ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #112 : "องเชียงเสือ"

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 604
      0
      10 เม.ย. 53

        ชื่อ องเชียงสือดูจะเป็นที่รู้จักกันอยู่บ้าง ว่าเป็นเจ้าชายญวนหนีกบฏเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ ๑ อยู่ ๕ ปี แล้วหนีกลับไปกู้เมืองคืนได้ ต่อมาตั้งตัวเป็นจักรพรรดิยาล็อง ต้นราชวงศ์หงวนหรือหลวนหรือเหวียน โดยเฉพาะเรื่ององค์เชียงสือเคยเป็นหนึ่งในนิทานจากเรื่องจริงตามประวัติศาสตร์ที่แต่งลงในหนังสือดรุณศึกษาซึ่งเป็นหนังสือเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ และเรียนกันต่อๆ มาจนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้แต่งคือ บราเธอร์ ฮีร์แล บาทหลวงคาทอลิกที่เข้ามาอยู่เมืองไทยหลายสิบปี
    เมื่อพระยาชลบุรีพาองเชียงสือเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายในท้องพระโรง
    ฉายาลักษณ์ (มีทั้งภาพวาดและภาพถ่าย) ของจักรพรรดิ ๑๓ องค์ ตั้งบนแท่นบูชามีเครื่องสูงทำนองฉัตรกั้น ภายในท้องพระโรงพระราชวังกรุงเว้

                องเชียงสือ หนีกบฏญวนที่เรียกกันว่า ไกเซินเข้ามาในเมืองไทยพร้อมด้วยมารดาและขุนนางผู้ใหญ่หลายคน ครั้งแรกเข้ามาอยู่ที่เกาะกระบือเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ซึ่งเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์พอดี โปรดเกล้าฯให้พระยาชลบุรีกับพระระยองไปตระเวนปราบสลัด เมื่อไปถึงเกาะกระบือพบกับองเชียงสือ พระยาชลบุรีทราบเรื่องราวขององเชียงสือจึงพาองเชียงสือเจ้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ องเชียงสือก็ขอเป็นบุตรเลี้ยงพระยาชลบุรี ตรงนี้มีเกร็ดพงศาวดารเกี่ยวกับองเชียงสือว่า องเชียงสือชมแกงบวดสาเกว่ามีรสอร่อยวิเศษนัก เมื่อองเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นอายุได้ ๓๓ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็โปรดฯ ชุบเลี้ยงองเชียงสือเช่นเดียวกับที่โปรดฯชุบเลี้ยงนักพระองค์เองราชบุตรเจ้าเขมร เวลาเข้าเฝ้าฯ โปรดฯให้นั่งข้างเฉลียงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานข้างหน้าเจ้ากรมพระตำรวจ นั่งขัดสมาธิเฝ้าฯตามแบบญวน

                พระยาชลบุรีคือคุณตาของสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ ๒) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาราชวังสัน (หวัง) นายกองเรือพาณิชย์นาวีในรัชกาลที่ ๑ นั้นเอง

                ถึง พ.ศ.๒๓๒๙ องเชียงสือ ตัดสินใจพาพรรคพวกลงเรือหนี โดยทิ้งหนังสือไว้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ความว่า

                 ข้าพระพุทธเจ้าองเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมบุญญาภินิหาร ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงได้ความสุข บัดนี้มีความวิตกถึงบ้านเมืองนัก ครั้นจักกราบทูลถวายบังคมลากลับออกไปก็เกรงพระราชอาญานัก จึ่งต้องคิดอ่านหนี ด้วยเป็นความจำเป็นใช่จักคิดอ่านขบถกลับมาประทุษร้ายนั้นหามิได้ ขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต ซึ่งถวายบังคมลาไปทั้งนี้ จะไปตั้งซ่องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าตีเอาเมืองคืนจงได้ แม้นขัดสนปืนกระสุนดินดำเหลือกำลังประการใด ก็จะบอกเข้ามาขอรับพระราชทานปืนกระสุนดินดำแลกองทัพออกไปช่วยกว่าจะสำเร็จราชการสงครามคืนเอาบ้านเมืองได้ แล้วจะขอเป็นเมืองขึ้นขอบขันธ์สีมาสืบไป

                สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงขัดเคืองจะเสด็จตามไปจับตัวแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมีประราชโองการตรัสห้ามไว้ว่า อย่ายกทัพไปติดตามจับเขาเลย เขาเห็นว่าเราช่วยธุระเข้าไม่ได้ด้วยเราก็มีศึกติดพันอยู่เขาจึงหนีไปคิดตีเอาบ้านเมืองคืน เรามีคุณแก่เขาเขียนด้วยมือแล้วจะลบด้วยเท้ามิบังควร

                เมื่อชนะกบฏได้เป็นเจ้าเมืองเว้แล้วองเชียงสือก็ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้ามาถวายทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๓๐-๒๓๔๔ จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ อย่างมั่นคง

                ถึง พ.ศ.๒๓๔๕ องเชียงสือตั้งตัวเป็นจักรพรรดิยาล็อง ยังคงถวายต้นไม้เงินทองทุกปีจนถึง พ.ศ.๒๓๔๘ เมื่อบ้านเมืองมั่นคงเรียบร้อยแล้วจึงได้ถวายเครื่องราชบรรณาการในฐานะเมืองขึ้นขอเป็นข้าขอบขันฑสีมาตามธรรมเนียม

                องเชียงสือหรือจักรพรรดิยาล็องเป็นจักรพรรดิอยู่ ๑๘ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อชนมายุ ๗๑ ปี พ.ศ.๒๓๖๓ ปลายรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์

                เมื่อจักรพรรดิยาล็องสิ้นพระชนม์ โอรสชื่อมินหมางได้ขึ้นครองราชย์เกิดจลาจลขึ้น เหตุเพราะจักรพรรดิมินหมางขัดเคืององต๋ากุนซึ่งจักรพรรดิยาล็องทรงให้เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่เมืองไซ่ง่อน องต๋ากุนนั้นเป็นข้าหลวงเดิมขององเชียงสือพระราชบิดา เมื่อพระราชบิดายังมีพระชนม์อยู่ถึงแม้มีเรื่องขัดใจกันอยู่ก็ไม่อาจทำอะไรองต๋ากุนได้ พอได้เป็นจักรพรรดิประจวบกับองต๋ากุนตายลงก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงให้ข้าหลวงออกไปขุดศพองต๋ากุนขึ้นทำโทษประจานต่างๆ เหมือนทำกับนักโทษเป็นๆ

                 องต๋ากุนมิใช่เป็นชื่อแต่เป็นตำแหน่งขุนนางชั้นเสนาบดีของญวน มีอยู่ ๕ ตำแหน่งคือองต๋ากุน ๑ องตงกุน ๑ องเตียนกุน ๑ องโหกุน ๑ องเฮากุน ๑

                เมื่อศพองต๋ากุนถูกขุดขึ้นมาประจาน ดังนั้น บรรดาขุนนางทั้งหลายก็ไม่พอใจจึงก่อการจลาจลขึ้นเป็นเรื่องยืดยาว แต่ในที่สุดก็แพ้แก่จักรพรรดิหันกลับเข้าสวามิภักดิ์ตามเดิม

                จักรพรรดิมินหมางเริ่มเอาใจออกห่างจากไทยตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ ตามความปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ว่า

                 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองญวนอยู่ จึงทรงพระราชดำริว่าครั้งองจันทร์เป็นกบฏหนีไปญวนก็รับเอาไว้ อนุเป็นกบฏหนีไปญวนก็รับไว้ แล้วกลับแต่งขุนนางพาอนุมาตั้งบ้านตั้งเมืองอย่างเก่า ทำเหมือนเมืองเขมรเหมือนกัน มีแต่คิดเกียจกันต์เขตแดนฝ่ายไทย ข่มขี่ยกตัวขึ้นเป็นดึกวองเด่ ให้องเลโบมีหนังสือมาว่า ให้ที่กรุงลงชื่อไปในพระราชสาสน์ว่าพระเจ้ากรุงเวียตนามดึงวองเด่ ฝ่ายที่กรุงเห็นแก่ทางไมตรีก็ทำให้ตามชอบใจ ภายหลังก็ให้เลโบมีหนังสือมาอีกว่า ให้เอาตราหลวงสำหรับแผ่นดินประทับสำเนาพระราชสาสน์ออกไป ด้วยยกตัวขึ้นเป็นใหญ่ดังนี้ จะเป็นไมตรีกันไปอย่างไรได้

                ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๔๕ ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงไม่กี่ปี ชั่วระยะเวลาประมาณ ๑๔๕ ปี ญวนมีจักรพรรดิรวม ๑๓ องค์ ที่มีจักรพรรดิมากมายหลายองค์ เพราะเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันอยู่ตลอดเวลา จักรพรรดิบางองค์ก็ครองราชย์ไม่ถึงปี

                เคยไปดูพระราชวังที่เว้เห็นฉายาลักษณ์ของจักรพรรดิทั้ง ๑๓ องค์ วางเรียงไว้บนแท่นบูชาในท้องพระโรงด้านข้าง ถามมัคคุเทศก์ มัคคุเทศก์ว่าไม่เคยมีพิธีใดๆ เกี่ยวกับจักรพรรดิ เมื่อพูดถึงพระเจ้าเวียดนามยาล็องหรือองเชียงสือ มัคคุเทศก์เล่าว่าองเชียงสือนั้นเองเป็นผู้ชักนำฝรั่ง (เศส) เข้ามาวุ่นวายในประเทศ เมื่อครั้งหนีมาพึ่งไทยแต่ไทยยังช่วยได้ไม่เต็มที่ จึงหันหาฝรั่งตั้งแต่นั้น ฝรั่งจึงได้เข้ามามีอิทธิพลในญวน

                ชวนให้สันนิษฐานว่าที่จักรพรรดิมินหมางเอาใจออกห่างไทยจะเป็นเพราะฝรั่งหนุนหลังอยู่ ฝ่ายลาวเขมรเป็นประเทศเล็กเมื่อเห็นญวนมีอำนาจมากขึ้นจึงโอนอ่อนเข้าหา เนื่องจากไทยอยู่ไกลกว่า หากพม่ายกทัพเข้ามาโจมตีจะได้ขอกำลังจากญวน

                ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยจึงต้องทำสงครามกับญวนรวมทั้งเขมร ลาว เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯต้องโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาไปทำศึกดูแลความสงบเรียบร้อยในแถบนั้นนานถึง ๑๕ ปี กว่าจะได้ยกทัพกลับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×