ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #14 : วัดเครือวัลย์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 902
      4
      5 มิ.ย. 52

    เมื่อเลี้ยวเข้าวัดซึ่งเป็นของวังแล้ว จึงขอเล่าเรื่องวัดที่เป็นของฝ่ายใน ต่อ อีกสักเล็กน้อย

    เป็นของ คือเป็นเจ้าของ ด้วยการบูรณะปฏิสังขรณ์ จากวัดเก่าที่ทรุดโทรมจนเกือบหมดสภาพ หรือสร้างขึ้นใหม่ก็ตาม วัดที่บูรณะ ปฏิสังขรณ์ หรือสร้างใหม่นี้ หากได้รับพระราชทานให้เป็นเจ้าของวัด หรือได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของวัดแล้ว มิได้เป็นเจ้าของเฉยๆ ถ้าเจ้าของยังมีชีวิตมักจะต้องเป็นอุปัฎฐากหรืออุปัฎฐายิกา และมีหน้าที่ธรรมเนียมต้องอุปถัมภ์บำรุงกันไปเรื่อยๆ               

    วัดของพระสนมเจ้าจอม ที่รู้จักชื่อกันดี โดยเฉพาะในแวดวงทหารเรือทางฝั่งธน คือวัดเครือวัลย์ ซึ่งทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า เจ้าจอมเครือวัลย์ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้สร้าง จึงได้รับพระราชทานนามตามชื่อของท่าน

    เดิมชื่อของท่านสะกดว่า เครือวัลิบ้าง เครือวันบ้าง เช่นเดียวกัน พระองค์เจ้าลดาวัลย์ ในจดหมายเหตุตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ต้นรัชกาลที่ ๔ อาลักษณ์ท่านเขียนว่า ลดาวันต่อมาเป็น ลดาวัลิและ ลดาวัลลิ์ไม่เป็นที่แน่นอน เพราะการตั้งชื่อหรือแม้แต่พระราชทานนามในสมัยก่อนโน้น ไม่ได้มีเอกสารตั้งเป็นหลักฐาน สำหรับเจ้านายบางทีเจ้าจอมมารดา หรือบรรดาข้าหลวง ก็เรียกเอาเอง บางทีสมเด็จพระบรมชนกนาถก็พระราชทานตามลักษณะหรือสิ่งแวดล้อมขณะประสูติ เป็นพระนามเล่นแล้วก็เลยกลายเป็นพระนามจริงบ้าง เป็นพระนามจริงๆ บ้าง การพระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดาเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมคาถากำกับ เพิ่งจะเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๔

    ดังนั้น พระนามเจ้านายก็ตาม ชื่อคนทั่วไปก็ตาม มักจะสะกดเอาตามเสียงพูด เว้นแต่ผู้ที่พอจะมีความรู้ภาษาบาลีสันสกฤตอยู่ ก็สะกดไปตามภาษาบาลีบ้าง สันสกฤตบ้างตามถนัด

    มายุติเอาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระราชทานนามสกุล จากพระนาม หรือ ชื่อของผู้เป็นตันสกุล

    เจ้าจอมเครือวัลย์ เป็นธิดาของ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) และเป็นหลานปู่ของ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ผู้เป็นต้นสกุล บุญยรัตพันธุ์

    เคยเล่าแล้วว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) นั้นท่านมีเคหสถานใกล้กันกับพระราชนิเวศน์เดิมของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ตั้งแต่ครั้งยังทรงรับราชการในแผ่นดินกรุงธนบุรี

    เคหสถานของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) คือตรงที่เป็นวัดเครือวัลย์ ส่วนพระราชนิเวศน์เดิมอยู่ตรงที่เป็นกรมอู่ทหารเรือ

    โดยเหตุที่นิวาสสถานใกล้เคียงกัน นัยว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นคงจะเคยเห็นคุณศรี (หรือคุณสี แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงนามของท่านว่า คุณศรี) มาแต่ยังทรงพระเยาว์จนเข้าวัยรุ่นด้วยกัน เมื่อเด็กๆ อาจจะเคยรู้จักหรืออาจเคยเล่นกันมาด้วยซ้ำไป เพราะต่างก็เป็นบุตรธิดาขุนนางใหญ่ด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเป็น เจ้าพระยาจักรี ส่วนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) นั้น เป็นพระยาธรรมา ว่ากรมวัง

    จดหมายเหตุเก่าเล่ากันมาแต่ว่า เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงหลงรักคุณศรี และอาจจะทรงวุ่นวายเกินไป ข้อนี้สันนิษฐานกันเอาเอง เพราะปรากฏว่า ทรงถูกสมเด็จพระบรมราชชนกลงพระอาญาการลงพระอาญาคงไม่ใช่เฆี่ยนตี ผู้ใหญ่ช่างเดา พากันเดาอีกเหมือนกันว่า คงจะทรงลงโทษอย่างที่สมัยนี้เรียกกันว่ากักบริเวณ หรือทรงพาไปรบทัพจับศึกด้วย เป็นการพรากมิให้เห็นหน้ากันใกล้ๆ นี่เป็นเรื่องที่เล่ากันสนุกๆ แล้วเลยสันนิษฐานกันต่อไปจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้ว่า ในรัชกาลที่ ๑ นั้น โปรดเกล้าฯ พระราชทานคุณศรีให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นการ พระราชทานไปตามคู่ตุนาหงันเดิม

    ทำให้สันนิษฐานกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ คงจะทรงสู่ขอคุณศรี หมั้นกันเอาไว้ก่อน

    ทว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจล จนผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน คุณศรี จึงได้เป็นหม่อมท่านแรก เป็นพระสนมเอกท่านแรก แทนที่จะเป็นภรรยาหลวง ที่เรียกกันว่า เมียขันหมาก (เหมือนนางศรีมาลา ส่วนนางสร้อยฟ้านั้นเป็นเมียพระราชทาน)

    คุณศรีมีพระธิดา พระยศ ขณะนั้นเป็นหม่อมเจ้าพระนามว่า จักรจั่น เดากันอีกว่า เมื่อแรกประสูติและทรงพระเยาว์ คงจะทรงกรรแสง คล้ายเสียงจักรจั่นร้อง เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จขึ้นครองราชย์ เลื่อนเป็นพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจักรจั่น ตามพระเกียรติยศ

    เป็นธิดาราชธิดาพระองค์แรก ไม่เป็นที่รู้จักพระนามกันมากนัก เพราะพระชันษาสั้น ประสูติในปีที่คุณศรี หรือ เจ้าคุณศรีถวายตัว พ.ศ.๒๓๒๘ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ นั้นเอง เล่ากันมาว่า ทั้งคุณศรีและพระราชธิดา เป็นที่โปรดปรานในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรยิ่งนัก เพราะเป็นอย่างที่ชาวบ้านว่า ว่าเป็นเมียคนแรกลูกคนแรก

    คุณศรีมีพระธิดาอีกองค์หนึ่ง พระนามหม่อมเจ้าบุบผา (พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงบุบผา) ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๔ พระชันษา ๓๑ ปี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถ

    ในสมัยก่อนนั้น ธิดาของขุนนางยศศักดิ์สูงมักจะถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนม เมื่อเข้าถวายตัวมีเรือนมีตำหนักอยู่แล้ว ก็มักจะนำญาติๆ เข้าไปอยู่ด้วยเพื่อถวายตัวกันต่อๆ ไป

    ด้วยเหตุนี้ บรรดาเจ้าจอมพระสนม จึงมีที่เป็นพี่น้อง และเป็นญาติร่วมสกุลกันเป็น ก๊กคือ เป็นเจ้าจอมด้วยกันตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไป

    เช่นสกุลบุนนาค มีเจ้าจอมพระสนมมากกว่าสกุลใด ปรากฏว่ามีกุลสตรี บุนนาค รับราชการทุกรัชกาลมากที่สุดก็ในรัชกาลที่ ๕ ถึง ๑๖ ท่าน แต่ที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากก็ ก๊กธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์(เทศ บุนนาค) ที่เรียกกันว่า ก๊กออเพราะธิดาของท่านซึ่งท่านผู้หญิงอู่เป็นมารดานั้น ชื่อ ทุกคน คือ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน และแม้แต่ พระราชธิดา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่อน ๒ พระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรง เล่นอักษร อ. พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และ พระองค์เจ้าอุดิศัย สุริยาภา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ตรัสเรียกล้อๆ ว่า พระองค์ออ” “พระองค์อะ

    เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด บุณยรัตพันธุ์) มีธิดา เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ คือ เจ้าคุณศรี ซึ่งท่านผู้หญิงเป็นมารดา และมีธิดาเกิดแต่ภรรยาอื่น เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๓ อีก ๑ ท่าน คือ เจ้าจอมมารดาแก้ว เจ้าจอมมารดาแก้วมีพระองค์เจ้า ๑ พระองค์ พระนามว่า พระองค์เจ้าอมฤตย์ ในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯสถาปนา เป็นกรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย

    เจ้าจอมเครือวัลย์ เป็นหลานป้าของเจ้าคุณจอมมารดาศรี และเป็นหลานอาของเจ้าจอมมารดาแก้ว

    สกุลบุณยรัตพันธุ์ ได้เป็นเจ้าพระยาต่อลงมาจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อีก ๒ ท่าน คือ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าจอมเครือวัลย์ เป็นน้องชายเจ้าคุณจอมมารดาศรีร่วมมารดาเดียวกัน

    เจ้าพระยาคนที่ ๓ คือ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) น้องชายเจ้าจอมเครือวัลย์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×