ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #141 : วังหน้า กรุงรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 645
      0
      11 เม.ย. 53

    หน้ากรุงรัตนโกสินทร์ มี ๕ รัชกาล คือรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕

                วังหน้าที่รู้จักกันมากจากการที่มีผู้เขียนถึง คือ วังหน้ารัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และวังหน้ารัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับวังหน้าพระองค์สุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๕

                วังหน้ารัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ไม่สู้จะมีผู้เขียนถึง

                วังหน้ารัชกาลที่ ๒ เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระครรโภทรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระชนมายุห่างกัน ๕ พรรษา

                ที่จริง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ๑ พระองค์ ทว่าสิ้นพระชนม์เสียก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา

                เท้าความเล็กน้อย ว่าสองพระองค์ทรงมีพระราชโอรสธิดา ๙ พระองค์

                ที่ ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก สิ้นพระชนม์ก่อนเสียกรุง

                ที่ ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์แรก สิ้นพระชนม์ก่อนเสียกรุง

                ที่ ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิม พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระชนนีของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต

                ที่ ๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติ พ.ศ.๒๓๑๐

                ที่ ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงคือเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระนามเดิมว่า ‘แจ่ม’ ประสูติ พ.ศ.๒๓๑๓ เมื่อพระเชษฐภคินีทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ในรัชกาลที่ ๑ จึงทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์ใหญ่ ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีรับสั่งเมื่อสิ้นพระชนม์ในปลายรัชกาลว่า

                 “สิ้นลูกคนนี้แล้วพระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน”

                และเมื่อพระราชทานเพลิงทรงพระภูษาขาวตรัสว่า

                 “ลูกคนนี้รักมาก ต้องนุ่งขาวให้”

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๓๕๐ ในเดือน ๙ พระองค์เจ้าทับ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) ทรงผนวชในเดือน ๘ ทันถวายพระกุศล สมเด็จพระปิตุจฉา ตามความในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’

                ที่ ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

                ที่ ๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย - คือสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ประสูติ พ.ศ.๒๓๑๕

                ที่ ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

                ที่ ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมหลวงเทพยวดี พระนามเดิมว่า ‘เอี้ยง’ ประสูติ พ.ศ.๒๓๒๐ ในรัชกาลที่ ๒ ชาววังออกพระนามว่า ‘ทูลกระหม่อมปราสาท’ เพราะประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยาซึ่งนับเป็นหมู่พระมหาปราสาทเบื้องหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

                สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯมหาเสนานุรักษ์นั้น เล่ากันว่า ทรงรักใคร่กลมเกลียวกับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นที่โปรดปรานทั้งในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระราชชนนี เพราะนอกจากจะทรงเป็น ‘ลูกชายคนเล็กของพ่อแม่’ แล้ว เล่ากันต่อๆ มาว่า มีพระรูปพระโฉมงดงามนักหนา

                พระราชประวัติในส่วนพระองค์นั้น เมื่อพระชนม์ประมาณ ๑๗-๑๘ ทรงสิเนหาในคุณสำลี หรือพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๒๐ ขณะนั้นเห็นจะอายุประมาณ ๑๕-๑๖ พระราชโอรสพระองค์แรก ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๔ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาเสนานุรักษ์ พระชนมายุ ๑๙ พรรษา แต่พระราชโอรสพระองค์แรกนี้สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

                ทรงมีพระราชโอรสธิดา ๖ พระองค์ ในระยะเวลาที่ทรงครองคู่อยู่ด้วยกันเกือบ ๒๐ ปี พระราชธิดาพระองค์ที่ ๖ ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๗ ห่างจากพระราชโอรสพระองค์แรกถึง ๑๕ ปี

                พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๗ ได้รับพระราชทานนาม (มีผู้สันนิษฐานว่า สมเด็จพระอัยกาธิราชรัชกาลที่ ๑ ผู้ทรงเป็น ‘ปู่’ พระราชทาน) ว่า ‘ประชุมวงศ์’

                ตามความหมายของพระนามนี้ คือทรงเป็นที่ประชุมวงศ์กษัตริย์ สองวงศ์ ราชวงศ์กรุงธนบุรี และพระบรมราชจักรีวงศ์

                พระองค์เจ้าสำลีวรรณ เป็นธิดาของอุปราชจันทร์ แห่งเมืองนครศรีธรรมราช

                เท้าความไปถึงเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า หลวงนายสิทธิ พระปลัดเมืองได้ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชตามที่ร่ำเรียนกันมาคือที่เรียกว่า ‘ก๊กเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช’ นั่นเอง

    พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ (พระองค์เจ้ายุคันธร) พระราชโอรสลำดับที่ ๓๒ ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาเสนานุรักษ์ ต้นราชสกุล ‘ยุคันธร ณ อยุธยา’

                เมื่อตั้งตัวเป็นเจ้าแล้ว พระเจ้านครฯ ก็ตั้งหลานเขย ซึ่งเดิมรับราชการเป็นหลวงฤทธิ์นายเวรกรุงศรีอยุธยา ชื่อเดิมว่า ‘จันทร์’ ให้เป็น ‘วังหน้า’ หรือพระมหาอุปราช จึงเรียกกันว่า ‘อุปราชจันทร์’

                เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปราบปรามก๊กพระเจ้านครฯได้ โปรดฯให้เจ้านครฯกับอุปราชจันทร์ลงไปรับราชการกรุงธนบุรี

                อุปราชจันทร์จึงถวายคุณอำพัน ธิดาเกิดแต่ท่านบุนนาค เอกภรรยา เป็นเจ้าจอมพระสนมในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

                เจ้าจอมมารดาอำพันมีธิดาเพียงผู้เดียวคือ คุณสำลีวรรณ ดังกล่าว

                ว่ากันว่า คุณลำลีวรรณ ผู้นี้งดงามมาก ชื่อ สำลีวรรณ นั้น บ่งบอกว่าผิวพรรณคงจะขาวผ่อง

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์เพียง ๓ วัน ก็เกิดเหตุเรื่องกาคาบหนังสือมาทิ้ง ในหนังสือนั้นกล่าวว่า มีผู้คบคิดจะเป็นกบฏชิงราชบัลลังก์ ผลการชำระความปรากฏว่าเป็นความจริง ดังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขณะนั้นยังดำรงพระยศ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน โคลงปราบดาภิเษกว่า

                 “ไป่นานกาคาบฟ้อง ลิ่วลม มาเฮย
    เหตุพระตำรวจกรม นอกซ้าย
    ใจพาลพวกพาลผสม เสี้ยมพระ หลานนา
    แข่งคิดทรยศร้าย เร่งล้างฤาหลอ”

                ซึ่งทำให้

                 “เสียพระญาติเจ้าหนึ่งแล้ สิบขุน นางเฮอ”

                ปรากฏว่า เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณใน สมเด็จพระบัณฑูรน้อย (เป็นพระอิสริยยศแต่ในรัชกาลที่ ๑ ยังมิได้ทันอุปราชาภิเษก ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๒) ซึ่งรักใคร่สนิทสนมกันมากกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต มีส่วนพัวพันอยู่ด้วย จึงพลอยต้องโทษประหารพร้อมกันในครั้งนั้น

                ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าพระภัสดาจะทรงเศร้าโศกอาลัยรักพระชายาคู่ทุกข์คู่ยากสักปานใด

                แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็คงจะทรงตระหนักในพระราชหฤทัย จึงเมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปราชาภิเษก สมเด็จพระอนุชาธิราช ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงให้จัดการพระราชพิธีเป็นพระเกียรติยศพิเศษเช่นครั้งที่พระองค์ทรงรับอุปราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๑ เป็นพระราชพิธีใหญ่ โปรดฯให้เชิญเสด็จพระบัณฑูรน้อยเข้ามาประทับแรม ณ พลับพลาที่ปลูกขึ้นสำหรับการนี้ในพระบรมมหาราชวัง กระบวนแห่ทรงพระยานุมาศ ระหว่างพระบรมมหาราชวัง และ พระราชวังบวรสถานมงคล ในการพระราชพิธีถึง ๔ วัน รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏแล้ว จึงแห่เสด็จกลับขึ้นไปเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯ

                เมื่ออุปราชาภิเษก พระชนมายุ ๓๖ เสด็จเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๘ ปี เสด็จสวรรคต หากมิได้เสด็จสวรรคตก่อน ก็คงจะได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช ตามโบราณราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ในยามบ้านเมืองยังไม่ว่างเว้นข้าศึกศัตรู ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๓ ทั้งพระองค์กษัตริย์และวังหน้าจึงต่างเคยเสด็จเป็นแม่ทัพออกศึกสงครามมาแล้วทุกพระองค์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×