พยาบาล สภากาชาดไทย - พยาบาล สภากาชาดไทย นิยาย พยาบาล สภากาชาดไทย : Dek-D.com - Writer

    พยาบาล สภากาชาดไทย

    ผู้เข้าชมรวม

    9,074

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    9.07K

    ความคิดเห็น


    34

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  25 พ.ค. 50 / 10:55 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
       
          วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย

         วิทยาลัยพยาบาลฯ มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการด้านพยาบาลศาสตร์

         ปณิธานของวิทยาลัย

             วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย เป็นสถานศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาการพยาบาลทั่วไปเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นตามอุดมการณ์ของ สภากาชาดไทย ที่จะผลิตพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ภัยหรือเจ็บป่วย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น ลัทธิ ศาสนา หรือความเห็นทางการเมือง ทั้งในยามสงบ และยามเกิดสงคราม หรือภัยพิบัติสาธารณะ อีกทั้งมุ่งหวังให้ผู้ศึกษามีทักษะด้านการคิด ทักษะด้านการปฏิบัติการพยาบาลและทักษะด้านการติดต่อสัมพันธ์กับ บุคคลบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
         การผลิตพยาบาล
      ในปัจจุบันทางวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ได้จัดการศึกษาเพื่อผลิตพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ภัยหรือเจ็บป่วย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น ลัทธิ ศาสนา หรือความเห็นทางการเมื่องทั้งในยามสงบหรือยามเกิดสงครามหรือภัยพิบัติสาธารณะขึ้นมา 2 หลักสูตร
      1. หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
      หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี
      2. หลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง
      เป็นหลักสูตรที่เปิดสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางการพยาบาลระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เข้าศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ระยะเวลาศึกษา 16 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์
      วิธีการรับสมัครและคัดเลือกเข้าศึกษา
      1. โครงการปกติ สมัครคัดเลือกเข้าศึกษา 2 วิธี คือ
      1.1 สมัครและสอบคัดเลือกโดยทบวงมหาวิทยาลัย จำนวน 130 คน ติดตามกำหนดวันรับสมัครและคัดเลือกได้จากประกาศทบวงมหาวิทยาลัย
      1.2 วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย รับสมัครคัดเลือกเอง จำนวน 50 คน ประกาศรับสมัครในเดือนมกราคม และจำหน่ายใบสมัครในเดือนมีนาคม
      2. โครงการพิเศษ สำหรับนักเรียนที่ได้รับรางวัลยุวกาชาดดีเด่นระดับมัธยมศึกษา ติดตามข่าวสารได้จากสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ภายในเดือนธันวาคม
       
               


      หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
      หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีระยะเวลาการศึกษา 4 ปี รวมทั้งหมด 140 หน่วยกิต การจัดการศึกษาใช้ระบบทวิภาค เมื่อสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตแล้ว นักศึกษาจะมีความรู้ความสามารถในการให้การพยาบาลแบบองค์รวมแก่บุคคล ครอบครัว และชุมชนอย่างมีคุณภาพ ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษาและการฟื้นฟูสภาพ โดยยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพและอุดมการณ์ของสภากาชาดไทย รวมทั้งสามารถนำความรู้มาพัฒนาตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้


      การจัดการเรียนการสอน
      วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย มีการจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ เจตคติ และทักษะที่เหมาะสมกับวิชาชีพการพยาบาล จึงจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งมีการฝึกปฏิบัติในห้องทดลอง หอผู้ป่วยต่างๆ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถานบริการสุขภาพทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติ ในบางรายวิชามีการเรียนการสอนร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่เรียนนักศึกษาจะได้เรียนในอาคารเรียนและศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองที่ทันสมัย ซึ่งประกอบด้วยห้องเรียนรวม ห้องเรียนกลุ่มย่อย ห้องปฏิบัติการทางการพยาบาล ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องสมุด นักศึกษาสามารถค้นคว้าข้อมูลจากห้องสมุดอัตโนมัติที่มีบริการสืบค้นข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ฐานข้อมูล cd - rom นักศึกษาจะได้รับการศึกษาอบรมจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทั้งภายในและภายนอกสถาบันตลอดระยะเวลา 4 ปีของการศึกษา นักศึกษาจะได้พักในหอพักที่สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะในบรรยากาศที่ร่มรื่นอบอุ่น เป็นกันเองตลอดจนมีการบริการด้านอาหารที่มีคุณภาพและการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย


      กิจกรรมนักศึกษา
      วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย มีนโยบายส่งเสริมให้นักศึกษามีการพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม เป็นคนดี คนเก่ง ครอบคลุมทั้งคุณลักษณะของบัณฑิตที่มีคุณภาพในระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยพยาบาลฯ จึงส่งเสริมการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่หลากหลาย ดำเนินการโดยวิทยาลัยพยาบาลฯ และโดยสโมสรนักศึกษาฯ ดังนี้
      1. โครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษากับมหาวิทยาลัย Malaspina ประเทศแคนาดา
      2. โครงการสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมและทำกิจกรรมในระดับชาติและนานาประเทศ
      3. โครงการพัฒนาวิชาการ เช่น จุฬาวิชาการ เสวนาวิชาการ ห้องสมุดบนหอพัก เสริมความเข้าในบทเรียน บอร์ดเผยแพร่ข่าวสารความรู้ ชมรมภาษาอังกฤษ ฯลฯ
      4. โครงการพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ค่ายเด็กดี ค่ายอนามัยชุมชน ชมรมอาสายุวกาชาด นันทนาการเด็กป่วย ฯลฯ
      5. โครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ดนตรีไทยอุดมศึกษา ดนตรีในสวน Singing Contest พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีไหว้ครู รวมทั้งพิธีต่างๆ ในวันสำคัญทางศาสนา
      6. โครงการนักศึกษาสัมพันธ์ เช่น พิธีรับหมวก สายใยสัมพันธ์ Bye Bye Senior โต้วาทีเชื่อความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลฯ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กีฬาสถาบันพยาบาล
      7. โครงการอื่นๆ เช่น โครงการอบรมอัคคีภัย โครงการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม โครงการอบรมวิทยาศาสตร์การกีฬา โครงการเสริมสร้างความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ ฯลฯ

      รางวัลการศึกษา
      นักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ความประพฤติเรียบร้อย และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม มีโอกาสที่จะได้รับรางวัลดังต่อไปนี้
      - เหรียญรางวัลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      - เหรียญเชิดชูเกียรติจากสภากาชาดไทย
      - รางวัลจากสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย
      - รางวัลจากสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลสภากาชาดไทย
      - รางวัลเรียนดีของนักศึกษาประจำชั้นปี
      - รางวัลสำหรับนักศึกษาที่มีคะแนนการฝึกปฏิบัติงานสูงสุด
      - รางวัลนักศึกษาที่มีคะแนนการฝึกปฏิบัติงานสูงสุดตลอดหลักสูตร
      - รางวัลนักศึกษาที่มีคะแนนสูงสุดของรายวิชา
      - รางวัลสำหรับนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมหรือประโยชน์ต่อส่วนรวม
      การประกอบอาชีพและความก้าวหน้าในวิชาชีพ
      - มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล
      - ได้รับเงินเดือนตามวุฒิที่ ก.พ. กำหนดและยังได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เช่น ค่าอยู่เวร ค่าเฝ้าไข้ ฯลฯ
      - สามารถศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตดุษฎีบัณฑิตในสาขาการพยาบาลหลักสูตรอื่นในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
      - สามารถใช้ความรู้พื้นฐานในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ไปประกอบอาชีพอื่นๆ ตามความต้องการ

      คุณสมบัติของผู้สมัคร
      1. สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญครบตามเกณฑ์ที่กำหนด มีรายละเอียดดังนี้
      1.1 หลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน ในหมวดวิชาเลือกเสรีให้รวมวิชาวิทยาศาสตร์ (โครงสร้าง 2) 25 นก. หรือวิชาวิทยาศาสตร์ (โครงสร้าง 3) 21 นก. วิชาคณิตศาสตร์ (โครงสร้าง 1) 15 นก. วิชาภาษา อังกฤษ 12 นก.
      1.2 หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนให้ศึกษารายวิชาต่างๆ เทียบเท่าเกณฑ์สำหรับหลักสูตรการศึกษาใน โรงเรียน สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ให้แสดงหลักฐานว่าได้ศึกษาภาคปฏิบัติการเทียบเท่าหลักสูตรการ ศึกษาในโรงเรียน
      2. ผ่านการสอบวัดความรู้ฯ ของทบวงมหาวิทยาลัยพยาบาล ครั้งที่ 2 ของปีที่ผ่านมาและครั้งที่ 1 ในปีปัจจุบัน
      3. มีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันเปิดรับสมัคร
      4. มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม ความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร หรือมีน้ำหนักไม่เกินเกณฑ์ ปกติมากจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติวิชาชีพพยาบาลทั้งนี้ ถือเอามาตรฐานเครื่องชั่งและเครื่องวัดของ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยเป็นเกณฑ์ตัดสิน
      5. มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ไม่มีประวัติเป็นโรคจิต โรคประสาท
      6. มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เสพยาเสพย์ติดทุกประเภท ไม่เคยถูกไล่ออกจากสถาบันการศึกษาอื่น และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน

      กำหนดวิชาที่ใช้ผลสอบ
      วิชาที่ผู้สมัครฯ ต้องนำผลการสอบมาแสดง รวม 7 วิชา คือ วิชา 01, 02, 03, 04, 05, 06 และ 07

      อัตราค่าธรรมเนียม
      1. ค่าหน่วยกิตการศึกษา (เก็บรวมภาค)
      ภาคปกติ บรรยาย หน่วยกิตละ 300 บาท ทดลองปฏิบัติหรือปฏิบัติ หน่วยกิตละ 600 บาท
      ภาคฤดูร้อน บรรยาย หน่วยกิตละ 400 บาท ทดลองปฏิบัติหรือปฏิบัติ หน่วยกิตละ 800 บาท
      2. ค่าบำรุงการศึกษา ภาคการศึกษาละ 2,800 บาท
      3. ค่าบำรุงหอพักและอาหาร สำหรับนักศึกษาหญิง ภาคการศึกษาละ 12,000 บาท นักศึกษาชายภาคการศึกษาละ 4,000 บาท
      4. ค่าประกันอุบัติเหตุ ปีละ 100 บาท
      5. ค่าประกันของเสียหายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดหลักสูตร 500 บาท
      6. ค่าประกันของเสียหายของหอพักตลอดหลักสูตร 500 บาท
      7. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามประกาศของวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมไม่ต้องชำระเพิ่มในการศึกษาภาคฤดูร้อน ค่าใช้จ่ายในปีการศึกษาแรก ประมาณ 65,000 บาท ปีต่อๆ ไป ปีละประมาณ 46,000 บาท โดยแบ่งชำระแต่ละปีเป็น 2 ภาคการศึกษาและ 1 ภาคฤดูร้อน

      คุณสมบัติเฉพาะ
      พยาบาลมีความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการเป็นแบบอย่างด้านการดูแล สุขภาพผู้เข้าศึกษา จึงควรมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้
      - มีบุคลิกภาพที่ดี โดยมีรูปร่าง ลักษณะท่าทางและขนาดร่างกายเหมาะสมกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล
      - มีจิตใจเมตตา สุภาพ อ่อนโยน โอบอ้อมอารี เสียสละ อดทน มีความรับผิดและซื่อสัตย์สุจริต
      - มีความประพฤติดี ไม่เคยถูกไล่ออกจากสถาบันใดๆ มาก่อนและไม่เคยต้องโทษคดีอาญา
      - มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เป็นโรค อาการของโรค หรือมีความพิการ ดังต่อไปนี้
      o ความพิกลพิการของร่างกายที่ทำให้เสียบุคลิกลักษณะ
      o สุขภาพจิตไม่สมบูรณ์
      o ติดยาเสพย์ติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง
      o โรคเท้าช้าง
      o โรคเรื้อน
      o โรคลมชัก
      o โรคหัวใจ
      o โรคความดันโลหิต
      o โรคไต
      o วัณโรค
      o โรคเบาหวาน
      o ตาบอดสี สายตาผิดปกติ
      o หูหนวกหรือหูตึง

      หลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง
      วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย เปิดรับสมัครผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางการพยาบาลระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าอนุปริญญา หรือพยาบาลวิชาชีพเข้าศึกษาอบรมในหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง หลักสูตรที่จะเปิดรับผู้เข้าศึกษาอบรม มี 6 สาขาวิชา ดังนี้
      1. สาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) รับ 2 รุ่นๆละ 20 - 24 คน
      2. สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติ (การรักษาโรคเบื้องต้น) รับ 1 รุ่นๆละ 20 คน
      3. สาชาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ รับ 1 รุ่นๆละ 15 - 20 คน
      4. สาขาวิชาการพยาบาลครอบครัว รับ 1 รุ่นๆละ 15 - 20 คน
      5. สาขาวิชาการพยาบาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพ รับ 1 รุ่นๆละ 15 - 20 คน (8สัปดาห์)
      6. สาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รับ 1 รุ่นๆละ 15 - 20 คน (8สัปดาห์ )
      (Palliative Nursing)
      สาขาวิชาที่ 1 -4 เปิดอบรมเป็น 2 รุ่น
      รุ่นที่ 1 กรกฎาคม - พฤษภาคม
      รุ่นที่ 2 มกราคม - เมษายน
      สาขาวิชาที่ 5 - 6 เปิดอบรมเป็น 1 รุ่น ในเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน
      (กรณีที่ผู้เรียนมีจำนวนไม่ถึง10คนในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งวิทยาลัยพยาบาลฯ จะไม่เปิดสอนในสาขาวิชานั้น)

      คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการศึกษาอบรม
      1. คุณสมบัติทั่วไป ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการศึกษาอบรมจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังนี้
      1.1 มีสัญชาติไทย
      1.2 เป็นผู้มีความประพฤติดี ประวัติการทำงานดี มีความรับผิดชอบ
      1.3 ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษกรณีความผิดที่ได้กระทำ โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
      1.4 ไม่เคยเป็นผู้ถูกลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกจากหน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชน
      1.5 ไม่เป็นโรคที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
      1.6 มีใบรับรองประสบการณ์จากผู้บังคับบัญชาขั้นต้น
      2. คุณสมบัติเฉพาะ
      2.1 เป็นผู้ได้รับปริญญาบัตร อนุปริญญา ประกาศนียบัตรในสาขาการพยาบาลและได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ (สาขาการพยาบาล) ชั้น 1 จากกระทรวงสาธารณสุข หรือได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและผดุงครรภ์ ชั้น 1 จากสภาการพยาบาล
      2.2 เป็นผู้ที่กำลังปฏิบัติงานหรือทำการสอนในสาขาวิชาที่ประสงค์จะเข้าศึกษาอบรมหรือเป็นความต้องการของหน่วยงานที่จะให้กลับไปปฏิบัติงานในสาขาที่จะสมัครเข้าศึกษาอบรม
      2.3 เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

      อัตราค่าลงทะเบียนตลอดหลักสูตร
      สาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต ค่าลงทะเบียน 12,000 บาท
      สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติ (การรักษาโรคเบื้องต้น) ค่าลงทะเบียน 12,000 บาท
      สาชาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ ค่าลงทะเบียน 9,000 บาท
      สาขาวิชาการพยาบาลครอบครัว ค่าลงทะเบียน 9,000 บาท
      สาขาวิชาการพยาบาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ค่าลงทะเบียน 6,000 บาท
      สาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ค่าลงทะเบียน 6,000 บาท
      (Palliative Nursing)

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×