ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #139 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 4 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.47K
      2
      11 เม.ย. 53

     ในกระบวนคำถามที่ถามกันมาระยะนี้ ผู้อ่านและผู้อื่นถามถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มากที่สุด

                พระประวัติในราชตระกูลและในราชการของ ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ

                พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ เหตุที่ได้พระนามดังนี้ เนื่องเพราะขณะประสูติมีผู้นำทองที่ขุดได้ขึ้นมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบรมราชชนก

                เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ เจ้าจอมมารดาของ ฯกรมหลวงฯ ประจักษ์ เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอิน) ผู้ซึ่งทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ท่านเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเจ้าจอมยวน ประวัติของท่านก็ทำนองเดียวกันกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) คือพระราชทานเจ้าจอมยวนแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ขณะที่เจ้าจอมยวนกำลังตั้งครรภ์

                เจ้าจอมยวน เป็นธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู หรือหลวงสิทธินายเวรสมัยปลายอยุธยา) เกิดแต่อนุภรรยา มิใช่ธิดาของชายาหรือท่านผู้หญิง เห็นจะเข้ามาถวายตัวพร้อมกันกับเจ้าจอมมารดาฉิม (กรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์กรุงธนบุรี) และเจ้าจอมปราง สองธิดาของท่านผู้หญิง

                เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานเจ้าจอมยวนแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) และพระราชทานเจ้าจอมปรางแก่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) จึงมีผู้สันนิษฐานว่า เห็นจะมีพระราชประสงค์ให้เชื้อสายของพระองค์ได้เป็นผู้รักษาขอบขัณฑสีมาทางใต้ และทางอีสานในเวลาต่อไปข้างหน้า

                เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ถวายตัวได้เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระองค์เจ้า ๔ พระองค์คือ

                ๑. พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
                ๒. พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ)
                ๓. พระองค์เจ้าเจริญรุ่งราษี สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา ๕ ขวบ
                ๔. พระองค์เจ้ากาญจนากร

    ๑. พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม - พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔
    ๒. พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ - พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ๓. พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ - พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔

                กล่าวกันว่าทั้ง ๔ พระองค์นั้น สามพระองค์ต่างมีคำว่า ‘ทอง’ ในพระนาม ต่างมีพระชันษายืนยาว เว้นแต่พระองค์เจ้าเจริญรุ่งราษีเท่านั้นที่พระชันษาสั้น เพราะพระนามเป็นอย่างอื่นไม่ใช่ ‘ทอง’

                เมื่อ ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ ยังทรงพระเยาว์อยู่ เล่ากันว่าทรงซุกซน และมีพระนิสัยรับสั่งตรงไปตรงมาแฝงด้วยพระอารมณ์ขัน บางครั้งก็ทรงกระทำสิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าพิลึกหรืออุตริ เช่นทรงเที่ยวแอบจุดโคมตามถนนในพระราชฐานก่อนถึงเวลาพนักงานจะมาจุด ดังคำกลอนสังเกตพระอัชฌาสัยเจ้านายเมื่อยังทรงพระเยาว์ กล่าวถึง ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ ว่า

                 “เที่ยวลอบจุดโคม ท่านทอง” เวลานั้นพระชันษาของท่าน ๑๒ ปี

                บรรดาเจ้านายพี่น้องเรียกท่านว่า ‘ท่านทอง’ และก่อนทรงกรม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเรียกว่า ‘ทองใหญ่’

                หน้าที่ราชการของพระองค์ท่าน ตั้งแต่เริ่มรับราชการสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๕ คือ

                ๑. เป็นผู้ช่วยราชการกรมวัง ซึ่งเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงกำกับราชการกรมวังอยู่
                ๒. เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ด้านมณฑลอุดร (จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ขณะนั้นเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ) ยกทัพไปปราบฮ่อ
                ๓. เมื่อเสด็จกลับจากราชการปราบฮ่อฝ่ายใต้ หลัง พ.ศ.๒๔๒๘ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมวัง
                ตั้งแต่สมัยที่ทรงเป็นผู้ช่วยราชการกรมวัง จนกระทั่งเป็นเสนาบดีกรมวัง ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงใกล้ชิดกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ มาก เป็นที่โปรดปรานในสมเด็จพระบรมฯ ซึ่งเวลานั้นพระชนมายุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ เพิ่งจะ ๕ พรรษา เรื่อยมา
                บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ นั้น ส่วนมากสมเด็จพระบรมฯ ตรัสเรียกว่า ‘เสด็จอา’ โดยทรงนับญาติทางสมเด็จพระบรมชนกนาถ มีเพียงไม่กี่พระองค์ที่ทรงเรียกว่า ‘เสด็จลุง’ โดยทรงนับญาติทางสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) แต่ที่เป็น ‘ลุงแท้ๆ’ ของท่านนั้นมีพระองค์เดียว คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ (พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์) ทว่าสำหรับ ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ ซึ่งเวลานั้นทรงกรมเป็นกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ตรัสเรียกอย่างสนิทสนมว่า ‘ลุงจักษ์’ ซึ่ง ‘ลุงจักษ์’ ก็รักท่านเป็นอย่างยิ่ง มีรับสั่งเสมอว่าทรงรักพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกพระองค์เพราะเป็นลูกของเจ้าข้าวแดงแกงร้อน แต่ที่ทรงรักมากก็คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ เมื่อสมเด็จพระบรมฯ พระองค์นั้นสวรรคต ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ ถึงทรงพระกันแสง
                ในจดหมายเหตุรายวัน พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ตั้งแต่พระชนมายุ ๕              “ลุงจักษ์ให้เราไปจุดเทียน”
                 “ลุงจักษ์ให้เราสี่เฟื้อง”พรรษา ทรงบันทึกถึง ‘ลุงจักษ์’ ไว้หลายต่อหลายแห่ง

                 “ลุงจักษ์ให้มาเรียกเราไปจุดเทียนสวนมนต์ก่อฤกษ์พระเจดีย์ที่วัดราชบพิธ เราเรียกหมวกกับเกือกถุงตีนใส่แล้ว ทูลลาทูลหม่อมบน ลุงจักษ์อุ้มเราขึ้นรถเหลือง”
                ฯลฯ ฯลฯ
                ๔. เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือคนแรก เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๔

                ราชการครั้งนี้สำคัญเป็นอันมาก เพราะเป็นเวลาที่กำลังมีเรื่องราวกับฝรั่งเศส จึงโปรดฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสด็จไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ทรงจัดการวางระเบียบราชการปกครองบ้านเมือง (พระยอดเมืองขวาง วีรบุรุษที่รู้จักกันดีในสมัย ร.ศ.๑๑๒-พ.ศ.๒๔๓๖ นั้น อยู่ใต้บังคับบัญชากรมหมื่นประจักษ์ฯ) ต้องอาศัยพระปรีชาสามารถอย่างมากในการแก้ไขปัญหาชายแดนติดกับลาวที่ฝรั่งเศสกำลังยึดครองอยู่ ชั้นแรกทรงตั้งค่ายบัญชาการอยู่ที่หนองคาย แล้วจึงย้ายไปตั้งอยู่ที่บ้านเดื่อหมากแข้ง (หมากแข้ง-มะเขือพวง) จากนั้นก็ได้ประกาศยกบ้านเดื่อหมากแข้งเป็นเมืองอุดรธานี เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ นั้นเอง ทรงนำความเจริญรุ่งเรืองให้เมืองอุดรธานีเป็นอันมาก ชาวเมืองอุดรธานีจึงนับถือว่า ว่าพระองค์เป็นผู้สร้างเมืองอุดรธานี ได้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์เป็นพระรูปทรงยืน พระนามของท่านได้เป็นชื่อ ค่ายทหาร ‘ประจักษ์ศิลปาคม’ ชื่อ ‘ถนนประจักษ์’ ชื่อหนองน้ำใหญ่กลางเมือง ‘หนองประจักษ์’ เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระเกียรติคุณ

                เมื่อโปรดเกล้าฯให้เสด็จไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์มณฑล-ลาวพวนหรืออุดรนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ฯ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ว่าราชการครั้งนี้ นับว่าเป็นการสำคัญกว่าแต่ก่อน เพราะต้องรับผิดชอบมาก

                และโดยเหตุที่ เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อเกิดไปมีเรื่องราวขัดกันขึ้นกับแม่ทัพฝ่ายเหนือ จึงได้กราบบังคมทูลในตอนหนึ่งว่า

                 “ขึ้นไปครั้งนี้ตั้งใจจะฉลองพระเดชพระคุณให้เต็มสติปัญญาและความคิด ชีวิตร่างกายก็ไม่เสียดายอันหนึ่งอันใดเลย แต่ขอรับพระราชทานความคล่องใจซึ่งเป็นรากเง่าของการที่จะให้สำเร็จไปได้ อย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดมาอินตเฟีย (interfere = แทรกแซง -จุลลดาฯ)

                อนึ่งในการที่ข้าพระพุทธเจ้าจะฉลองพระเดชพระคุณในครั้งนี้ เมื่อราชการที่ข้าพระพุทธเจ้าแบ่งหน้าที่ไปครั้งนี้เสียลงด้วยประการหนึ่งประการใด ก็สุดแล้วแต่พระราชอาญามีรับราชบาทประหารชีวิตเป็นที่สุด ถ้าได้ราชการขอรับพระราชทานพอเสมอตัวเท่านั้น ไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูงอันใด”

                ก็จะเห็นได้ว่า อันพระเจ้าน้องยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแต่ละพระองค์นั้น ทรงรับราชการเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอเนกประการแทบทุกพระองค์ ทรงช่วยบรรเทาพระราชการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ดังมีพระประวัติทางราชการปรากฏอยู่ มิใช่เป็นเพียง ‘คนโปรด’ เท่านั้น หากในปลายพระชนมชีพทรงพระชรา ทั้งทรงงานมามากก็อาจผิดพลั้งในส่วนพระองค์ไปบ้างตามวิสัยปุถุชน ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นการรุนแรงจนลงพระเกียรติคุณที่ทรงบากบั่นสร้างมา

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×