ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #147 : "น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 846
      2
      11 เม.ย. 53

    “น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า”

                เป็นพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชิญมาจากพระนิพนธ์ เรื่องเที่ยวเมืองพม่าตอนหนึ่ง

                เนื่องมาจากขณะเสด็จไปทรงท่องเที่ยวเมืองพม่าใน พ.ศ.๒๓๗๘ (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ ๓ ปี) ขณะนั้นก็ทรงได้รับข่าวจากเมืองบันดงประเทศชวา (อินโดนีเซีย) ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เสด็จสิ้นพระชนม์เสียแล้ว

                เท้าความเล็กน้อยว่าขณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองฯ ทรงอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวยิ่งนัก เนื่องจากทั้งพระชนนี ทั้งพระเชษฐาเพียงพระองค์เดียวและพระเชษฐภคินีต่างเสด็จสิ้นพระชนม์ไปในระยะเวลาใกล้ๆ กัน จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จตามครอบครัวของพระเชษฐาต่างพระมารดา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ไปประทับ ณ เมืองบันดุง ประเทศชวา

                อันประเทศชวานี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเสด็จประพาสยิ่งนัก ได้เสด็จฯประพาสถึง ๓ ครั้ง คือ พ.ศ.๒๔๑๓ พ.ศ.๒๔๓๙ และ พ.ศ.๒๓๔๔

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (ประทับกลาง) ทรงฉลองพระองค์ ‘แหม่ม’ เมื่อตามเสด็จฯ ประพาสเกาะชวา พ.ศ.๒๔๔๔ ทรงยืนเรียงตามลำดับ
    ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
    ๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
    ๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี

                ในการเสด็จประะพาสครั้งหลังเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๔ นั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองฯ พระชนม์ประมาณ ๑๓ พรรษา ได้ตามเสด็จด้วย และเป็นพระราชธิดา ‘เด็กๆ’ เพียงพระองค์เดียวที่ได้โดยเสด็จฯ ใกล้ชิดไปแทบทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปเมืองใดขณะประทับอยู่ ณ เมืองชวานั้น

                เมื่อทรงได้ข่าวจากเมืองบันดุงว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองฯ สิ้นพระชนม์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงทรงพระนิพนธ์ด้วยพระอาลัยว่า

                 “อาการประชวรของสมเด็จหญิงน้อยฉันก็รู้อยู่แล้วตั้งแต่ไปชวา เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ด้วยทูลกระหม่อมชาย (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ) ท่านตรัสกระซิบบอกว่าหมอเขาว่าไม่มีทางที่จะหาย ได้แต่ระวังอย่าให้พระอาการทรุดลงรวดเร็ว ก็จะอยู่ช้าวันไปเท่านั้น สมเด็จหญิงน้อยเองก็ทรงทราบและมิได้ประมาท แต่เมื่อฉันไปชวา ดูยังทรงสบาย เสด็จไปไหนได้ แสดงพระเมตตาโปรดให้มีการเลี้ยงประทาน เมื่อตรงกับวันเกิดของฉันครบ ๖ รอบ ในเวลาที่อยู่เมืองบันดุงนั้น และวันหนึ่งฉันทูลชวนให้ทรง ‘รำลึกชาติ’ (คือระลึกถึงความหลัง จุลลดาฯ) เชิญเสด็จไปเสวยขนมด้วยกันที่ร้านขายขนมในเมืองบันดุง เหมือนอย่างที่ฉันได้เคยพาเสด็จไปแต่ยังทรงพระเยาว์เมื่อตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปชวาด้วยกัน ก็ทรงรื่นเริงบันเทิงพระหฤทัย ไม่ได้นึกเลยว่าจะได้เห็นสมเด็จหญิงน้อยเป็นครั้งที่สุดเมื่อไปชวาครั้งนั้น ฯลฯ ตัวฉันก็หวนไปคิดคำนึงถึงหนหลัง...คิดดูเห็นสมควรนักที่สมเด็จหญิงน้อยจะทรงสร้อยพระนามว่า ‘ขัตติยนารี’ ด้วยทรงพระคุณอย่างเป็นขัติยนารีแท้ทุกสถาน และได้ทรงพิศูจน์ให้เห็นปรากฏแล้ว ทั้งในเวลาที่มีความสุข และเวลาได้รับความทุกข์ยาก เพราะฉะนั้นจะมีแต่คำสรรเสริญว่า ‘น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า’ เป็นอนุสรณ์อยู่กับพระนามตลอดไป”

                ที่เชิญพระดำรัสมานี้ ก็ด้วยคิดว่า หากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระชนมชีพยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ เห็นจะต้องทรงมีพระดำรัสสรรเสริญเจ้าหญิงอีกพระองค์หนึ่งแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เฉกเช่นเดียวกันกับที่ทรงสรรเสริญ เจ้าหญิงพระองค์หนึ่งในอดีตมาแล้ว โดยเฉพาะที่ทรงกล่าวว่า “น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า”

                เจ้าหญิงพระองค์นั้น คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระสยามบรมราชกุมารีพระองค์แรกแห่งประเทศไทย

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จฯขึ้นเมืองบเตเวีย สมเด็จหญิงน้อย (ทรงชุดแหม่มกางร่ม) ตามเสด็จ

                ซึ่งพระคุณสมบัติวิเศษของ ‘ขัตติยนารี’ นั้นได้ประจักษ์แก่ใจคนไทยทั้งปวงมาตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้

                สมเด็จพระเทพรัตนฯ และสมเด็จหญิงน้อย ทรงมีหลายอย่างหลายประการที่มีส่วนลม้ายคล้ายคลึงกัน จนกระทั่งเมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่และทรงพระเจริญขึ้นขณะทรงเป็นนักเรียน คนเฒ่าคนแก่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเวลานั้นยังมีชีวิตอดอุทานปรารภกันมิได้ว่า “ทำไมถึงได้ทรงลม้ายคล้ายกันนัก คล้ายกันจริงๆ”

                ที่สะดุดตาสะดุดใจท่านเหล่านั้นแต่ทรงพระเยาว์ คือ พระฉวีคล้ำกว่า พระเชษฐา พระเชษฐาภคินีทุกพระองค์ เพราะทุกพระองค์ทรงมีพระฉวีขาวมาก ทว่าทรงมีพระพักตร์คมคาย เครื่องพระพักตร์งดงามทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพระเนตร นาสิก พระโอษฐ์ไม่มีที่ติ อีกประการหนึ่งก็คือ พระอุปนิสัยร่าเริง และกล้าน่ารัก ทรงเข้ากับใครๆ ได้ แม้ชาวต่างประเทศที่ทรงพบปะเมื่อตามเสด็จ มีพระอารมณ์ขันเป็นที่ชื่นชมยินดี

                สมเด็จหญิงน้อยนั้น ด้วยพระนิสัยทรงเข้ากันได้กับพระเชษฐภคินี พระขนิษฐา ร่วมพระบรมราชชนก อย่างกลมเกลียว จึงทรงเป็นที่โปรดปรานในสมเด็จพระบรมชนกนาถอย่างยิ่ง

                อีกพระนิสัยโปรดปรานการศึกษาเรียนรู้ (เช่นเดียวกันกับสมเด็จพระเทพรัตนฯ) ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากครูฝรั่งบ้าง แล้วทรงอ่านทรงเรียนด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งทรงรับใช้สมเด็จพระราชบิดาได้

    สมเด็จหญิงน้อย (พระองค์ขวาทรงพระภูษาซิ่นลายขวาง) ทรงฉายกับพระประยุรญาติ ในราว พ.ศ.๒๔๖๖ พระชันษาประมาณ ๓๗

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จฯประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๕๐ สมเด็จหญิงน้อย มิได้ตามเสด็จด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานถึงพระราชธิดาตอนหนึ่งว่า

                 “พ่อคิดถึงลูกเหลือประมาณทีเดียว สารพัดในการหนังสือที่เคยใช้ต้องทำเองทั้งสิ้น จนนอนฝันไปว่าให้หญิงน้อยอ่านหนังสือ Deuelopment of the European Nations ให้ฟัง (เพราะพ่อกำลังอ่านอยู่) นอนฟังสบาย (เพราะนอนจริงๆ) นึกเปลี่ยวใจที่ไม่มีใครช่วยในการหนังสือ ยังไม่เคยลืมคิดถึงแต่สักวันหนึ่งเลย”
                (พระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’)

                และเมื่อทรงเล่าถึงเมืองโบราณต่างๆ ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขา ต่อไปว่า

                 “เมืองเหล่านี้ พ่อเข้าใจว่าลูกรู้จักทั้งนั้น เพราะมีในหนังสือเช็คสเปียร์ที่เคยอ่าน ความรู้สึกมันขัน รู้สึกอี๋ๆ ปลื้มๆ คุ้นเคย เหมือนอย่างไปเมืองดาหา เมื่อสิงหัดส้าหรี เมืองกาหลังที่ชวา เกี่ยวด้วยเรื่องอ่านหนังสือเท่านั้น พูดกับคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือไม่รู้สึก”
                (พระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’)

                สมเด็จหญิงน้อย นอกจากเป็นพระราชธิดาที่ทรงรู้และร่วมพระราชหฤทัยแล้ว ยังทรงใกล้ชิดสมเด็จพระบรมชนกนาถ

                ในคืนที่ ๑๘๔ เมื่อประทับอยู่เพียงลำพังพระองค์ ในโรงแรมกรุงปารีส ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า

                 “นั่งซึมอยู่คนเดียวรำคาญ คิดถึงลูกเหลือสติกำลัง เพราะอย่างไรๆ ก็ได้นั่งบดฝนพูดกันอยู่เสมอ ไม่มีเวลาที่ต้องซึม เจ็บฤาดีก็คงจะนั่งอยู่ด้วยได้ ทำงานก็นั่งอยู่ด้วยได้ ไม่เดือดร้อนทุรนทุรายที่จะต้องไปข้างไหน ไม่เหมือนผู้ชาย มันออกจะต้องแยกกันเป็นเจ้าคุณ มีท่ามีธุระของตัวไปตามๆ กัน”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×