ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #142 : วังหน้า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 541
      0
      11 เม.ย. 53

     -ผู้อ่านถามมาว่า ‘วังหน้า’ นั้น พระนามเต็มตามพระอิสริยยศ ว่าอย่างไร-

                ตั้งแต่ รัชกาลที่ ๑-๓ ออกพระนามว่า

                ๑. สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑

                ๒. สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒

                ๓. สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๓

                บางทีออกพระนามย่อลงไปว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และ ฯลฯ

                บางทีก็ลดคำนำพระนาม ออกพระนามเพียงกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และ ฯลฯ

    พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในรัชกาลที่ ๔

                พระนามเฉพาะพระองค์มาจากราชทินนามเดิม คือ เจ้าพระยาสุรสีห์ และ พระนามทรงกรม คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ และ กรมหมื่นศักดิพลเสพ

                วังหน้าในรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระเกียรติยศ เป็นพิเศษกว่าวังหน้ารัชกาลก่อนๆ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้เสด็จขึ้นบวรราชาภิเษก เป็นพระเจ้าแผ่นดินคู่กันกับวังหลวง มิใช่เป็นเพียงพระมหาอุปราช เช่นในรัชกาลที่ ๑-๒-๓

                จึงในการสถาปนาขึ้นเป็นวังหน้า โปรดฯ ให้ใช้ว่า ‘บวรราชาภิเษก’ มิได้ใช้ ‘อุปราชาภิเษก’ ดังก่อนๆ มา

                โปรดฯให้เรียกพระราชวังหน้าว่า ‘พระบวรราชวัง’ แทนที่เคยเรียกว่า ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’

                คำสั่งที่เคยใช้ว่า ‘พระราชบัณฑูร’ ก็โปรดฯ ให้เปลี่ยนเป็น ‘พระบวรราชโองการ’ อธิบายง่ายๆ ว่าหากคำใดวังหลวงใช้ว่า ‘บรม’ วังหน้าก็ใช้ว่า ‘บวร’

                วังหน้าในรัชกาลที่ ๕

                วังหน้าในรัชกาลที่ ๕ นั้น ออกพระนามว่า ‘กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ’ พระนามมาแต่พระนามทรงกรมเดิมว่า กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระเกียรติยศไม่ถึงวังหน้าในรัชกาลที่ ๑-๒-๓

                เพราะแต่โบราณมานั้นวังหน้า มักจะเป็นพระราชอนุชา ร่วมพระครรโภทร กับวังหลวง หรือมิฉะนั้นก็เป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่อันสนิท ดังเช่น ในรัชกาลที่ ๑ และ ๒ และส่วนในรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าแผ่นดิน มิได้มีพระราชอนุชา ร่วมพระครรโภทร จึงโปรดฯสถาปนา พระเจ้าอา ชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกันขึ้นเป็นวังหน้า

                ทว่าวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นเพียงลูกผู้น้องของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งตามพระราชประเพณีต้องบรมราชาภิเษกแล้ว แล้วพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงตั้งวังหน้า หากแต่เมื่อที่ประชุมขุนนางเจ้านายอัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นครองราชย์ในวันนั้นก็ได้ตั้งวังหน้าพร้อมกัน

    กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ ๕ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

                เจ้าจอมพระสนมในวังหน้ารัชกาลที่ ๑-๔ เรียกว่า ‘เจ้าจอม’ และ ‘เจ้าจอมมารดา’ คำนำพระนามพระราชโอรสธิดาใช้ว่า ‘พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ’

                ส่วนเจ้าจอมพระสนมในวังหน้ารัชกาลที่ ๕ เรียกว่า ‘จอม’ และ ‘จอมมารดา’ ไม่มีคำว่า ‘เจ้า’ คำนำพระนามพระโอรสธิดา ใช้ว่า ‘พระราชวรวงศ์เธอ’ ไม่มีคำว่า ‘เจ้า’ เช่นกัน

                ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๒ เดือน เกิดศึกทางใต้ดังที่เล่ามาแล้ว ปรากฏเกียรติยศของเมืองถลางว่า สามารถรักษาเมืองอยู่ได้นานถึง ๒๗ วัน ทั้งๆ ที่ถูกล้อมแน่นหนา จนกระทั่งหมดสะเบียงอาหารจึงเสียเมืองถลาง พอดีกองทัพไทยซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นจอมพลบัญชาการศึกและรบชนะเรื่อยมา ยกมาช่วยเมืองถลางพร้อมด้วยทัพแขกไทรบุรี ในพระราชพงศาวดารจดไว้ว่า

                 ‘พม่าที่เมืองถลางได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกมา ได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่งสำคัญว่าเป็นเสียงปืนจากกองทัพไทย แม่ทัพจึงรีบสั่งอพยพผู้คน และทรัพย์สินหนีลงเรือไป ครั้นกองทัพไทยไปถึง พม่ายังหนีไม่หมด ไทยก็เข้าโจมตีพม่าเสียชีวิตและถูกจับได้เป็นอันมาก’

                เสร็จศึกแล้ว ปรากฏว่าครั้งนี้เมืองถลางเสียหายมาก กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงพระดำริว่าครั้นจะตั้งขึ้นใหม่ก็ไม่มีกำลังจะรักษาไว้ได้ หากพม่ายกมาอีกจะยกทัพจากกรุงเทพฯไปช่วย ก็อาจไม่ทันเวลา จึงโปรดฯให้รวบรวมผู้คนย้ายมาตั้งเมืองอยู่ตรงปากน้ำพังงา เรียกว่า เมืองพังงา ส่วนเกาะถลางให้อยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป

                อันเมืองถลาง เคยมีชื่อเสียงมาแล้ว เมื่อศึกพม่าครั้ง พ.ศ.๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๓ ปี ศึกครั้งนั้นเกิดวีรสตรีขึ้น ๒ ท่าน คือ ท้าวเทพสตรี และท้าวศรีสุนทร สองพี่น้อง ดังที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป

                กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เสด็จฯยกกองทัพไปคราวนั้น ได้มีมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ ตามเสด็จไปด้วยผู้หนึ่ง เป็นมหาดเล็กยศหุ้มแพร บรรดาศักดิ์ว่านายนรินทร์ธิเบศร์

                ระหว่างตามเสด็จไปในกองทัพ นายนรินทร์ธิเบศร์ ได้แต่งนิราศไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งต่อมานับว่าเป็นยอดของนิราศ เป็นที่รู้จักกันดีในนาม ‘นิราศนรินทร์’ เพียงสั้นๆ

                โคลงหลายโคลงในนิราศมีความไพเราะลึกซึ้งจนกระทั่งติดใจติดปากผู้คน ไม่แพ้กลอนของสุนทรภู่ ดังเช่นโคลงที่ว่า

                            โอ้ศรีเสาวลักษล้ำ      แลโลม โลกเอย
                แม้ว่ามีกิ่งโพยม                     ยื่นหล้า
                แขวนขวัญนุชชูโฉม                แมกเมฆ ไว้แม่
                กีดบ่มีกิ่งฟ้า                          ฝากน้องนางเดียว

                หรือ

                            ตราบขุนศีรีข้น           ขาดสลาย แลแม่
                รักบ่หน่ายตราบหาย                หกฟ้า
                สุริยจันทรขจาย                     จากโลก ไปฤา
                ไฟแล่นล้างสี่หล้า                   ห่อนล้างอาลัย

                โดยเฉพาะบาทสุดท้ายนี้ มีผู้นำมาเอ่ยอ้างกันมากในการเน้นถึงความรักความเสน่หาอาลัย

                มหาดเล็กวังหน้านั้นมี ๔ เวร เช่นเดียวกันกับวังหลวง มีหัวหมื่น เป็นหัวหน้าเวร ๔ ถัดลงไป คือ นายเวร ๔ แล้วก็จ่า ๔ และ หุ้มแพรต้นเชือกซึ่งมี ๔ นายเช่นกัน เป็นหัวหน้าหุ้มแพรทั้งหมด ๑๖ นาย มีบรรดาศักดิ์คล้องจองกันเป็นคู่ๆ ดังนี้

                นายจงใจภักดิ์ นายรักษ์ภูวนารถ
                นายภักดีนารถ นายราชบริรักษ์
                นายพิศาลสรรพกิจ นายพิจิตรปรีชา
                นายนรินทร์ธิเบศร์ นายนเรศร์ธิรักษ์
                นายราชาภักดิ์ นายรักษ์ภูมินทร์
                นายบำเรอราชา นายนราธิบาล
                นายสุดจำลอง นายฉลองนัยนารถ
                นายราชจินดา นายทรงใจรักษ์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×