ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #129 : พระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 433
      0
      11 เม.ย. 53

     ตั้งใจจะเล่าถึงพระราชอัธยาศัยละเอียดอ่อนช่างสังเกต ทรงตระหนักในความดีของบุคคลที่ก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่ออกหน้า มิได้ทรงลืม อันเป็นพระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทว่าเมื่อเริ่มต้นเล่าแล้วก็เลยเล่าเรื่องประกอบแตกกิ่งก้านสาขาไปเรื่อย จึงยังไม่ถึงพระราชดำรัสอันแสดงถึงพระราชอัธยาศัยดังกล่าวสักที

                พระราชดำรัสในงาน ‘เลี้ยงโต๊ะ’ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ‘สปีช’ ติดจากตอนที่แล้ว ซึ่งทรงกล่าวถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาลโดยเฉพาะ ดังนี้

                 “ก็แต่บัดนี้จะว่าด้วยในพระองค์ท่านกรมขุนภูวนัยนี้ ท่านเป็นผู้มีพระอัธยาศัยเรียบร้อยไม่มีความถือพระองค์เลย บรรดาเจ้านายที่นั่งอยู่เหล่านี้ ก็ได้เล่นหัวล้อเลียนกับท่านมาตั้งแต่เล็กจนถึงบัดนี้มิใช่หรือ เจ้านายทั้งปวงก็ย่อมรู้อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ถึงจะผิดชอบเหลือเกินอย่างไร ท่านก็ไม่มีพระทัยโกรธขึ้งกับใครแต่สักคนหนึ่งเลย นี่เป็นน้ำพระทัยดีของท่าน

                แลอีกอย่างหนึ่งความอุตสาหะความเพียรของท่านก็มีมาก ได้รับราชการกรากกรำมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือกรมขุนราชสีหได้เกณฑ์ให้เป็นนายงานรองไปทำการในพระพุทธนิเวศน์ ก็อุตสาหะพากเพียรไปทำการอยู่ทุกวัน ถ้าขึ้นไปบนพระพุทธมณเฑียรวันไร ก็คงเห็นท่านกรมภูวนัยนั่งหง่อนหง่ออยู่วันนั้น เสมอทุกวันมิได้ขาดเป็นช้านานหลายปี นานๆ ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปทอดพระเนตรงาน กรมขุนราชสีห์ท่านก็เข้าไปรับเสด็จเพ็ททูลเสียเอง กรมขุนภูวนัยก็เปล่าไป แต่มิได้มีความโทมนัส อุตสาหะพากเพียรเสมออยู่อย่างนั้น อีกครั้งหนึ่งจะฉลองวัดปทุมวัน เร่งการที่วัดนั้นยังไม่แล้ว ท่านกรมภูวนัยไปจอดเรือค้างอยู่ที่นั่นเกือบเดือนหนึ่ง ดูทำการอยู่จนถึงวันฉลองแล้ว งานก็ยังไม่เสร็จ ในเวลากำลังงานนั้น ฉันก็ได้ไปมาหาสู่ท่านอยู่เสมอ นั่นและจึงได้เกิดกระจังเขียวกระจังขาวขึ้นในเวลานั้น

    กรมขุนสุพรรณภาควดี

                อีกคราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงระลึกถึงที่เดิม ซึ่งเป็นที่บ้านของชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรติดอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร จึงโปรดให้ไปทำหอไตรในที่นั้นช้านานมา ภายหลังการก็ไม่เสร็จลง ครั้นจะฉลองวัดหงส์ จะโปรดให้ฉลองหอไตรนั้นด้วยพร้อมกันจึงได้เร่งงาน ท่านกรมขุนภูวนัยก็ได้ไปทำการอยู่ที่นั้นช้านานเร่งรัดกัน จนถึงวันเชิญพระอัฐิกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษแลท่านก๋งไปทำบุญในที่นั้น ก็ยังต้องทำการอยู่จนเสร็จแล้วก็พอแล้วงาน ฉันเป็นผู้ไปทำบุญในที่นั้น ก็ได้นั่งอยู่กับกรมภูวนัย การก็แล้วเสร็จทันวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไป กรมขุนราชสีหท่านก็เข้ารับสั่งรับเสียเอาเต็มที่ กรมภูวนัยยังได้ปรับทุกข์กับฉันว่า ได้เหน็ดเหนื่อยมาก

                ก็แลการที่ท่านได้มีความอุตสาหะทำการมาแต่ต้น ดังเช่นว่ามาแล้วนั้น ก็ไม่สูญเสียเปล่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดยกย่องยศศักดิ์เป็นต่างกรมแลพระราชทานรางวัล ก็ควรเห็นว่าเป็นพยาน ความดีของท่านที่ได้มีความอุตสาหะมาแต่เดิมนั้น

                ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เล่า ท่านก็ได้รับราชการต่างๆ โดยความอุตสาหะเสมอมา คือได้ทำพุทธปรางปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น แลการอื่นๆ อีกมากหลายอย่าง ก็แลเจ้านายในพระราชวงศ์นี้ มักมีพระชนมายุน้อย แลยังไม่ทันได้มียศศักดิ์ใหญ่ๆ 6มีแต่กรมขุนราชสีหได้เป็นกรมขุนขึ้นก็ไม่ยืนยาวไปได้ แลครั้งนี้ท่านกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาลได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ใหม่ ขอท่านทั้งปวงจงมีใจพร้อมกันยินดี จงช่วยกันถวายพระพรให้ท่านมีพระชนมายุยืนยาวในอิศริยยศ ประกอบไปด้วยอำนาจแลความฉลาดคล่องแคล่วยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน ให้ประกอบด้วยความสุข แลทรัพย์สมบัติทั้งปวงทุกประการเทอญ”

                ในหนังสือ conrt รายงานว่า “ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ จึงเสด็จยืนขึ้นพร้อมกัน ดื่มแชมเปนช์คำนับกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ตามธรรมเนียมยุโรปแล้วประทับลงตามเดิม ฯลฯ”

                ท่านใช้ว่า ‘เสด็จยืน’ และ ‘ประทับลง’

                 ‘กรมขุนราชสีห’ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนราชสีหวิกรม พระองค์เจ้าสุบรรณ ท่านเป็นเชษฐาของ ฯกรมขุนภูวนัยฯ นั่นเอง พระชันษาสูงกว่า ฯกรมขุนภูวนัยฯ ๑๐ ปี ท่านเป็นผู้กำกับการกรมช่างสิบหมู่ ฯกรมขุนภูวนัยฯ ท่านเป็นเพียงช่างช่วยทำการ หรือ นายงานรอง บางที ฯกรมขุนราชสีหฯ ท่านอาจทรงคิดว่า ท่านเป็นหัวหน้ามีหน้าที่กราบบังคมทูลรายงานก็เป็นได้ ฯกรมขุนราชสีหฯ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๑๑ ในรัชกาลที่ ๔

                 ‘ที่บ้านของชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร’ ‘กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร’ หรือในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ออกพระนามว่า ‘สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี’ (ในรัชกาลที่ ๒) เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระชนกของสมเด็จพระศรีสุริเยนทร มีนามว่า ‘เจ้าขรัวเงิน’ (แต่ในพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๔ เรื่องปฐมวงศ์ ทรงเรียกว่า ‘เจ้าข้าวเงิน’ บ้านเดิมของท่านในสมัยกรุงธนบุรีอยู่ตรงตำบลกระดีจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นพระวิหารและหอไตรวัดกัลยาณมิตร ท่านมีแพค้าขายในคลองบางกอกใหญ่ ตรงข้ามวัดโมลีโลกยาราม

    สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์

                 ‘กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ แลท่านก๋ง' คือพระชนนี และพระชนกของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ‘กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ’ สมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้ออกพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์’

                 ‘เจ้าขรัวเงิน’ (หรือเจ้าข้าวเงิน) พระภัสดาของท่านนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตรัสเรียกว่า ‘ท่านก๋ง’

                 ‘กระจังเขียวกระจังขาว’ เป็นคำที่บรรดาเจ้านายตรัสล้อ ฯกรมขุนภูวนัยฯ ว่า ‘กระจังเขียว’ สาเหตุเนื่องจาก ฯกรมขุนภูวนัยฯ ว่า ‘กระจังเขียว’ สาเหตุเนื่องจาก ฯกรมขุนภูวนัยฯ ประทับทอดพระเนตรงานเป็นประจำอยู่ตลอดเวลาก็ทรงเบื่อ วันหนึ่งมีผู้หญิงห่มแพรสีเขียวเดินผ่านไป จึงทรงหันไปทอดพระเนตรผู้หญิงคนนั้นเพลิน บังเอิญนายช่างเข้าไปทูลถามว่า “กระจังนั้นจะโปรดให้ทาสีอะไร” ฯกรมขุนภูวนัยฯ กำลังผูกพระอารมณ์อยู่ที่ผู้หญิงห่มแพรเขียว จึงทรงพลั้งพระโอษฐ์ตรัสสั่งไปว่า “ทาสีเขียว” ปรากฏว่านายช่างทาสีเขียวตามรับสั่ง ถูกฯกรมขุนราชสีหฯกริ้ว เพราะกระจังนั้นตามปกติควรทาสีแดง (กระจังคือเครื่องประดับบนชั้นหลังตู้บนลับแล หรือฐานธรรมาสน์ เป็นไม้ฉลุลาย)

                ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ มีฝ่ายในพระราชธิดาตามเสด็จด้วยเพียงพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี (ทรงกรมเป็นกรมขุนสุพรรณภาควดี พ.ศ.๒๔๔๖)

    พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) ทรงรายงานข่าวการเลี้ยงโต๊ะฉลองเลื่อนกรม พระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมขุนภูวนัยฯ

                พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สอง ประสูติ แต่เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ตั้งแต่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ยังทรงดำรงพระอิศริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงมีพระราชดำรัสว่า ‘เป็นลูกคู่ทุกข์คู่ยาก’

                ผู้อ่านเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ คงจะจำกันได้ว่า เมื่อพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ด้วยพระชันษาเพียง ๓๗ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระอาลัยเสียพระทัยยิ่งนัก โปรดฯให้เชิญพระศพไปพระราชทานเพลิงที่พระราชวังบางปะอิน มีงานพระเมรุใหญ่โต พระราชทานเพลิงพระราชธิดาพระองค์หนึ่งเพิ่งจะเสร็จ พระราชธิดาอีกพระองค์หนึ่งก็ทรงพระประชวรไข้ และสิ้นพระชนม์ลงที่บางปะอินนั้น

                เรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ เป็นเรื่องเล่าตามความเป็นจริงของสังคมในวังสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีตัวละครสมมติเป็นตัวเดินเรื่อง

                พระเจ้าลูกเธอที่เชิญพระศพไปพระราชทานเพลิง คือ ฯกรมขุนสุพรรณภาควดี พระเจ้าลูกเธอที่เชิญพระศพกลับกรุงเทพฯ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ประสูติแต่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์

                น่าอัศจรรย์ที่พระราชธิดาทั้งสองพระองค์นี้ทรงสนิทสนมรักใคร่กันเป็นอย่างยิ่ง เสด็จไปมาหาสู่กันเป็นประจำ พระอัธยาศัยคล้ายคลึงกัน ฯกรมขุนสุพรรณฯ พระชันษาแก่กว่า ฯกรมขุนพิจิตรฯ ๕ พรรษา แล้วก็มาเสด็จสิ้นพระชนม์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ฯกรมขุนพิจิตรฯนั้น เมื่อสิ้นพระชนม์ยังมิได้ทรงกรม สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดฯ สถาปนาเป็น กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ พระนามทรงกรมคล้องจองกันกับ ‘สุพรรณภาควดี’ และทรงพระราชทานสายสะพายนพรัตน์ตรึงไว้ที่ขอบพระโกศ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×