ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #180 : สกุลมอญ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 871
      0
      14 เม.ย. 53

     คราวนี้สกุลมอญ

                ปรากฏในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ แต่รัชสมัยกรุงธนบุรีเลยทีเดียว

    สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รัชกาลที่ ๕

                คือ ท้าวทรงกันดาล (หรือทรงกันดาน) ที่มีชื่อว่า ทองคำ แต่เรียกกันว่า ทองมอญ บ้าง เรียกว่าท้าวทรงกันดาลมอญ บ้าง ชื่อตำแหน่งของท่านผู้นี้ จึงกำกับด้วยวงเล็บว่า ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เสมอ

                และอีกผู้หนึ่งเป็นบุรุษ ในพระราชพงศาวดารเรียกกันเป็นหลายชื่อ เรียกพระยารามัญวงศ์บ้าง เรียกจักรีมอญบ้าง ซึ่งก็ถูกทั้งสองชื่อแล้วแต่จะพอใจเรียกอย่างไร

                ที่จริงบรรดาศักดิ์สุดท้ายของท่านในแผ่นดินกรุงธนบุรี ปรากฏตามที่ลูกหลานของท่านเขียนบอกเล่าเอาไว้นั้นว่า

                ท่านเป็นมอญเข้ามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่จะเข้ามาเมื่อใดสมัยใดไม่แน่ เพราะพวกมอญเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยากันหลายครั้งหลายพวก ชื่อเดิมชื่อมะซอน ซึ่งมาจดกันเป็นภาษาไทยกลายเป็น ‘ซอน’ หรือ ‘ซวน’

                ครั้นในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) มะซอนได้เป็นนายกองรามัญ กรมอาษาทะมาตย์ คือพวกต่างชาติที่อาสาสมัครเข้าเป็นทหารสู้รบกับข้าศึกศัตรูของไทย ในหนังสือเรื่อง มอญที่เกี่ยวกับไทย ว่าเป็นที่หลวงบำเรอภักดิ์

                ต่อมาได้ช่วยพระยาตากสินสู้รบพม่า ครั้นเสด็จปราบดาภิเษก จึงโปรดให้เป็นพระยานครอินทร์แล้วเลื่อนเป็น เจ้าพระยารามจตุรงค์ ราชทินนามนี้คือราชทินนามพระราชทาน มีตำแหน่งที่จักรี แทนเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งทรงเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ) แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า พระยารามัญวงศ์ บ้าง จักรีมอญ บ้าง แล้วแต่ความพอใจเรียก ดังกล่าว

                จึงเป็นอันว่าในรัชสมัยกรุงธนบุรีมีผู้ได้เป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก ถึง ๓ ท่าน คือ จักรีแขก จักรี (สมเด็จเจ้าพระยาฯ) และจักรีมอญ

                เจ้าพระยารามจาตุรงศ์ (มะซอน) เป็นพี่ชายใหญ่

                ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เป็นน้องที่สอง

                คุณหญิงแป้น ภรรยาพระยาพัทลุง (ขุน) เป็นน้องสุดท้อง

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระชนมายุประมาณ ๑๑-๑๒ พรรษา  (ขณะสมเด็จพระบรมราชชนนีสวรรคต พระชนมายุเพียง ๘ พรรษา)

                ทั้งสามคน เป็นพี่น้องมอญ มีเคหสถานอยู่ธนบุรี แถบคลองที่เรียกกันว่าคลองมอญ ตามเชื้อชาติของท่าน

                เรื่องของคุณหญิงแป้น เล่าไปบ้างแล้ว เมื่อเล่าเรื่องพระยาพัทลุง (ขุน) ผู้สามี และ พระยาพัทลุง (ทองขาว) ผู้เป็นลูกชายของพระยาพัทลุง (ขุน) กับคุณหญิงแป้น

                ทีนี้เรื่องของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) แต่พอสังเขป

                สำหรับสามีของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ผู้นี้ เล่ากันเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งว่า พระสามีของท่านเป็นเจ้า ชั้นหม่อมเจ้าราชสกุลกรุงเก่า (คือชั้นนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน)

                อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นพระองค์เจ้า (ชั้นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน) หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์ใดองค์หนึ่ง

                ที่ว่าพระสามีเป็นพระองค์เจ้า อาจเป็นได้ แต่ที่ว่าเป็นนางห้ามพระสนมในกรมพระราชวังบวรฯ (ปลายกรุงศรีอยุธยา มีสองพระองค์คือสมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ และสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร) คงไม่ถึงเช่นนั้น

                ดังนั้น บุตรธิดาของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) จึงไม่แน่นักว่าเป็นชั้นหม่อมราชวงศ์ หรือหม่อมเจ้า

                เพราะในสมัยกรุงธนบุรีนั้น คนทั่วไปเรียกบุตรธิดาของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ว่า ‘หม่อม’

                ซึ่งในสมัยก่อนโน้น บรรดาลูกขุนนางผู้ดีมีสกุลชั้นสูงที่มิใช่เจ้า เรียกกันว่า ‘หม่อม’ อย่างหนึ่ง

                อีกอย่างหนึ่ง บรรดาลูกหลานเจ้านายที่ยังเป็นเจ้าอยู่นั้น เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่ม บรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นเล็กก็พลอยหมดพระเกียรติยศไปด้วย ดังเช่น หม่อมฉิม หม่อมอุบล ซึ่งตามจดหมายเหตุบางฉบับว่า เดิมเป็นหม่อมเจ้าราชสกุลกรุงเก่า

                ยกเว้นที่ยังคงพระเกียรติยศ อยู่ก็แต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระราชโอรสธิดาในพระอัครมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเคารพนับถือว่าเป็นเจ้านายของท่าน เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าพินทวดี (หรือพินทุมวดี) พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ร่วมพระครรโภทร ด้วยพระเจ้าเอกทัศ เป็นต้น

                เพื่อสรุปความเกี่ยวพันของสกุลมอญ กับราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕

                ซึ่งสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔ และเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง รัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงมีเชื้อสายมอญถึง ๒ สาย

                สายแรกทางพระชนก (สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอฯ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ผู้ทรงเป็นหลานย่า ในสมเด็จพระศรีสุลาลัย) ดังนี้

    ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ)

    หม่อมราชวงศ์หรือหม่อมเจ้าทับ + ท่านผ่อง

    เจ้าจอมมารดาทรัพย์ในรัชกาลที่ ๓

    พระองค์เจ้าศิริวงศ์

    สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๔

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

                ทีนี้พระชนนีของสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ ท่านก็เป็นลูกหลานมอญอีก

                พระชนนีชื่อว่า ‘น้อย’

                พระชนนีน้อยนั้น ท่านมียายชื่อม่วง

                ท่านม่วงเป็นธิดาพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) มอญอีกสายหนึ่ง คนละสายกันกับเจ้าพระยารามจตุรงค์ (มะซอน) และท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ)

                สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ ท่านสืบสายมอญสายนี้ ดังนี้

    พระยารัตนจักร (หงส์ทอง)

    ท่านม่วง

    ท่านแจ่ม

    พระชนนีน้อย + พระองค์เจ้าศิริวงศ์

    สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

                พระยารัตนจักร (หงส์ทอง) นั้น ในเรื่องมอญที่เกี่ยวกับไทย เล่าว่าเป็นครัวมอญที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ ถึง ๔๐,๐๐๐ คนเศษ มีหัวหน้าชื่อ สมิงสอดเบา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดฯให้รับเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่แขวงเมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง ตัวนายรามัญผู้ใหญ่ มียศเป็นสมิงนั้น โปรดฯให้เป็นพระยารัตนจักร (คือ ที่ชื่อหงส์ทองผู้นี้)

                ด้วยเหตุนี้พระยารัตนจักร (หงส์ทอง) จึงมีความสัมพันธ์กับสกุลชาวสวนบางเขน จึงปรากฏในเวลาต่อมาว่า พระชนนีน้อยอยู่ในสกุลชาวสวนบางเขนที่สืบสาวขึ้นไปถึงมอญพระยารัตนจักร (หงส์ทอง)

                ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวของสกุลมอญที่เกี่ยวข้องกับราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×