ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สัตว์ในเทพนิยาย

    ลำดับตอนที่ #5 : กินรี

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 531
      0
      13 มิ.ย. 49

                 
                  พอเห็นคำว่า "กินรี" หลาย ๆ คนคงนึกถึงเรื่องพระสุธน -  มโนห์ราเป็นเรื่องแรก เพราะวรรณคดี เรื่องดังกล่าวเป็นที่ประทับจิตประทับใจผู้อ่านเป็นอันมาก และตัวนางเอกของเรื่องก็มาแปลกกว่าเรื่องอื่น ๆ ตรงที่นางเป็นกินรีมีปีกและบินได้อย่างนก ทำให้คำว่า "กินรี" เป็นที่เข้าใจกันดีว่า เป็นสัตว์หิมพานต์จำพวกหนึ่ง ที่มีรูปลักษณ์ครึ่งคนครึ่งนก มีถิ่นอาศัยอยู่แถบเชิงเขาไกรลาส ต้นกำเนิดที่แท้จริง ของพวกกินนร –  กินรีนั้นเป็นมาอย่างไร…ยังไม่พบตำราไหนกล่าวไว้ชัดเจน แจ่มแจ้ง
    แต่ในเทวะประวัติของพระพุธ – เล่าเอาไว้ว่า…

             เมื่อครั้งท้าวอิลราชประพาสป่าแล้วหลงเข้าไปในเขตหวงห้ามของพระศิวะนั้น… ท้าวอิลราช และข้าราชบริพารผู้ติดตาม ล้วนถูกพระศิวะสาปให้แปลงเพศกลายเป็นหญิงไปทั้งหมด ต่อมานางอิลา (ชื่อของท้าวอิลราชขณะมีเพศเป็นหญิง) และบริวารได้มาเล่นน้ำที่สระ  ใกล้ ๆ กับอาศรมของพระพุธ พระพุธเห็นนางอิลาเข้าก็นึกชอบ จึงรับนางไว้เป็นชายา แล้วเสกให้บริวารของนางกลายเป็นกินรี ท่องเที่ยวหาผลไม้กินอยู่ในป่าหิมพานต์ แล้วพระพุธก็ตรัสแก่นางกินรีเหล่านั้นว่า…เจ้าทั้งหลายจงเป็นกินนรี (กินรี) และอาศัยอยู่ในเขานี้เถิด กูจะหามูลผลาหารให้กินมิให้อดอยาก และกูจะหากิมบุรุษให้เป็นสามีเจ้าทั้งหลาย…

            จากข้อความข้างต้นนี้ก็เดาไม่ถูกเหมือนกันว่า "กิมบุรุษ" ที่ว่านี้มีอยู่ก่อนแล้ว และพระพุธจะนำพวกกิมบุรุษมาอยู่คู่กับพวกนางกินรีที่ทรงเสกไว้ หรือพระพุธจะเสกกิมบุรุษขึ้นใหม่ให้มาเป็นคู่กับนางกินรีที่เสกเอา
    ไว้ก่อน คำว่า "กิมบุรุษ" นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ว่า… "กิมบุรุษ" หรือ "กินนร" มาจากมูลอันเดียวกันคือ "กึ" แปลว่า อะไร เพราะฉะนั้นคำว่ากิมบุรุษ ก็แปลว่า ชายอะไร และกินนร แปลว่า คนอะไร ถ้าเป็นอิตถีลึงค์ (เพศหญิง) ก็เรียกว่า กินนรี

    ในสาส์นสมเด็จ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานิศรานุวัดติวงศ์ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

    "กินนร" นั้นชอบกล ทางบาลีสันสกฤตเป็นตัวผู้ ว่าหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน  เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ นัยหนึ่งว่าเป็นคนธรรพ์ พวกเล่นเพลงของเทวดา โดยลักษณะนี้เรียกว่า "อัศวมุขี" ก็เรียก เลือนมาทางไทยกลายเป็น "อัคขมูขี" เพราะฟังไม่สรรพจับมากระเดียด… กินนรผู้หญิงต้องเป็น "กินนรี" ทางบาลีสันสกฤตแปลว่า นางฟ้า หรือถัดมาก็เป็นอัปสร คือละครของเทวดา ตามที่ว่านี้เข้าเรื่องนางมโนห์รา ที่ว่าใส่ปีกหาง ที่แท้ "กินนร" หรือ "กินนรี" ไม่มีกล่าวถึงปีกหางเลย แต่ทำไมจึงทำเกี่ยวกับนกไปไม่ทราบ รูปที่พบเป็นครึ่งคนครึ่งนกก็มีที่เป็นคนติดปีก ติดหางอย่างนางมโนห์ราก็มิ ล้วนแต่เป็นนางทั้งนั้น ที่ทำรูปกินนรผู้ชายก็มี แต่มีน้อย

    ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงพวกกินนรว่า…

    …ในเหมเขาไกรลาศนั้นแล ว่ามีเมืองอันหนึ่งเทียรย่อมเงินแลทอง และมีฝูงกินนรีอยู่แห่งนั้น บ้านเมืองแห่งนั้นสนุกนักหนาดังเมืองไตรตรึงษาสวรรค์ และเมืองนั้นพระปรเมศวรธอยู่นั้นแล… พระปรเมศวรคืออีกนามหนึ่งของพระศิวะ…ตามข้อความข้างต้นก็หมายถึงว่าพวกกินนรเป็นบริวารของพระศิวะ ซึ่งผิดกับตำราของจอห์น เดาสัน ที่ว่าพวกกินนรเป็นบริวารของท้าวกุเวร

    ในหนังสือของ พี.ธอมัส กล่าวว่า…

    …ที่เชิงเขาพระเมรุเป็นที่อยู่ของคนธรรพ์ กินนรและสิทธ…

    และว่าคนธรรพ์กับกินนรเป็นเชื้อสายเดียวกัน จึงมีรูปกายคล้ายคลึงกัน…ความข้อนี้ตรงกับเรื่องราวในเรื่องพระสุธน ที่พราหมณ์ปุโรหิ่ตและให้เอาคนธรรพ์มาบูชายัญแก้ลางร้าย ถ้าหาคนธรรพ์ไม่ได้ ก็ให้จับนางมโนห์รามาบูชายัญแทนก็ได้ เพราะเป็นเชื้อสายคนธรรพ์ มาแต่ป่าหิมพานต์เหมือนกัน บ้างก็เรียกรวม ๆ  กันไปก็มี เช่น…นางเทพคนธัพ-กินรี หรือนางกินรเทพคนธัพ

    ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกะ กล่าวว่า…

    …กินนร มีรูปร่างเหมือนคน แต่แตกต่างไปบางอย่าง เช่น แขนทั้งสองเหมือนคน แต่ฝ่ามือทั้งสองเหมือนนก ศีรษะ ใบหน้า จมูก ตา เหมือนคน ส่วนริมฝีปากกว้างจดคอ และปากยาวยื่นออกมาเหมือนม้า ขา ฝ่าเท้า และนิ้วเหมือนนก…ตามตำรานี้ กินนรก็เป็นคนครึ่งนกปนม้า ดูยุ่งเหยิงพิลึกล่ะ!


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×