ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #126 : ละครดึกดำบรรพ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 993
      0
      11 เม.ย. 53

     -เสียงนกโพระดก             มันร้องโฮกโป๊ก โฮกโป๊ก อยู่หนไหน-
                -พระพุทธเจ้าข้า                 กิ่งเพกานั่นเป็นไร
                - ตัวเขียวเขียวเอ้าเลี้ยวไป    เข้าโพรงไม้ทางนี้ เอยฯ
                -เสียงนกกางเขน                อ้อจับตอไม้เอน
                เจรจาอยู่จู๋จี๋-
                -พระพุทธเจ้าข้า                 น่าเอ็นดูเต็มที
    แต่เลี้ยงไม่รอดมันยอดดี                  ดิ้นจนหัวฉีกปีกหัก เอยฯ-

                -นกกาเหว่าเสียงหวาน          ร้องก้องดงดาน
                เสียงกังวานยิ่งนัก
                -บุราณท่านว่าไว้                  มันไข่ให้กาฟัก
    เท็จจริงไม่ประจักษ์                          พระพุทธเจ้าข้า เอยฯ-

                เด็กสมัยเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน ชอบร้องเล่นกันนัก บางทีก็ร้องด้วยรำไปด้วย โดยเฉพาะบทแรก เสียงนกโพระดก มันร้องโฮกโป๊ก โฮกโป๊ก อยู่หนไหนร้องไปรำพลางยกนิ้วชี้กระดกไปมาหานกโพระดก คนเป็นเสนาก็คุกเข่าพนมมือ กิ่งเพกานั่นเป็นไรกรายนิ้วชี้กวาดไปทางขวา ตัวเขียวเขียวเอ้าเลี้ยวไป เข้าโพรงไม้ทางนี้เอย

                ผู้ใหญ่บอกว่า เป็นเพลงจากละครเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาชมสวน เมื่อตามท้าวดาหาออกไปใช้บนที่เขาวิลิศมาหรา

                รับรู้เพียงแค่นั้น แต่อ่านเรื่องอิเหนาให้ย่าฟังจนจบเรื่องแล้วจบเรื่องอีก ไม่เห็นมีตอนเสียงนกโพระดกมันร้องโฮกโป๊ก โฮกโป๊ก สักที ย่าว่าไม่มีในหนังสือ เป็นบทละครดึกดำบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศรฯ ละครดึกดำบรรพ์ ไม่ใช่ละครในละครนอก

                ถามว่าละครดึกดำบรรพ์เป็นอย่างไร

                ย่าว่า ก็เป็นละครสมัยใหม่น่ะซี ท่านแต่งกันขึ้นสำหรับเล่นรับแขกฝรั่ง ตอบแค่นี้ แล้วเวลานั้นก็อยากรู้เพียงแค่นั้น ดึกดำบรรพ์ก็ดึกดำบรรพ์

                สมัยใหม่ในสมัยย่ายังสาว พ.ศ.๒๔๔๒ โน้น ไม่ใช่สมัยใหม่เมื่อย่าตอบคำถามหลานประมาณ พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๓

                ยังต้นเพกาอีกอย่าง เป็นอย่างไรไม่ทราบย่าผู้เป็นคลังความรู้ก็ไม่เคยเห็นต้นเพกาเช่นกัน

                จนกระทั่งอายุเข้าสี่สิบกว่า จึงได้รู้จักต้นเพกา เพราะไปได้รับประทานฝัก ซึ่งเป็นฝักแบนๆ โตประมาณฝักสะตอ ใช้เผาหรือลวกหั่นเป็นชิ้นๆ จิ้มน้ำพริก หรือรับประทานกับลาบรสขมๆ หวานๆ แล้วก็เลยไปเห็นต้นเพกาตามทางไปแถวอีสาน และทางเหนือ ขึ้นทั่วไปตามบ้านและในป่าเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ชาวบ้านเรียกต้นชี้ฟ้า เพราะฝักเพกาไม่ห้อยลงมา หากแต่ชี้ขึ้นไปบนฟ้า แปลกดี ทางเหนือเรียกฝักเพกาว่า มะลิดไม้ เขียนถูกหรือเปล่าไม่ทราบ เขียนจากเสียงที่เขาเรียกกัน

    ภาพถ่ายละครดึกดำบรรพ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ตอนผลักสังข์ศิลป์ชัยตาเหว เรื่องสังข์ศิลป์ชัย เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓

    ผู้แสดงในภาพคือ
    นางสาวแสงสะอาด อัมผลิน
    นางสาวแสงสอางค์ ตรีเนตร
    นางสาวแสงเลี่ยม ชลายนนาวิน

    เดิมเป็นละครของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ต่อมาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ยกให้เป็นละครของพระยาอนิรุทธิ์เทวา ที่ชื่อผู้หญิงเติมคำว่า แสงนำหน้าทุกชื่อ เข้าใจว่าเพราะเป็นสมัยประกาศวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งเกิดกฎเกณฑ์ ว่าด้วยนามบุรุษและสตรีให้มีนามเหมาะกับเพศ จึงมักเติมคำว่า ศรี’ ‘แสงประกอบชื่อสตรี และ ศักดิ์ประกอบชื่อบุรุษ

                ที่เกริ่นมายาวยืด เนื่องจากมีผู้ถามว่าละครดึกดำบรรพ์ เป็นอย่างไรและดึกดำบรรพ์ แปลว่าอะไร ทำให้นึกถึงเพลงจากละครดึกดำบรรพ์ที่เคยร้องเล่นเมื่อยังเด็กๆ ขึ้นมาได้จึงเลยเล่าเสียยาว ตามประสาคนช่างเล่า

                 ดึกดำบรรพ์พจนานุกรม แปลว่าลึกล้ำ นานมาแล้ว

                ส่วน ละครดึกดำบรรพ์นั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นชื่อโรงละครของเจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ซึ่งสร้างขึ้นในบ้านของท่านเพื่อจะใช้คำว่า ดึกดำบรรพ์เป็นชื่อคณะละครของท่านมิให้เรียกกันว่า ละครเจ้าพระยาเทเวศรฯอย่างที่เรียกกันมา แต่บังเอิญละครอย่างที่ย่าบอกว่าเป็นละครสมัยใหม่ ไม่ใช่ทั้งละครในละครนอกนั้นเกิดขึ้นพอดีและแสดงที่นั่น คนทั่วไปจึงเลยเรียกละครแบบใหม่นี้ว่า ละครดึกดำบรรพ์ชื่อละครแบบนี้ จึงกลายเป็นชื่อ ละครดึกดำบรรพ์นับแต่นั้นมา

                ทีนี้เล่าถึงที่มาของละครดึกดำบรรพ์ จากพระนิพนธ์ใน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ คือ

                เมื่อ แรกเริ่มเดิมทีนั้นในรัชกาลที่ ๕ มีแขกเมืองสูงศักดิ์เข้ามาเฝ้าเสมอ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงมีพระราชประสงค์ จะให้มีการเล่นสำหรับรับแขกเมือง อย่างฝรั่งเล่นคอนเสิร์ต เวลานั้นเจ้าพระยาเทเวศรฯ เป็นอธิบดีกรมมหรสพ และมีละครผู้หญิงของตนเองด้วย จึงช่วยกันกับสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ จัดให้มี คอนเสิร์ตตามแบบฝรั่งขึ้น โดยให้มีคนร้องชายพวกหนึ่ง หญิงพวกหนึ่งนั่งบนเวที ประสานเสียงขับร้องเข้ากับเครื่องปี่พาทย์

                ต่อมาสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงปรับปรุงโดยคัดเอาเรื่องรามเกียรติ์และ อิเหนา มาทำเป็นบทร้องลำนำเกิดเป็น คอนเสิร์ตเรื่อง คือมิใช่เพียงบทเพลง หากเป็นเรื่องเป็นราวเป็นตอนๆ เช่นตอนนางนารายณ์แปลง ปราบนนทุกข์

                ต่อมาอีก เจ้าพระยาเทเวศรฯ คิดขยายออกไปให้มีการรำประกอบคอนเสิร์ต

                ทั้งหมดนี้ เป็นต้นเค้าของละครดึกดำบรรพ์

                ทีนี้ใน พ.ศ.๒๔๓๔ เจ้าพระยาเทเวศรฯ ท่านไปยุโรป ไปดูออเปร่าของฝรั่งเข้า จึงกลับมาทูลเชิญ ชวนให้สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ คิดอ่านทำละครอย่างออเปร่าของฝรั่ง ขอให้สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงคิดบทและจัดกระบวนลำนำที่ละครจะขับร้อง ให้ละครผู้หญิงของเจ้าพระยาเทเวศรฯเล่น เจ้าพระยาเทเวศรฯ จึงสร้างโรงละครขึ้นดังกล่าว

                ละครดึกดำบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศรฯ เล่น เป็นครั้งแรกให้แขกเมืองชมเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ แต่นั้นมาในการรับแขกเมืองสูงศักดิ์ ก็โปรดให้ไปดูละครแทนการจัดคอนเสิร์ตรับอย่างแต่ก่อน ส่วนเวลาปกติเจ้าพระยาเทเวศรฯ ก็ให้เล่นให้คนทั่วไปดูเช่นละครโรงอื่นๆ

                โรงละครดึกดำบรรพ์เปิดแสดงอยู่ ๑๐ ปีก็เลิก เพราะท่านเจ้าของป่วย

                บทละครดึกดำบรรพ์ ในครั้งนั้นมี ๘ เรื่อง คือ

                ๑. เรื่องสังข์ทอง ตั้งแต่ทิ้งพวงมาลัย จนจบตีคลี

                ๒. เรื่องคาวี ตั้งแต่เฒ่าทัศประสาทเผาพระขรรค์ จนนางคันธมาลีหึง

                ๓. เรื่องอิเหนา ตอนตัดดอกไม้ (ปาหนัน) ฉายกริช ตอนนางบุษบาไหว้พระ จนถึงรำบวงสรวง

                ๔. เรื่องสังข์ศิลป์ชัยภาคต้น ตั้งแต่หกกุมารลวงสังข์ศิลป์ชัยไปผลักตกเหว นางเกสรสุมณฑากับนางสุพรรณ เที่ยวตามหา

                ๕. เรื่องสังข์ศิลป์ชัยภาคปลาย ตั้งแต่หกกุมารหลอกลวงท้าวเสนากุฎ จนกระทั่งจับโกหกหกกุมาร เทวดาช่วยสังข์ศิลป์ชัย และท้าวเสนากุฎรับนางปทุมาเข้าเมือง

                ๖. เรื่องรามเกียรติ์ ตอนสูรปนทหลงพระรามหึงนางสีดา

                ๗. เรื่องอุณรุท ตอนพระจักรกฤษณ์ทรงครุฑ

                ๘. เรื่องมณีพิชัย ตั้งแต่นางยอพระกลิ่น (พราหมณ์) ชุบชีวิตนางจันทร์ แล้วขอพระมณีพิชัยไปเป็นบ่าว

                บทร้องในละครดึกดำบรรพ์อีกบทหนึ่ง สมัยเมื่อครั้งกระโน้นเคยได้ยินเขาร้องกล่อมเด็ก จนกระทั่งจำได้ขึ้นใจ คือ

                 เจ้าพญาหงส์ทอง เจ้าบินลอยล่องลงคงคา

    ตีนเหยียบสาหร่าย ปากก็ส่ายหาปลา

    กินกุ้งกินกั้ง กินหอยตะพั้งและแมงดา

    กินแล้วกลับมา จับต้นหว้าโพธิ์ทอง

                เพิ่งทราบต่อภายหลังเช่นกัน ว่าเป็นบทร้องลำในละครดึกดำบรรพ์ เรื่องสังข์ศิลป์ชัย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×