ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #191 : วังนันทอุทยาน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 945
      3
      15 เม.ย. 53

       ที่เรียกกันว่า ‘สวนอนันต์’ นั้น ชื่อเต็มๆ คือ “วังนันทอุทยาน” สร้างบนพื้นที่อันเป็นสวนอยู่ในคลองมอญ และโดยเหตุที่เป็นที่สวนนี้ จึงเรียกเพี้ยนกันไปเป็น ‘วังสวนอนันต์’ สันนิษฐานกันว่าเห็นจะเป็นเจ้านายเด็กๆทรงเรียกขึ้นก่อน

    พระตำหนัก วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) ในคลองมอญ ธนบุรี

                วังนันทอุทยาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระชนม์อยู่ และยังทรงแข็งแรง ส่วนพระองค์ทรงพระชรามากแล้ว หากเสด็จสวรรคตลง บรรดาพระราชโอรสธิดาและเจ้าจอมมารดาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง บางทีจะลำบากและอาจเป็นที่กีดขวางแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จเข้ามาประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง

                ดังนั้น จึงโปรดฯให้ซื้อสวนในคลองมอญทางฝั่งเหนือ โปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เป็นนายงามสร้างพระราชมณเฑียรขึ้น พระราชทานนามว่า ‘วังนันทอุทยาน’ แต่เมื่อมีพระราชมณเฑียรที่ประทับ และเสด็จพระราชดำเนินประพาส จึงพากันเรียกว่า ‘พระราชวังนันทอุทยาน’ ซึ่งนอกจากเป็นที่เสด็จประพาสแล้ว ยังทรงเตรียมไว้สำหรับเป็นที่ประทับของพระราชโอรสธิดา และที่อยู่ของเจ้าจอมมารดาด้วยเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว

                ทว่าครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตก่อน จึงพระราชทานวังนันทอุทยาน แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มิได้เสด็จไปประทับ ด้วยเมื่อทรงโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ประทับใกล้พระองค์อยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง

    พระบรมรูปพระบาทสมเด็จ
    พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    เมื่อยังเป็น
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
    ในปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐

                จวบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานคุณแพ หลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ให้เป็นหม่อมท่านแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระชนมายุ ๑๕-๑๖ พรรษา คุณแพหรือขณะนั้นคือ หม่อมแพ ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ จึงอยู่ ณ ตำหนักสวนกุหลาบนั้นด้วย

                ต่อมาคุณแพทรงครรภ์ ตามธรรมเนียมราชประเพณีนั้น เว้นเสียแต่ประสูติพระราชโอรสธิดาแล้ว จะให้หญิงใดคลอดลูกในพระบรมมหาราชวังไม่ได้เป็นอันขาด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้จัดตึกซึ่งสร้างเป็นพระราชมณเฑียรไว้ในวังสวนนันทอุทยาน พระราชทาน

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ขณะนั้นพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา ต้องทรงข้ามมารับราชการถวายสมเด็จพระบรมราชชนกแต่เช้า ต่อค่ำจึงเสด็จลงเรือข้ามฟากกลับวังสวนนันทอุทยาน เล่ากันว่าเคยตรัสเล่าว่า บางคืนน้ำในคลองแห้ง ต้องเสด็จขึ้นบกทรงพระดำเนินไต่ไปตามสะพานยาวริมคลอง กว่าจะเสด็จถึงได้บรรทมก็ตกดึก

                คุณแพ ซึ่งต่อมาคือ เจ้าคุณจอมมารดาแพ แล้วเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ทรงครรภ์พระหน่อเพียง ๗ เดือน ก็ประสูติไม่ครบกำหนด แต่ก็ยังทรงพระชนมชีพอยู่ เป็นพระราชธิดา เมื่อประสูติทรงพระยศหม่อมเจ้า สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงรับสั่งเรียกว่า ‘เจ้าหนู’

                อีกเดือนหนึ่งต่อมา จึงได้ทรงพาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ และพระหน่อ ย้ายข้ามกลับมาประทับ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบตามเดิม

                พระราชธิดาพระองค์นี้ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี โปรดฯให้มีสร้อยพระนาม เช่น เจ้าฟ้า เมื่อสถาปนากรมก็โปรดฯให้ทรงกรมเป็นกรมขุนเสมอเจ้าฟ้า คือ กรมขุนสุพรรณภาควดี ด้วยทรงพระเมตตาสิเนหาโปรดปรานมาก ทรงถือว่าเป็นลูกคู่ทุกข์คู่ยาก

                เล่าต่ออีกสักนิด สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยทราบ กรมขุนสุพรรณภาควดี พระองค์นี้ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนม์เพียง ๓๗ ปี (พ.ศ.๒๔๔๗) สมเด็จพระบรมชนนาถทรงพระอาลัยมาก โปรดฯให้เชิญพระศพไปพระราชทานเพลิง ณ พระราชวังบางปะอินเป็นการพิเศษ

                (ความมโหฬาร สนุกสนานเอิกเกริกในการออกพระเมรุนั้น ปรากฏอยู่ในเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช)

                เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชธิดาที่ทรงพระกรุณาโปรดปรานอยู่ และทั้งสองพระองค์ก็ทรงรักใคร่สนิทสนมกันอย่างยิ่ง เป็นที่ประจักษ์ของชาววังทั้งหลาย

                พระองค์หนึ่ง คือ กรมขุนสุพรรณภาควดี

                อีกพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร พระราชธิดาในพระอัครชายาพระองค์กลาง (พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์) เรียกว่า พระอัครชายาพระองค์กลาง ทว่าท่านเป็นพระอัครชายาพระองค์แรก

    เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐

                สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวารมีพระชันษาอ่อนกว่ากรมขุนสุพรรณภาควดี ๕ ปี เมื่อแรกประสูติเป็นพระองค์เจ้า ต่อมาจึงโปรดฯเฉลิมพระยศขึ้นเป็นเจ้าฟ้า จึงเรียกกันว่า ‘สมเด็จหญิงใหญ่’

                ส่วนกรมขุนสุพรรณภาควดี นั้น เรียกกันว่า ‘พระองค์ใหญ่’ บ้าง ‘เสด็จองค์ใหญ่’ บ้าง

                เมื่อเชิญพระศพกรมขุนสุพรรณฯ ไปพระราชทานเพลิงนั้น สมเด็จหญิงใหญ่เกิดไปทรงพระประชวรแล้วเลยสิ้นพระชนม์ที่พระราชวังบางปะอินนั้น ชาววังจึงเศร้าโศกสลดใจ ว่า ‘เชิญพระศพพระองค์หนึ่งมา แล้วก็ต้องเชิญพระศพอีกพระองค์หนึ่งกลับ’

                ที่อัศจรรย์ใจกันมาก ก็เพราะเจ้านายทั้งสองพระองค์ทรงรักใคร่สนิทสนมกันอย่างยิ่ง เวลาสิ้นพระชนม์ยังมาสิ้นพระชนม์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ราวกับนัดกันเสด็จมาแล้ว ก็นัดกันเสด็จสิ้นพระชนม์ไป

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระบรมชนกนาถทรงเศร้าโศกนัก โปรดฯสถาปนากรมสมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร โดยโปรดฯให้ตรึงสายสะพายไว้ที่พระโกศ พระราชทานพระนามกรมว่า กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ คล้องจองกับ ‘สุพรรณภาควดี’ คือ ‘พิจิตรเจษฎ์จันทร์ สุพรรณภาควดี’ (ให้กรมของเจ้าฟ้าอยู่หน้า)

                สำหรับ วังนันทอุทยาน หรือสวนอนันต์ นั้นว่างอยู่ จึงในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดฯ พระราชทานพระตำหนักให้ศาสนาจารย์แมดฟาแลนด์ หรือหมอแมดฟาแลนด์ สร้างโรงเรียนรัฐบาลขึ้น เรียกว่า King’s College เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ทว่า ถึง พ.ศ.๒๔๒๔ เมื่อโปรดฯให้สร้างโรงเรียนสุนันทาลัย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชินี) จึงได้โปรดฯให้ย้ายโรงเรียนวังนันทอุทยาน มาสอนรวมกันกับโรงเรียนสุนันทาลัย ส่วนที่วังนันทอุทยาน หรือสวนอนันต์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นสถานที่ราชการของทหารเรือต่อไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×