ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #123 : หนังสือประชุมพงศาวดารเก่า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 488
      0
      11 เม.ย. 53

       มีเวลารื้อหนังสือเก่าๆ ที่มีอยู่ พบหนังสือพิมพ์แจกงานพระศพและงานศพตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๐-๗๕ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายเล่ม

                มีอยู่เล่มหนึ่ง พิมพ์เมื่อ ปีมเมีย พ.ศ.๒๔๖๑แก่กว่าผู้เล่า ๑ รอบเต็มๆ  ชื่อหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗ นายเล็ก สมิตะศิริ มหาดเล็ก เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ขออนุญาตกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ พิมพ์แจกช่วยงานศพ ๒ ครั้ง คือ พ.ศ.๒๔๖๐ ครั้งหนึ่ง และ พ.ศ.๒๔๖๑ ครั้งหนึ่ง

                โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรนี้ ในขณะนั้นดูจะเป็นโรงพิมพ์เดียวที่พิมพ์หนังสือแจก หนังสือช่วยงานพระศพเจ้านาย และงานศพขุนนางข้าราชการ ซึ่งขออนุญาตจากหอพระสมุดสำหรับพระนคร (ที่ยังคงใช้ชื่อว่า หอพระสมุดวชิรญาณ)

                สำหรับหนังสือประชุมพงศาวดารเก่าที่กรรมการหอพระสมุด คัดเลือกรวมเป็นหมวดหมู่ ในเวลานั้น (พ.ศ.๒๔๖๐) มี ๙ ภาคด้วยกัน คือ

                ภาคที่ ๑-๕ เป็นพงศาวดารของเมืองต่างๆ เช่น เขมร พม่ารามัญ นครศรีธรรมราช ถลาง ปัตตานี อิสาน หลวงพระบาง ฯลฯ รวม ๕ ภาค ๒๔ เรื่อง

                ภาคที่ ๖ เฉพาะเรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงศรีอยุธยา ๒๔ ครั้ง

                ภาคที่ ๘ ๙ มีจดหมายเหตุปูมโหรพระราชพงศาวดารกรุงเก่า พงศาวดารเมืองเชียงรุ้ง เชียงแขงเมืองแถง เมืองไล ฯลฯ รวม ๙ เรื่อง

                แต่ที่อ่านสนุก เห็นจะเป็นภาคที่ ๗ ที่พิมพ์แจกงานศพใน พ.ศ.๒๔๖๐ และ ๒๔๖๑ นี้เอง

                มีอยู่ด้วยกัน ๔ เรื่อง เป็นจดหมายเหตุ (ในหนังสือเรียกว่า คำให้การคือถามจากผู้รู้เห็นประสบเรื่องราวด้วยตนเองมาจดเอาไว้ มิใช่การบอกเล่าต่อๆ กันมา) ดังนั้นในที่นี้จึงจะเรียกว่า คำให้การตามในหนังสือ

                เป็นคำให้การของจีนกั๊ก เรื่อง เมืองบาหลีที่จีนกั๊กไปค้าขายมาในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๘๙ หนึ่ง

                คำให้การของเถ้าสา (เฒ่าสา) ในรัชกาลที่ ๒ เรื่องหนังราชสีห์แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ จดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ หนึ่ง

                คำให้การของขุนโขลน ในรัชกาลที่ ๑ จดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗ เรื่องพระพุทธบาท หนึ่ง

                คำให้การของนายจาด ในรัชกาลที่ ๕ จดเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๒ เรื่องเหตุการณ์ในพม่าเมื่อพระเจ้าเม็งดงหรือมินดงสวรรคต

                ก่อนเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง น่าจะได้เล่าเรื่องหอพระสมุดสำหรับพระนคร หรือหอพระสมุดวชิรญาณเสียก่อน สำหรับผู้อ่านที่สนใจ แต่ไม่เคยทราบเรื่องราวความเป็นมา จนกระทั่งมาเป็น หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน

                แรกเริ่มเดิมที หอพระสมุดวชิรญาณ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ โดยพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเป็นประธาน ทรงพระดำริร่วมกัน ด้วยเงินทุนจากผลประโยชน์ร่วมกันในที่ดินอันเป็นพระราชมรดกผืนหนึ่ง

                ที่ดินนั้นเดิมเป็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ผู้บุตร แต่ยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหกลาโหม ได้กราบบังคมทูลถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นที่ดินอยู่ริมแม่น้ำหน้าวัดประยุรวงศาวาส ยาวไปตามลำแม่น้ำ ๑๔ วา ๒ ศอก กว้างขึ้นไป ๒ เส้น ๑๔ วา ๒ ศอก ที่ตรงนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ฝรั่งเคยเช่าเป็นห้างไว้สินค้า

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงรับไว้แล้ว ก็พระราชทานเงินพระคลังข้างที่ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นำไปสร้างตึก ๓ หลัง สำหรับให้เช่าไว้สินค้า และผู้ดูแล มีกำแพงล้อมรอบเป็นอาณาเขต ปรากฏว่า พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) แต่ยังเป็นพระภาษีสมบัติบริบูรณ์เช่า เก็บเงินใช้หนี้พระคลังข้างที่ ทั้งตึกและที่ดินจึงเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

                ต่อมาถึง พ.ศ.๒๓๑๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงครองราชย์ได้ ๗ ปี พระยาพิสณฑ์ฯ บอกคืนตึกที่ชำรุดทรุดโทรม จึงได้พบร่างพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ว่าทรงพระราชดำริจะพระราชทานผลประโยชน์จากที่ดินแปลงนี้แก่พระราชโอรสธิดาให้ทรงมีผลประโยชน์เสมอกัน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดฯให้ขอยืมเงินพระคลังข้างที่ซ่อมแซมตึกให้ฝรั่งห้างมูเลอร์ไมส์เนอร์เช่า เก็บเงินใช้หนี้พระคลังข้างที่ เป็นเวลา ๓ ปี

                ถึง พ.ศ.๒๔๒๑ เมื่อใช้หนี้พระคลังข้างที่ครบแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำหนังสือ พระราชทานกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ร่วมกัน ๕๘ ส่วน เท่ากับจำนวนพระราชโอรสธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่มีพระองค์อยู่ในเวลานั้น ทั้งพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย แต่สำหรับส่วนกรรมสิทธิ์ในพระองค์ นั้นได้พระราชทานแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ

                ต่อมาบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีความรู้สึกว่า ผลประโยชน์ที่ทรงได้รับเหล่านี้ เป็นผลประโยชน์อันกอปรด้วยสิริมงคล ไม่ควรจะนำไปใช้สอย ส่วนพระองค์

                ถึง พ.ศ.๒๔๒๓ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช กรมหลวงพิชิตปรีชากร สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงปรึกษากันทำจดหมายประทานไปยังบรรดาเจ้านายผู้ทรงมีกรรมสิทธิ์ ชักชวนให้เข้าทุนกันจัดตั้งหอสมุดสำหรับราชตระกูลขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

                เมื่อแรกหอพระสมุดนี้จะตั้งอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งเวลานั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช แต่แล้วก็ทรงเห็นกันว่าไม่เหมาะ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตึกสร้างใหม่ในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูพิมานไชยศรีกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุด และพระราชทานชื่อว่า หอพระสมุดวชิรญาณ ตามพระสมณะนามาภิไชย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

                สมาชิกเมื่อแรกเริ่มคือพระาชโอรสธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระราชนัดดา คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ

                ส่วนกรรมการ นั้น ประกอบด้วย สภานายกอุปนายก เลขาธิราช และกรรมการอีก ๔ เรียกว่ากรรมสัมปาทิก (ความหมายเช่นเดียวกับกรรมการในปัจจุบัน)

                ต่อมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๒๕ โปรดฯให้พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผลัดเปลี่ยนกันเป็นสภานายก โดยให้สมาชิกฝ่ายหน้าเลือกกันเอง ทั้งนี้รวมทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯด้วย แต่สำหรับอุปนายก นั้น โปรดฯให้พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงผลัดเปลี่ยนกันเป็น โดยให้สมาชิกฝ่ายในเลือกกันเอง

                ทั้งนี้ทั้งนายกสภา และอุปนายก มีวาระเพียง ๑ ปี ต้องเลือกตั้งใหม่ทุกปี

                สำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ นั้น แม้จะยังทรงพระเยาว์ สมาชิกส่วนมากต่างมีพระประสงค์จะให้เป็นสภานายก แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไม่โปรด ด้วยทรงพระราชดำริว่ายังทรงพระเยาว์นัก เลือกเป็นสภานายก ก็เหมือนเลือกเล่น แม้กระนั้น สมเด็จพระบรมฯก็ยังมีคะแนนเสียงทุกปีมากบ้างน้อยบ้าง จนกระทั่งในที่สุด เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ขณะนั้นพระชันษา ๑๐ ย่าง ๑๑ พรรษา สมาชิกทั้งปวงก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ว่า หากสมเด็จพระบรมฯ ทรงเป็นสภานายก แล้วจะเป็นประโยชน์แก่หอพระสมุดยิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต

                สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์นั้น ถึงแม้จะยังทรงพระเยาว์ ทว่าพระสติปัญญาเกินกว่าพระชนมายุ ๑๐-๑๑ เมื่อพระชนม์เพียง ๑๐ พรรษา ทรงพระนิพนธ์โคลงถวายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระยศ พระอัครราชเทวี สมเด็จพระบรมฯตรัสเรียกว่า เสด็จน้าโคลงนั้นว่า

                พระนางเจ้ากับทั้ง นารี

                ทรงจัดร้อยมาลี หลากไว้

                เพื่อฉลองพระคุณมี มามาก แล้วแฮ

                เฉลิมพระยศท่านไท้ ธิราชเจ้าจอมวังฯ

                และเมื่อพระชนมายุ ๑๑ เมื่อทรงได้รับเลือกเป็นนายกสภาหอพระสมุดวชิรญาณ ทรงบันทึกในสมุดจดหมายเหตุรายวันว่า

                 วันเสาร์ วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๑ วันนี้ทูลหม่อมประทานหนังสือสำหรับตัวเรา ที่ท่านสมาชิกได้เลือกโหวตให้เป็นสภานายกปีนี้ด้วย แต่ทูลหม่อมต้องทรงจัดการในหอพระสมุดแทนเรา

                และ

                 วันพฤหัสบดี วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๑

                เราตื่นนอนเช้า กินข้าวแล้วตัวรุม ป้าโสมให้เราหยุดเรียนหนังสือ เราได้คิดโคลงไว้ถวายทูลหม่อม สำหรับลงพิมพ์หนังสือวชิรญาณบทหนึ่งว่าด้วยรัก

                รักใครจะรักแม้น ชนกนารถ
                รักบอยากจะคลาด สักน้อย
                รักใดจะมิอาจ เทียมเท่า ท่านนา
                รักยิ่งมิอาจคล้อย นิราศแคล้วสักวันฯ

                ทูลหม่อม ตรัสเรียก พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า ทูลหม่อม

                ป้าโสม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ ทรงเป็น ป้าของสมเด็จพระบรมฯ และทรงทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงตลอดมา

                หอพระสมุดวชิรญาณนี้ ถึง พ.ศ.๒๔๔๘ โปรดเกล้าฯ ให้รวมหอสมุด ซึ่งแยกกันเป็น ๓ หออยู่ คือ หอพระสมุดวชิรญาณ ๑ หอพระมณเฑียรธรรม ๑ และหอพุทธสาสนสังคหะ ๑ จัดตั้งเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนครขึ้น แต่คงเรียกนามว่า หอพระสมุดวชิรญาณตามเดิม

                หอพระมณเฑียรธรรม เป็นหอไว้พระไตรปิฎกหลวงอยู่ในพระบรมมหาราชวัง สร้างเมื่อรัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๓๑

              หอพุทธสาสนสังคหะ เป็นหอพระสมุดรวบรวมพระไตรปิฎกต่างๆ และหนังสือต่างๆ อันเกี่ยวกับพุทธศาสนา สร้างในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๓ อยู่ที่วัดเบญจมบพิตร
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×