ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #127 : พระบรมราชอัธยาศัยของพระพุทธเจ้าหลวง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 801
      0
      11 เม.ย. 53

     พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ นั้น พระบรมราชอัธยาศัยประกอบด้วยความละเอียดอ่อน มิได้ทรงมองดูบุคคลแต่เพียงผิวเผิน หากแต่ทรงมองเห็นคุณงามความดี และทรงกำหนดไว้ในพระราชหฤทัย เมื่อถึงโอกาสที่จะทรงตอบแทนได้ ก็ทรงพระมหากรุณาพระราชทานตอบแทนความดีพร้อมทั้งทรงสรรเสริญ
                ดังเช่นเมื่อพระราชทานเลื่อนกรม พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ขึ้นเป็นกรมขุนฯ ใน พ.ศ.๒๔๑๙
                เวลานั้นเจ้านายพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งกำลังมีพระชันษาหนุ่ม และวัยรุ่นรวม ๑๑ พระองค์ ได้ทรงช่วยกันออกหนังสือ คอร์ต (court) ข่าวราชการ โดยทรงผลัดเปลี่ยนกันทรงแต่งทุกวัน นับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวรายวันแรกของเมืองไทย
                พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ทรงจัดงานเลี้ยงฉลองที่วังของพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระมหากรุณาเสด็จฯ ไปพระราชทานพร และประทับโต๊ะเสวย
                พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (พระอิสริยยศสุดท้าย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) ทรงเป็นผู้จัดบันทึกในหนังสือ court ดังนี้ (ตัวสะกดการันต์ตามต้นฉบับ)
          
           “เลี้ยงโต๊ะที่วังกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล
                เวลาทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องราชอิศริยยศจุลจอมเกล้า ฉลองพระองค์อิวนิ่งเดรศตามธรรมเนียม เสด็จออกทรงรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงฉลองพระองค์ ‘อิวนิงเดรส’ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เมื่อพระชนมพรรษาประมาณ ๒๑-๒๒
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล พระองค์เจ้าสุบรรณ

    ตามเสด็จพระราชดำเนินในรถพระที่นั่งพร้อมด้วยขบวรทหารม้าหน้า ม้าตำรวจ ม้าทหารมหาดเล็ก แห่นำแลตามไปในถนนบำรุงเมือง แล้วเลี้ยวลงถนนเฟื่องนครข้างขวาไปประทับที่วังกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ครั้นเวลา ๒ ทุ่ม ๒๐ นาที เสด็จประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ใหญ่ผู้น้อยตามอย่างธรรมเนียมดินเนอรปาตี พระบรมวงศานุวงศ์ นั้นประทับเรียงกันไปรอบโต๊ะ แต่โต๊ะเบื้องขวาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว......ฯลฯ......(รายพระนาม)...รวมเป็น ๒๖ จนจบในเบื้องซ้ายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
                การอ่านเรื่องในอดีตให้สนุกและซึมซาบนั้นน่าจะต้องพยายามหวนนึกถึงสภาพการในเวลานั้นด้วย
                เวลานั้นวังของ ฯกรมขุนภูวนัยฯ หันหน้าวังออกถนนเฟื่องนคร หลังวังจดคลองคูเมืองเดิม (ธนบุรี) ซึ่งปัจจุบัน เรียกกันผิดๆ ว่า ‘คลองหลอด’ แล้วก็เลยอนุโลมใช้ชื่อว่า ‘คลองหลอด’ เป็นทางการ
                ถัดลงไปติดๆ กันกับวัง ฯกรมขุนภูวนัยฯ คือ วังพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนเจริยผลพูลสวัสดิ์ เสด็จอยู่จนสิ้นพระชนม์ ในเวลาเลื่อนกรม ฯกรมขุนภูวนัยฯ ฯกรมขุนเจริญผลฯ ยังทรงพระชนม์อยู่ ยังเป็นกรมหมื่นเจริญผลฯ ได้ทรงร่วมโต๊ะเสวยในวันนั้นด้วย
                ถัดลงไปอีกเป็นวังของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ แต่เวลานั้นเป็นวัดราชบพิธสถิตมหาเสมารามแล้ว เพราะเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดราชบพิธฯ จึงโปรดฯให้ฯ กรมหลวงบดินทรฯ เสด็จไปประทับที่วังพระเชตุพน (วังพระองค์เจ้างอนรถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งขณะนั้นว่าง ไม่มีเชื้อสายพระองค์เจ้างอนรถอยู่)
                เจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล (พระองค์เจ้าสุบรรณ ต้นราชสกุล สุบรรณ ณ อยุธยา) พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ (พระองค์เจ้าสิงหรา ต้นราชสกุล สิงหรา ณ อยุธยา) พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (พระองค์เจ้าชมพูนุท ต้นราชสกุล ชนพูนุท ณ อยุธยา) และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้างอนรถ ต้นราชสกุลงอนรถ ณ อยุธยา
                ต่างเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ด้วยกัน ขณะนั้น ใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” เป็นคำนำพระนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้ใช้สำหรับพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓
                เนื่องจาก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯรัชกาลที่ ๓ พระราชโอรสธิดาในพระองค์ทรงศักดิ์เป็น ‘พระเจ้าลูกยาเธอ’ และ ‘พระเจ้าลูกเธอ’
                ถึงรัชกาลที่ ๔ หากเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ’ ก็ดูจะไม่สมพระเกียรติยศ เพราะทั้งพระราชนัดดา หรือหลานลุง หลานอาที่มิได้เป็นพระราชโอรสธิดาในพระเจ้าแผ่นดิน ล้วนแต่ใช้คำนำพระนามว่า ‘พระเจ้าหลานเธอ’ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงบัญญัติคำว่า ‘พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ’ ให้เป็นคำนำพระนามเฉพาะพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ และใช้ดังนี้เรื่อยมาถึงรัชกาลที่ ๕
                จนกระทั่งในรัชกาลที่ ๖
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ใช้คำนำพระนามพระราชโอรสธิดาในพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๔ ว่า ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ’ และ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (เจ้าฟ้า)’ เหมือนกันหมด ส่วนคำว่า ‘พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ’ โปรดฯให้ใช้เป็นคำนามพระนามพระราชโอรสธิดา ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลที่ ๑-๔ ทว่าบรรดาพระโอรสธิดาใน กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) ในรัชกาลที่ ๕ นั้น โปรดให้ใช้ว่า 'พระราชวรวงศ์เธอ’
                พระเจ้าลูกยาเธอ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น ทันได้ทรงกรมในรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถ แต่เพียงสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ (ต้นราชสกุลศิริวงศ์ ณ อยุธยา) โปรดฯให้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ และพระองค์เจ้าคเนจร (ต้นราชสกุลคเนจร ณ อยุธยา) โปรดฯให้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์
                ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ให้ทรงกรม ๒ รุ่น ๓ พระองค์ รุ่นแรก พระราชทานพระนามกรมให้คล้องจองกันกับ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ ซึ่งทรงกรมก่อนในรัชกาลที่ ๓ (เจ้านายชั้นพระองค์เจ้าลูกยาเธอ นั้น เริ่มทรงกรมเป็น ‘กรมหมื่น’ ส่วนเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าลูกยาเธอ เริ่มทรงกรมเป็น ‘กรมขุน’)

                พระนามทรงกรม รุ่นแรกดังนี้
                กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์พระองค์เจ้าโกเมน ต้นราชสกุลโกเมน ณ อยุธยา   กรมหมื่นอมเรนทราบดินทร์พระองค์เจ้าคเนจร ต้นราชสกุลคเนจร ณ อยุธยา กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระองค์เจ้าลดาวัลย์ ต้นราชสกุล ลดาวัลย์ ณ อยุธยา
                กรมหมื่นราชสีหวิกรมพระองค์เจ้าสิงหรา ต้นราชสกุลสิงหรา ณ อยุธยา
                ส่วนพระนามทรงกรมรุ่นหลัง คือ กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ พระองค์เจ้าอุไร ต้นราชสกุลอุไรพงศ์ ณ อยุธยา
                กรมหมื่นอุดมรัตนราษี พระองค์เจ้าอรรณพ ต้นราชสกุลอรรณพ ณ อยุธยา
                กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย พระองค์เจ้าอมฤตย์ กรมหมื่นพระองค์นี้มิได้มีผู้ขอพระราชทานนามสกุล เป็นที่สงสัยว่า มิได้ทรงมีเชื้อสายสืบพระองค์ เพราะทรงเป็นหมันหรืออย่างไร
                กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล พระองค์เจ้าสุบรรณ ต้นราชสกุล สุบรรณ ณ อยุธยา
                กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ (อักษร-สาน-โสภณ) ต่อมาโปรดฯเปลี่ยนเป็น บดินทรไพศาลโสภณ เมื่อทรงเลื่อนกรมเป็นกรมขุน
                กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์

                ในการเสด็จพระราชดำเนินวังพระเจ้าราชงวรวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยฯ ครั้งนี้ ที่น่าสังเกตคือ มีฝ่ายในตามเสด็จ เพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ฯ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาแพ (ในรัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งเป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์) ทั้งยังประทับโต๊ะร่วมด้วยเจ้านายฝ่ายหน้า ตามธรรมเนียมฝรั่งด้วย

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×