายของจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชอยู่ภาพหนึ่ง ทรงแต่งพระองค์เป็นเจ้าไตลื้อ (ไทลื้อ หรือ ไทยลื้อ) ได้ความว่า ท่านทรงแต่งเมื่อเสด็จไปทรงตรวจราชการที่เมืองน่าน

                เวลานั้นมีพวกไทลื้ออยู่กันหลายพันที่เมืองเชียงคำแขวงเมืองน่าน ไทลื้อพวกนี้อพยพหนีมาจากเมืองเชียงรุ้ง อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นสิบสองปันนา หรือสิบสองพันนา ด้วยเหตุที่ราชวงศ์เกิดแย่งชิงเป็น ‘เจ้าแผ่นดิน’ กันขึ้น (ชาวไทลื้อเรียกประมุขของตนว่า ‘เจ้าแผ่นดิน’) ฝ่ายแพ้ผู้หนึ่งจึงพาผู้คนอพยพหนีเข้ามาอยู่ปลายเขตแดนเมืองน่าน

                บังเอิญได้ไปเที่ยวเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งบัดนี้เป็นเมืองในส่วนหนึ่งของมณฑลยูนนานของจีน

                ล่ามหญิงชาวเมืองเชียงรุ้ง พูดภาษาไทยคล่องทีเดียว ยังเด็กจึงไม่รู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์มากไปกว่าท่องจำเรื่องปัจจุบัน หรือเรื่องราวที่ถอยหลังไปเพียง ๖๐-๗๐ ปี

    จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นนายพลโท กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ถ่ายภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ ทรงแต่งพระองค์เป็นไทยลื้อ เมื่อคราวเสด็จไปตรวจราชการที่เมืองน่าน

                อย่างไรก็ดี เธอบอกว่าพวกชาวไทลื้อถือว่า เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับไทยสยาม (ซึ่งถึงจะร้อยพ่อพันแม่ดังที่นักวิชาการปัจจุบันมีความเห็น แต่ก็มีโคตรเง่าอันเป็นแก่นเดียวกัน คือ ‘ไท’ หรือ ‘ไต’)

                เธอยังบอกอีกว่า พวกเชียงตุงนั้น จริงๆแล้วก็คือ ‘ไตลื้อ’ หรือ ‘ไทลื้อ’ พวกเดียวกันกับพวกเธอ แต่เขาเรียกพวกเขาว่า ‘ไทใหญ่’ หรือ ‘ไทยใหญ่’ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะหมายถึงพวก ‘ไท’ ทั้งหลาย ซึ่งแม้จะอยู่กระจัดกระจายกัน แต่เมื่อรวมๆกันแล้ว ก็มีมากกว่า ไทน้อย หรือไทยน้อยอันหมายถึง ไทยสยาม (ในสมัยก่อนๆโน้น)

                ในที่นี้จะไม่เล่าถึงขนาดสืบสาวประวัติเรื่องชาติพันธุ์ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของนักวิชาการ และจะไม่เล่าถึงเมืองเชียงรุ้งปัจจุบัน เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องการท่องเที่ยว

                ขอเล่าแต่เฉพาะเรื่องของเชียงรุ้งที่เกี่ยวข้องกับ ‘เวียงวัง’ ไทย เมื่อร้อยกว่าปีก่อนโน้น

                ดินแดนสิบสองปันนา หรือสิบสองพันนานี้ อธิบายกันว่า เป็นดินแดนของชาวเผ่าที่เรียกตัวเองว่า ‘ไต’ แม้ว่าจีนจะเรียกว่า ‘เย่ว์’ บ้าง ‘จิงเหลียว’ บ้าง เป็นเผ่าใหญ่กว่าเผ่าชนส่วนน้อยอื่นๆ จึงตั้งบ้านเมืองเป็นแคว้นมั่นคงมานานช้า มีเมืองหลวง คือ เมืองเชียงรุ้ง อยู่เหนือเมืองเชียงตุงขึ้นไปนิดหน่อย แต่เมืองเชียงรุ้งอยู่ชิดแม่น้ำโขง

                เมืองเชียงตุงอยู่ติดชายแดนพม่า

                เมืองเชียงรุ้ง อยู่ติดทั้งพม่าและจีน

                เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ เชียงตุงขึ้นกับพม่าเชียงรุ้งขึ้นกับพม่าและจีน หมายความว่าส่งบรรณาการแก่ทั้งสองประเทศ

                เมืองเชียงรุ้งนั้นมีเจ้าแผ่นดินเป็นประมุขมาตั้งแต่ พ.ศ.๑๗๐๓ จนถึงเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓๙ ช้านานประมาณ ๖๕๐ ปี

                ปลายรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๙๐) พระราชพงศาวดารไทยจดไว้ว่า เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้งเกิดแย่งชิงกันขึ้นครองแผ่นดิน

                เรื่องราวมีอยู่ว่า

                เจ้ามหาวัน เจ้าแผ่นดิน สิ้นชมน์ มีโอรสใหญ่ชื่อ เจ้าสาระวัน เป็นเจ้าราชบุตรอยู่

                แต่ เจ้ามหาขนาน อาของเจ้ามหาวันกลับขึ้นครองแผ่นดินแทน

                เจ้าสาระวัน จึงคบคิดกับน้าชาย ชื่อหม่อมมหาไชย หนีไปพึ่งจีน (เมืองฮุนหนำหรือหนองแส) แล้วกลับมาฆ่าเจ้ามหาขนาน (ปู่น้อยของตน)

                แล้วเจ้าเมืองฮุนหนำก็ตั้งเจ้าสาระวันเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้น้องชายชื่อ ออลนาวุธ เป็นอุปราช

                ทีนี้ลูกชายของเจ้ามหาขนาน (ซึ่งก็เป็นอาของเจ้าสาระวันและออลนาวุธนั่นเอง) ชื่อหม่อมหน่อคำ เมื่อพ่อถูกจับฆ่าก็หนีไปพึ่งพม่า

                เป็นอันว่าฝ่ายหลานไปพึ่งจีน ส่วนฝ่ายอาไปพึ่งพม่า

                หม่อมหน่อคำ ไปติดสินบนเจ้าอังวะ ขอให้ช่วย เจ้าอังวะก็ให้นำทัพเมืองหมอกเมืองนายยกไปตีเชียงรุ้ง เจ้าเมืองที่คุมไป ชื่อ จักกายหลวง

                แต่ระหว่างเดินทาง มารดาของเจ้าสาระวัน กับออลนาวุธ ชื่อ นางปิ่นแก้ว รู้ข่าว ก็ให้คนสนิทนำเงิน ๕๐ ชั่ง ทอง ๑๐ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ลอบมาติดสินบนจักกายหลวง และว่าจะยอมเป็นเมียจักกายหลวงด้วยหากยอมช่วย

                จักกายหลวง จึงทำอุบาย พอถึงเชียงรุ้งก็ตั้งให้หม่อมหน่อคำ (อา) เป็นเจ้าแผ่นดินตามคำสั่งเจ้าอังวะให้เป็นอยู่ ๓ วัน ก็อุบายให้ เจ้าสาระวัน (หลาน) เป็นกบฏเข้าตีเมือง หม่อมหน่อคำแพ้ หนีไปเชียงตุง ส่งข่าวฟ้องเจ้าอังวะ

                เจ้าอังวะโกรธ จึงให้ยกทัพพม่ากับเงี้ยวเข้าตีเชียงรุ้ง จับออลนาวุธ อุปราชได้ แต่เจ้าสาระวันหนีไปอยู่แดนฮ่อเมืองฮุนหนำหรือหนองแส

                ส่วนหม่อมมหาไชย ผู้เป็นน้าชายนั้น พาพรรคพวกที่เมืองพง หนีไปอยู่ปลายแดนเมืองน่าน ไทลื้ออพยพครั้งนั้นถึง ๑๐,๐๐๐ คนเศษ

                ไทลื้อพวกนี้แหละซึ่งต่อมาส่วนหนึ่งตกอยู่ในเมืองน่าน จนกระทั่ง จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีฯ เสด็จไปตรวจราชการ และทรงแต่งพระองค์เป็นไทยลื้อ ซึ่งทรงถือว่าเป็น ‘ไทย’ เหมือนกัน

                ทีนี้พม่าก็ตั้งให้หม่อมหน่อคำ เป็นเจ้าแผ่นดินเชียงรุ้งอีกเป็นครั้งที่ ๒

                แต่ เป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ไม่นาน เกิดทะเลาะกันขึ้นกับขุนนางใหญ่เสียแล้ว เลยฆ่ากันตายทั้ง ๒ คน

                ทีนี้เมืองว่างเจ้าแผ่นดิน แต่หม่อมหน่อคำนั้น เจ้าอังวะตั้ง   เจ้าสาระวันจะขึ้นครองแผ่นดินเลยก็เกรงเจ้าอังวะ จึงไปเมืองอังวะ ซึ่งน้องชายถูกคุมตัวอยู่ คบคิดกันกับพวกขุนนาง ติดสินบนเจ้าอังวะ เป็นเงินถึง ๑,๒๒๐ ชั่งไทย

                เจ้าอังวะก็ตั้งให้เจ้าสาระวัน ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน น้องชายออลนาวุธ เป็นมหาอุปราช

                ที่จริงก็น่าจะอยู่กันเป็นสุขแล้ว

                แต่ การขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาครั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยหว่านเงินติดสินบน จนกระทั่งเงินหมดคลังหมดแผ่นดิน จึงต้องรีดเอากับราษฎรเมื่อราษฎรทนไม่ไหว ก็เลยก่อการกบฏจลาจลขึ้น

                เจ้าสาระวัน ที่มีพระนามตามเกียรติยศว่า เจ้าแสนหวีฟ้า แพ้ราษฎรปราบปรามไม่ไหว ต้องหนีไปพม่า

                ส่วนออลนาวุธ มหาอุปราช พานางปิ่นแก้วมารดาและน้องสาวกับครอบครัว หนีไปหลวงพระบาง

                เวลานั้นเมืองหลวงพระบาง ขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าหลวงพระบางจึงกราบบังคมทูลเข้ามายังกรุงเทพฯ (ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๓) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ส่งตัวลงมากรุงเทพฯ และโปรดฯให้นำตัวมหาไชย น้องชายนางปิ่นแก้ว ซึ่งหนีมาอยู่เมืองน่านก่อนแล้ว ให้ลงมาด้วยกัน

                ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่า อันเมืองเชียงรุ้ง เชียงตุง เชื้อสายก็เป็นพวกเผ่าไต หรือไทย หากได้ทั้งเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เข้ามารวบรวมอยู่ในอาณาเขต ก็จะเป็นการวบรวมพวกไทยทั้งไทยใหญ่ ไทลื้อ ให้อยู่ในพระราชอาณาเขต แต่การจะป้องกัน เชียงรุ้งนั้น ต้องให้ได้เชียงตุง อันมีอาณาเขตติดพม่าเสียก่อน

                จึงโปรดฯให้ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุง ทว่าการมิทันสำเร็จสมพระราชประสงค์ ด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือไม่สามัคคีกัน เกิดการกล่าวโทษกราบทูลฟ้องร้องกัน ทั้งเป็นเวลาเริ่มทรงพระประชวรหนักมิได้ทรงคิดราชการสิ่งใด การทัพจึงค้างอยู่

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×