ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #137 : พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 753
      0
      11 เม.ย. 53

     เนื่องมาจากปาฐกถาของผู้เขียนเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ ในฉบับที่ ๒๕๒๑ ซึ่งคุณ ‘ไพลิน รุ้งรัตน์’ ถอดความจากเทป เข้าใจว่าเทปคงจะไม่ชัดเจนนัก เพราะวางอยู่ค่อนข้างห่าง จึงมีคำและข้อความที่ไม่ถูกต้องอยู่บางประการ

                ในฐานะที่บทความนี้เป็นบทความเกี่ยวกับ ‘วัง’ จึงขอติงและแก้ให้ถูกต้อง

                เรื่องหนึ่ง คือ พระนามสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเขียนว่า ‘สมเด็จพระศรีอมรินทร์’ นั้นผิดถนัด ที่ถูกคือ ‘สมเด็จพระอมรินทรามาตย์’

                ที่จริงในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนนี ของท่านเป็น ‘สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์’ แต่คนทั่วไปเมื่อออกพระนามก็ลดคำว่า ‘พระ’ เป็นเพียง สมเด็จพระอมรินทรามาตย์’ บ้าง ‘สมเด็จพระอมรินทรฯ’ บ้าง

                ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เปลี่ยนจากสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ เป็น ‘กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์’ เอาคำว่า ‘กรม’ นำหน้า ‘สมเด็จ’ เพื่อให้แตกต่างจาก สมเด็จกรมพระอื่นๆ อันเป็นพระเกียรติยศทรงกรมสูงสุดของเจ้านายทั่วไปในขณะนั้น

                ด้วยเหตุนี้ ในรัชกาลที่ ๔ พระนามของ ‘สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์’ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๒ จึงเป็น ‘กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และ ‘สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย’ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๒ จึงเป็น ‘กรมสมเด็จพระอมรินมาตย์ และ ‘สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย’ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓ จึงเป็น ‘กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย’

    พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทดุรงฤทธิ์ (เดิม ม.จ.สิงหนาท) พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ (พระองค์เจ้ากุญชร) และคุณหญิง (หม่อม) แสง (ราชนัดดา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ธิดาคุณวัน หรือ พระองค์เจ้าอัมพวัน)

                ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงของพระองค์ เป็น ‘สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี’ แล้วจึงโปรดฯให้ออกพระนามสมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๑-๔ เสียใหม่ ดังนี้

                สมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๑ ว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๒ ว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด)

                สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓ ว่า สมเด็จพระศรีสุลาลัย (รัชกาลที่ ๓ ไม่ทรงมีพระอัครมเหสี)

                สมเด็จพระอัครเมเหสีในรัชกาลที่ ๔ ว่า ‘สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี’

                เรื่องหนึ่ง คือในถอดความเขียนว่า ‘สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปี’ เฉยๆ ไม่มีคำว่า ‘หลวง’ ต่อท้ายนั้นไม่ถูก หากออกพระนามกันเองโดยทั่วไป อาจเรียกว่า ‘สมเด็จพระพันปี’ บ้าง ‘พระพันปีหลวง’ บ้าง แต่ถ้าเป็นทางราชการ หากเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งเป็นพระมเหสีหรือพระภรรยาของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ต้องตามด้วยคำว่า ‘พันปีหลวง’ เสมอ

                อีกเรื่องหนึ่ง ค่อนข้างสำคัญอยู่ ตอนที่เล่าถึง หม่อมเจ้าหญิงสารภี ซึ่งในถอดความว่า “พี่สาวของสมเด็จโตองค์หนึ่งชื่อสารภี”

                ไม่ทราบว่าพลาดไปได้อย่างไร พี่สาวของท่านปู่จึงกลายเป็น สมเด็จโต ไปได้

                หม่อมเจ้าหญิงสารภีนั้น ท่านเป็นธิดาของคุณหญิงพลับ คุณหญิงพลับท่านเป็นราชนัดดา (หลานปู่) ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บิดาของคุณหญิงพลับ คือ พระพงศ์นรินทร์ (หรือเจ้าฟ้าทัศพงศ์)

                คุณหญิงพลับท่านเป็นหม่อม (ภรรยา) ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าลดาวัลย์) มิใช่สะใภ้

                ส่วนย่าของผู้ปาฐก (น่าจะเป็น ‘ย่าท่าน’ มิใช่ ‘ย่าเขา’ เพราะคนโบราณนับถือปู่ย่า ตายาย สรรพนามแทนปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ว่า ‘เขา’ เพิ่งจะมาใช้กันในหมู่คนสมัยใหม่) เป็นลูกสะใภ้ของกรมหมื่นภูมินทรฯ ย่าจึงเป็นน้องสะใภ้ ของหม่อมเจ้าหญิงสารภี

                เมื่อย่าของผู้ปาฐกเข้าไปเป็นวงศ์ญาติในวัง คงจะได้ยินได้ฟังเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทางหม่อม เจ้าสารภีและหม่อมมารดาของท่านบ้าง จึงได้พูดทีเล่นทีจริงว่า ใครบอกว่ารัชกาลที่ ๑ ฆ่าพระเจ้าตากสิน (ย่าพูดไม่ใช่ญาติ) เรื่องราวบางเรื่องอาจมาจากปากของพระพงศ์นรินทร์ ลงมาทางคุณหญิงพลับธิดา เป็นเหตุให้ผู้เขียนเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ จับเอามาสันนิษฐาน เกี่ยวกับเรื่องการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

                อีกประการหนึ่ง พระพงศ์นรินทร์นั้นมิได้ไปติดคุกด้วยพระราชบิดา หากแต่เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวที่ไปติดอยู่ในโบสถ์วัดแจ้งด้วยพระราชบิดา โบสถ์วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวราราม เป็นที่เขาคุมพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส (พระองค์เจ้านพวงศ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และเจ้าจอมมารดาน้อย (ราชนัดดา ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ธิดา พระอินทรอภัย หรือ เจ้าฟ้าทัศไพ)

                ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า เชื้อพระวงศ์กรุงธนบุรี และพระบรมราชวงศ์จักรีนั้น ตั้งแต่ชั้นพระราชธิดา และพระราชนัดดาสัมพันธ์กลมกลืนกันเสมือนพระราชวงศ์เดียวกัน พระราชโอรสหลายองค์รับราชการในแผ่นดินกรุงเทพรัตนโกสินทร์ในตำแหน่งสำคัญๆ

                ท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ที่ชื่อ ‘น้อย’ เรียกกันสั้นๆ ว่า เจ้าพระยานคร (น้อย)

                ซึ่งเรื่องราวของท่านเป็นที่เปิดเผยกันในเวลาต่อมา ว่าท่านเป็นพระราชโอรสติดครรภ์เจ้าจอมมารดาหนูเล็ก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานให้แก่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ไป เมื่อคุณชุ่ม ภรรยาของเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) สิ้นชีพ แต่เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ไม่กล้ารับเป็นภรรยา จึงยกเอาไว้ในที่นางเมือง

                เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เมื่อเติบใหญ่ ได้เข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ จนถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงโปรดฯให้ไปเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ต่อจากบิดาเลี้ยง

                ทั้งเจ้าพระนครฯ (พัฒน์) และเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ต่างมีธิดา ถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนม

                เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) มีธิดาเกิดแต่คุณชุ่มเอกภรรยา ๒ คน ชื่อ นุ้ยใหญ่ และนุ้ยเล็ก

                คุณนุ้ยใหญ่ ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑

                คุณนุ้ยเล็ก ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้ารัชกาลที่ ๑

                ต่อมาเจ้าพระยานครฯ (น้อย) มีธิดาเกิดแต่ท่านผู้หญิงอิน สองคนเช่นกัน ชื่อ น้อยใหญ่ และ น้อยเล็ก

                คุณน้อยใหญ่ ถวายตัวในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓

                คุณน้อยเล็ก ก็ถวายตัวในรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน

                ว่ากันว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) นั้น ท่านมีวาสนามีอำนาจราชศักดิ์มากยิ่งกว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชที่แล้วๆ มา แม้แต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ในสมัยปลายอยุธยา ซึ่งตั้งตัวเป็น ‘ก๊ก’ และตั้งตัวเป็นเจ้า

                ซึ่งต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เสด็จยกทัพไปปราบได้ชัยชนะ แต่มิได้ฆ่าฟัน ด้วยทรงพระราชดำริว่า เวลาบ้านเมือง (กรุงศรีอยุธยา) ระส่ำระส่ายเสียกรุง ทุกก๊กที่มีกำลังต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ จะนับว่าเป็นกบฏหาได้ไม่ จึงโปรดฯให้ตามเสด็จไปรับราชการ ณ กรุงธนบุรี เมื่อโปรดฯให้กลับไปเป็นเจ้านครฯใหม่ กลับทรงเพิ่มเกียรติยศให้เป็นเสมอเจ้าประเทศราช เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช

                พระเจ้านครศรีธรรมราชผู้นี้เป็นบิดาของ คุณชุ่ม (หรือทูลกระหม่อมหญิงใหญ่) ผู้เป็นภรรยาของเจ้าอุปราชพัฒน์ (ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้านครฯแทน เมื่อพ่อตาถึงแก่อสัญกรรม) และคุณฉิม (หรือทูลกระหม่อมหญิงกลาง) พระมเหสีซ้ายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯให้เป็นกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ เป็นชนนีของพระพงศ์นรินทร์ พระอินทรอภัย และพระนเรนทราชา

                ธิดาสุดท้องของพระเจ้านครศรีธรรมราช ก็คือ คุณปราง (หรือ ทูลกระหม่อมหญิงเล็ก) มารดาของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ดังที่ได้เล่ามาแล้วนั่นเอง

                ด้วยเหตุที่วงศ์นครศรีธรรมราช มีความเกี่ยวพันและผูกพันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งยังทรงพระเมตตากรุณาด้วยประการต่างๆ มาแต่ต้น จึงเป็นเหตุให้น่าสังเกตว่าที่นักเขียนของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เขียนสันนิษฐานไว้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีได้มาสิ้นพระชนม์ที่นครศรีธรรมราชนั้น ดูมีเหตุผลอันน่าเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×