ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #140 : เจ้าจอมก๊ก อ.

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.7K
      6
      11 เม.ย. 53

     -ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ทำให้อยากรู้จักว่าใครบ้างที่เป็นเจ้าจอมก๊ก อ.-

                ที่จริงเรื่องเจ้าจอมก๊ก อ. เคยเล่านานมาแล้ว และมีผู้เขียนถึงเสมอ

                บรรดาพระสนมหรือเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดา ผู้ที่ชาววังสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกกันว่า ‘ก๊กอ.’ นั้น ทั้งหมด ๕ คนด้วยกัน ทุกคนล้วนเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงอู่ เพราะมารดาชื่ออู่ ธิดาทุกคนจึงได้นามตามอักษรชื่อมารดา เรียงกันตามลำดับอายุดังนี้ อ่อน เอี่ยม เอิบ อาบ และเอื้อน

                เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

                เมื่อยังมิได้มีบรรดาศักดิ์เรียกกันว่า ‘คุณชายเทศ’ ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุตรชายของท่านผู้หญิง เรียกกันว่า ‘เจ้าคุณชายชุ่ม’ (ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้บุตร ๒ ธิดา ๓ ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น เป็นเจ้าคุณพระราชพันธ์ชั้น ๓)

                เจ้าจอมก๊ก อ.ทั้ง ๕ นับตามศักดิ์ญาติ จึงเป็นชั้นอาของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ผู้เป็นหลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์หากแต่ อายุน้อยกว่ามาก

                บรรดาเจ้าจอมก๊ก อ. เจ้าจอมมารดาอ่อนและเจ้าจอมเอี่ยม ถวายตัวก่อน

                เจ้าจอมมารดาอ่อน มีพระองค์เจ้าหญิง ๒ พระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานพระนามโดยทรง เล่นอักษร อ. ตาม ‘ก๊ก’ ว่า พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา

                ส่วนเจ้าจอมเอี่ยมมีพระองค์เจ้าไม่เป็นพระองค์ทั้งสองพระองค์

                เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน อีก ๓ ท่าน มิได้มีพระองค์เจ้า

                พระสนมก๊ก อ. ทั้ง ๕ ท่าน มีเจ้าจอมอาบเพียงผู้เดียวที่มิได้มียศเป็นพระสนมเอก

                 ‘พระสนมเอก’ ก่อนรัชกาลที่ ๕ นั้น มีเครื่องยศ (เช่นหีบหมาก แต่ละชั้น) พระราชทานประดับเกียรติยศ

                ทว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า แล้วผู้ที่โปรดฯให้เป็นพระสนมเอก จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ชั้น ๒ และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) ชั้น ๒ พิเศษ

                เจ้าจอมมารดาอ่อน พระสนมเอก ท.จ.ว.

                เจ้าจอมมารดาเอี่ยม พระสนมเอก ท.จ.ว.

                เจ้าจอมมารดาเอิบ พระสนมเอก ท.จ.ว.

                เจ้าจอมมารดาอาบ ต.จ. (ตติยจุลจอมเกล้า)

                เจ้าจอมมารดาเอื้อน พระสนมเอก ท.จ.ว.

                เจ้าจอมพระสนมเอก ก๊ก อ. ที่โปรดปรานมากทั้ง ๔ ท่านนี้

                เจ้าจอมเอี่ยม เป็นผู้ที่โปรดฯ ฝีมือถวายงานนวดของท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเสด็จยุโรปครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๕๐) ถึงทรงพระราชปรารภในพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จ (กรมพระยาดำรงฯ บรรทมไม่หลับ เพราะไม่มีคนนวดถูกพระราชหฤทัย

                 “ถ้านอนไม่หลับจะต้องทนเสีย เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือโทรเลขเข้าไปให้ส่งนางเอี่ยมออกมา ให้เขาฤา (ลือ) ว่าเปนบ้าถาม ฤาเสดจกลับเข้าไปบางกอก ให้เขาฤาว่าจวนตายแล้วดีกว่าไปตายจริงๆ เดือดร้อนเต็มที ไม่มีความศุขเลย”

                (พระราชหัตถเลขา สะกดตามต้นฉบับ)

                เจ้าจอมเอิบ ว่ากันว่า เป็นคนงามที่สุดในบรรดาพี่น้อง ผิวพรรณผุดผ่อง และว่าเป็นคนเนื้อเย็น โปรดปรานตั้งแต่ถวายตัว จนกระทั่งเสด็จสวรรคต

                ในราชสำนักนั้นไม่ว่าพระมเหสีหรือเจ้าจอมพระสนม มีเวลาทั้ง ‘ขึ้น’ และ ‘ลง’ หากเป็นที่โปรดปรานมากก็เรียกกันว่า กำลัง ‘ขึ้น’

                ทว่าสำหรับเจ้าจอมเอิบ ‘ขึ้น’ แล้ว แม้จะทรงห่างเหินไปบ้างก็มิได้เคย ‘ลง’

                แม้แต่ขณะที่เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ กำลัง ‘ขึ้น’ ก็ยังทรงพระราชปรารภในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าจอมเอิบอย่างทรงปลอบใจว่า

                 “ทำไมจึงเห็นหน้าเจ้ามากกว่าใครๆ หมด เห็นจะเปนด้วยอยู่กันมานาน ฝันก็ฝันถึงเจ้าร่ำไป”

                เมื่อทรงส่งตุ้มหูไข่นกการเวกพระราชทานเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ก็พระราชทานแก่เจ้าจอมเอิบด้วย ๑ คู่

                 “ตุ้มหูคู่หนึ่งเปนไข่นกการเวกเหมือนกัน ฉันได้ซื้อที่เมืองนีศส่งทางไปรสนีย์ให้สดับ...ฯลฯ...ฉันได้ส่งไปอีกคู่ ๑ สำหรับให้เอิบจากปารีสรวมเป็นสองคู่ด้วยกัน”

                ในระยะที่เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับกำลัง ‘ขึ้น’ อยู่นั้น วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชดำรัสล้อเจ้าจอมม.ร.ว.สดับว่า “มีคนเขาพูดกับข้าว่าเวลานี้น้ำในคลองบางหลวงลงแล้ว ไปขึ้นในคลองมหาสวัสดิ์ เจ้าจะว่ากระไร” เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับก็กราบบังคมทูลว่า “เกล้าหม่อมฉันมิว่าไรเพคะ”

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระสรวล

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น มิได้ทรงเที่ยงธรรมแต่เฉพาะการปกครองบ้านเมือง แม้ในราชสำนักฝ่ายในก็ทรงเที่ยงธรรม

                เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับในเวลาต่อมา แม้จะทำให้ทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัย ก็ยังทรงพระเมตตาสงสารพระราชทานเครื่องเพชรเอาไว้ หากยากจนขัดสนจะได้ ‘ขายกิน’ หรือทำให้เกิดดอกออกผล ด้วยทรงเห็นใจว่ายังสาว

                สำหรับเจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบนั้น ทรงมีพระราชปรารภในพระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯว่า

                 “นางเอี่ยมอยู่มากับฉันถึง ๒๐ ปีแล้ว ถ้าอีก ๑๔ ปี ฉันตายอายุเขาถึง ๔๖ ออกจะอันไปมากแล้ว นางเอิบอยู่มา ๑๒ ปีแล้ว ถ้าอีก ๑๔ ปีฉันตาย อายุก็ ๓๙ ปี อยู่ข้างจะเกินควรอยู่บ้าง ถ้าทวดธุระเสียว่าเขาคงหาผัวได้ แต่ถ้าเขาหาไม่ได้ ฤาเขาไม่หา เป็นอันเราทำความลำบากให้เขาเมื่อภายแก่ เพราะไม่คิดอ่านหาทุนรอนที่อยู่ให้เขาเลย

                ถ้าลงจนตองตวยต้องไปเที่ยวเป็นข้าเจ้านายเขาใช้เลวๆ ก็เป็นที่น่าสงสารใจหายเต็มที นับว่าเป็นการเสียพระเกียรติยศด้วย”

                ดังนั้น จึงโปรดฯ จะสร้างพระตำหนักที่ทรงเรียกว่า ‘บ้านต้น’ ซึ่งเมื่อยังทรงพระชนมายุอยู่ ก็จะเสด็จฯไป ‘เที่ยวเตร่’ และเมื่อใดจะทรงยกให้เจ้าจอมทั้งสอง ก็จะทรงยกให้ได้

                เจ้าจอมเอื้อน พระสนมเอกก๊ก อ. คนสุดท้ายนั้น ทรงมีพระราชดำรัสขอจากเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ และท่านผู้หญิงอู่ เพื่อให้ครบ ๕ คน ธิดาของท่านผู้หญิงอู่

                เมื่อแรกเข้าถวายตัว ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) ปีต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) อีกหนึ่งปีต่อมาได้เลื่อนชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) เท่ากับเจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยมและเจ้าจอมเอิบ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×