ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #166 : แม่ยั่วเมือง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 967
      0
      12 เม.ย. 53

    ระยะนี้มีคำถามเข้ามาหลายเรื่อง เรื่องที่ตั้งใจจะเขียน คือ เรื่องของขุนนางจตุสดมภ์ (เวียงวัง คลังนา) แต่สมัยโบราณจึงขอเก็บไว้ก่อน เนื่องด้วยยังหารูปประกอบไม่ได้

                เรื่องที่ผู้อ่านถามมา เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ‘แม่ยั่วเมือง’

                ผู้ถามซึ่งบอกมาตามสายโทรศัพท์ ว่าเป็นสาวน้อยวัยรุ่นกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ถามว่า ทำไมถึงเรียกท้าวศรีสุดาจันทร์กันว่า ‘แม่ยั่วเมือง’ ฟังน่าเกลียดจัง

                จริงๆแล้ว ไม่ใช่ ‘แม่ยั่วเมือง’ หากแต่เป็น แม่อยั่วเมือง อ่านว่า ‘หยั่ว’ เช่นเดียวกับคำว่า ‘อยาก’ ‘อยู่’

                คำนี้สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานด้วยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เห็นจะมาจากคำว่า ‘แม่อยู่เมือง’ ซึ่งเป็นคำไทยเก่าเข้าใจว่าจะใช้กันมาก่อนตั้งกฎมณเฑียรบาล ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รัชกาลที่ ๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๑๙๖๑-๑๙๗๗)

                ‘แม่อยู่เมือง’ เป็นยศพระมเหสีรองลงมาจากพระอัครมเหสี ซึ่งเรียกว่า ‘แม่อยู่หัว’

                ท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น เดิมเป็นพระสนมเอก ซึ่งตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรียกว่า ‘ท้าวพระสนม’ ตำแหน่งท้าวพระสนมมีอยู่ ๔ ตำแหน่ง คือ

                ๑. ท้าวอินทรสุเรนทร
                ๒. ท้าวศรีสุดาจันทร์
                ๓. ท้าวอินทรเทวี
                ๔. ท้าวศรีจุฬาลักษณ์

    พระอัครมเหสี และ สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า
    พระนางเธอ (ลูกหลวง) และพระราชโอรสกินเมืองเอก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

                ต่อมาเมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ มีพระราชโอรสจึงเลื่อนเป็น ‘แม่อยั่วเมือง’ ในตำแหน่งมเหสีรอง

                และเมื่อพระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ จึงเป็น ‘แม่อยู่หัว’ ในฐานะพระพันปีหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน

                ไหนๆกล่าวถึง ‘แม่อยู่หัว’ และ ‘แม่อยู่เมือง’ แล้ว น่าจะกล่าวถึงการกำหนดศักดินาของพระกุมารพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินไว้ด้วย

                สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดฯให้ตรากฎมณเฑียรบาลขึ้น กำหนดศักดินาพระกุมารไว้ดังนี้

                ชั้นที่ ๑. พระราชกุมารอันเกิดด้วย พระมเหสีซ้ายขวา ทรงศักดิ์เป็น ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ หรือในพระราชพงศาวดาร บางทีก็เสียกว่า ‘สมเด็จหน่อพุทธางกูร’ ซึ่งหมายความอย่างเดียวกัน จึงเมื่อออกพระนามพระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งว่า ‘พระเจ้าอยู่หัวหน่อพุทธางกูร’ หรือ ‘พระบรมราชา มหาพุทธางกูร’ หมายความว่า เมื่อยังเป็นพระราชโอรสอยู่ในแผ่นดินก่อน ทรงเป็น ‘สมเด็จหน่อพุทธางกูร’

                (‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ หรือ ‘สมเด็จหน่อพุทธางกูร’ นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่า พระนามดังนี้ใช้กับ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระมเหสี แต่เพียงพระองค์เดียว องค์รองๆลงไป มิได้เรียกว่า ‘หน่อพุทธางกูร’)

                ชั้นที่ ๒. พระราชกุมาร อันเกิดด้วยพระราชเทวี หรือพระอัครชายา (แม่อยั่วเมือง หรือแม่อยู่เมือง) ทรงศักดิ์เป็น ‘พระมหาอุปราช’

                ชั้นที่ ๓. พระราชกุมารอันเกิดด้วยลูกหลวง (พระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนๆ) กินเมืองเอก

                ชั้นที่ ๔. พระราชกุมารอันเกิดด้วยหลานหลวง (พระราชนัดดา ในพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนๆ) กินเมืองโท

                ชั้นที่ ๕. พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระสนม เป็น ‘พระเยาวราช’

                ท่านอธิบายคำว่า ‘กินเมือง’ ไว้ด้วยว่าแต่ในสมัยโบราณ ‘กินเมือง’ และ ‘ครองเมือง’ หมายความต่างกัน ‘กินเมือง’ หมายถึงได้รับส่วยเมืองนั้นเป็นผลประโยชน์ แต่ ‘ครองเมือง’ หมายถึงไปบังคับบัญชาการอยู่ที่เมืองนั้น ดังเช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จออกไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา

                ในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระมเหสี ทั้งที่เป็นลูกหลวง และหลานหลวง และยังทรงมีพระอัครมเหสี ซึ่งโปรดเกล้าฯ สถาปนา ขึ้นเป็นพระบรมราชเทวี (ตำแหน่งเอกอัครมเหสี ในสมัยก่อนทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ)

                เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔

                สมเด็จพระอัครมเหสีซึ่งทรงเป็น ‘ลูกหลวง’ ด้วยคือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ดังนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ จึงทรงศักดิ์ ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ หรือ ‘สมเด็จหน่อพุทธางกูร’

                พระราชกุมารพระองค์อื่นๆที่ประสูติแต่ ‘ลูกหลวง’ กินเมืองเอก ดังเช่น พิษณุโลก นครราชสีมา นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช สงขลา

                พระราชกุมารที่ประสูติแต่ ‘หลานหลวง’ มีเพียงพระองค์เดียว กินเมืองโท คือเมืองลพบุรี อันเคยเป็นเมืองสำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

                ส่วนพระราชกุมารพระองค์อื่นๆประสูติแต่พระสนมกินเมืองต่างๆ ซึ่งจะเรียกว่าหัวเมืองชั้นตรี ก็คงจะได้เช่น จันทบุรี นครชัยศรี ราชบุรี ชุมพร ปราจิณ ชัยนาท สิงห์บุรี สวรรค์บุรี กำแพงเพชร พิไชย

                ทว่า คำว่า ‘กินเมือง’ มิได้หมายความตามแบบโบราณที่ว่าได้รับส่วยเป็นผลประโยชน์ เป็นเพียงพระเกียรติยศเท่านั้น

    พระราชโอรส ๓ พระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
    ๑. ทรงกอดพระศอ - สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า (สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระอัครมเหสี
    ๒. ประทับในอ้อมพระกร -พระราชโอรสประสูติแต่ ‘ลูกหลวง’ กินเมืองเอก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
    ๓. ทรงหมอบบนพระเพลา - พระราชโอรสประสูติแต่ ‘หลานหลวง’ กินเมืองโท สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

    พระอัครชายาเธอ (หลานหลวง) และพระราชโอรสกินเมืองโท สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×