ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #186 : พระราชพิธีถวายการจัดการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 809
      2
      15 เม.ย. 53

     พระราชพิธีถวายการจัดการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๗ ในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’นั้น ผู้เขียนเก็บความมาจากจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

                ที่จริงแล้วในจดหมายเหตุ มีรายละเอียดมากมายยืดยาวหลายหน้า ผู้เขียนเก็บแต่ความสำคัญเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบพระราชพิธีแต่โบราณ พอให้ได้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมราชประเพณี เป็นอรรถรสสำหรับเรื่องแต่งที่ผสมผสานความจริงในพระราชพงศาวดารกับจินตนาการเข้าด้วยกัน

                บังเอิญผู้เล่าเรื่อง ‘เวียงวัง’ มีหนังสือ “ราชกำหนดกรุงกัมพูชา เรื่องการพระศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์พระเจ้ากรุงกัมพูชา” ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้แปลจากภาษาเขมร และจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑

                เห็นว่าการพระศพพระเจ้ากรุงกัมพูชาดังกล่าว มีพระราชพิธีคล้ายคลึงกับไทยนัก แต่การพระศพพระเจ้ากรุงกัมพูชานั้นมีเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นเวลาห่างจากพระบรมศพรัชกาลที่ ๒ ของไทย ถึง ๑๐๓ ปี (สวรรคต พ.ศ.๒๓๖๗) ซึ่งเวลานั้น เขมรอยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศสแล้ว

                ทว่าในหนังสือราชกำหนดฯ นั้น ก็เน้นว่าเป็นไปตามพระราชพิธีแต่โบราณ (ของเขมร)

    กรมศาลาเร็จจณาเขมร ถ่ายรูป พระศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ ก่อนอัญเชิญลงในพระบรมโกศ

                เมื่อการพระราชพิธีอยู่ในยุคที่เริ่มเรียกกันว่าสมัยใหม่ จึงมีการถ่ายภาพไว้โดยละเอียด แม้แต่ภาพพระศพเมื่อทรงเครื่องพระมหาสุกำ ประดิษฐานอยู่บนพระแท่นที่บรรทม

                เมื่อสรงพระศพนั้น บรรยายละเอียดว่า

                “สรงบนพระแท่นสานด้วยหวาย มีถาดหรือรายสังกะสีรองอยู่ใต้พระแท่น พระกรุณาองค์ใหม่ถวายพระสุคนธ์ลงสรง บาคูเป่าสังข์”

                ท่านอธิบายว่า ‘บาคู’ คือ พราหมณ์ คงจะมาจากคำว่า ‘บาครู’

                แล้วทรงเครื่องพระศพด้วยพระภูษาขาว เชิญไปประดิษฐานบนพระแท่น

                สวรรคตวันอังคาร วันพุธบ่ายจึงได้ทรงเครื่องพระมหาสุกำ และทรงเครื่องอลงกต ตลอดเวลาวันอังคาร วันพุธ เชิญเครื่องพระกระยาเสวยตามเวลาที่เคยเสวย

                เครื่องทรงนั้นบรรยายว่า

                “สนับพระชงฆ์ผ้าขาว ๑ สนับพระชงฆ์มีเชิงงอนทอง ๑ พระภูษาเยียรบับขาว ๑ สายรัดพระองค์ทองฝังเพชร ๑ (เหมือนราชประเพณีในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓)

                ถวายพระสพักตาดเงิน ๒ เมตร ปูข้างล่าง กับอีก ๔ เมตร คลุมถวายข้างบน (ไม่เหมือน)

                แล้วถวายฉลองพระองค์แพร ๑ ฉลองพระองค์ตาดมีลาดลายเงินประดับลายทองฝังทับทิม ๑ พระสพักตาดเงิน ๑ สังวาลทองมีประจำยามฝังเพชร ๒ บานพับทองฝังเพชร ๒ ชายแครงทอง ๑ คู่ ห้อยหน้าทอง ๑ อินธนูทอง ๑ สร้อยนวมทอง ๑ วลัยพระกรทอง ๒ วลัยพระบาททอง ๒ ฉลองพระบาททอง ๑ คู่ พระธำมรงค์ทองฝังเพชร ชุด ๑ พระธำมรงค์ทองฝังมรกตชุด ๑ ปรอท ๘ ตำลึง กับทอง ๑ แผ่น หนัก ๑ ตำลึง ใส่ไว้ในพระโอษฐ์ และฉลองพระพักตร์ (หน้ากาก) ทอง”

                แต่ มีราชกำหนดต่อไปอีกว่า

                “กรมกมมีซียอง พินิจสิ่งของพระราชทรัพย์ทั้งนี้ได้ทำบันทึกจดหมายเหตุให้เก็บรักษาไว้ในเก๋งพระอาลักษณ์

                เครื่องที่ถวายพระบรมศพทรงทั้งหมดนั้นราคากว่า ๑๐,๐๐๐ เหรียญ (ฝรั่งเศส) เป็นพระราชทรัพย์พระกรุณาในพระบรมราชานุโกศ และจะต้องเรียกเอาออกในเวลาที่เชิญพระบรมศพใส่ลงในพระโกศเงินกาไหล่ทอง เพื่อแห่ไปสู่พระเมรุ

                และสิ่งของนี้จะต้องสร้างเป็นพระพุทธรูป ๑ องค์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระกรุณาในพระบรมราชานุโกศ

                พระกรุณาองค์ใหม่จะต้องทำเครื่องสำหรับพระองค์ใหม่ ด้วยพระราชทรัพย์สำหรับราชาภิเษกฯ”

                และ

                “เวลา ๑๖ นาฬิกา กรมศาลาเร็จจณาเขมร มาถ่ายรูปพระบรมศพที่ประดิษฐานอยู่บนพระแท่น”

                กรมทั้งสอง คือ  ‘กรมกมมีซียอง’ และ ‘กรมศาลาเร็จจณาเขมร’ ท่านผู้แปลมิได้แปลออกมาเป็นภาษาไทย คงทับศัพท์ภาษาเขมรไว้ เลยไม่ทราบว่าเป็นกรมอะไรกันแน่

                ยังมีประเพณีเหมือนของไทยอีกอย่างหนึ่งคือแต่งเครื่องขาวไว้ทุกข์ แต่ไม่ได้โกนผม สมัยโบราณอาจโกนผมกันทั้งแผ่นดิน ทว่า พ.ศ.๒๔๗๐ ในอาณัติฝรั่งเศส คงจะเลิกประเพณีนี้ไป เว้นเสียแต่พวกเจ้านายฝ่ายในที่อายุมาก และพวกฝ่ายใน เพราะมีบรรยายไว้ในราชกำหนดว่า

                “มีนางร้องไห้ประจำยาม ๒๐ คน ล้วนแต่โกนผมนุ่งขาวไว้ทุกข์ ร้องยำยามตามบทที่กรมพระราชนิพนธ์ (คงจะพระนามทรงกรมของเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง-จุลลดาฯ) ได้แต่งถวายสำหรับพระบรมศพ ในเวลาที่ร้องยำยามถวายนั้น มีกลองชนะ ๑๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ฯลฯ”

    ยกพระโกศลงจาก
    พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย

                ประเพณีในราชสำนักเขมรนั้น ส่วนมากจะคล้ายคลึงกันกับราชประเพณีของไทย น่าสันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะไทยกับเขมรมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันมาแต่โบราณ บางเวลาเขมร (หรือขอม ซึ่งบางนักวิชาการก็ว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกัน บางนักวิชาการท่านก็ว่าขอมก็ขอม เขมรก็เขมร ชาวขอมนั้นศูนย์หายไปนานแล้ว เขมรปัจจุบันนี้ ท่านว่าไม่ใช่ขอม) ก็มีอำนาจเหนือไทย เมือง (ของ) ไทย ในขณะโน้นต้องส่ง ‘ส่วย’ ให้เขมร แต่บางทีเมือง (ของไทย) ก็ไปตีนครเขมรแตก

                เช่นที่พงศาวดารเขมร ว่าไว้ว่า ตั้งแต่พระพุทธศักราช ๖๐๐ เป็นต้นมา

                “กรุงกัมพูชาธิบดีเป็นเอกราช...มีเมืองขึ้นถึง ๕ นคร และเมืองไทยก็เป็นหัวเมืองประเทศราชด้วย เวลานั้น เมืองไทยเดิมตั้งอยู่ที่ศุโขทัยเป็นเมืองหลวงมีนครต่างๆ คือ สวรรคโลก ๑ กัมโพชนคร ๑ บริบูรณ์นคร ๑ หริยญุญไชย นคร ๑ พระพิษณุโลกนคร ๑ รวมทั้ง ๕-๖ เมืองนี้ เป็นเมืองไทยเดิม”

                และอีกตอนหนึ่งว่า

                “ถึงปีมะโรง พุทธศักราช ๑๘๙๕ สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (พระรามาธิบดีที่ ๑ อู่ทอง) กษัตริย์เมืองไทย ได้ยกทัพมาล้อมพระนครกรุงกัมพูชา คือ นครธม เกิดศึกตลอดปี ๑ จึงเสียนครธมแก่กษัตริย์เมืองไทย สมเด็จพระบรมลำพงษ์ราชา สวรรคตเวลานั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม จึงให้กวาดต้อนครัวเขมรพาเข้าไปอยู่กรุงศรีอยุธยาคราวนั้นราว ๙๐,๐๐๐ คน

                น่าสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมเขมรอาจจะเข้ามาสู่ไทยแต่เวลานั้นเอง เช่นการนุ่งผ้าที่เรียกว่าผ้าปูมผ้าสมปัก เป็นต้น

                ทว่าที่เขมรรับจากไทยไปนั้น เห็นจะเป็นแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อราชวงศ์เขมรเกิดแตกแยกกัน นักพระองค์เอง กษัตริย์เขมรพระชนม์เพียง ๑๐ พรรษา (เมื่อครองราชย์พระชนม์แค่ ๗ พรรษา) ต้องหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ทรงพระเมตตาเอ็นดูทรงเลี้ยงอย่างพระราชบุตรบุญธรรม โปรดฯให้ทรงผนวชพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี และพระพงศ์นรินทร์ราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็น ๓ พระองค์ หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ด้วยกัน

                นักพระองค์เอง หรือนักองเอง อยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์เกือบ ๒๐ ปี ตรัสภาษาไทยคล่องกว่าภาษาเขมร มีบริจาริกา เป็นธิดาขุนนางไทย และเชื้อพระวงศ์ไทยหลายท่าน

                ในราชสำนักเขมร จึงพูดภาษาไทย และใช้ขนบธรรมเนียมไทยหลายอย่าง

                สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ที่สวรรคต พ.ศ.๒๔๗๐ นี้ เป็นนัดดา (หลานปู่) ของสมเด็จพระนโรดม (นักองเอง)

                ต่อเรื่องพระศพอีกเล็กน้อย คือ เมื่อจะเชิญพระองค์ลงประทับในพระบรมโกศนั้น ราชกำหนดบรรยายเพียงสั้นๆว่า

                “เชิญพระบรมศพ ขึ้นนั่งประณมพระหัตถ์ถวายบังคมพระพุทธรูป แล้วห่อพระบรมศพด้วยผ้าขาวและผ้าแพรครั้นห่อเสร็จแล้วกรมภูษามาลา เชิญพระบรมศพลงในพระบรมโกศทอง มีส่วนสูงรวมทั้งหมด ๒ เมตร  ๘๐ เซนติเมตร”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×