ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ... ขุนโจร ... The Warrior of King Nares

    ลำดับตอนที่ #15 : เมืองคังร่วมสัจจะ...อังวะยกประชิด

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 618
      3
      8 พ.ย. 49

    :::เมืองคังร่วมสัจจะ...อังวะยกประชิด:::

    รุ่งขึ้น...พระอินทราธิปราชนัดดารับสั่งให้ม้าเร็วนำสารถึงเจ้าฟ้าเมืองคังเป็นความว่า

    "...ข้าเจ้าเจ้าฟ้าอินทา แห่งเมืองสีป้อ ทนเห็นพม่าหงสาวดีกดขี่พี่น้องไตเฮา จึงยกลงมาช่วย บัดนี้ทราบว่าเจ้าฟ้าผู้เป็นใหญ่แห่งเมืองคัง โดยสารทัพหงสาวดียกมาปราบด้วยจำยอม...

    ...ข้าเจ้าทราบความจึงดำริเป็นหนักหนาว่า ไตเฮาก็ล้วนพี่น้องท้องเดียวกัน มิน่าจักต้องมาเข่นมาฆ่ากันให้เสียกำลัง...

    ...บัดนี้สิ้นบารมีพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแล้ว ไทยสยามก็ประกาศแยกตนมิขึ้นต่อหงสาวดี ไยไตเฮามิเอาเยี่ยงตามไทยสยามบ้าง ด้วยเดชะพละกำลังของไตเฮาก็มิยิ่งมิหย่อนไปกว่าใคร สันดานเดิมอ้ายพม่าหงสาวดีนั้นเป็นชาวป่าบ้านเถื่อน ถนัดแต่ต่อรบอยู่บนพื้นราบ ไตเฮาเป็นชาวดอย ครั้นหงสาวดีจักยกทัพขึ้นภูมาปราบก็มิค่อยจักถนัดนัก หากไตชาวดอยเฮาทุกผู้ทุกเมืองร่วมแรงกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ข้าเจ้าเชื่อว่าจักสามารถต่อรบต่อต้านหงสาวดีได้เป็นแน่...

    ...ข้าเจ้านำสารนี้มามอบต่อพ่อเจ้าด้วยไมตรี หวังว่าพ่อเจ้าจักมีจิตคิดไมตรีตอบกลับมาเช่นเดียวกัน หากมิเกินแก่กาลเทศะ วันหนึ่งข้าเจ้าจักขอเข้าไปสนทนากับพ่อเจ้าถึงในค่าย หวังว่าพ่อเจ้าจักรับรองข้าเจ้าตามสมควร..."

    เมื่อเจ้าฟ้าเมืองคังได้รับสารดังนี้ ก็มีสารตอบกลับเป็นความว่า

    "...ข้าเจ้าขอขอบพระทัยในไมตรีที่พ่อเจ้ามีมา ความตามสารนั้นข้าเจ้าดำริเป็นหนักหนา แต่ยังต้องกล่าวตามจริงว่า ข้าเจ้ายังเกรงภัยหงสาวดีอยู่มาก...

    ...ครั้งปีกลายนั้น พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเสด็จขึ้นครองราชย์ ข้าเจ้ามิได้ไปเข้าเฝ้าถวายความนอบน้อม หงสาวดีจึงว่าข้าเจ้าแข็งเมือง ให้มีทัพยกมาปราบ...

    ...ครั้งนั้นปรากฏมีเจ้าขุนไตตนดำ และพระอนุชาธิราชทั้งสองร่วมมาในทัพหงสาวดีด้วย เป็นเดชะพระบารมีของพระองค์ท่านที่เมื่อข้าเจ้าเสียเมืองแล้ว พระองค์ทรงทูลขอชีวิตข้าเจ้าต่อพระเจ้าหงสาวดีไว้ ข้าเจ้าจึงเข้าตรวนอยู่ในคุกหลวงหงสาวดีอยู่สามเดือนเศษ ปรากฏมีความวุ่นวายในเมืองคังนี้ ด้วยกรมการเมืองพม่าถูกชาวเมืองลอบฆ่า มิว่าจักแต่งตั้งเข้าไปสักกี่คนก็อยู่ได้มิเกินเจ็ดราตรีต้องมีอันเป็นไป...

    ...บรรดาเสนาพม่าทั้งหลายเห็นว่าควรให้ข้าเจ้ากลับไปครองเมืองคังเช่นเดิม เพื่อยุติความวุ่นวายนี้ ข้าเจ้าจึงได้กลับไปครองเมือง แต่กระนั้นหงสาวดีก็ยังได้เอาบุตรของข้าไว้เป็นประกัน...

    ...ด้วยประการนี้ ข้าเจ้าจึงมิอาจออกห่างหงสาวดีได้อย่างสนิทใจ ขอพ่อเจ้าโปรดอภัยให้แก่ข้าเจ้าด้วยเถิด...

    ...ข้าเจ้าขอขอบพระทัยในไมตรีอีกครั้ง หากพ่อเจ้าดำริจักเสด็จมาเยี่ยมค่ายคราใด ข้าเจ้าจักรับรองอย่างสมพระเกียรติ..."


    ครั้นเมื่อพระอินทราธิปราชนัดดาได้เห็นสารดังนั้นก็สลดพระทัยยิ่ง ด้วยดำริถึงเมื่อครั้งพระสุพรรณกัลยา ก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ แต่กระนั้นก็ตามพระองค์ทรงทราบทางเข้าออกพระราชวังหลวงของหงสาวดีเป็นอย่างดี เมื่อทราบว่าใจหลักแห่งความเคารพต่อหงสาวดีของเจ้าฟ้าเมืองคังนั้นคือพระโอรส พระอินทราธิปราชนัดดาจึงทรงนึกแผนการณ์ขึ้นมาในพระทัย แล้วตรัสเรียกขุนพิทักษ์ราชกิจกับหมื่นฤทธิณรงค์มาเฝ้า

    "ท่านทั้งสองอ่านสารนี้..." ตรัสพร้อมยื่นใบสารให้ ๒ ขุนทหารได้อ่าน ครั้นเมื่ออ่านเสร็จหมื่นฤทธิณรงค์ก็โพล่งขึ้นมา

    "จักไปยากอันไรพระเจ้าข้า...บรรดาเจ้าฟ้าลูกเชลยหลวงในหงสาวดีนั้นอยู่พระราชฐานชั้นนอก จักลอบเข้าไปนำพระองค์ออกมาเมื่อใดก็ได้..."

    "ชะชะ...อ้ายหมื่นฤทธิ์ เอ็งนี่ช่างเก่งกล้าเสียจริง ถ้าอย่างไรลองอาสาพระโอรสลอบเข้าไปช่วยราชบุตรเจ้าฟ้าเมืองคังหน่อยเป็นไร..." ขุนพิทักษ์กล่าวท้าทาย

    "พี่คง!...อย่าท้าทายข้าไปหน่อยเลย ถ้าให้ท่านทำเยี่ยงข้าบ้าง ท่านจักกล้าหรือไม่..." หมื่นฤทธิ์ย้อน ขุนพิทักษ์ทำทีเคืองแกมเล่น พระอินทราธิปพลันตรัส

    "มิต้องเถียงกันดอก...ข้าจักไปเอง..."

    "พระโอรส!!" ๒ ขุนทหารเอ่ยขึ้นพร้อมกันจนแทบจะเป็นเสียงเดียว

    "มิได้นะพระโอรส แล้วผู้ใดจักอยู่นำศึกครั้งนี้เล่าพระเจ้าข้า" ขุนพิทักษ์กราบทูล

    "ท่านไง..." พระโอรสตรัสอย่างเย็นพระทัย

    "...ม...หม่อมฉัน..." ขุนพิทักษ์ยังคงอ้ำอึ้ง

    "มิได้พระเจ้าข้า อย่างไรเสียพระราชภาระนี้เป็นของพระองค์ หม่อมฉันไม่มีบารมีถึงขั้นริอาจเป็นตัวแทนเสมือนพระองค์ได้ดอกพระเจ้าข้า" ขุนพิทักษ์คุกเข่าลงประนมมือกราบทูล

    "...ขุนพิทักษ์ราชกิจ หมื่นฤทธิณรงค์ จงรับบัญชาจากเรา..." หมื่นฤทธิณรงค์คุกเข่าลงประนมมือเช่นนายทหารผู้พี่ ขุนพิทักษ์ยังอึกอักแต่ก็ก้มหน้ารับพระบัญชา

    "...ตั้งแต่นี้ เราขอตั้งให้ขุนพิทักษ์ราชกิจเป็นแม่ทัพรักษาการณ์ ให้รับผิดชอบราชการงานทัพแทนเราทั้งสิ้นมวล ให้หมื่นฤทธิณรงค์เป็นยกกระบัตรช่วยราชการงานทัพแม่ทัพรักษาการณ์นี้ หากมีเหตุการณ์ใดให้ถือเอาการตัดสินใจของท่านทั้งสองเป็นสิทธิ์ขาด จงเทพยุดาฟ้าดินทราบทั่วกัน..."

    "พระพุทธเจ้าข้า" ขุนทหารทั้งสองถวายบังคมรับพระบัญชา

    "พวกท่านนี่ต้องให้บังคับอยู่เรื่อย..." พระอินทราธิปตรัสบ่นเชิงยิ้มหยอก ขุนพิทักษ์ส่ายหัวด้วยความหนักใจ แต่ก็ทูลถาม

    "ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า ทำไมพระองค์ต้องเสด็จไปเองด้วยพระเจ้าข้า" หมื่นฤทธิ์เงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์ นัยว่าอยากถามอย่างนี้เช่นกัน

    พระอินทราธิปสรวลเล็กน้อย ก่อนตรัส...

    "...เมื่อจักไปเยี่ยมผู้ใหญ่ต่างบ้านต่างเมืองให้เขาซึ้งในน้ำใจเรา ระหว่างนำของขวัญที่ใช้ให้คนไปนำมา กับนำของล้ำค่าที่สู้อุตส่าห์ไปหามาเองและนำมามอบเองนั้น อย่างใดผู้ใหญ่เขาถึงจักซาบซึ้งมากกว่ากัน..."

    เมื่อได้ฟังดังนั้นขุนทหารทั้งสองก็เข้าใจ พลันยกมือไหว้อนุโมทนา

    "...จงแต่งม้าเร็วให้เราตัวหนึ่ง อีกห้าราตรีเราจักกลับมา..."

    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

    ::กรุงศรีอยุธยา::

    เมื่อเสร็จศึกสวรรคโลกแล้ว พระนเรศวรและพระเอกาทศรถก็กวาดต้อนประชาชนลงมารวมกันไว้ที่พิษณุโลก ดำริให้ต่อเติมกำแพงเมืองออกไปให้มั่นคงขึ้นอีก ครั้นแล้วพระองค์ทั้งสองก็เสด็จโดยชลมารคนิวัติกรุงศรีอยุธยา เพื่อมาจัดราชการงานทัพเตรียมรับศึกหงสาวดีที่จะยกเข้ามาปลายปี

    กองอาทมาตผู้ทำหน้าที่หาข่าวอยู่ชายแดนนำความมาแจ้งต่อพระองค์ว่าหงสาวดีเริ่มจัดทัพเป็นมั่นคงแล้ว รอเพียงแต่พระราชบัญชาของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเท่านั้นจึงจะเริ่มยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาตามแผน

    ทัพหนึ่งมีไพร่พล ๓๐,๐๐๐ จัดเตรียมทัพไว้ที่เมืองพะสิม มีพระยาพะสิมเป็นแม่ทัพ จะยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ผ่านช่องเขาสะเดา เข้าเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และจะตั้งทัพอยู่รอบกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาเพื่อรอทัพทางเหนือยกลงมาเสริม

    อีกทัพหนึ่งมีไพร่พล ๑๐๐,๐๐๐ จัดเตรียมทัพไว้ที่เชียงใหม่นครพิงค์ มีมังมหานรธา พระอนุชาธิราชในพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเป็นแม่ทัพ จะยกลงมาสมทบกับทัพของพระยาพะสิม โดยเคลื่อนลงมาทางพิชัย สวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลกสองแคว กำแพงเพชร ชัยนาท พรหมบุรี บางพุทรา ป่าโมกข์วิเศษไชยชาญ และเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา

    พระนเรศวรพอได้ทรงทราบดังนั้นก็จัดทัพเตรียมพร้อมไว้ ๒ ทางเช่นกัน คือให้เกณฑ์พลทหารชั้นฝีมือลงมาจากหัวเมืองเหนือ อันมีนักดาบคุ้มกำแพงเพชร และคุ้มพิชัยเป็นต้นจำนวนหมื่นเศษ จัดเป็นทัพบก และให้พระยาสุโขทัยเป็นแม่ทัพ ตั้งรอทัพเชียงใหม่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา

    อีกทัพหนึ่งจัดเป็นทัพเรือติดปืนหามแล่น ให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพ และให้พระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร จอดเรือรอท่าไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน

    อีกทั้งยังทรงแต่งกองโจรขึ้นกองหนึ่ง ให้คอยสะกดตามทัพหงสาวดีเพื่อตัดเส้นทางลำเลียง ปล้นและทำลายเสบียง เพื่อตัดทอนการส่งกำลังบำรุงอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยกองโจรดังกล่าวเป็นกองรบที่ทรงแอบฝึกขึ้นอย่างลับๆ ทั่วไปตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ เพื่อทรงเอาไว้ใช้ในการนี้โดยเฉพาะ มีจำนวนมากน้อยเท่าใดไม่ปรากฏ โดยทั้งหมดจะขึ้นการบังคับบัญชาต่อพระองค์โดยตรง...

    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

    ::หงสาวดี::

    ...ทางฝ่ายพระอินทราธิปราชนัดดาได้รับความช่วยเหลือจากพระภิกษุอูแสง เจ้าฟ้าเมืองหน่ายเก่าที่อุปสมบทอยู่ในหงสาวดี และเจ้านางมินตยา พระชายามอญของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ผู้เป็นธิดาเจ้าเมืองเมาะตะมะ จึงได้ลอบเข้าไปนำตัวพระโอรสของเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังออกมาได้...

    โอรสของเจ้าฟ้าเมืองคังนั้นอายุได้เพียง ๑๒ ชันษา แต่ก็ทราบเหตุการณ์บ้านเมือง ทันทีที่ทราบว่าพระอินทราธิปลอบเข้ามาช่วยให้กลับไปพบพระบิดา ก็ทรงติดตามมาโดยไม่รีรอ

    พระอินทราธิปทอดพระเนตรเห็นพระโอรสน้อยผู้นี้ก็ให้นึกสังเวชถึงอดีตของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาพระนเรศวรยิ่งนัก โดยระหว่างเสด็จกลับก็ทรงเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระนเรศวรให้พระโอรสของเจ้าฟ้าเมืองคังฟัง พระโอรสน้อยก็ทรงสดับฟังอย่างตั้งใจ ในพระทัยนึกศรัทธาพระนเรศวรยิ่งนัก ดำริว่าหากเมื่อเจริญวัยแล้วไทยใหญ่ยังมิเป็นเอกราช พระองค์นี้แหล่ะจักเป็นผู้นำไทยใหญ่ทั้งมวลต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราช เฉกเช่นเดียวกับที่พระนเรศวรทรงกระทำต่อกรุงศรีอยุธยาของพระองค์

    พระอินทราธิปถูกพระราชอัธยาศัยในพระโอรสน้อยพระองค์นี้ยิ่งนัก ระหว่างพักเดินทางก็ทรงเล่า และทรงสอนเกร็ดวิชาว่าด้วยการรบ การสงคราม และยังทรงถอดพระธำมรงค์นาควงหนึ่งพระราชทานแก่พระโอรสน้อยด้วย พระโอรสของเจ้าฟ้าไทยใหญ่นี้มีนามว่า ปางเคอ อันมีความหมายว่า ที่พึ่งพิงของหมู่ญาติ

    ...ครั้น ๒ ราตรีต่อมา พระองค์ทั้งสองก็เร่งม้าเร็วกลับมาถึงเมืองหน่าย...

    วันรุ่งขึ้น พระอินทราธิปก็ควบม้ามุ่งตรงไปยังค่ายพักทัพของเจ้าฟ้าเมืองคัง พร้อมด้วยขุนทหารทั้งสอง โดยให้เอาหนังเสือคลุมอำพรางพระโอรสปางเคอไว้และให้ประทับกับม้าของหมื่นฤทธิณรงค์

    เมื่อทหารยามเห็นแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามมาเพียงลำพัง มิได้ยกกองทัพติดตามมามากมาย อีกทั้งยังได้รับคำสั่งจากเจ้าฟ้าเมืองคังไว้ว่า เมื่อใดที่เจ้าฟ้าอินทาแม่ทัพฝั่งตรงข้ามขอเข้ามาในค่าย ให้จัดแถวต้อนรับอย่างสมเกียรติและให้นำเสด็จมาจนถึงกระโจมแม่ทัพ จึงร้องบอกทหารในค่ายให้ตั้งแถวต้อนรับ มีนายกองออกมาทำความเคารพและนำทางไปพบเจ้าฟ้าเมืองคัง

    ครั้นเมื่อพระอินทราธิป พร้อมขุนทหารทั้งสอง เดินม้ามาถึงกระโจมของเจ้าฟ้าเมืองคังแล้ว เจ้าฟ้าเมืองคังก็ออกมาต้อนรับทูลเชิญให้ลงจากม้ามานั่งสนทนาตามธรรมเนียม

    เจ้าชายหนุ่มทอดพระเนตรไปโดยรอบ บรรดาทหารไทยใหญ่นั้นมีร่างกายกำยำ แต่นัยน์ตาแฝงไว้ด้วยความอ่อนแอ ไม่อยากรบ การยกทัพมาครั้งนี้เป็นการยกมาตามบัญชา มิได้มีใจคิดรบเลย

    พระอินทราธิปทอดพระเนตรอยู่บนหลังม้านั้นก็ดำริในใจว่า คนพวกนี้ถูกสั่งมารบ ก็เสมือนม้าถูกกุมบังเหียน ครั้นเขาดึงไปทางใดก็ต้องวิ่งไปทางนั้น เขาดึงเข้ารบก็ต้องเป็นม้ารบตามเขา ทรงนึกแล้วก็อนาถพระทัย

    ทันใดนั้นพระอินทราธิปราชนัดดาก็เผยตราประจำพระองค์ออกมา พร้อมตรัสเปิดเผย

    "เราคือพระอินทราธิปราชนัดดาแห่งกรุงศรีอยุธยา..." เมื่อได้ทราบดังนั้นทหารไทยใหญ่เมืองคังทุกผู้ต่างตกใจ ลดอาวุธคุกเข่าถวายบังคม

    "...สมเด็จพี่เราประกาศตนไม่ขึ้นต่อหงสาวดีแล้ว บัดนี้เราทราบว่าบรรดาไทยใหญ่ทุกผู้ก็ล้วนมีทุกข์อยู่ใต้อำนาจอ้ายพวกพม่าหงสาวดีเช่นกัน...

    ...แต่ไรมา ไทยใหญ่แลไทยสยามก็เป็นพี่น้องท้องเดียวมีสัมพันธ์กันมาช้านาน ยังแต่อ้ายพม่าหงสาวดีนั้นแล ที่เข้ามาครอบครองดินแดนอันเป็นเอกราชของพวกเรา ทำให้เราชาวไทยต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเอง...

    ...บัดนี้ถึงกาลอันสมควรที่ไทยทั้งมวลจักต้องออกจากอำนาจของหงสาวดี..."

    เมื่อตรัสเสร็จพระอินทราธิปราชนัดดาผินพระพักตร์ไปทางเจ้าฟ้าเมืองคัง รับสั่งให้ลุกขึ้น

    "...บัดนี้เราได้ชาวเมืองหน่ายไว้เป็นกำลังต่อรบหงสาวดีแล้ว เราเห็นว่าเมืองคังนั้นมีนักรบฝีมือดีอยู่ ทั้งยังชิงชังพม่ายิ่งนัก หากยังฝืนอยู่ใต้อำนาจหงสาวดีต่อไป ก็น่าเสียดายที่ไทยจักมิได้เป็นไทแล้ว โอกาสมาถึง...หากมิรีบเป็นไทเสียแต่เพลานี้ ยังจะมีเพลาไหนอีกเล่าที่พวกท่านจักได้กระทำ..."

    "...ต...แต่...หงสาวดีนั้นเข้มแข็งนักพ่อเจ้า ลำพังเพียงไทยใหญ่สองเมืองนั้นมิอาจขับไล่พวกมันได้ดอก" เจ้าฟ้าเมืองคังตรัสแก้

    "ใครว่า ...เพียงสองเมืองนี้แหล่ะ ที่พอมีใจคิดต่อต้านหงสาวดี เมืองอื่นนั้นเขาเอาใจเข้ากับหงสาวดีหมดสิ้นแล้ว หากสองเมืองใหญ่นี้มิเอาใจออกห่างอย่างเปิดเผยให้เมืองอื่นได้เห็น มีหรือที่เมืองอื่นเขาจักกล้า..." พระอินทราธิปตรัส เจ้าฟ้าไทยใหญ่นิ่งและก้มพักตร์ลง พระอินทราธิปตรัสต่อ

    "ปางโหลง ลอกจอก ลายค่า ตองยี เมืองมีด เมืองกึ๋ง เชียงตุง เชียงของ เชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ เขลางค์ หริภุญชัย ก็ล้วนไทยทั้งสิ้น ท่านพินิจดูเถิด ยังมีพวกพ้องเผ่าไทยเราอยู่มากมาย แต่มิมีใครกล้าหาญจักเป็นผู้นำต่อรบพม่าแม้เพียงผู้เดียว อย่างเชียงใหม่ บัดนี้ก็เป็นพม่าเสียครึ่งเมืองแล้ว... ทั้งที่เป็นเมืองของไทยเรามาช้านาน"

    เจ้าฟ้าไทยใหญ่น้ำตานองอัดอั้นอยู่ในใจ พระอินทราธิปเห็นดังนั้นก็ทราบด้วยใจของเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทรงดำริถึงโอรสที่เป็นตัวประกันอยู่ในหงสาวดี

    ครั้นแล้วก็ทรงตรัสต่อ

    "วันนี้...เรามาเยี่ยมเยียนทัพคู่ศึกที่เป็นไทยด้วยกัน ตามธรรมเนียมนั้นย่อมมีของขวัญมามอบให้..." หมื่นฤทธิณรงค์ได้ยินดังนั้นก็อุ้มของขวัญห่มหนังเสือลงมาจากหลังม้า เจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังมองดูห่อหนังสัตว์ด้วยความฉงน

    "นี่เป็นบรรณาการจากเรา..." หมื่นฤทธิณรงค์อุ้มของไปตั้งไว้หน้าเจ้าฟ้าไทยใหญ่

    "ขอบพระทัยพระเจ้าข้า..." เจ้าฟ้าไทยใหญ่ทูล พลันพระอินทราธิปตรัส

    "แกะดูของในห่อเถิด เราได้ของขวัญนี้มาด้วยความลำบากยิ่ง และขอมอบให้ท่านด้วยใจจริง" เจ้าฟ้าไทยใหญ่สั่งให้ทหารลุกขึ้นมาแกะห่อหนังออก

    ปรากฏสิ่งของในห่อนั้นเป็นองค์พระโอรสปางเคอ เจ้าฟ้าไทยใหญ่เห็นดังนั้นก็โสมนัสยิ่ง พลันแล่นเข้าไปกอดพระโอรสน้อยไว้ พ่อลูกต่างรำพันถึงกัน บรรดาทหารไทยใหญ่เห็นดังนั้นก็ตื้นตันใจกลั้นน้ำตากันไว้ไม่อยู่ บ้างก็ยกมือขึ้นอนุโมทนาในพระเมตตาและพระอัจฉริยะของพระอินทราธิป

    พระอินทราธิปแย้มพระสรวลอย่างพอพระทัย...

    "เมื่อได้รับน้ำใจจากเราแล้ว คราวนี้ท่านจักมีนำใจให้แก่เราบ้างหรือไม่..." พระอินทราธิปตรัสถาม พลันเจ้าฟ้าเมืองคังทูลตอบ

    "ข้าเจ้าซาบซึ้งในพระกรุณาของพ่อเจ้ายิ่งนัก..." มิทันสิ้นเสียงของเจ้าฟ้าไทยใหญ่ บรรดาทหารเมืองคังทุกผู้ต่างเปล่งเสียงออกมาโดยพร้อมเพรียง

    "ทรงพระเจริญ!!...ทรงพระเจริญ!!...ทรงพระจริญ!!..."

    พระอินทราธิปราชนัดดาทอดพระเนตรไปโดยรอบก็ทรงปลื้มปิตินัก ทรงทราบโดยทันทีถึงจิตใจอันแท้ของบรรดาทหารเมืองคังที่มุ่งมั่นอยากต่อรบกับหงสาวดี

    เย็นวันนั้นทางฝ่ายทหารไทยใหญ่ทั้ง 2 เมืองจึงจัดทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์ถวายสัตยาว่าจะเข้าร่วมกับกรุงศรีอยุธยาต่อต้านหงสาวดี...

    ...ทางฝ่ายหงสาวดีทราบแล้วด้วยพระโอรสของเจ้าฟ้าเมืองคังหายไปดังนี้ ย่อมหมายว่าเจ้าฟ้าเมืองคังคิดออกห่างหงสาวดีแล้วเป็นแน่ จึงมีสารไปถึงพระเจ้าอังวะ ให้ส่งทัพไปช่วยรบศึกเมืองหน่ายอีกห้าพัน...

    <><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><><>

    ...สองเมืองหลักไทยใหญ่ร่วมในทัพ
    จะร่วมขับร่วมไล่อ้ายหงสา
    ละเลงเลือดเดือดดาลผลาญพสุธา
    ขอเข่นฆ่าอย่างไม่เห็น...ว่าเป็นคน...

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×