ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #115 : พระราชพิธีสิบสองเดือน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 732
      1
      10 เม.ย. 53

      เนื่องมาจากการเขียนถึงพระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมในเดือน ๑๒ และพระราชพิธีเดือนอ้ายไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย ในเรื่อง บุญบรรพ์

                ทั้งสองพระราชพิธีนี้อยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งปรากฏมีมาในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาลแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ครบถ้วนพร้อมทั้งพระราชสันนิษฐานและพระราชวิจารณ์อย่างละเอียด

    โล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย สมัยรัชกาลที่ ๕

                โดยทรงพระราชปรารภถึงเหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์ว่า

                 เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ที่ให้คนภายหลังทราบการงาน ซึ่งเราได้ประพฤติเป็นประเพณีบ้านเมืองอยู่ในบัดนี้ หรือในชั้นพวกเราทุกวันนี้ที่ยังไม่ได้ทราบได้เห็นการประพฤติทั่วไปของคนทั้งปวง ก็จะได้ทราบ เหมือนอย่างช่วยกันสืบสวนมาเล่าสู่กันฟัง

                ชื่อพระราชพิธีที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล โบราณนั้นส่วนมากเป็นชื่อแขกๆ  เพราะเป็นพิธีของพราหมณ์ เพิ่งจะแทรกพิธีพุทธเข้าไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงรัตนโกสินทร์

                พระราชพิธีทั้งสิบสองเดือน แต่ละเดือนสรุปตามพระราชนิพนธ์แล้ว ดังนี้

                เริ่มแต่เดือน ๕ (เมษายน) เรียกว่าการพระราชพิธีเผด็จศก

                คือแต่โบราณถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนเถลิงศกขึ้นปีใหม่ เดือน ๕ นี้ นอกจากพิธีพราหมณ์คือสังเวยเทวดา ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล) สงกรานต์แล้ว ยังมีพระราชทานเลี้ยงพระสงฆ์ นับเป็นเดือนที่มีพระราชพิธีและงานใหญ่ที่สุด ทั้งในราชสำนัก และในหมู่ชาวบ้านราษฎร

                เดือน ๖ (พฤษภาคม) พิธีไพศาขย์จรดพระราชนังคัล คือพระราชพิธีพืชมงคล เพิ่มทำบุญวันวิสาขบูชาเป็นพิธีทางพุทธด้วย

                เดือน ๗ (มิถุนายน) พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท หรือสรงมุรธาภิเษก

                เดือน ๘ (กรกฎาคม) พระราชพิธีวสันตปฐมวสา คือเจ้าพรรษา พิธีในเดือนนี้ล้วนแต่เป็นพิธีพุทธเช่นฉลองเทียนพรรษา ถวายพุ่มและมีสวดมหาชาติคำหลวงเป็นต้น

                เดือน ๙ (สิงหาคม) พระราชพิธีตุลาภาร คือขอฝน

                เดือน ๑๐ (กันยายน) ภัทรบทพิธีสารท ของพราหมณ์ ปนคละกับพิธีพุทธทำข้าวยาคู ถวายพระสงฆ์ พิธีกวนข้าวทิพย์ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ ในสมัยโบราณกาลก่อน หญิงผู้เข้าพิธีกวนข้าวทิพย์ ต้องเป็นธิดาพราหมณ์และเป็นพรมจารียังไม่มีระดู แต่ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่มีธิดาพราหมณ์สาว จึงอนุโลมให้พรหมจารีวรรณกษัตริย์ทำหน้าที่กวน เมื่อแรกก็พระองค์เจ้าลูกเธอ ต่อมาพระองค์เจ้าสาวๆ หายากแล้ว จึงโปรดฯให้พวกหม่อมเจ้ากวน แล้วก็ลงมาถึงหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ตามลำดับ จนกระทั่งยกเลิกพิธีนี้ไป

                เดือน ๑๑ (ตุลาคม) พระราชพิธีอาศยุชยแข่งเรือ เป็นพระราชพิธีเสี่ยงทายด้วยการแข่งเรือ ในสมัยอยุธยา โดยให้เรือพระที่นั่งหรือเรือต้นสมรรถไชย กับเรือทรงพระอัครมเหสี ชื่อ ไกรสรมุข แข่งกัน ถ้าสมรรถไชยแพ้ ทำนายว่า ข้าวเหลือเกลืออิ่มสุขเกษมเปรมประชาถ้าเรือสมรรถไชยชนะ ทำนายว่า จะมียุคคงหมายถึง ยุคเข็ญ เดือนนี้ มีพระราชพิธีพุทธคือออกพรรษา พระราชทานผ้าพระกฐิน และลอยพระประทีปกลางเดือน ๑๑ เป็นเพียงกระทงเล็กมิใช่กระทงใหญ่โตวิจิตรพิสดารขนาดยกมโหรีลงไปบรรเลงทั้งวง เหมือนลอยพระประทีปในเดือน ๑๒

                เดือน ๑๒ (พฤศจิกายน) พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม เดิมพระราชพิธีนี้เป็นพิธีพราหมณ์ คือยกโคม หรือชักโคมขึ้นบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม เปรียงคือน้ำมันไขข้อโคใช้ทาเทียนที่จุดในโคม แต่ต่อมามีพิธีพุทธสวดมนต์เข้าประสม ส่วนโคมชัยนั้นก็ยังโปรดฯให้ชักหรือยกขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นั้น โปรดฯให้มีเสาโคมในพระบรมมหาราชวัง ปักประจำทุกตำหนักเจ้านาย ตามวังเจ้านายก็มีเช่นกัน

                พิธีนี้สรุปจากที่ทรงมีพระบรมราชาธิบาย ก็คือพิธีเลี้ยงน้ำไว้เลี้ยงต้นข้าวในนาให้ทั่วถึงก่อน

                เดือนนี้ มีพิธีลอยพระประทีป กระทงใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว

                เดือนอ้าย (ธันวาคม) พระราชพิธีไล่เรือเถลิงพิธีตรียัมพวาย พระราชพิธีนี้สรุปจากพระบรมราชาธิบายว่า เมื่อเดือน ๑๒ ยกหรือชักโคมเลี้ยงน้ำแล้ว ถึงเดือนอ้าย หากน้ำยังคงท่วมอยู่ไม่ลด ข้าวในนาก็จะเสียหาย แม้ข้าวแก่แล้วก็ยังเกี่ยวไม่ได้ด้วยติดน้ำท่วม ถึงเดือนอ้ายจึงต้องมีพิธีไล่น้ำให้ลด

                เรื่องเลี้ยงน้ำไล่น้ำนี้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าไม่โปรดทรงฉลองพระองค์ และไม่โปรดให้ขุนนางที่เข้าเฝ้าฯสวมเสื้อด้วย หากใครสวมเสื้อเข้าเฝ้าจะถูกกริ้ว

                ที่จริงแล้ว คือเรื่องเลี้ยงน้ำยกโคมในพิธีจองเปรียงเดือน ๑๒ ซึ่งติดต่อกับเดือนอ้ายธันวาคมอันเป็นเวลาเข้าหน้าหนาว สมัยโบราณนั้นหนาวมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่ถ้าหากยังไม่ถึงเวลาลดโคมชัยในเดือนอ้าย ถึงจะหนาวเท่าใดก็ไม่โปรดให้สวมเสื้อ กริ้วว่าแช่งให้น้ำลดน้ำแห้งแต่ยังไม่ถึงเวลา ข้าวจะเสียหาย รับสั่งคาดโทษไว้ว่าจะให้ไปวิดน้ำเข้านาท้องทุ่งพระเมรุ

                เดือนยี่ (มกราคม) พระราชพิธีตรียัมพวายและตรีปลายพระราชพิธีนี้เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นเรื่องสนุกสนานของชาวบ้านทั่วไปด้วย คือ พิธีโล้ชิงช้า รับพระอิศวรซึ่งเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระอารมณ์ขันว่า

                 โลกบาลทั้ง ๔ ก็มาเล่นเซอคัสโล้ชิงช้าถวาย

                พิธีตรียัมพวายโล้ชิงช้ารับพระอิศวรนั้นสนุกสนานครึกครื้น แต่พิธีตรีปวาย รับพระนารายณ์ทำเงียบๆ ทรงพระราชนิพนธ์ว่า

                 ด้วยพระองค์ไม่โปรดในการโซไซเอตี

                เดือน ๓ (กุมภาพันธ์) พระราชพิธีธานยเทาะห์ รวมพิธีศิวาราตรีลอยบาป ชื่อ ศิวาราตรี เห็นจะคุ้นหูคนอายุเลยห้าสิบ เพราะเป็นนวนิยายดังมาก เมื่อห้าสิบปีมาแล้ว

                เดือน ๔ (มีนาคม) พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นการพิธีประจำปีสำหรับพระนคร เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร พระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าในข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน และราษฎรทั้งหลาย มีการสวดมนต์ภาณยักษ์ และยิงปืนอาฏานาขับไล่ผีปีศาจ

                เพราะเป็นเดือนสวัสดิมงคล ปลอดอันตรายใดๆ จึงมักจะโสกันต์และโกนจุกกันในเดือนนี้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×