ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #192 : พระตำหนักเขียวและพระตำหนักแดง ในพระบรมมหาราชวัง

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.45K
      2
      15 เม.ย. 53

      -มีผู้สงสัยเรื่องพระตำหนักเขียวและพระตำหนักแดง ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว-

                พระราชนิพนธ์ เรื่อง “ปฐมวงศ์” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งทรงเล่าถึงพระตำหนักเขียว พระตำหนักแดงเอาไว้ว่า (ตัวสะกดคงตามต้นฉบับเดิม)

                “ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติบรมราชภิเศกแล้ว กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ ทั้งสองพระองค์ ก็ได้ตามเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังก่อน กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี มีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียร เรียกว่า พระตำหนักใหญ่ ได้ว่าราชการทั่วไปแทบทุกอย่าง แลว่าการวิเสศใน พระคลังเงินทองสิ่งของต่างๆในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษนั้นมีพระตำหนักอยู่เบื้องหลังพระพี่นั่งดุสิตมหาปราสาท แลพระวิมารรัถยาเรียกว่าพระตำหนักแดง ได้ทรงทำราชการทรงกำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเสศต้น แลการสดึงแลอื่นๆเป็นหลายอย่าง”

    ภาพถ่ายพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน
           พระที่นั่งองค์กลาง มียอด คือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (สร้างในรัชกาลที่ ๕)
           ในรัชกาลที่ ๑-๓ ทางด้านขวาของพระที่นั่งจักรี คือหมู่พระมหามณเฑียร มีพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระที่นั่งประธาน
           ทางด้านซ้ายของพระที่นั่งจักรี คือ หมู่พระมหาปราสาท มีพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งประธาน
           พระตำหนักเขียว อยู่ทางด้านพระมหามณเฑียร
           พระตำหนักแดง หลังแรกสร้างในรัชกาลที่ ๑ อยู่ทางด้านพระมหาปราสาท หลังที่สองสร้างในรัชกาลที่ ๒ อยู่ทางด้านพระมหามณเฑียร คู่กันกับพระตำหนักเขียวหลังแรกนั้นในรัชกาลที่ ๒ เรียกกันว่า พระตำหนักตึก หมายถึงใหญ่โต เพราะเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๒

                พระตำหนักใหญ่ทาสีเขียว บางทีจึงเรียกกันว่าพระตำหนักเขียว ส่วนพระตำหนักหลังพระที่นั่งดุสิต ทาสีแดงจึงเรียกกันว่า พระตำหนักแดง

                พระตำหนักเขียว ของสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ เสด็จอยู่จนถึงสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๒ สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ ทรงมีพระโอรส ๓ พระองค์ พระธิดาสุดท้องพระองค์เดียว พระโอรสพระองค์ใหญ่ คือ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (พระวังหลัง)

                พระธิดาองค์สุดท้อง พระนามว่าเจ้าฟ้าทองคำ สิ้นพระชนม์แต่ในรัชกาลที่ ๑ คงสิ้นพระชนม์ก่อนพระมารดา

                เมื่อสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้ผู้ใดมาอยู่พระตำหนักเขียว

                จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๒ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๗ ปี ทรงรับสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระราชชายานารี ปรากฏว่าพระราชชายานารี เสด็จประทับ ณ พระตำหนักเขียวนี้ พร้อมด้วยเจ้าจอมแว่นหรือคุณเสือพระสนมเอกที่ทรงโปรดปราน ซึ่งเป็นชาวเวียงจันทน์ด้วยกัน ทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงของพระราชชายานารี มาแต่รัชกาลที่ ๑ ด้วยพระราชชายานารีทรงเป็นกำพร้าชนนีมาแต่ชันษา ๕ ขวบ

                เป็นเหตุให้น่าสันนิษฐานว่า บางทีอาจจะโปรดฯให้เจ้าฟ้ากุญฑลฯ พร้อมด้วยเจ้าจอมแว่น ประทับและอยู่ที่พระตำหนักเขียวมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แล้วก็เป็นได้

                ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ของพระราชชายานารี เสด็จออกวังแล้ว (เจ้าฟ้าอาภรณ์พระชันษา ๒๒ เจ้าฟ้ากลางพระชันษา ๑๙ เจ้าฟ้าปิ๋ว ๑๖) พระราชชายานารีสิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๓๘๑ พระชันษา ๔๑ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้รื้อพระตำหนักเขียวไปสร้างพระราชทานเป็นกุฎีสงฆ์ ณ วัดอมรินทราราม (เดิมชื่อวัดบางว้าน้อย อยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ ส่วนวัดบางว้าใหญ่คือวัดระฆังโฆสิตาราม)

                ทีนี้พระตำหนักแดง

                พระตำหนักแดงนั้นมีสองหลัง หลังแรก คือพระตำหนักแดงของสมเด็จพระพี่นางพระองค์ น้อยในรัชกาลที่ ๑ สร้างในรัชกาลที่ ๑ ตามพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘ปฐมวงศ์’

                (สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ นั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๑-๒-๓ พระอิสริยยศ คือ สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดีและสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เปลี่ยนเป็น กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์มาในรัชกาลที่ ๕ กลับเปลี่ยนเป็นดังในรัชกาลที่ ๑ แต่มีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมปัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จพระเจ้าบรมปัยยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

                มาสิ้นสุดลงในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้ บัญญัติคำนำพระนามเจ้านายให้คงที่ ไม่เปลี่ยนไปตามพระราชสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินแต่ละแผ่นดิน

                พระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ทั้งสองพระองค์จึงเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

                พระตำหนักแดงหลังแรก สมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยเสด็จอยู่จนสิ้นพระชนม์ไล่เลี่ยกันกับ สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ ห่างกันเพียง ๔ เดือน (พ.ศ.๒๓๔๒) ดูน่าอัศจรรย์ เพราะพระชันษาห่างกันถึง ๑๐ ปี เมื่อสิ้นพระชนม์ พระองค์ใหญ่ พระชันษา ๗๐ พระองค์น้อยเพียง ๖๐ ดูราวกับนัดกันเสด็จมาเพื่อช่วยประคับประคองให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และสมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราชทั้งสองพระองค์ ให้ทรงปรองดองกันฉะนั้น แล้วจึงเสด็จล่วงไปพร้อมๆกัน

                สมเด็จพระพี่นาง พระองค์น้อยมีพระโอรส สามพระองค์ พระธิดาสองพระองค์ พระธิดาองค์แรก เจ้าฟ้าหญิงฉิม ไม่ปรากฏว่าสิ้นพระชนม์เมื่อใด แต่ในรัชกาลที่ ๑  นั้น ยังทรงมีพระชนม์อยู่ ว่าพระสติไม่สู้จะสมบูรณ์นัก ส่วนพระธิดาพระองค์รอง คือ เจ้าฟ้าบุญรอดเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒ โปรดฯให้สร้างพระตำหนักพระราชทานหลังพระมหาปราสาท

                เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์) เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง ทรงจัดพระตำหนักแดงหลังแรกนี้เป็นที่ประทับ ที่สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ เพิ่งเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง เพราะในรัชกาลที่ ๑ นั้น ทรงพอพระทัยจะเสด็จอยู่บ้านเดิมสมัยกรุงธนบุรี (บริเวณกรมอู่ทหารเรือ) ถึงรัชกาลที่ ๒ จึงได้ข้ามมาประทับ

                พระตำหนักแดงหลังแรกนี้ เมื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันปีหลวง ชาววังพากันเรียกว่าพระตำหนักตึก หมายถึงอัครฐานใหญ่โต เป็นประธานอยู่ในพระราชฐานฝ่ายใน

                ดังที่จดหมายเหตุตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ ๒ จดเอาไว้ เมื่อเชิญพระสุพรรณบัฏ สถาปนาไปถวายว่า

                “แห่ไปที่พระมณฑลพระตำหนักตึก” พระตำหนักแดงหลังแรกจึงกลายเป็น ‘พระตำหนักตึก’

                ส่วนพระตำหนักแดงหลังที่สอง นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงสร้างพระราชทานพระอัครมเหสีเจ้าฟ้าบุญรอด เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระตำหนักแดงหลังที่สองนี้ อยู่ในหมู่พระมหามณเฑียร หลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ว่าคู่กันกับพระตำหนักเขียวที่เรียกกันว่าพระตำหนักแดง เพราะทาสีแดงเหมือนกันกับหลังแรก

                สมเด็จพระอัครมเหสีเจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะโปรดฯให้บูรณะซ่อมแซมพระมหามณเฑียร จึงเชิญเสด็จเข้าประทับ ณ พระตำหนักแดงหลังแรก (สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์สิ้นพระชนม์ เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๓ เพียง ๓ ปี ใน พ.ศ.๒๓๖๙)

                ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด ซึ่งคนทั่วไปออกพระนามว่า พระพรรษาบ้าง พระวรรษาบ้าง คือ สมเด็จพระพันวษา หรือสมเด็จพระพันวัสสา ขอพระราชทานเสด็จออกไปประทับด้วยพระราชโอรสพระองค์น้อย ณ พระราชวังเดิม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้รื้อพระตำหนักแดงหลังที่สอง ที่อยู่หลังพระมหามณเฑียร ไปสร้าง พระราชทาน ณ พระราชวังเดิม

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×