ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #128 : เจ้านายราชวงศ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 576
      0
      11 เม.ย. 53

     ในงานเลี้ยงโต๊ะฉลองเลื่อนกรม กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล นั้น เป็นการเลี้ยงตามธรรมเนียมฝรั่ง ครั้นเสวยถึงเครื่องหวาน จึงทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานพร ซึ่งพระราชดำรัสตอนแรกทรงอ้างถึงความคุ้นเคยและพระราชสัมพันธ์ในหมู่พระราชวงศ์ ดังนี้

                 “เจ้านาย ได้มาประชุมพร้อมกันในเวลาวันนี้ เพราะเป็นวันเลี้ยงในการมงคล ซึ่งเลื่อนกรมท่านกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล แลบัดนี้ฉันจะได้กล่าวถึงท่านพวกเจ้านาย พระราชวงศานุวงศ์เหล่านี้ ได้เป็นที่นับถือของตัวฉันมา เพราะฉันได้เกิดจากมารดา ซึ่งเป็นเชื้อสายในพระราชวงศ์ คือตาฉันเป็นพี่ของท่านเจ้านายราชวงศ์เหล่านี้ แต่ตัวฉันเองก็ดี ท่านเล็ก ท่านกลาง แลฟ้าน้องหญิงได้เกิดขึ้นภายหลัง จึงไม่ได้เห็นตาของตัวแท้ๆ แต่ถึงกระนั้นยังได้เห็นพระราชวงศ์ทั้งฝ่ายในฝ่ายหน้า ซึ่งนับเนื่องในชั้นเดียวกันกับตาฉันยังเหลืออยู่มาก ได้หมายใจว่าท่านเหล่านี้ เหมือนหนึ่งเป็นตาตัวของซึ่งฉันไม่ได้แลเห็น

                ถึงท่านพวกราชวงศ์เหล่านี้เล่า เมื่อเวลาแต่เดิมมาครั้งแผ่นดินพระบาทพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้มีความกรุณาในตัวฉันมากกว่าเจ้านายทั้งปวง ยกเสียแต่บางพระองค์เหมือนหนึ่งกรมอุดมเป็นต้น เพราะฉนั้นจึงต้องมีความนับถือในท่านพวกนี้มาก

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และ สมเด็จพระราชอนุชา สมเด็จฯเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เมื่อพระชันษา ๑๒ ๘ และ ๖ ตามลำดับ

                แต่คำที่ฉันว่ามานี้ ดูเหมือนจะนับถือยกย่อง แต่พี่น้องข้างฝ่ายมารดา แต่ความจริงนั้น ท่านพระราชวงศ์เหล่านี้จะนับข้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สนิทเหมือนกัน แต่ยังจะต้องค้านว่า พวกลูกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสนิทกว่า การข้อนี้ก็เป็นจริง แต่ว่าท่านราชวงศ์เหล่านี้ได้รักใคร่คุ้นเคยกันมามากกว่าท่านพวกโน้น

                ก็แลมาถึงกาลบัดนี้ ท่านพระราชวงศ์ซึ่งได้เห็นกันมาแต่ก่อนก็หมดไปสิ้นไป ข้างฝ่ายหน้ายังมีอยู่เหลือน้อยพระองค์ ก็แลทั้งที่น้อยนี้เล่า จะต้องนับท่านกรมอมเรนทรด้วย แต่ฉันไม่คุ้นเคยรู้จักมักจี่กับท่านเลยได้ไปพบท่านสองครั้ง เมื่อลาโกนจุกครั้งหนึ่ง ลาบวชเณรครั้งหนึ่ง แล้วก็ไม่พบปะอะไรกับท่านอีกต่อไป ไม่เหมือนท่านทั้งสามพระองค์นี้ ได้คุ้นเคยเล่นหัวด้วยกันมา ตั้งแต่เล็กจนใหญ่”

                การอ่านพระราชดำรัสนี้ น่าจะได้รู้จักเจ้านายพระบรมวงศ์จึงจะสนุกยิ่งกว่าอ่านผ่านไปเฉยๆ โดยเฉพาะสำหรับท่านที่ไม่เคยทราบมาก่อนเลย

                 ‘ตาฉันเป็นพี่ของท่านเจ้านายราชวงศ์เหล่านี้’ -คือพระอัยกา (ตา) พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ (ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น ‘สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์’ ท่านเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระบิดาสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔

                สมเด็จพระบรมราชมาตาฯ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๓ แต่พระองค์ใหญ่และพระองค์ที่ ๒ สิ้นพระชนม์แต่พระชันษา ๑๐ และ ๖ พรรษา พระองค์เจ้าศิริวงศ์จึงเป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่ เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกรมในรัชกาลของพระราชบิดา เมื่อพระชันษา ๒๗ เป็น กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงกรมได้เพียงปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง พระโอรสธิดายังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้รับเข้ามาเลี้ยงดูในพระบรมมหาราชวังทั้ง ๙ พระองค์ ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลม่อม พระขนิษฐาร่วมชนนีกับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์

                และโดยที่พระองค์เจ้าลม่อม ทรงเลี้ยงดูทั้งพระราชมารดา และเมื่อพระราชมารดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และสมเด็จพระราชอนุชาสองพระองค์ที่รับสั่งเรียกว่าท่านเล็ก ท่านกลาง และพระราชขนิษฐา รับสั่งเรียกว่า ฟ้าน้องหญิง ยังทรงพระเยาว์อยู่ พระองค์เจ้าลม่อมก็ทรงเลี้ยงดูแทนพระราชมารดา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงเคารพนับถือพระองค์เจ้าลม่อมมาก เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าลม่อมเป็น พระเจ้าบรมมไหยิกาเธอกรมพระสุดารัตนราชประยูร แล้วเลื่อนเป็น สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ตรัสเรียกว่า ‘เสด็จยาย’ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ทรงเรียกว่า ‘ทูลกระหม่อมยาย’

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสนิทคุ้นเคยกับพระบรมวงศ์ในรัชกาลที่ ๓ ก็เพราะพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นพี่น้องกับสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ ซึ่งส่วนมากทรงเคารพนับถือกันอยู่ เมื่อพระองค์เจ้ามงคลเลิศ (เดิมหม่อมเจ้ามงคลเลิศ) พระเชษฐาใหญ่ของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จไปประทับวังของสมเด็จพระบรมราชมาตาฯ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ เสด็จออกไปทรงเยี่ยมเยือนดูแลพระองค์เจ้ามงคลเลิศ คราใด ก็มักทรงนำสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์เสด็จไปด้วย และวังของพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ส่วนมากอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแถบนั้น

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล การหลวงวิสุทธิกษัตรีย์ (ทรงกอดตุ๊กตาแหม่มไว้ในอ้อมพระกร)

    สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ จึงมักทรงได้พบปะเยี่ยมเยือนพระองค์เจ้าพี่เจ้าน้องของท่านด้วย พาให้สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พลอยคุ้นเคยกับพระญาติพระวงศ์ทางพระราชมารดา ดังที่ทรงมีระราชดำรัสปรารภมาแล้ว

                 ‘ฟ้าน้องหญิง’ เป็นพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าจันทรมณฑล’ (จัน-ทอน-มณ-ฑล) สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ พระชันษา ๙ ปี ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์

                 ‘ท่านกลาง’ พระองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงพระนามว่า ‘สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี’ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงกรมเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นราชสกุล ‘จักรพันธุ์ ณ อยุธยา’

                 ‘ท่านเล็ก’ พระองค์ที่ ๔ ในสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ ทรงพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์’ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงกรมเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดชในรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เป็นต้น ราชสกุล ‘ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา’

                 ‘กรมหมื่นอุดม’ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี พระองค์เจ้าอรรณพ (หรือ อรณพ) ในรัชกาลที่ ๓ พระองค์เจ้าอรรณทรงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระราชทานชื่อว่า ‘วัดมหรรณพาราม’ พระราชทานเงินช่วยถึง ๑,๐๐๐ ชั่ง เป็นต้นราชสกุล ‘อรรณพ ณ อยุธยา’

                 ‘ลูกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า’ หากพูดง่ายๆ อย่างสามัญชน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นพี่ชายพ่อเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่คนละแม่ ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นน้องชายแท้ๆ ร่วมชนนีเดียวกัน ดังนั้น ‘ลูกของพระนั่งเกล้าฯ’ จึงเป็นลูกผู้พี่ และ ‘ลูกพระปิ่นเกล้า’ เป็นลูกผู้น้องของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วยกัน

                เรื่องพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถวายสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพระดำเนินออกหน้าพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อาจเพราะทรงเข้าพระทัยว่าเป็นพระญาติสนิทกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯกริ้ว เพราะผิดธรรมเนียมโบราณซึ่งเรียกกันในภายหลังว่า ‘โปเจียม’

                เรื่อง ‘ธรรมเนียมราชตระกูลในสยาม’ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ว่าเรื่องการเทียบยศตามลำดับที่ควรจะเดินหน้าเดินหลัง ตามศักดินาและธรรมเนียมโบราณสืบมาดังนี้

                ที่ ๑ พระบัณฑูรใหญ่ ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ฝ่ายหน้า
                ที่ ๒ พระบัณฑูรน้อย ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า
                ที่ ๓ พระบัญชา ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง
                ที่ ๔ สมเด็จเจ้าฟ้า (พระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ชั้นพระอัยกา ของพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน)
                ที่ ๕ สมเด็จเจ้าฟ้า (พระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ชั้น ลุง อา ของพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันตามลำดับอายุ)
                ที่ ๖ สมเด็จเจ้าฟ้า (พระราชโอรส พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ชั้น พี่ น้อง ของพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน)
                ที่ ๗ สมเด็จเจ้าฟ้า (พระราชโอรสธิดาในพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน)
                ที่ ๘ พระองค์เจ้า (พระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ชั้นพระอัยกาของพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันตามลำดับอายุ)
                ที่ ๙ พระองค์เจ้า (พระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ชั้น ลุง อา ของพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน ตามลำดับอายุ
                ที่ ๑๐ พระองค์เจ้า (พระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน ชั้นพี่น้องของพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน ตามลำดับอายุ)
                ที่ ๑๑ พระองค์เจ้า (พระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน ตามลำดับอายุ)
                ที่ ๑๒ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (ในสมัยนั้น คือ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓)
                แล้วจึงถึง
                ที่ ๑๓ สมเด็จเจ้าฟ้า พระราชโอรสวังหน้า
                ที่ ๑๔ พระองค์เจ้า พระราชโอรสวังหน้า ตามลำดับรัชกาล
                ที่ ๑๕ พระองค์เจ้า หลานเธอ (พระราชนัดดาในพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน

                จากนั้นก็ถึงพระองค์เจ้า ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ และ พระวรวงศ์เธอ แล้วก็ถึงหม่อมเจ้าเดินลดหลั่นกันตามลำดับยศของบิดา

                 ‘ท่านกรมอมเรนทร’ คือ พระองค์เจ้าคเนจร กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ เป็นอีกพระองค์หนึ่งนอกจาก กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) ที่ได้ทรงกรมในรัชกาลของสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ ๓ เมื่อในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงเป็นต่างกรมชั้นผู้ใหญ่แล้ว พระชนม์สูงกว่า ‘ท่านทั้ง ๓ พระองค์’ ถึง ๑๑-๑๒ ปี

                ส่วน ‘ท่านทั้ง ๓ พระองค์’ ในพระราชดำรัส คือ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ และกรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์นั้น เป็นพระราชโอรสรุ่นเล็กในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ประสูติเมื่อบรมราชาภิเษกแล้วทั้งสามพระองค์ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชสมภพ พระชนม์ของทั้งสามพระองค์ประมาณ ๒๘-๒๙ จึงได้ทรงอุ้มชูเล่นหัว ด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสมอมา

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×