ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #190 : พระที่นั่งสุทธาสวรรค์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 585
      0
      15 เม.ย. 53

    โบสถ์วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) อดีตเป็นวัดในเขตวังหน้า ไม่มีพระภิกษุ เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    ปัจจุบันเป็นสถานที่ไหว้ครู และครอบครูของบรรดานาฏศิลปินและดุริยางคศิลปิน
    โบสถ์นี้มันปรากฏในละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์เรื่องจักรๆวงศ์ๆ สมมุมติเป็นปราสาทราชฐานท้าวพญามหากษัตริย์ในเรื่องบ่อยๆ

                -วังหลวงมีพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ปราสาทบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เคยได้ทราบว่า วังหน้าก็มีพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ด้วยเช่นกัน-

                และ

                -ที่เรียกกันว่า ‘สวนอนันต์’ นั้นอยู่ที่ไหน เป็นพระราชวัง เหมือนพระราชวังสวนดุสิต ใช่ไหม-

                เรื่องแรกก่อน

                พระที่นั่ง ‘สุทธาสวรรย์ปราสาท’ (เดิมเขียนเอาไว้ว่า ‘สุทธาศวรรย์’) นั้น ทราบกันแล้วว่า สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๑ ไม่ได้พระราชทานชื่อ หลังคาไม่มียอด เป็นพระที่นั่งโถง จึงเรียกกันว่า พระที่นั่งพลับพลาสูง จนถึงรัชกาลที่ ๓ หลังจากทรงสร้างพระตำหนักใหม่ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงแล้ว จึงโปรดฯให้ซ่อมพระที่นั่งพลับพลาสูง สร้างหลังคาเป็นยอดปราสาท พระราชทานชื่อว่า ‘พระที่นั่งสุทธาศวรรย์ปราสาท’

                (ต่อไปนี้ ‘สวรรย์’ ขอใช้ว่า ‘ศวรรย์’ ตามแบบเก่า)

                ทีนี้ ‘พระที่นั่งสุทธาศวรรย์’ ในวังหน้า

                ชื่อ ‘สุทธาศวรรย์’ เหมือนกัน แต่ไม่มีคำว่า ‘ปราสาท’ ต่อท้าย

                สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในรัชกาลที่ ๑ สร้างขึ้นแต่แรกเป็นหนึ่งในพระราชมณเฑียรสถาน ๕ พระที่นั่ง คือ

                ๑. พระที่นั่งพิมานดุสิดา เป็นหอพระกลางสระ

                ๒. พระที่นั่งสุทธาศวรรย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

                ๓. พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระวิมาน คือที่ประทับหลังใต้

                ๔. พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง

                ๕. พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์ เป็นพระวิมานหลังเหนือ

                ว่าเฉพาะพระที่นั่งสุทธาศวรรย์

                สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้า ร.๑ โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานที่โบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

                ถึงรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ทรงสร้างพระแท่นเศวตฉัตรเป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและทำการพระราชพิธี

                เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า โปรดฯให้ประดิษฐานพระศพไว้ในพระที่นั่งสุทธาศวรรย์นี้

                ถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ใหม่ ทรงย้ายพระแท่นเศวตฉัตรไปไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่ทรงสร้างใหม่ แล้วทรงเปลี่ยนชื่อเดิมจาก ‘พระที่นั่งสุทธาศวรรย์’ เป็น ‘พระที่นั่งพุทไธศวรรย์’ (ปัจจุบันใช้ ‘พุทไธสวรรย์’)

                ที่ทรงเปลี่ยนชื่อนั้น ด้วยเหตุผลสามประการคือ

                ๑. ทรงพระราชดำริ ว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอย่างเดิม

                ๒. ชื่อพระที่นั่งสุทธาศวรรย์ เหมือนกับ พระที่นั่งสุทธาศวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงเปลี่ยนหลีกไป

                ๓. อีกประการหนึ่ง ทรงสร้างพระที่นั่งเพิ่มเติม และแกชื่อพระที่นั่งองค์เดิมบ้าง ให้คล้องจองกัน คือ

                วสันตพิมาน
                วายุสถานอมเรศ
                พรหเมศธาดา (เปลี่ยนจากพรหเมศรังสรรค์)
                อิศราวินิจฉัย (สร้างใหม่)
                พุทไธศวรรย์ (เปลี่ยนจากสุทธาศวรรย์)
                รังสรรค์จุฬาโลก (เปลี่ยนจากพิมานดุสิดา)
                ศิวโมกข์พิมาน (พระที่นั่งเดิม)

                ไหนๆเล่าเรื่องวังหน้าแล้ว ขอเล่าเติมถึงวัดบวรสถานสุทธาวาส อีกสักเล็กน้อย

                วัดนี้ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ใน ร.๓ แรกสร้าง เรียกกันว่า ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงได้พระราชทานชื่อว่า ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’

                ตรงที่สร้างวัดนี้ สมัยวังหน้ารัชกาลที่ ๑ เคยเป็นสวน (อุทยาน) เสด็จประพาส ครั้งเมื่อนักองเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชกาลที่ ๑ มีพระพี่นางเข้ามาด้วยสามองค์ คือนักองเม็ง นักองเภา และนักองอี นักองทั้งสามนี้ สมเด็จพระบวรราชมหาสุรสิงหนาททรงรับเป็นเจ้าจอม ทว่านักองเม็งประชวรสิ้นชีพ จึงเหลือแต่นักองเภา และนักองอี

                นักองเภามีพระองค์เจ้าหญิง ๒ พระองค์

                นักองอี มีพระองค์เจ้าหญิง ๒ พระองค์เช่นกัน ว่ากันว่านักองอีนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ โปรดปรานมาก

                นักองอี มีมารดา บวชเป็นชี กับบริษัท บริวารชีด้วยกันมาอยู่ด้วย สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จึงพระราชทานที่อุทยานให้เป็นสำนักของนักนางแม้นและบริษัทบริวารผู้คนจึงเรียกกันว่า ‘วัดหลวงชี’

                ถึงรัชกาลที่ ๒ ไม่มีวัดหลวงชีแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ จึงโปรดให้เป็นสวนเลี้ยงกระต่ายและอุทยานเสด็จประพาสตามเดิม

                ถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ จึงทรงสร้างวัดพระแก้ววังหน้า หรือวัดบวรสถานสุทธาวาส ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

                อันพระองค์เจ้าหญิงกำพุชฉัตร พระราชธิดาในเจ้าจอมมารดานักองอีนั้น ท่านเป็นกวี ทรงนิพนธ์เรื่อง ‘นิพพานวังหน้า’ เมื่อสมเด็จพระชนกนาถเสด็จสวรรคต ไว้อย่างไพเราะจับใจ เช่นรำพันตอนเคยเสด็จประพาสสวนที่มีพระที่นั่งพิมานดุสิดา (หรือ รังสรรค์จุฬาโลก) อยู่กลางเกาะ ตอนหนึ่งว่า

    “เสาวคนธ์ระคนกลิ่นบุหงา             จำปาแขกเมื่อแขกมาถวายถม
    มณฑาหอมหวนหอมยิ่งตรอมตรม   จะจากชมชวนชมระบมทรวง
    ยี่หุบหุ้มกลีบหุ้มขยายแย้ม             ลำเจียกแหลมกลิ่นแหลมล้วนของหลวง
    ลำดวนเย็นหอมเย็นดูเด่นดวง         พิกุลร่วงดอกร่วงลงดาดดิน
    เสาวรสทรงรสตลบฟุ้ง                  ดังจันทร์ปรุงประปรุงระคนกลิ่น
    การะเกดแก้วเกดอินทนิล              บุหรงบินรีบบินไปจากรัง
    ให้หนักจิตจิตหวนรัญจวนโหย         ฤดีโดยโดยดิ้นถวิลหวัง
    เหมือนอกเราเราจะร้างนิราศวัง       จึงโศกสั่งสั่งสวนอยุธยาฯ”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×