ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #13 : เรื่องเล้า "วัดอัปสรสวรรค์"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.2K
      2
      5 มิ.ย. 52

    -ได้ยินชื่อวัดอัปสรสวรรค์ เป็นวัดที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสร้าง หรือวัดของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพใช่ไหม-

    จากเวียงวัง เลี้ยวเข้าหาวัดซึ่งเป็นวัดเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัง

    วัดอัปสรสวรรค์ มิใช่วัดของฯ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ผู้ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวิลาส (สะกดตามพจนานุกรม โบราณเดิมสะกดว่า 'วิลาศ' บ้าง 'วิลาด' บ้าง พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ)

    ขอใช้ 'ฯ-ไปยาลน้อย' นำพระนามเป็นการ 'ละ' คำว่า 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ' อันเป็นคำนำพระนามพระราชโอรสธิดาในพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๕ ซึ่งทรงพระอิสริยศักดิ์ชั้นพระองค์เจ้า

    ในพจนานุกรม ให้คำอธิบาย 'ไปยาล' เอาไว้ว่า 'เครื่องหมายละคำ' มีไปยาลน้อย-ละคำที่ตามคำหน้า (ฯ) และ ไปยาลใหญ่-ละคำข้างหน้าและตามหลัง

    ใช้ '' ละคำยาวๆ อันเป็นคำที่ทราบกันดีอยู่แล้วเพียงละคำนำหน้า เช่นเดียวกับละคำตามหลัง ก็น่าจะใช้ได้

    วัดของฯ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ นั้นคือวัดเทพธิดาราม ข้างๆ วัดราชนัดดาราม ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงสร้างพระราชทาน มีทรัพย์ส่วนพระองค์ของ ฯกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สมทบด้วยจำนวนหนึ่ง

    ส่วน 'วัดอัปสรสวรรค์' ที่ถามมาเป็นวัดอยู่ในคลองด่าน เขตภาษีเจริญ ปัจจุบันเป็นเขตกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้อยู่ในเวียง (เกาะ) รัตนโกสินทร์ เดิมเป็นวัดโบราณ เรียกกันว่าวัดหมู เล่ากันมาว่า ก่อนสร้างวัดแถบนั้นเคยเป็นบ้านพวกจีนเลี้ยงหมู เมื่อสร้างวัดจึงเรียกกันว่าวัดหมู

    ในรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าแผ่นดินโปรดสร้างวัด ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในจึงพากันสร้างวัด 'ตามเสด็จ' แทนที่จะนำเงินไปใช้สอยฟุ่มเฟือยอย่างอื่น

    เจ้าจอมน้อย เป็นพระสนมในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ เห็นจะชราแล้ว ขอพระราชทานบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดหมู จะว่าสร้างใหม่ทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะเวลานั้นทรุดโทรม สลักหักพังไปเกือบหมดแล้ว ทั้งโบสถ์วิหาร เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยถวายเป็นพระอารามหลวงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า 'วัดอัปสรสวรรค์' เป็นเกียรติยศแก่เจ้าจอมน้อย

    เพราะเจ้าจอมน้อยนั้น ท่านมีชื่อเสียงมาแต่เมื่อแรกถวายตัวในรัชกาลที่ ๑ เรียกกันว่า เจ้าจอมน้อย สุหรานากง ประการหนึ่งเพราะชื่อของเจ้าจอมว่า 'น้อย' นั้นซ้ำกันอยู่หลายท่าน ประการที่สอง ในสมัยนั้นท่านเล่นละครในได้เป็นตัว สุหรานากง แทบจะว่าเป็นประจำในรัชกาลที่ ๑ พระสนม ที่มีชื่อตัวละครเป็นเครื่องหมาย นอกจาก เจ้าจอมน้อยสุหรานากงแล้ว ก็มีเจ้าจอมฉิมยักษ์เจ้าจอมบุนนากสีดาสำหรับ 'สุหรานากง' นั้น ท่านที่เคยอ่านพระราชนิพนธ์อิเหนา คงทราบแล้วว่า เป็นโอรสของท้าวสิงหัดสำหรี วงศ์เทวา ๑ ใน ๔ จึงเป็นลูกผู้น้องของอิเหนา และนางบุษบา วัดที่เจ้าจอมน้อยสร้างจึงได้รับพระราชทานชื่ออันเนื่องด้วยสวรรค์ชั้นฟ้าอันเป็นที่อยู่ของเทพเทวาทั้งหลาย ส่วน 'อัปสร' นั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เทพธิดาโดยแท้ เป็นเพียงนางฟ้าบริวาร จึงปรากฏว่า บางครั้งคนธรรพ์ ซึ่งเป็นครึ่งๆ เทวดาเช่นกัน ได้เป็นคู่ครอง 'อัปสรสวรรค์' จึงเป็นนางอัปสรพิเศษ

    เจ้าจอมน้อยสุหรานากง เป็นธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) เสนาบดี (กรม) นา หรือรัฐมนตรีเกษตร แต่ครั้งกรุงธนบุรี

    เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) นั้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีชีวิตอยู่หรือหาไม่ไม่ปรากฏ ทว่าหากมีชีวิตอยู่ก็คงจะไม่ได้รับราชการในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เพราะไม่ปรากฏนามในพระราชพงศาวดารทรงแต่งตั้งข้าราชการในรัชกาลที่ ๑

    เสนาบดี (กรม) นาในรัชกาลที่ ๑ เมื่อแรกโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครั้งแรกเมื่อเสด็จปราบดาภิเษกนั้น คือ 'หม่อมปืน' ข้าหลวงเดิม ท่านผู้นี้เป็นบิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงเป็นบรรพชนของสกุล' 'สิงหเสนี' ทว่าเป็นพระยาพลเทพมิได้เป็นเจ้าพระยา แต่มีเครื่องยศและศักดินาเทียบเท่าเจ้าพระยา ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาที่กลาโหม แทนเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรม จนตลอดรัชกาลที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล

    ราชทินนาม 'พลเทพ' เป็นราชทินนามเสนาบดี (กรม) นามาแต่โบราณ

    ในสมัยโบราณ ระเบียบการปกครองฝ่ายพลเรือนยังเป็นแบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา)

    ราชทินนามเสนาบดี (กรม) เวียง หรือ นครบาล คือ 'ยมราช' กรม (วัง) คือ 'ธรรมา' กรม (คลัง) คือ 'พระคลัง' กรม (นา) คือ 'พลเทพ'

    ส่วนมหาดไทยในปัจจุบัน อาจเทียบได้กับ ที่สมุหนายก ราชทินนามไม่แน่นอน ในรัชกาลที่ ๑ คือเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์)

    ฝ่ายทหาร เสนาบดีเทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกลาโหมปัจจุบันคือ 'มหาเสนา'

    ล้วนเป็น 'เจ้าพระยา' ทั้งสิ้น เว้นแต่พระยาพลเทพ (ปิ่น) ในรัชกาลที่ ๑ ชะรอยจะทรงเห็นว่า อายุยังน้อย และในแผ่นดินธนบุรีก็เป็นเพียงข้าราชการเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ทรงตั้งให้เป็นเจ้าพระยาเสมอกับพวกที่เป็นผู้ใหญ่มาแต่ครั้งกรุงธนบุรี

    วัดอัปสรสวรรค์ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดพระราชทานพระพุทธรูปปางฉันสมอ เรียกง่ายๆ ว่า 'พระฉันสมอ' ไปประดิษฐานในวัดด้วย ปัจจุบันไม่ทราบว่าทางวัดประดิษฐานท่านไว้ตรงไหน

    พระพุทธรูปปางฉันสมอ เป็นพระพุทธรูปปางใหม่ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

    เดิมทีเดียว พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่พบกันมาแล้วในสมัยต่างๆ มี

                    ๑. ปางปฐมเทศนา              
                  ๒.ปางสมาธิ

                    ๓. ปางมารวิชัย
                    ๔. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

                    ๕. ปางมหาปาฎิหารย์
                    ๖. ปางประทานอภัย

                    ๗. ปางประทานพร
                    ๘. ปางโปรดสัตว์

                    ๙. ปางนาคปรก
                    ๑๐. ปางอุ้มบาตร

                    ๑๑. ปางกดรอยพระพุทธบาท
                  ๑๒. ปางไสยา

                    ๑๓. ปางนั่งห้อยพระบาท
                    ๑๔.ปางปาเลไลย

                    ๑๕. ปางลีลา
                    ๑๖. ปางขอฝน

    ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงบำเพ็ญ ดังพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เคยทรงสร้างรูปพระโพธิสัตว์ ตามเรื่องนิบาตชาดก ทั้ง ๔๔๐ เรื่อง

    ทว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงรังเกียจว่ารูปพระโพธิสัตว์ตามนิบาตชาดกนั้น เป็นรูปเทวดาก็มี มนุษย์ก็มี สัตว์เดรัจฉานก็มี ไม่สมควรจะสร้างให้ชนเคารพกราบไหว้ เป็นเจดีย์วัตถุ จึงโปรดฯให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานนุชิตชิโนรส เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น ทรงเลือกค้นในคัมภีร์ที่มีเรื่องพุทธประวัติ คิดเลือกพระพุทธอินริยาบถปางต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก ๓๓ ปางรวมกับปางเก่าที่มีอยู่แล้วเป็น ๔๐ ปาง

    พระพุทธรูปทั้ง ๓๓ ปาง คือ

                    ๑. ปางทุกกรกิริยา
                    ๒. ปางรับมธุปายาส

                    ๓. ปางลอยถาด
                    ๔. ปางทรงรับหญ้าคา

                    ๕. ปางถวายเนตร
                    ๖. ปางจงกรมแก้ว

                    ๗. ปางประสานบาตร
                    ๘. ปางฉันสมอ

                    ๙. ปางลีลา
                    ๑๐.ปางประทานเอหิภิกษุอุปสมบท

                    ๑๑. ปางปลงกรรมฐาน
                    ๑๒. ปางห้ามสมุทร

                    ๑๓. ปางอุ้มบาตร
                    ๑๔. ปางภุตตกิจ

                    ๑๕. ปางพระเกศธาตุ
                    ๑๖. ปางเสด็จลงเรือขนาน

                    ๑๗. ปางพระปาเลไลย
                    ๑๘. ปางห้ามพระแก่นจันทน์

                    ๑๙. ปางนาคาวโลกน์
                    ๒๐. ปางปลงพระชนม์

                    ๒๑. ปางรับอุทกัง
                    ๒๒. ปางสรงน้ำ

                    ๒๓. ปางรำพึง
                    ๒๔. ปางสำแดงชราธรรม

                    ๒๕. ปางประดิษฐานพระพุทธบาท
                  ๒๖. ปางสำแดงโอฬาริกนิมิต

                    ๒๗. ปางรับผลมะม่วง
                    ๒๘. ปางขับพระวักกลี

                    ๒๙. ปางฉันมธุปายาส
                    ๓๐. ปางห้ามมาร

                    ๓๑. ปางสนเข็ม
                    ๓๒.ปางชี้อัครสาวก

                    ๓๓. ปางเปิดโลก

    ทั้งหมด ไม่เห็นมีปางห้ามญาติ หรือจะรวมอยู่ในปางประทานอภัย สมัยก่อนรัตนโกสินทร์ ซึ่งอธิบายไว้ในเรื่องพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ว่า มีทั้งยกพระหัตถ์ข้างเดียวและสองข้าง เพราะปางห้ามญาตินั้นยกพระหัตถ์ข้างเดียว ก็อาจเป็นได้

    บางปางที่เป็นของเก่ามีอยู่แล้ว ก็ซ้ำกันกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้สร้างใหม่ เช่น ปางลีลา (หรือ ลิลา) ปางอุ้มบาตร ปางประดิษฐานหรือกดรอยพระพุทธบาท

     

    พระพุทธรูปปางนาถปรก และพระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ ๒ ปางใน ๓๓ ปาง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯได้สร้างด้วยทองแดงที่ขุดได้จากอำเภอจันทึก (จัณทึก) จังหวัดนครราชสีมา

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×