ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #176 : พระบรมราชอนุสรณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 666
      0
      14 เม.ย. 53

     มีโอกาสไปรวมทอดกฐินที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงมีโอกาสได้ถวายบังคมสักการะพระบรมราชอนุสรณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทั้งสองแห่งคือ พระเจดีย์ที่ว่าบรรจุพระอัฐิรวมไว้กับเจ้าพระยานครฯ (น้อย) พระราชโอรส ในวัดพระมหาธาตุวรวิหารแห่งหนึ่ง และอีกแห่งหนึ่งคือที่ประทับ ‘ลี้ภัย’ บนเขาขุนพนม พร้อมทั้งโบสถ์เชิงเขาที่ว่าทรงสร้างไว้

    พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จำลองแบบจากพิพิธภัณฑ์อิตาลี ว่าเป็นพระพักตร์เมื่อยังหนุ่มรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชอนุสรณ์สถาน ตลอดจนศาลที่สร้างถวาย มักมีพระบรมรูปนี้ประดิษฐานไว้ด้วย

                คนเมืองนครศรีธรรมราช เชื่อกันมาแต่ครั้งโบราณแล้วว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม ซึ่งแต่ครั้งกระโน้นยังเป็นเขาอยู่กลางป่ากลางดงเหมาะสำหรับเป็นที่ซ่อนเร้น แม้จนกระทั่งบัดนี้มาถึงชั้นเหลน โหลนก็ยังเชื่อกันอยู่ พระเจดีย์ที่ว่าบรรจุพระอัฐิจึงมีผู้มากราบไหว้กันอยู่เสมอ

                เขาขุนพนมนั้น ปัจจุบันนี้อยู่ไกลจากเมืองก็จริง ทว่าเดินทางไปสะดวก ก่อนเข้าถึงวัดเขาขุนพนม เชิงเขาขุนพนม ซึ่งเป็นถนนเล็กแยกจากถนนใหญ่ จะผ่านพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไปต่ออีกหน่อยจึงถึงวัดเขาขุนพนม  เชิงเขาขุนพนม

                โบสถ์ที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างไว้นั้น อยู่ตรงเชิงเขาขุนพนม แม้จะฉาบปูนใหม่เมื่อบูรณะ แต่ยังคงรูปลักษณะเดิม แปลกกว่าพระอุโบสถอื่นๆ ตรงที่เป็นโบสถ์เล็กๆ มีประตูทางเข้า ทว่าไม่มีหน้าต่างเลย เจาะเพียงช่องให้แสงสว่างเข้าได้เท่านั้น จึงเป็นทางให้สันนิษฐานกันว่า การไม่มีหน้าต่างก็เพื่อป้องกันภัยจากศัตรูภายนอก มิให้จู่โจมเข้าไปข้างในได้สะดวก

                ส่วนทางขึ้นสู่ที่ประทับบนเขา ปัจจุบันเขาทำพญานาคสองตัวทอดหางขึ้นไปสองฟากบันไดทางขึ้นเช่นเดียวกับที่ดอยสุเทพ มองขึ้นไปเห็นบันไดสูงทอดคดเคี้ยวหายลับไปในป่าบนเขาแล้ว ใครๆก็ประมาทหน้าว่าคงไปไม่ถึง แต่เมื่อตั้งใจเอาไว้แล้ว ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง เดินไปหยุดพักหอบไปหลายช่วงถึงถ้ำที่ประทับจนได้

                ทางขึ้นสู่ถ้ำนั้น มิใช่ทางตรงลิ่ว หากแต่เป็นทางคดเคี้ยวเลี้ยวเป็นช่วงๆ นึกถึงสมัยเมื่อสองร้อยกว่าปีโน้น ไม่มีทางเดิน การขึ้นสู่ถ้ำคงยากลำบากไม่น้อย ใกล้ถ้ำแล้วยังมองไม่เห็นปากถ้ำ เพราะอยู่แอบลับขึ้นไป นับว่าเป็นภูมิสถานเหมาะแก่การหลบซ่อน มิหนำซ้ำเมื่อถึงช่วงหยุดพักก่อนขึ้นสู่ถ้ำ คนนำไปชี้ให้ดูนอกทางหลบอยู่ในที่รกๆ ว่าเป็นปล่องขึ้นถึงถ้ำได้ คือดูทีท่าว่าสามารถหนีออกทางช่องนั้นได้ หากมีภัยมาทางหน้าถ้ำ

                ดังนี้ นอกจากหลักฐานคือถ้ำที่ประทับอันซ่อนเร้นและมีทางหนีทีไล่ โบสถ์เชิงเขาไม่มีหน้าต่าง อันทำให้เกิดความเชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงหลบซ่อนมาประทับที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ผู้ที่เชื่อยังมีเหตุผลอื่นประกอบอีกว่า ที่ทรงเลือกเมืองนครฯ เพราะ

                ประการหนึ่ง ทรงมีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับเมืองนครฯ ทำให้เจ้าเมืองนครฯ ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา นึกถึงพระเดชพระคุณอยู่เสมอ คือเมื่อกรุงศรีอยุธยาล่ม เจ้าเมืองนครฯตั้งตัวเป็นใหญ่เป็นก๊กก๊กหนึ่ง ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามได้ชัยชนะแล้ว ไม่ทรงเอาโทษ มีรับสั่งว่า ไม่ถือว่าเป็นกบฏ เพราะยามบ้านเมืองแตก ใครๆก็ตั้งตัวเป็นอิสระได้ จึงโปรดให้เจ้าเมืองนครฯพร้อมอุปราชตามเสด็จไปทำราชการในกรุงธนบุรี ต่อมาโปรดให้เจ้าเมืองนครฯ กลับไปเป็นเจ้าเมืองนครฯตามเดิม โดยทรงเพิ่มเกียรติยศ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เสมอเจ้าประเทศราช เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช ส่วนอุปราช ที่ชื่อจันทร์นั้น ยังคงรับราชการอยู่กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา ต้นสกุล ‘จันทโรจวงศ์’

    ภาพประตูกำแพงพระวิหารบนเขาขุนพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

                พระเจ้านครศรีธรรมราชได้ถวายธิดาองค์กลาง ชื่อฉิมและธิดาองค์เล็กชื่อปราง ให้เป็นเจ้าจอมพระสนมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

                นี้เป็นความสัมพันธ์ชั้นแรก คือนอกจากจะทรงมีพระเดชพระคุณแก่พระเจ้านครศรีธรรมราชแล้ว ยังทรงเป็น ‘เขย’ อีกด้วย

                ประการที่สอง ความสัมพันธ์ประการแรกนั้น เชื่อมโยงกันต่อมา คือเมื่ออุปราชจันทร์ขออยู่กรุงธนบุรี พระเจ้านครศรีธรรมราชจึงตั้งเขยใหญ่ ชื่อพัฒน์ ให้เป็นอุปราช เรียกกันว่า เจ้าอุปราชพัฒน์ (ชายาเจ้าอุปราชพัฒน์ชื่อชุ่ม สมัยนั้นชาวเมืองเรียกกันว่า ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ เรียกคุณฉิมธิดากลางว่า ทูลกระหม่อมหญิงกลาง และเรียกคุณปรางธิดาเล็กว่า  ทูลกระหม่อมหญิงเล็ก)

                ต่อมาคุณชุ่มสิ้นชีพ เจ้าอุปราชพัฒน์ลงไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงโปรดพระราชทานเจ้าจอมปรางให้เป็นภรรยา แต่เจ้าอุปราชพัฒน์รับพระราชทานแล้วก็หากล้าอาจเอื้อมไม่ ตั้งไว้ในที่นางเมือง

                ขณะนั้นเจ้าจอมปรางทรงครรภ์พระหน่ออยู่ นัยว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทราบ นัยว่าอีกเหมือนกัน ว่าที่พระราชทานไป อาจเพราะทรงพระราชดำริถึงเรื่องการครองบ้านครองเมือง ของพระราชโอรสอันจะเป็นกำลังรักษาบ้านเมืองในเวลาต่อไปข้างหน้า คือมีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระอัครมเหสีไปครองกัมพูชา พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม (พระราชธิดาใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)  ซึ่งโปรดให้เป็นเจ้าฟ้า (คือกรมขุนกษัตรานุชิตในรัชกาลที่ ๑) นั้นจะโปรดให้ขึ้นครองกรุงธนบุรี จะได้มีคุณตาดูแลช่วยเหลือ ส่วนทางใต้ หากเจ้าจอมมารดาปรางประสูติพระราชโอรสก็จะได้เป็นพระเจ้านครฯ ผู้เป็นเชื้อสายของพระองค์ ครองบ้านครองเมืองเป็นกำลังป้อมกันอยู่ทางใต้

                ก็สันนิษฐานกันว่าทรงพระราชดำริดังนี้

                ดังนั้น เมื่อถึงเวลาสิ้นพระบารมี ที่เชื่อกันว่าเสด็จซ่อนพระองค์มาประทับอยู่เมืองนครฯ จึงมีเหตุผลทั้งสถานที่และเหตุผลของความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ น่าคิดอยู่ไม่น้อย

                ผู้ที่ทราบความจริงในสมัยนั้นต้องมีอยู่บ้างแน่นอน ทว่าท่านไม่ยอมเปิดเผยด้วยเหตุผลอันคนรุ่นหลังสันนิษฐานกันไปเองต่างๆนานา

                ผู้หนึ่งที่น่าจะทราบความจริงว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงถูกสำเร็จโทษหรือเปล่านั้น น่าจะเป็นพระพงศ์นรินทร์ หรือเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม ธิดาพระเจ้านครศรีธรรมราชดังกล่าวมาแล้ว

    ภาพโบสถ์วัดเขาขุนพนม ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้าง เป็นโบสถ์เล็กไม่มีหน้าต่าง นอกจากเจาะช่องไว้ให้แสงสว่างเข้าได้เท่านั้น

                เพราะพระพงศ์นรินทร์เป็นราชโอรสเพียงผู้เดียวที่เข้าไปติดอยู่ในโบสถ์วัดอรุณฯ ด้วยพระราชบิดา

                เมื่อเจ้ารามลักษณ์หลุดจากที่คุมขังได้ แล้วก็ตรงมาที่โบสถ์ ร้องกราบทูลให้ทรงลาผนวชเสด็จออกมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงร้องตอบไปว่า สิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย (หมายถึงทำการต่อสู้)

                ข้อความดังนี้ มาจากจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

                ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชวิจารณ์ว่า

                “ข้อที่เจ้ากรุงธนบุรีร้องตอบเช่นนี้ ตรงกันกับที่เคยได้ยินคุณปลัดเสงี่ยม เล่าว่า พระพงษ์นรินทร์เวลานั้น อายุได้ ๑๒ ปี เข้าไปติดอยู่ในโบสถ์วัดแจ้งที่ขังเจ้ากรุงธนบุรีนั้นด้วย ว่าเจ้ากรุงธนร้องตอบออกมาเช่นนี้ แล้วได้บอกด้วยว่าคงไม่รอด บ้านเมืองเป็นของสองพี่น้องเขานั่นแนะ ถ้าไม่ตายก็ฝากตัวเขาให้ดีเถิด ได้ให้ประคำสายหนึ่งที่ติดตัวไปแก่พระพงษ์นรินทร์ในเวลานั้น พระพงษ์นรินทร์ยังได้รักษาประคำนั้นไว้ได้”

                (ในพระราชนิพนธ์สะกดว่า ‘พงษ์นรินทร์’)

                คุณปลัดเสงี่ยม เป็นบุตรคนที่ ๓ เป็นธิดาที่ ๒ ของพระพงศ์นรินทร์ ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘คุณพงศ์’  (พงษ์) แต่บรรดาบุตรธิดาของพระพงศ์นรินทร์ เรียกกันว่า ‘คุณหญิง’ ‘คุณชาย’

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×