ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #158 : ท้าวนางและเจ้าจอมพระสนม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 882
      0
      12 เม.ย. 53

       ในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ ตอนที่เกี่ยวกับสวนขวากล่าวถึงบรรดาท้าวนางและเจ้าจอมพระสนมหลายท่านที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ลงเรือพายตามเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรเก๋งและแพในสระ จนกระทั่งเสด็จขึ้นประทับสำราญพระราชอิริยาบถบนเก๋งใหญ่ที่ประทับ

                ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ใหญ่ และเป็นที่โปรดปรานหรือเป็นพระญาติใกล้ชิดคุ้นเคยในพระองค์ทั้ง ๗ ท่าน ที่จริงยังมีท้าวสมศักดิ์ (มณี) อีก ๑ ท่าน ทว่าค้นหาประวัติของท่านไม่ได้

                ส่วนอีก ๗ ท่านนั้นต่างเป็นผู้ใหญ่ รับราชการฝ่ายในเป็นพระเนตรพระกรรณ ประกอบด้วยเจ้าคุณปราสาท เจ้าคุณวัง เจ้าคุณพี เจ้าคุณเรียม เจ้าจอมมารดาอู่ เจ้าจอมมารดานิ่ม และเจ้าจอมทองคำ

                เจ้าคุณปราสาท ชื่อเดิมของท่านว่า เจ้าคุณหญิงต่าย เป็นบุตรคนที่ ๖ ของเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล น้องนางในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) เจ้าคุณฯนวลมีธิดา ๔ ท่าน เจ้าคุณหญิงต่ายเป็นคนที่ ๓ พี่สาวสองคนของท่าน คือ เจ้าคุณหญิงนุ่น ในรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้ดูแลราชการฝ่ายในวังหลวง จึงเรียกกันว่า เจ้าคุณวังหลวง เจ้าคุณหญิงคุ้ม พี่นางที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ดูแลราชการฝ่ายในวังหน้า จึงเรียกกันว่า เจ้าคุณวังหน้า

    ส่วนหนึ่งของ ‘สวนขวา’ ในรัชกาลที่ ๒ ภาพจากจินตนาการ ของจิตรกรที่เมืองโบราณ

                ส่วนเจ้าคุณหญิงต่ายนั้น อยู่กับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดีในรัชกาลที่ ๒ เช่นกัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยาในกลุ่มพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงออกพระนามกันว่า ‘ทูลกระหม่อมปราสาท’ เจ้าคุณหญิงต่ายจึงพลอยเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณปราสาท’ ไปด้วย

                เจ้าคุณวัง คือ เจ้าคุณจอมมารดาตานี ท่านเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ เป็นธิดาคนแรกและดูเหมือนจะเป็นลูกคนเดียวของเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) ที่เกิดจากท่านลิ้มภรรยาเดิม ตามประวัติเล่ากันว่าท่านลืมถูกผู้ร้ายฆ่าตายขณะกำลังไปขุดทรัพย์สินเงินทองที่ฝังซ่อนพม่า ต่อมาเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) จึงได้สมรสกับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ในสมัยกรุงธนบุรีในฐานะที่เป็นลูกเลี้ยงของเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล จึงออกนามว่าเจ้าคุณหญิงดังเรียกเจ้าคุณหญิงธิดาอื่นๆ ของเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล และเมื่อเข้าเป็นพระสนมเอกในวัง จึงเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณวัง’

                เจ้าคุณวังนี้ มีประวัติว่า ท่านเกิดก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกไม่นานนัก เวลานั้นปู่ของท่านบิดาเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) เป็นพระยาจ่าแสนยากร (เสน) กลับจากราชการทัพเมืองตานี (ปัตตานี?ฯ พอดีกับหลานสาวคลอด เจ้าคุณปู่จึงตั้งชื่อท่านว่า ‘ตานี’

                เจ้าคุณวัง มีพระองค์เจ้า ๒ พระองค์

                คือ พระองค์เจ้าหญิงจงกล

                และ พระองค์เจ้าชายฉัตร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์) ต้นราชสกุล ‘ฉัตรกุล ณ อยุธยา’

                เจ้าคุณพี หรือเจ้าคุณจอมมารดาสี (บางแห่งก็เขียนว่า ‘ศรี’) ธิดาของเจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) ประวัติของท่านเคยเล่าในบทความนี้แล้วหลายครั้ง ท่านเป็นธิดาของเจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) ต้นสกุล บุณยรัตพันธุ์ เสนาบดีกรมวังในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เดิมเจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) เป็นพระยาธรรมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้าใจว่าจะเป็นเสนาบดีกรมวัง เพราะท่านเป็นบุตรชายของพระยามณเฑียรบาล (บุญศรี) สมัยกรุงศรีอยุธยา จึงรู้จักขนบธรรมเนียมกรมวังอย่างชัดเจน

                บ้านของเจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) อยู่ใกล้กันกับจวนของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เห็นทีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ แต่ครั้งยังเป็นเด็กชายจนกระทั่งรุ่นหนุ่ม คงเห็นเจ้าคุณสีอยู่เสมอ โดยเฉพาะปลายกรุงธนบุรีเจ้าคุณสีท่านเป็นชาววัง คงจะสวยงามอยู่ไม่น้อย เพราะขณะเป็นชาววังกรุงธนบุรีนั้น ท่านได้เล่นละครในเป็นตัวนางสีดา เรียกกันว่า สีสีดา หรือ ศรีสีดา

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น เล่าลือกันว่า มีตัวนางเล่นเป็นสีดาอยู่สามคน งานนักหนาทั้ง ๓ คน คือ บุนนาคสีดา ๑ ภู่สีดา ๑ และศรี (หรือสี) สีดา ๑ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ บุนนากสีดา โปรดฯให้รับราชการในวังหลวง ภู่สีดา โปรดฯพระราชทานไปยังพระราชวังบวรฯ ส่วนศรี (สี) สีดานั้น พระราชทานไปตามคู่ตุนาหงัน หมายถึงพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า) แสดงว่า คงจะทรงหมั้นหมายกันไว้ตั้งแต่แผ่นดินกรุงธนบุรี คุณสีจึงเป็นหม่อมท่านแรกในสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ

    เมื่อเลิกสวนขวาในรัชกาลที่ ๓ ส่วนหนึ่งของสวนขวา เรียกกันว่าสวนศิวาลัย ทำเป็นสระสำหรับเจ้านายและเจ้าจอมพระสนมลงเล่นน้ำ (ภาพนี้เป็นภาพสมัยรัชกาลที่ ๕)

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้เสด็จผ่านพิภพ หม่อมสี หรือ คุณจอมสี อายุคงจะ ๔๐-๔๑ แล้ว เพราะท่านมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระชนมายุ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ รูปร่างท่านจึงอ้วนใหญ่ พวกชาววังจึงพากันตั้งนามท่านว่า ‘เจ้าคุณพี’ คล้ายๆ กับสมัยใหม่เรียกคนอ้วนว่า คุณอ้วนตรงๆ

                เจ้าคุณจอมมารดาเรียม คือ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๓ พระองค์นี้คงจะมีพระประวัติแท้จริงผสมผสานจินตนาการของผู้เขียนในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ อยู่แล้ว ท่านเป็นธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (จัน) ครั้งกรุงธนบุรี (ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการวังหลวง โปรดฯให้หลวงพิพัฒเสน่หาเป็นพระยานนทบุรีแทน แต่พระยานนทบุรีฯ (จัน) ก็ยังคงตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงที่ซึ่งเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติอยู่มิได้ย้ายไปไหน ฝ่ายชนนีของท่านเป็นธิดาพระยาราชวังสัน (หวัง) ผู้สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมาน พระยาราชวังสัน (หวัง) เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เจ้าพระยาจักรีท่านแรกแห่งกรุงธนบุรี (ถึงอสัญกรรม พ.ศ. ๒๓๑๔ หลังจากเป็นเจ้าพระยาจักรีได้เพียง ๔ ปี)

                ท่านเป็นหม่อมซึ่งนัยว่าสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสู่ขอให้ เนื่องจากทรงเคยคุ้นกับคุณหญิงชูภรรยาพระยาราชวังสัน (หวัง) เพราะในสมัยกรุงธนบุรีนั้น พระยาราชวังสัน (หวัง) ในฐานะบุตรชายของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) คงจะกว้างขวางอยู่ จึงปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว โปรดเกล้าฯ เรียก พระยาราชวังสัน (หวัง) ซึ่งขณะนั้นเป็นพระชลบุรี เจ้าเมืองชลบุรีอยู่ ให้เข้ามารับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชวังสัน (หวัง) และโปรดฯให้เป็นเจ้ากรมเรือพาณิชนาวี ทว่ายังอยู่ที่ชลบุรีนั้น

                พระยาราชวังสัน (หวัง) เป็นญาติสนิทของพระยาพัทลุง (ขุน) ผู้มีฉายาว่า ‘ขุนคางเหล็ก’ พระยาพัทลุง (ขุน) ผู้นี้ปรากฏว่า เมื่อครั้งปลายกรุงศรีอยุธยารับราชการเป็นมหาดเล็กรุ่นราวคราวเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สนิทสนมกันมาก่อน เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว จึงโปรดฯให้พระยาพัทลุง (ขุน) ลงไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนบิดา และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จปราบดาภิเษก ก็โปรดฯให้พระยาพัทลุง (ขุน) เป็นเจ้าเมืองต่อเรื่อยมาจนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดเกล้าฯให้นายทองขาว ซึ่งรับราชการเป็นหลวงศักดิ์นายเวรอยู่ในราชสำนัก ลงไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงสืบต่อจากบิดา

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ เจ้าจอมมารดาเรียมอายุประมาณ ๓๘ (ประสูติ พ.ศ.๒๓๑๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงมีพระบรมราชสมภพ พ.ศ.๒๓๑๐) โปรดฯให้ท่านว่าการห้องเครื่อง ชาววังเห็นจะเรียกกันว่า เจ้าคุณห้องเครื่องสันนิษฐานว่า ท่านคงจะเป็นที่สนิทสนมในเจ้าฟ้าบุญรอด พระอัครมเหสี เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอดนั้น ทรงมีฝีพระหัตถ์ในการครัวเป็นที่โปรดปรานอย่างที่เรียกกันว่า ‘ติดฝีมือ’ จึงคงจะเสด็จลงห้องเครื่องซึ่งเจ้าคุณจอมมารดาเรียมเป็นผู้ดูแลเพื่อทรงประกอบเครื่องเสวยทั้งคาวหวานถวายด้วยพระองค์เอง จึงปรากฏว่า เมื่อกริ้วเรื่องสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลฯ ไม่เสด็จลงห้องเครื่องอีกเลย ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระบรมราชสวามีเสวยพระกระยาหารไม่ใคร่ได้ดังเคย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×