ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #184 : ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.45K
      1
      15 เม.ย. 53

      ผู้ที่ไปๆมาๆคุ้นเคยกับวังท่าพระ และที่นับได้ว่าเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

                ปรากฏในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ อีก ๒ ท่าน คือพระพิชัยวารี (เจ๊สัวโต) และหลวงนายชิดภูบาล (ป้อม)

                พระพิชัยวารี (เจ๊สัวโต) เป็นบุตรชายของเจ๊สัวมั่งหรือมัน (แซ่อึ้ง) เป็นจีนฮกเกี้ยน เจ๊สัวผู้นี้มาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่บริเวณที่เป็นวัดกัลยาณมิตรเดี๋ยวนี้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และพระภัสดาคือเจ้าขรัวเงิน (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเรียกว่า เจ้าข้าวเงิน) ได้ย้ายลงมาอยู่แพค้าขายบริเวณหน้าบ้านเจ๊สัวมั่งหรือมัน คงเป็นเพราะคุ้นเคยกับพระบรมราชวงศ์จักรีมาก่อนนี้เอง ถึงรัชกาลที่ ๑ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงพิชัยวารี (มั่งหรือมัน)

                โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ แต่ยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทรนั้น ทรงมีหน้าที่ดูแลเรื่องการค้าสำเภา และต่อมาในปลายๆรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเจริญพระวัย ก็ได้ทรงช่วยสมเด็จพระชนกนาถในราชการนี้ด้วย จึงทรงคุ้นเคยกับหลวงพิชัยวารี (มั่งหรือมัน) และนายโต (ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่าเจ๊สัวโต) นายโตจึงได้เข้าเฝ้าและจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๒ นายโตได้เป็นพระพิชัยวารี (โต) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงกรมเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โปรดฯให้กำกับราชการกรมท่า และเสด็จประทับ ณ วังท่าพระ พระพิชัยวารี (โต) จึงเข้านอกออกในวังท่าพระทุกวัน จนคุ้นเคยสนิทสนมกับคนในวัง โดยเฉพาะห้องเครื่อง เพราะพระพิชัยวารี (โต) เป็นผู้จัดทำแกงจืดอย่างจีนที่เรียกว่า ‘เกาเหลา’ ถวายเสด็จในกรมฯ เลี้ยงบรรดาเจ้านายข้าราชการ ซึ่งเมื่อออกจากเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแล้ว ส่วนมากมักแวะมาพักและรับประทานอาหารว่างที่วังท่าพระก่อน

                เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้พระพิชัยวารี (โต) เป็นพระยาพิชัยวารี (โต) พระยาพิชัยวารี (โต) มีหน้าที่ ‘เหยียบหัวตะเภา’ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงตรัสเรียกโดยคุ้นพระโอษฐ์ว่า “เจ๊สัวเหยียบหัวตะเภา” เสมอมา

                เมื่อพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ไปราชการทัพเวียงจันทน์ ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี และต่อมาโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) แล้ว จึงโปรดฯ ให้พระยาพิชัยวารี (โต) เป็นพระยาราชสุภาวดี (โต) เป็นข้าหลวงเดิมที่ได้เฝ้าใกล้ชิด ตราบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต

                อธิบายคำว่า ‘เหยียบหัวตะเภา’ ดังนี้

                “ในสมัยก่อนโน้น ราชการมีระบบการค้าแบบผูกขาด ทั้งสินค้าขาเข้าและขาออก

                ว่าด้วยขาเข้า สินค้าขาเข้าที่สำคัญที่สุดคืออาวุธยุทธภัณฑ์ รัฐควบคุมซื้อไว้เองทั้งหมด เพื่อไว้ใช้ป้องกันบ้านเมือง ส่วนสินค้าอื่นๆนั้น ดูตามความจำเป็น จุดประสงค์อยู่ที่หากเอาไว้ขายเอง รัฐบาลจะได้กำไรมากหรือน้อย ทั้งนี้รวมทั้งการกักเอาไว้ขายให้พ่อค้าที่ผ่านไปมา เป็นสินค้าขาออกด้วย

    เจดีย์ในวัดกัลยาณมิตร
    ที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต)
    สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓
    เป็นเจดีย์แบบจีนผสมไทย
    อันเป็นศิลปะตามแบบพระราชนิยม
    คือ องค์เจดีย์แบบถะแปดเหลี่ยม
    เป็นชั้นๆ แต่ยอดเป็นปรางค์

                ดังนั้น จึงมีธรรมเนียมว่า เมื่อมีเรือสินค้ามาถึง ต้องมีเจ้าพนักงานลงไปตรวจดูสินค้าในเรือ เพื่อคัดเลือกสินค้าที่รัฐบาลต้องการเอาไว้ก่อน เหลือของที่ไม่ต้องการแล้วจึงอนุญาตให้จำหน่ายแก่ราษฎรทั่วไปได้

                เรียกธรรมเนียมนี้ว่า ‘เหยียบหัวตะเภา’

                ผู้เหยียบหัวตะเภานี้ หากพูดกันตามภาษาปัจจุบัน เห็นจะพูดได้ว่าต้องเป็นนักธุรกิจฉลาด มีหัวเป็นพ่อค้า บวกลบคูณหารให้สินค้าที่เลือกเอาไว้ทำกำไรมากๆ

                พระยาราชสุภาวดี (โต) นั้น เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็น ‘เจ้าพระยานิกรบดินทร์’ ที่สมุหนายก โดยมีข้อความในประกาศว่า

                “พระยาราชสุภาวดีฯ สมุหมาตยาธิบดีฯ พระสุรัสวดีกลาง ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมาช้านาน แต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ...ครั้นมาเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้านั้นเล่า ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ใหญ่ว่าที่สมุหนายก สำเร็จราชการในกรมมหาดไทยมาช้านาน มีอาการเรียบร้อยเป็นอันดี มีอัธยาศัยรอบคอบ ประกอบราชกิจมิให้ผิดธรรมเนียมราชประเพณี อนึ่งเป็นสัปปุรุษประกอบด้วยกตัญญูกตเวทีต่อแผ่นดิน ทำราชการโดยซื่อสัตย์สุจริต คิดจะทำนุบำรุงแผ่นดินแลอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข สมควรจะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ได้ จึงมีพระบรมราชโองการฯ ให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทรมหินทรมหากัลยาณมิตรฯ ที่สมุหนายก สำเร็จราชการทั้งปวงในกรมมหาดไทย ฯลฯ”

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานราชทินนาม ชั้นเจ้าพระยาแก่ นายสิงห์ นั้น พระราชทานว่า เจ้าพระยาบดินทรเดช มีคำว่า ‘บดินทร’ อันเป็นคำท้ายพระนามทรงกรม เมื่อดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒

                ‘บดินทรเดชา’ แปลว่า เดช หรือ เดชานุภาพแห่งบดินทร์

                ครั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะพระราชทานราชทินนามแก่นายโต ทรงพระราชดำริว่า นายโตผู้นี้ซื่อสัตย์จงรักภักดีในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช นับว่าเป็น มหากัลยาณมิตรในพระองค์ จึงทรงพระราชทานราชทินนามว่า ‘นิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร

                แปลว่า คนผู้ซึ่งเป็นมหากัลยาณมิตร  แห่ง ‘บดินทร์’ ผู้เป็นใหญ่

                เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) เกิดปี พ.ศ.๒๓๒๗ สูงวัยกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ๓ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จพระราชสมภพ พ.ศ.๒๓๓๐ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) สมภพ พ.ศ.๒๓๓๑ อายุและพระชนมายุ จึงไล่เลี่ยกัน

                เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) มีบุตรธิดาหลายคน ที่สำคัญคือ

                ๑.  เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด) เป็นเจ้าพระยาในรัชกาลที่ ๕

                ๒. ท้าวสมศักดิ์ (อึ่ง) เป็นเจ้าจอมมารดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี) พระราชธิดา พระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งเป็นที่โปรดปรานในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเป็นผู้อุปการะสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มาแต่ยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระกรุณายกย่องมา ในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯ สถาปนาเป็น พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา

                ๓. พระยาชัยวิชิต (ช่วง) เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาแสง ในรัชกาลที่ ๕

                จึงเป็นขรัวตาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภางคนิพัทธพงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง ภัทรายุวดี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเจริญศรีชนมายุ

                ๔. พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาแช่ม ในรัชกาลที่ ๕

                จึงเป็นขรัวตาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) ต้นราชสกุล ‘ประวิตร ณ อยุธยา’

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×