ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #182 : นายภู่และนายสิงห์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 824
      0
      15 เม.ย. 53

      ในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังทรงพระเยาว์ มีมหาดเล็กในสมเด็จพระราชบิดา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) คุ้นเคยอุ้มชูพระองค์มาอยู่หลายท่าน แต่ที่โปรดปรานสนิทสนมในพระองค์นั้นสองท่าน คือนายภู่ และนายสิงห์

                เล่าถึง ‘นายภู่’ ก่อน

                นายภู่ เป็นบุตรชายของธิดาพระยาศรีสรราช บิดาของนายภู่นั้นเป็นพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ (พระบัณฑูรน้อยในปลายรัชกาลที่ ๑ และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ ) มาแต่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นยังทรงพระเยาว์เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรี

                ตระกูลทางฝ่ายบิดาของนายภู่ไม่ปรากฏ

                ค้นคว้ากันได้แต่ทางสายมารดา ซึ่งเป็นธิดาของพระยาศรีสรราช

                พระยาศรีสรราช (ไม่ทราบชื่อเดิม) รับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เป็นพระยาศรีสรราชในแผ่นดินนี้

                พระยาศรีสรราช เป็นบุตรชายของพระยาธิเบศร์ธิบดี จางวางมหาดเล็กในแผ่นดินขุนหลวงเอกทัศน์รัชกาลสุดท้ายกรุงศรีอยุธยา

    คุณพุ่ม ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) นั้น ว่ามีแพอยู่หน้าบ้านบิดา เป็นประดุจสโมสรชุมนุมกวี ลักษณะแพริมน้ำหน้าบ้าน เข้าใจว่าคงคล้ายๆในภาพนี้

                เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลง พม่ากวาดต้อนเอาพระราชวงศ์ และขุนนางข้าราชการไปขังไว้ในค่ายโพธิ์สามต้นส่วนหนึ่ง พระยาธิเบศร์บดินทร์ก็อยู่ในจำนวนนี้ด้วย

                ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กอบกู้บ้านเมืองได้ ทรงรับเชื้อพระวงศ์และขุนนางครั้งกรุงเก่าเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี และทรงทำนุบำรุงตามควรตามความรู้ความสามารถ

                สำหรับ พระยาธิเบศร์บดี นั้น ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อย จะโปรดตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เสนาบดีกรมวัง พร้อมๆกับตั้งหลวงนายศักดิ์ (หมุด) เป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก

                แต่พระยาธิเบศร์บดี  สิ้นชีวิตเสียก่อน จึงทันแต่หลวงนายศักดิ์ (หมุด) ที่เรียกกันว่า ‘จักรีแขก’ เป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกของกรุงธนบุรี

                พระยาธิเบศร์บดี เดิมมีบุตรธิดาหลายคน ทว่าตกไปเป็นเชลยพม่าหมด เหลือบุตรชายคนเล็กอยู่ผู้เดียว เวลากรุงแตกคงจะยังเด็กอยู่ เพิ่งเข้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ได้เป็นที่พระยาศรีสรราชดังกล่าว

                ธิดาของพระยาศรีสรราช สมรสกับพระพี่เลี้ยงในพระบัณฑูรน้อย ว่ามีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน  แต่จะกล่าวถึงในที่นี้เพียง ๒ ท่าน คือ

                คนที่ ๔ เป็นหญิงชื่อ พลับ ได้ถวายตัวเป็นหม่อมในพระบัณฑูรน้อย เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ พระบัณฑูรน้อย ทรงรับอุปราชาภิเษก เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หม่อมพลับ จึงเป็นเจ้าจอมมารดาพลับมีพระองค์เจ้าชายพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้ารัชนีกร ต้นราชสกุล รัชนีกร ณ อยุธยา

                เจ้าจอมมารดาพลับ ผู้นี้เล่นละครวังหน้าเป็นตัวจินตะหรา จึงมักเรียกกันว่า เจ้าจอมพลับจินตะหรา

                คนที่ ๕ เป็นชาย คือ นายภู่ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร

                เข้าใจว่า อายุคงจะมากกว่าพระชันษาของหม่อมเจ้าทับ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งพระยศในขณะเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ คือ หม่อมเจ้าราษฎรทั่วๆไปมักเรียกว่า ‘เจ้า’)

                นายภู่เห็นจะอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับนายสิงห์ (เจ้าพระยาบดินทรเดชา) หรืออาจจะอ่อนกว่าไม่มากนัก นายสิงห์นั้นเกิด พ.ศ.๒๓๒๐ แก่กว่าหม่อมเจ้าทับ ๑๐ ปี

                นายภู่เป็นที่โปรดปรานของหม่อมเจ้าทับมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ตรัสเรียกอย่างสนิทสนมว่า ‘ไอ้ภู่’ ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าทับทรงกรม และพระราชทานวังท่าพระให้เป็นที่ประทับ ‘ไอ้ภู่’ ของพระองค์ท่านก็ตามเสด็จไปเป็นจางวางมหาดเล็ก

                ครั้นเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็โปรดฯให้จางวางภู่ เป็นพระยาราชมนตรี อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ ขุนสุนทรโวหาร (ชื่อ ‘ภู่’ เหมือนกับ) เคยล่วงเกินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อครั้งยังเป็นพระเจ้าลูกเธอ จึงเกรงพระราชอาญา ละทิ้งบ้านเรือนหนีไปบวช พึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงพระราชทานบ้านของขุนสุนทรโวหาร (ภู่) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานให้อยู่ใกล้ๆ พระราชวังนั้นแก่พระยาราชมนตรี (ภู่)

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงยกย่องพระยาราชมนตรี  (ภู่) ว่าเปรียบเสมือน ‘บ่อแก้ว’ ในรัชกาลของพระองค์

                เพราะเหตุใดจึงทรงยกย่อง คงไม่มีผู้ใดอธิบายได้เท่าคุณพุ่ม ธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) เอง

                คุณพุ่มเล่าถึงบิดาของท่านไว้ดังนี้

                ตัวคุณพุ่มแม้ว่า “ถึงพลั้งผิดปลิดโปรดโทษประทาน
                ด้วยการสุจริตของบิดา
                คือถือมั่นกตัญญูชูพระเดช
                รักษาเขตคลังสมบัติมนัสา
                ไม่ฉ้อหลวงล่วงพระราชอาชญา
                ทำเงินตราขึ้นไว้ในแผ่นดิน
                สมพัตสรบ่อนเบี้ยคิดเกลี้ยกล่อม
                รู้เก็บหอมรอมรับซึ่งทรัพย์สิน
                เดิมกรุงเก่าเล่าวิบัติปัฐทินทร์
                เป็นราคินครั้งพม่ามันมากวน
                สมบัติกรุงยุ่งยับนับเอนก
                อภิเษกกษัตรารักษาสงวน
                ประชาชนจนเซยังเรรวน
                การเรือกสวนสมพัตสรต้องผ่อนปรน
                สืบสยามสามทั้งพระนั่งเกล้าฯ
                เป็นจอมเจ้าจักรพรรดิบำเพ็ญผล
                ประชาชี (มั่ง) มีทั่วทุกตัวคน
                ได้ลาภผลพฤกษาเนื้อนาปรัง
                ถึงสุธาหากินถิ่นประเทศ
                คุ้มภัยเพทโจรขโมยได้โดยหวัง
                ท่านบิดาราชมนตรีว่าที่คลัง
                จึงแต่งตั้งเจีย (เจ๊ เจ้า) สัวตัวอากร
                ให้เงินหลวงตวงเติมเฉลิมฉลาด
                ฉลองบาทบพิตรอดิศร
                คลังสมบัติวัฒนาสถาวร
                พระนครบริบูรณ์จำรูญรักษ์
                เป็นบุรุษสุจริต สนิทนาถ
                เฉลิมบาทคู่บุญจุลจักร
                รู้ถ่ายเทเสน่หาสามิภักดิ์
                บำรุงรักษาสมบัติขัติยา

                หากอ่านกลอนตอนนี้ของคุณพุ่มอย่างพิจารณา จะเห็นได้ว่าท่านเล่าสั้นๆ ทว่าได้รู้เรื่องหลายอย่าง เป็นต้นว่าการเก็บภาษีในสมัยนั้นคงมีช่องว่างรูโหว่อยู่มาก เงินรั่วไหลไม่เข้าแผ่นดินเต็มที่ พระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นผู้เริ่มคิดขอพระราชทานให้มีการประมูล ตั้งนายอากรขึ้นเก็บภาษีโดยมีสัญญาว่า นายอากรเจ้าภาษีจะต้องส่งเงินเข้าหลวงทุกปีเป็นจำนวนเงินเท่าที่สัญญาไว้ เมื่อมีผู้ถูกบังคับให้รับผิดชอบเงินภาษีก็ไม่รั่วไหล

                และขอให้สังเกตว่า คุณพุ่มเน้นถึงความสุจริตของบิดาหลายครั้ง ความสุจริต ซึ่งแม้เป็นข้าราชการผู้เกี่ยวข้องกับการเงินของแผ่นดิน ก็ “ไม่ฉ้อหลวง” เบียดบังแผ่นดินเอาเงินเข้าพกเข้าห่อ หรือเห็นแก่ประโยชน์ตนยิ่งกว่าบ้านเมือง ซึ่งจะหา “บุรุษสุจริต” ดังพระยาราชมนตรี (ภู่) ในปัจจุบันนี้นั้น คงแทบจะหาไม่ได้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×