ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ::ฮาหัวเกรียน...นักเรียนนายร้อยตำรวจ::

    ลำดับตอนที่ #5 : ศัพท์เทคนิค

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 5.62K
      6
      8 ก.ย. 52

    ศัพท์เทคนิค

    สำหรับตอนนี้ผมขอบรรยายพิเศษเรื่องศัพท์เทคนิคครับ

    ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจอันตรงกันของผู้อ่านและผู้เขียน เพราะว่าบางทีผมเขียนๆไป มันเผลอจะใช้ศัพท์เทคนิคอยู่เรื่อย

    เอาคำนามก่อนแล้วกันนะครับ...

    "ผู้ช่วย" คำๆนี้หมายถึงนักเรียนบังคับบัญชา หรือที่ผมมักเขียนว่า นักเรียนปกครอง มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด" ซึ่งจะแต่งตั้งจาก นรต.ชั้นปีที่ 4 ให้ทำหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา นรต.ในแต่ละชั้นปี พี่ๆพวกนี้จะเป็นผู้บังคับบัญชาระดับต้น จะใกล้ชิดกับ นรต. มากที่สุด ... ให้คุณและให้โทษได้ตลอดเวลา

    "ทำการแทน" ก็หมายถึง นรต.ชั้นปีที่ 3 ที่ต้องทำหน้าที่เสมือนเป็น 'ผู้ช่วย' ทันทีที่พี่ชั้นปีที่ 4 ออกไปฝึกงานในเทอมปลาย ทำการแทนก็จะขึ้นปกครอง เรียกได้ว่าเป็นช่วงของการ'เปลี่ยนแผ่นดิน' นรต.ชั้นปีที่ 3 ที่ได้รับการคัดเลือกก็จะผลัดเปลี่ยนหมนุนเวียนกันไปตามกองร้อยต่างๆเพื่อทำหน้าที่แทน'ผู้ช่วย'  ซึ่งในหมู่ทำการแทนนั้นจะมีเพียงไม่ถึงครึ่ง ที่จะได้ทำหน้าที่เป็น 'ผู้ช่วย' ตัวจริง เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4

    "โกโร่" เอาแล้วครับ...เริ่มเข้าสู่โหมดไร้สาระ คำๆนี้สงวนไว้สำหรับ นรต.ที่มีความประพฤติแปลกๆ หรือมีหน้าตาดิบๆ ประเภทล่ำ ดำ ถึกเกินมาตรฐาน นรต. จริงๆแล้วมันย่อมาจากคำว่า 'พิคโกโร่' ตัวละครในการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอล ลองจินตนาการกันดูนะครับ ว่าคนลักษณะไหนถึงจะได้รับสมญานามนี้

    "เว่อร์" ผมไม่แน่ใจว่ามาจากคำว่า "พาวเวอร์"(Power) รึเปล่า แต่มันเป็นคำเรียกของสิทธิพิเศษต่างๆในโรงเรียน เช่นเว่อร์นักกีฬา ก็หมายถึงการได้แยกซ้อม เว่อร์ยามผลัด 2 ก็หมายถึงการเข้ายามตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการโดนจวกก่อนนอน หรือกระทั่งเว่อร์คนป่วย ก็คือการได้งดเว้นการวิ่ง ... ซึ่งเราจะเรียกบุคคลผู้มีสิทธิพิเศษต่างๆเหล่านี้ว่า "คนมีเว่อร์" ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะมีเว่อร์อะไร เว่อร์ใครก็เว่อร์มัน

    "ลุ้น"(n.) คือสมุดคู่มือรวมเคล็ดวิชาต่างๆ ที่จัดทำโดยนักเรียนที่เรียนเก่งๆในแต่ละวิชา ไฮไลท์อยู่ที่หน้าปกลุ้นในแต่ละเทอม การออกแบบของชมรมช่างศิลป์จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมือง

    ตัวอย่างเช่นกรณีของรุ่นผม ตอนชั้น 2 เทอม 2 มีเพื่อนแอบเอาเบียร์ขึ้นมากินบนกองร้อยโดนจับขวดเปล่าได้แล้วไม่ยอมรับ ทั้งๆที่เพื่อนทั้งรุ่นรู้ว่าเป็นใคร แต่ก็ไำม่มีใครปริปาก ต้องทนทุกข์ทรมานโดนจวกชุดเขียว(คือเครื่องแบบฝึกผ้าหนาๆ ใส่เมื่อไร เหนื่อยเมื่อนั้น)กันทั้งสัปดาห์ หน้าปกลุ้นเทอมนั้นก็จะเป็นรูปมนุษย์ปริศนาถือขวดเบียร์ แล้วก็มีข้อความด้านล่างว่า "ขอขอบคุณเบียร์ ELO ผู้สนับสนุนชุดเขียวอย่างเป็นทางการ"

    "โผ" แปลตรงตัวว่าข้อสอบจะออกอย่างนี้แน่ๆ ใครมีโผแล้วไม่บอกเพื่อน คนนั้นถือว่าชาติชั่วมาก เพราะจะถูกตราหน้าว่า "กั๊กโผ"
    ช่วงก่อนสอบ ถ้าเพื่อนคนใดเดินผ่านห้องไหนแล้วเห็นใครก้มหน้าก้มตาอ่านอะไรแปลกๆ เพื่อนคนที่เห็นก็จะตะโกนทั่วกองร้อย "เพื่อนครับ!...ไอ้เอมีโผ" "เพื่อนครับ!...ไอ้บีกั๊กโผ" เป็นต้น ยิ่งถ้าใครอ่านหนังสือคนเดียวไม่มาคุยไม่มาสัมมนากับเพื่อน แล้วคะแนนมันพุ่ง ก็จะถูกตราหน้าว่าไอ้ห่านี่ "อมโผ" หรือจะมีวลีประจานว่า "กั๊กโผแล้วโสขึ้น"

    "โส" มาจากคำว่า "อาวุโส" อันนี้หมายถึงลำดับคะแนนรวมของรุ่น ใครที่ได้คะแนนสูงสุดก็จะเป็น "โสหนึ่ง" เมื่อสำเร็จการศึกษาใครที่เป็นโสหนึ่งก็จะได้เลือกตำแหน่งลงก่อนเพื่อน ส่วน "โสโครก" โสสุดท้ายนี่ไม่ต้องเลือก เพื่อนเลือกไปหมดแล้ว เหลือไว้ให้มันอันเดียว ส่วนมากก็จะได้ไปอยู่ื้ท้องที่ชื่อเพราะๆ เช่น ยะหา ยะหริ่ง ยะรัง ปะแต รือเสาะ เจาะไอร้อง บาตูตัมมง หรือจะเป็นชื่อไทยๆความหมายดีเช่น ธารโต หนองจิก สุคิริน สะบ้าย้อย เป็นต้น

    "ยอด" มาจากคำเต็มว่า "ยอดกำลังพล" พูดภาษามนุษย์ก็คือ จำนวนนักเรียน นั่งเอง (มันจะเรียกให้อลังการทำไมของมัน)

    "มืด" คือลักษณะของการที่มียอด แต่ตัวไม่อยู่ การมืดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากนักเรียนปกครองผู้มาตรวจยอด ซึ่งนี่ก็เป็นความน่ารักอย่างหนึ่งของพี่ๆที่มัก'มืด'ให้น้องบ่อยๆถ้าน้องจำเป็นจริงๆ ถ้าแถวใดมีการมืด แสดงว่ายอดในใบยอดที่ส่งผู้บังคับบัญชา ไม่ตรงกับยอดจริงในแถว ถ้าหากมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ก็ซวยทั้งพี่ทั้งน้อง

    มาต่อกันที่คำกริยา .. ซึ่งมีเยอะมาก

    "ตู้" อันนี้ผมไม่ทราบที่มาจริงๆ แต่มันหมายถึงความเคร่งครัดในระเบียบวินัย เบื้องบนสั่งการมายังไงก็ทำไปตามนั้นไม่มีพลิกแพลง ในกรณีการถูกจวก คนที่'ตู้'ก็คือคนที่ทำท่าทางทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่นดันพื้น ถ้าเป็นมนุษย์ปกติธรรมดาก็อาจจะมีแอ่นหน้าแอ่นหลังบ้าง แต่ถ้าใครตู้จะไม่มีอาการแอ่น สำตัวขนานกับพื้น ดันขึ้นสุดลงสุด ...แน่นอนครับว่า ตู้แล้วเหนื่อย

    "สึม" อันนี้มาพร้อมๆกับ'ตู้' เป็นอาการตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ในบางกรณีอาจหมายถึงการหลบเลี่ยงอย่างแนบเนียน หรือการทำตามๆคนอื่นไปโดยที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือการกระทำใดๆที่เกินสิทธิที่จะสามารถกระทำได้ อาทิเช่น การเดินทางลัด ซึ่งสงวนไว้เฉพาะนักเรียนชั้นสูง นักเรียนชั้นต่ำมักจะอาศัยจังหวะที่ไม่มีใครเห็น'สึม'เดินทางลัด ถ้าไม่มีใครเห็นก็รอดไป ถ้าบังเอิญมีใครเห็นก็ซวย  ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากครับสำหรับการถูกจับ'สึม'

    "อู้" อันนี้ตรงตัวครับ

    "โน" เป็นอาการชนิดหนึ่ง ซึ่งหมายถึงอาการไม่เอาอะไรทั้งนั้น ล่องลอยไปวันๆแบบสายลมและแสงแดด เขาให้ทำอะไรก็ทำ ถึงเวลากินก็กิน ถึงเวลานอนก็นอน โลกจะหมุนไปยังไง ใครจะทำอะไรก็ปล่อยมัน กูวางเฉย กูอุเบกขา (แต่อันที่จริง'ความโน'นี่มันยิ่งกว่าอุเบกขานะครับ)

    "มึน" อันนี้เป็นอาการคล้ายๆโน แต่อาการมึนนี่มันออกไปทางกูไม่รู้ กูไม่เห็น กูไม่ทราบ ใครว่าไงกูว่างั้น ใครถามอะไรกูก็ไม่รู้เรื่อง เขาไปไหนมาไหนอะไรยังไงกูก็ไม่รู้เรื่อง ... ประมาณนั้น

    "เชิง" เป็นอาการตอแหลชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นในยามจำเป็น เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการเอาตัวรอด ยกตัวอย่างเช่นเวลาโดนจวกหนักๆ ใครเชิงดีๆหน่อยก็จะลงไปชักดิ้นชักงอ ตาเหลือก เหมือนคนใกล้ตาย ทำให้เกิดผลทางจิตวิทยาต่อผู้สั่งจวกค่อนข้างรุนแรง หรือในบางครั้งถูกสั่ง"ปล่อยม้า"(การวิ่งอ้อมจุดๆหนึ่งแล้วกลับมาที่เดิมด้วยความเร็วสูงสุด) คนเชิงๆก็จะวิ่งๆไปแล้วก็ไปล้มขาแพลงแข้งพลิก ให้เพื่อนรุมปฐมพยาบาล เรียกได้ว่า นอกจากตัวเองจะได้สึมแล้ว เพื่อนก็ยังได้รับอานิสงส์ไปด้วย

    สำหรับบรรยากาศการเชิงนั้น พอคนแรกล้มปุ๊บ คนที่ 2,3,4 และ 5 ตามลำดับก็จะวิ่งกรูเข้ามาช่วย แล้วก็จะมีเสียงเล็กๆจากเพื่อนที่เข้าไปช่วยเล็ดลอดออกมาว่า "มึงทำเนียนๆ"

    "ลุ้น"(v.) คนละเรื่องกับ'ลุ้น'ที่เป็นคำนาม ลุ้นอันนี้หมายถึงการมา'ขอ'สิทธิต่างๆต่อนักเรียนบังคับบัญชา การลุ้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรกระทำ เพราะเมื่อลุ้นแล้วจะมีเพื่อนเดือดร้อนแทนเรา อาทิเช่น สัปดาห์นี้โดนกักบริเวณแล้วเราไปลุ้น ถ้าลุ้นผ่าน หมายความว่าจะต้องมีเพื่อนเคราะห์ร้ายมาอยู่แทน'ยอด'ของเรา แล้วเราก็ได้กลับบ้านสบายใจเฉิบ

    "โฮก" คือการปลดปล่อยศักยภาพในการกินออกมาเกินกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะกระทำได้ เช่นข้าว 1 จานสำหรับคนทั่วไปพออิ่ม แต่ถ้าเป็นคน'ซัดโฮก'ก็จะล่อข้าว 1 หม้อ เป็นต้น

    "เสื่อม" อาการประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อความเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจด้วยประการทั้งปวง

    "ตีแมว" เป็นกิจกรรมหมู่ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเลือกเป้าหมายเป็นคนที่ทำให้เพื่อนทั้งรุ่นเดือดร้อน การตีแมวจะใช้วัสดุหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมอน ผ้าเช็ดตัวม้วนๆ กระดาษแข็ง ไม้ ถังดับเพลิง ดัมเบล ไม่เว้นแม้แต่ 'ตีน' สดๆ

    เริ่มต้นด้วยการเลือกช่วงเวลาหลังสัญญาณแตรนอนดังไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง เป้าหมายเข้านอนเป็นที่เรียบร้อย คณะตีแมวซึ่งประกอบไปด้วยพลผ้าห่ม และกำลังพลพร้อมอาวุธครบมือก็จะค่อยๆย่องเข้าไปในห้องนอนและตรงไปที่เตียงของเป้าหมาย เมื่อทุกฝ่ายพร้อม พลผ้าห่มก็จะสะบัดผ้าห่มคลี่ออกเพื่อคลุมร่างของเป้าหมาย แล้วจากนั้นไม่ถึงเสี้ยววินาทีทุกคนในคณะตีแมวก็จะกระหน่ำอาวุธที่เตรียมมาสู่ร่างของเป้าหมาย ... แล้วสลายตัวไปคนละทิศคนละทางอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งไอ้บ้านั่นนอนชักอยู่บนเตียง...

    การตีแมวมีจุดประสงค์เพื่อสั่งสอนเพื่อนที่ทำให้เพื่อนทั้งรุ่นเดือดร้อน แต่ในปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนให้มาใช้กับคืนวันเกิดของเพื่อนด้วย ... ฉะนั้นแล้วถึงวันเกิดใคร เจ้าของวันเกิดมักจะไม่นอนเตียงตัวเองในคืนนั้น เพื่อนบางคนเห็นเตียงว่างๆไม่รู้อิโหน่อิเหน่มานอนหลับสบายใจ ... มึงก็ซวยไป

    "เข้าเสา" ถ้าท่านผู้อ่านคิดว่า'ตีแมว'โหดแล้ว ลองมาทำความรู้จักกับอันนี้ดูครับ การเข้าเสานั้นคือการรุมจับแขนจับขาเหยื่อ โดยที่จับขาถ่างออกเป็นรูปตัว Y ซึ่งมันก็จะเกิดช่องว่างระหว่างวัยให้เพื่อนๆที่เหลือใช้เข่าสดๆพุ่งตรงอัดกระแทกเข้ามา ... อูย ...

    และมีอีกประเภทนึงที่จับเหยื่อถ่างขาไว้ลักษณะนั้น แล้วเลือกเสาต้นงามๆ ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟทางเดิน เสาไฟซีเมนต์ หรือต้นไม้ จับเหยื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงอัดเข้ากับเสา ... บอกได้คำเดียวครับว่า 'หมัน'  ความรุนแรงของการเข้าเสานั้น บางครั้งต้นไม้ถึงกับหักโค่น...

    แต่การเข้าเสานี้ไม่ได้มีไว้เพื่อลงโทษนะครับ ... มันมีไว้สำหรับการฉลอง และส่วนมาก...มักทำกับ"รุ่นพี่"ในโอกาสวันอำลาต่างๆ

    คำนามก็ผ่านไปแล้ว
    กริยาเท่าที่นึกได้ก็น่าจะประมาณนี้
    ต่อไปผมจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับคำคุณศัพท์กันสักเล็กน้อยครับ...

    "แฟรงค์" หมายถึงรุ่นพี่ที่ใจดีมากๆ

    "ฝืด" หมายถึงรุ่นพี่ที่เคร่งครัดมากๆ

    "หมา" หมายถึงรุ่นพี่ที่นิสัยเลวๆ

    "บัว" หมายถึงสุภาพสตรีที่หน้าตาไม่ได้เรื่อง มันมีที่มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่าบัวมี 4 เหล่า เหล่าที่แย่ที่สุดคือ'บัวในตม'ที่รอวันเวลาให้เต่าปลามาเทะเล็ม แต่'บัว'ของ นรต.คือบัวเหล่าที่ 5 เป็น 'บัวเต่าถุย' ขนาดเต่าแม่งยังถุย...คิดเอาแล้วกันครับว่าคำว่า 'บัว' นี่มันน่าเอ็นดูขนาดไหน

    "โทรม" คล้ายๆ'บัว'แต่ใช้กับสิ่งของและเครื่องแต่งกาย

    นอกจากคำศัพท์ด้านบนทั้งหมดที่ผมบรรยายมานี้ มันยังมีคำต่างๆที่ใช้กันผลุบๆโผล่ๆอยู่อีก ซึ่งผมก็นึกไม่ค่อยออก แถมยังมีชื่อจัดตั้งที่ใช้เป็นนามเรียกขานผู้บังคับบัญชาอีกเยอะแยะมากมาย

    รวมถึงฉายาแปลกๆของพี่ๆที่ล้วนกลั่นมาจากสมองของ นรต. ที่ถ้าท่านผู้อ่านได้ทราบแล้ว จะต้องอึ้ง ... อึ้งว่ามันคิดกันได้ยังไง อาทิเช่น วอแว ,ปู่โกะ ,บราห์มัน หรือโซฮาน

    เอาเป็นว่าถ้าเขียนๆไปแล้วพอจะนึกขึ้นได้ ผมก็จะวงเล็บขยายความเอาไว้นะครับ



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×