ยอยศการเมืองภาคประชาชน,นาฏกรรมบนลานกว้าง,กระทู้ว่าด้วยการนินทาสาวไส้activist-นักกิจกา - ยอยศการเมืองภาคประชาชน,นาฏกรรมบนลานกว้าง,กระทู้ว่าด้วยการนินทาสาวไส้activist-นักกิจกา นิยาย ยอยศการเมืองภาคประชาชน,นาฏกรรมบนลานกว้าง,กระทู้ว่าด้วยการนินทาสาวไส้activist-นักกิจกา : Dek-D.com - Writer

ยอยศการเมืองภาคประชาชน,นาฏกรรมบนลานกว้าง,กระทู้ว่าด้วยการนินทาสาวไส้activist-นักกิจกา

ว่าด้วยเรื่ิองของนักกิจกรรมสังคมกับการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมที่ยังไงก็หนีผลประโยชน์ส่วนตัวไม่พ้น

ผู้เข้าชมรวม

1,100

ผู้เข้าชมเดือนนี้

1

ผู้เข้าชมรวม


1.1K

ความคิดเห็น


1

คนติดตาม


1
เรื่องสั้น
อัปเดตล่าสุด :  10 มิ.ย. 53 / 00:17 น.


ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้

ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
     องค์ที่1:สายธารของภาคประชาชน:ต้นธารปฏิรูปVSต้นธารการปฏิวัติ

    (หมายเหตุ:ขอออกตัวว่าผม(ลุงรักในหลวงห่วงลูกหลาน แห่งบอร์ดฟ้าเดียวกัน)เขียนจากความทรงจำล้วนๆ และบันทึกต่างๆที่เคยศึกษามา ไม่ได้เปิดตำราเขียน อาจคลาดเคลื่อนวันเดือนปี ชื่อแซ่รายละเอียดปลีกย่อยได้-คนเขียนกระทู้นี้ ชื่อใต้หล้า จากเวบประชาไท)

    หากเทียบกับสายน้ำใหญ่แล้ว ประเทศไทยย่อมเคลื่อนไหวในกระแสธารหลัก(Main stream)อันมั่งคั่งเด่นอุดมด้วยสภาพแห่งความเป็นอนุรักษ์นิยม+จารีตนิยม+อำนาจนิยม+บริโภคนิยม

    ทว่าก็มีอีกสายที่ประดุจดั่ง”น้ำแยกสาย” เราเรียกมันว่า”สายธารทางเลือกของประชาชน” หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า”ภาคประชาชน”

    ในบทความนี้ผมจะไม่กล่าวถึงสายธารหลักของสังคมไทย เนื่องจากกล่าวไว้ในบทความอื่นของบทความชุดนี้ไปแล้ว แต่จะเจาะจงลงไปที่สายธารของภาคประชาชน หรือจะเรียกสายธารกระแสทวน หรือสายธารทางเลือกก็ตามใจ และตามที่เป็นจริง(ดังจะกล่าวต่อไป)

    หลังการปฏิวัติ2475ของคณะราษฎร์แล้ว ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำทางสติปัญญาของคณะฯต้องล้มเหลวในการปฏิวัติประชาชาติด้านเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง เมื่อต้องเผชิญแรงปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิวัติจากพลังจารีตนิยมและอนุรักษ์นิยม+อำนาจนิยม เขาจำต้องกลายเป็นนักปฏิรูปสังคมด้วยข้อจำกัดดังกล่าวในระยะต่อมา

    ภายหลังการถึงแก่การอสัญกรรมของนายพันเอกพระยาทรงสุรเดชอย่างอนาถาในอินโดจีน ก็นับเป็นการขจัดเสี้ยนหนามสำคัญทางทหารของจอมพลป.ผู้เผด็จการ เหลือหอกข้างแคร่ก็เพียงผู้นำสายพลเรือนคือปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต้องเผชิญข้อหาร้ายแรงที่สุดในคราวสวรรคต9มิถุนายน2489

    หลังรัฐประหาร8พ.ย.2490ซึ่งพลิกผันชะตาจอมพลป.จากอาชญากรสงครามกลับสู่บัลลังก์นายกรัฐมนตรีนั้น... ความพยายามการรื้อฟื้นตำนานคณะราษฎร์ของปรีดีต้องประสบความล้มเหลวลงหลายครั้ง หลายคราว ทั้งกรณีกบฏวังหลวง พ.ศ.2492 ทั้งกรณีกบฏเสนาธิการในระยะถัดมา และกรณีกบฏแมนฮัตตันในปี2494 เป็นการปิดฉากของปรีดี พนมยงค์อย่างเบ็ดเสร็จ และเปิดศักราชใหม่ของเผด็จการเต็มคราบ

    การกวาดล้างใหญ่ของฝ่ายเผด็จการหลายครั้งหลายระลอกเต็มไปด้วยบาดแผลและเลือด เนื้อของสานุศิษย์ปรีดี ทั้งกรณี4รัฐมนตรีอีสาน เตียง ศิริขันธ์ -จำลอง ดาวเรือง-ทองอินทร์ ภูริพัฒน์-ถวิล อุดล และกรณีนักหนังสือพิมพ์อารีย์ ลีวีระ ทั้งกรณีของการเหวี่ยงแหจับกบฏสันติภาพนำโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์-ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และบุตรชาย

    การกวาดล้าง ดำเนินต่อไปอีกหลายระลอก กระทั่งการกวาดจับนักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ,ทองใบ ทองปาวด์ ,รพีพร ,อุธรณ์ พลกุล เป็นอาทิ

    หลังการอสัญกรรมของผู้เผด็จการสฤษดิ์ในปี2506 ความคลี่คลายขยายตัวของ”ภาคประชาชน”เหล่านี้ก็แยกสายธารอย่างเด่นชัดเป็นแม่น้ำ2สาย คือสายการปฏิวัติ อันเป็นสายกระธารกระแสทวนกับสายธารกระแสหลัก กับสายธารทางเลือก หรือเน้นการปฏิรูป

    ทว่าทั้งสองสายล้วนมีต้นธารมาจากแหล่งเดียว ต้นน้ำนั้นชื่อปรีดี พนมยงค์...


    องก์ที่2.ว่าด้วยสายธารกระแสทวน-สาธารการปฏิวัติของภาคประชาชนยุคเมื่อแรก

    ครูครอง จินดาวงศ์ แห่งสกลนคร ผู้สืบสายธารของเตียง ศิริขันธ์ (ขุนพลภูพานตำนานเสรีไทยสายอีสาน และMissionลับสหพันธรัฐอินโดจีน หรือหน้าตาคล้ายๆสหภาพยุโรปเวลานี้ สานุศิษย์ปรีดี)ถูกสฤษดิ์ยิงเป้าในพ.ศ.2506 ย่อมยังผลสะเทือนต่อไขแสง สุกใส นักการเมืองหนุ่มน้อยนครพนม ผู้ชมชื่นทั้งเตียงและครอง สะเทือนไปถึงเปลื้อง วรรณศรี แห่งสุรินทร์,แคล้ว นรปติ-ทองปักษ์ เพียงเกษ แห่งขอนแก่น

    การสังหารโหดทั้งนอกกฎหมายและในนามมาตรา17 นอกจากผลักดันให้นักการเมืองหนุ่มภาคอีสานหันมาสมาทานลัทธิสังคมนิยม(อันเป็นสถานการณ์สากลเวลานั้นที่มีให้เลือกคือประชาธิปไตยในนามเผด็จการที่อเมริกา ชี้ชัก กับผลสะเทือนของการปฏิวัติอินโดจีนของโฮจิมินห์ และขบวนประเทดลาว กับขบวนการรักชาติในกัมพูชา) ก็เป็นแรงผลักดันให้ปัญญาชนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์-อัศนี พลจันทร(นายผี),อุดม ศรีสุวรรณ-(พ.เมืองชมพู) และพันโทโพยม จุลานนท์(ส.คำตัน) เดินทางสู่เขตป่าเขาร่วมทัพการต่อสู้กับพรรคการเมืองนอกกฎหมายอย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)

    อีกบางส่วนเดินทางลี้ภัยในประเทศสังคมนิยมอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์(ศรีบูรพา) แม้กระทั่งปรีดีและครอบครัว

    ต้นสายปลายธารของภาคประชาชนสายการปฏิวัติดำเนินสืบเนื่องมาสู่เจเนชั่นที่ 2 เมื่อไขแสง สุกใส เข้าไปมีการนำต่อผู้นำนักศึกษายุคก่อน14ตุลาฯอย่างธีรยุทธ์ บุญมี-เสกสรร ประเสริฐกุล-ธัญญา ชุณชฎาธาร-สมคาด สืบตระกูล-ประสาร มฤคพิทักษ์-พิรุณ ฉัตรวนิชกุล แม้กระทั่งไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ-ๆไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และฯลฯ

    และ หลัง14ตุลา2516ก็ผลิตซ้ำอุดมการณ์ผ่านไปยังคนรุ่นเกรียงกมล เลาหไพโรจน์-คำนูณ สิทธิสมาน-พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ-หมอมิ้งพรหมินทร์,ภูมิธรรม เวชยชัย,สุธรรม แสงปทุม,สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล,ธงชัย วินิจกุล ,นักศึกษาแพทย์จาตุรนต์ ฉายแสง-จิ้นกรรมาชน-หงาคาราวาน-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ-เสถียร จันทิมาธร และขบวนการนักศึกษาขนาดใหญ่พอสมควร กระทั่งขบวนการนักศึกษานั้นหันมาสมาทานในลัทธิสังคมนิยมอย่างลึกซึ้ง

    จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าพอเกิดกรณี6ตุลาคม 2519แล้ว นักศึกษากว่า3,000คนได้เข้าร่วมกับพคท.จับอาวุธขึ้นสู้ในเขตป่าเขา ยกเว้นแต่สายที่นิยมการลุกฮือในเมือง อย่างสายของผิน บัวอ่อน(อันมีคำนูณเป็นแก่นแกนสายนี้)

    การปฏิวัติในเขตป่าเขาปิดฉากลงด้วยความขมขื่นพ่ายแพ้ของ”ภาคประชาชน”สายนี้ เมื่อเจเนเรชั่นนี้ต้องไปเกิดCultural gapกับเจเนเรชั่นแรกอย่างพ.เมืองชมพู,นายผี หรือใครต่อใครประการหนึ่ง

    อีก ประการหนึ่งสถานการณ์ในทางสากลพลิกผันอย่างรวดเร็ว จีนแตกคอกับโซเวียต และจีนเปิดฉากรุกรานเวียดนามในนามของสงครามสั่งสอน ลาวที่ให้ที่พักพิงกับพคท.ตัดสัมพันธ์กับพรรคไทย เพราะต้องเดินตามเวียดนาม ขณะที่พรรคไทยเดินตามจีน...วิทยุสปท. หรือ”วิทยุปักกิ่ง”(ทางการไทยเรียกยังงั้น)โดนปิดตัวลง และนั่นก็เป็นการสิ้นสุดตำนานภาคประชาชนในสายธารการปฏิวัติ


    องก์ที่3.ว่าด้วยสายธารทางเลือก-สายธารการปฏิรูปของภาคประชาชนเมื่อแรก

    ขณะ ที่การคลี่คลายขยายตัวของภาคประชาชนสายปฏิวัติดำเนินไปดังกล่าวข้างต้น อีกสายก็เริ่มแตกหน่ออ่อนเป็นภาคประชาชนที่เน้นการปฏิรูปสังคม น่าพิจารณาก็คือล้วนมีต้นสายจากปรีดี พนมยงค์

    ผู้นำการปฏิรูปย่อม เป็นนายเข้ม เย็นยิ่ง-ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตเสรีไทยสายอังกฤษ มิตรร่วมรบสหายศึกของ”รูธ”ปรีดีเมื่อครั้งสงครามโลก และกลายมาเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ

    ป๋วยนั้นไม่คิดจะถอนรากถอนโคน สังคมแบบรุนแรงดังสายปฏิวัติ ด้านหนึ่งเขาส่งนักเรียนทุนแบงก์ชาติไปเรียนยุโรปหรืออเมริกา แล้วกลับมามีหน้าตาแบบไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม-วิจิตร สุพินิจ +เอกกมล คีรีวัฒน์ แห่งแบงก์ชาติ

    อีกสายหนึ่งป๋วยได้เปิดมูลนิธิบูรณะชนบทอันเป็นองค์การพัฒนาเอกชน(NGO)แห่งแรกๆ ของไทย และมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตชัยนาทในปี2512 อันมีพิภพ ธงชัย,บำรุง บุญปัญญา(เปี๊ยก),บุญเรือง(จำนามสกุลไม่ได้) ,พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ แห่งสมาคมหยาดฝน จังหวัดตรัง หรือครูแดง-เตือนใจ ดีเทศน์ เป็นอาทิ

    ขณะที่ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม ก็เริ่มมูลนิธิดวงประทีป ในสลัมคลองเตย ในอีกหลายปีต่อมา

    ด้านหนึ่งนักเรียนเก่าอังกฤษคือสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ ผู้ศรัทธาในปรีดีและป๋วย ก็สร้างตำนานผ้าม่วง หวนโหยหาภูมิปัญญาไทยในอดีตมาปฏิรูปสังคมไทยในยุคนั้น มีลูกศิษย์ลูกหามากหลาย และเข้าไปซึมแทรกเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาสายปฏิรูป หรือสายพุทธอยู่หลายคน อาทิสุชาติ สวัสดิ์ศรี,(ต่อมาเป็น)พระไพศาล วิสาโล,ประชา หุตานุวัตร,สันติสุข โสภณศิริ,เทพศิริ สุขโสภา,วีระ สมบูรณ์,รสนา โตสิตระกูล เป็นอาทิ

    ขณะที่ในเขตป่าเขา พคท.ได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นและขนานใหญ่จากนักศึกษาฝ่ายซ้าย สายธารภาคประชาชนสายการปฏิวัติหลังเหตุการณ์6ตุลาฯ ในพื้นที่ชนบทอันซ้อนทับกันนั้นคนอย่างพิภพ ธงชัย-เตือนใจ ดีเทศน์-พิศิษฏ์ ชาญเสนาะ และโกมล คีมทอง แห่งสายธารการปฏิรูปก็กำลังเข้าสู่ชนบทในนามของการ”พัฒนา” ทว่าโชคร้ายที่โกมล คีมทอง ไม่ได้กลับมาจากพื้นที่สุราษฎร์ ว่ากันว่าเขาโดนภาคประชาชนสายการปฏิวัติสังหาร เพราะสงสัยเป็นจารชนของรัฐบาล...

    หลังเหตุการณ์6ตุลาฯ ขณะที่ภาคประชาชนสายการปฏิวัติขึ้นสู่กระแสสูง แต่กลับเป็นกระแสต่ำของภาคประชาชนสายการปฏิรูป เนื่องเพราะว่าป๋วยผู้นำการปฏิรูปต้องถูกให้ร้ายจากฝ่ายขวาว่าเขาเป็นผู้นำสายการปฏิวัติ และโดนเนรเทศในกรณี6ตุลาฯ ขณะที่บทบาทของส.ศิวรักษ์ก็เป็นไปในแวดวงจำกัดพอสมควร

    สาย การปฏิรูปกลับสู่กระแสสูงอีกครั้งหลังเหตุการณ์”ป่าแตก”ในราวปี2524-2525 และถือเป็นการขึ้นสู่กระแสสูงอย่างต่อเนื่องของสายนี้ จนมาเป็นภาคประชาชนที่เราเห็นและรู้จักกันในทุกวันนี้

    องก์ที่4.การคลี่คลายขยายตัวของสายธารกระแสทวน กับสายธารทางเลือก

    4.1สายการปฏิวัติที่วิวัฒนาการเข้าสู่ทำเนียบไทยคู่ฟ้า

    หลัง”ป่าแตก”ในปี2525อย่างเด็ดขาด ภาคประชาชนสายกระแสทวนกลับสู่นาครด้วยสภาพของ”ชิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์”แบบ เสกสรรค์ บ้างก็ในสภาพของ”กรวดเม็ดร้าว-ใบไม้ที่หายไป”แบบจิระนันท์ พิตรปรีชา บ้างก็”ตำนานนกสีเหลือง”อย่างวัฒน์ วรรลยางกูล หรือ”แผ่นดินของเขา”แบบพรีพร(สุวัฒน์ วรดิลก)

    ทุกคนกลับสู่สายธาร กระแสหลักที่พวกเขาเคยเห็นเป็น”สังคมเก่า-สังคมทราม”ที่ต้องโค่นล้มเปลี่ยน แปลง ต้องมาเข้าห้องเรียน กลายเป็นดร.เสกสรรค์ กลายเป็นอาจารย์ธีรยุทธ กลายเป็นอาจารย์สมศักดิ์ อาจารย์เกษียร ดร.ธงชัย กลายเป็นคนหนังสือพิมพ์แบบเสถียร จันทิมาธร มาออกเทปขายแบบหงาคาราวาน หรือ”ชีวิตฉันมีแต่หมานำ”แบบพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

    อีกส่วนหนึ่งก็กลับ กลายเป็นนักการเมืองอย่างอดิศร เพียงเกษ,จาตุรนต์ ฉายแสง,จตุรนต์ คชสีห์,พินิจ จารุสมบัติ,การุณ ใสงาม และหมอพรหมมินทร์ในเวลาหลายปีต่อมา รวมทั้งภูมิธรรม เวชยชัย หรือเกรียงกมล ที่เป็นแมนบีไฮด์เดอะซีน เมื่อการปฏิวัติในเขตป่าเขาล้มเหลว หนทางการยึดทำเนียบจึงเป็นคูหาเลือกตั้งแทน

    ส่วนเจเนเรชั่นที่3ของ สายธารกระแสทวนเป็นไปอย่างกระปลกกระเปลี้ย กว่าจะรื้อฟื้นศูนย์นิสิตกลับมาใหม่ในนามของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ ไทย(สนนท.)ก็ล่วงถึงปี2524 โดยนักศึกษาแพทย์มหิดลนามภูษิต ประคองสาย ส่งไม้ต่อให้อภิชาติ ขำเดช ล่วงมาถึงอนุสรณ์ ธรรมใจ,นักศึกษาแพทย์หญิงวิลาสินี หมอกเจริญพงศ์ กว่าจะมาเป็นปริญญา เทวานฤมิตรกุล+กรุณา บัวคำศรี ในยุคพฤษภาทมิฬ2535 และกลายมาเป็นสุริยะใส กตศิลา และในยุคหลังปี2540 ตามติดด้วยอุชเชนทร์ เสียงแสน แห่งยุคต้านโรงไฟฟ้าหินกรูด หรือท่อก๊าซไทย-มาเลย์ และยุคปัจจุบันร่วมสมัยที่กำลังงัวเงียถามหาวิญญาณประชาธิปไตยจากรุ่นพี่

    ส่วน หนึ่งก็กระจัดกระจายไปทำงานสื่ออย่างเสถียร จันทิมาธร,คำนูณ สิทธิสมาน,พิรุณ ฉัตรวนิชกุล หรือกระทั่งชัชรินทร์ ไชยวัฒน์(ที่มาพลอยฟ้าพลอยฝนโดนจับคดีคอมมิวนิสต์ร่วมกับพิรุณในปี2527) หรือ สำราญ รอดเพชร ไพศาล พืชมงคล เป็นอาทิ

    4.2สายธารการปฏิรูปคลี่คลายไปเป็นNGO..ภาคประชาชน

    ขณะที่สายธารการปฏิรูปค่อยคลี่คลายเป็นองค์การพัฒนาภาคเอกชนอย่างเป็นทางการในหลังยุค6ตุลาฯ เริ่มต้นจากงานมนุษยธรรมด้วยการช่วยเหลือเขมรอพยพในช่วงปี2521ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และเมื่อหมดยุคเขมรอพยพ ค่อยเข้าสู่การำงานพัฒนาชุมชนในเขตชนบท อันเป็นรูปธรรมเช่น

    -ญัค-อภิชาต ทองอยู่ (ซึ่งต่อมาจะเป็นเลขาธิการและโฆษกพรรคมหาชนของเสธ.หนั่น และบอร์ดTPBS)ไปฝังตัวในพื้นที่ขอนแก่น
    -บำรุง บุญปัญญา ซึ่งไปเป็น”กูรู”ในวงการพัฒนาภาคเอกชนแถบอีสานใต้ และต่อมาอีสานเหนือ
    -สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเคลื่อนไหวขบวนการครูในพื้นที่โคราชและบุรีรัมย์ สมทบด้วยสุชน ชาลีเครือ ในพื้นที่เขตชัยภูมิ
    -พิภพ ธงชัย ซึ่งปักหลักสร้างซัมเมอร์ฮิลล์ขึ้นในพื้นที่ป่าเมืองกาญจน์ ก่อตำนาน”หมู่บ้านเด็ก”
    -ครูแดง-เตือนใจ ดีเทศน์ เข้าไปใน”หมู่บ้านด้วยหัวใจอันเบิกบาน”ในพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย
    -ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม บุกเบิกพัฒนาสลัมคลองเตย จนคว้ารางวัลแม็กไซไซ
    -บำรุง คะโยธา กรรมกรดีกรีเยอรมัน ซึ่งบุกเบิกงานพัฒนาชุมชนในเขตสายนาวัง กาฬสินธิ์
    -สมภพ บุนนาค เชื้อสายขุนนางเก่าไปเปิดงานพัฒนาชุมชนในชื่อองค์การแพลนในย่านขอนแก่น-มหาสารคาม ร่วมกับ”ปู่”เดช พุ่มคชา
    -พิษศิษฏ์ ชาญเสนาะ ไปบุกเบิกงานพัฒนาในเขตเกาะแหลมสนแหลมมะขาม อ.สิเกา จังหวัดตรัง
    -บรรจง นะแส ซึ่งพกดีกรีปริญญากลับบ้านด้วยวัวตัวหนึ่ง เพื่อเปิดพื้นที่งานพัฒนาในเขตนครศรีธรรมราช
    -สุลักษ์ ศิวรักษ์กับสานุศิษย์ ที่เปิดพื้นที่อาศรมวงศ์สนิทนครนายกฯ
    -จอน อึ๊งภากรณ์ เปิดพื้นที่เมืองรณรงค์ในโครงการเข้าถึงเอดส์
    -เสน่ห์ จามริก ที่เปิดมูลนิธิท้องถิ่นไทย เชื่อมโยงสายใยไปหาศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ในตอนเป็นประธานNGO เชื่อมสายโยงยาวมาเป็น สสส.ในเวลาต่อมา
    -รสนา โตสิตระกูล แห่งมูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ต่อมารณรงค์เรื่องทุจริตยา
    -กวิน ชุติมา และดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ แห่งคณะกรรมการรณรงค์เผยแพร่งานพัฒนา
    -พิศิษฏ์ ณ พัทลุง และศรีสุวรรณ ควรขจร ในนามมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ
    -แม้กระทั่ง บก.ลายจุด หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ แห่งมูลนิธิกระจกเงาในยุคหลังๆ

    -บรรจบบรรสานกับนักวิชาการ+ข้าราชการสายปฏิรูปอย่างร.ต.อ.มรว.ศ.ดร.อคิน รพีพัฒน์ แห่งRDI มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคณะแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แห่งรายการเวทีชาวบ้าน,ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช แห่งสำนักจุฬาฯ และสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าหวยขาแข้ง และยืนยง โอภากุล ผู้รณรงค์”ไทยนิยม”ผ่านงานเพลง เป็นอาทิ

    ผมนั้นได้เข้าไปสัมผัสในฐานะเป็นNGOตัวเล็กๆกระจอกงอกง่อยรายหนึ่งในขบวนNGOขนาดใหญ่ในราวก่อนสิ้นทศวรรษ2520ต่อต้นทศวรรษ2530 สิ่งที่ผมพบเจอในขบวนการภาคประชาชนที่ชื่อ NGO โดยรวมๆก็คือ

    -พวกเขาล้วนแต่แน่วแน่ในอุดมคติที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น แต่เนื่องจากไม่ได้รับทุนจากภาครัฐ ส่วนใหญ่ก็ต้องขอทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นองค์การสาธารณกุศล หรือองค์การด้านศานา(โบสถ์คริสเตียน) หรือองค์กรด้านแรงงาน ดังนั้นข้อเรียกร้องต้องการต่อคนในขบวนจึงเคร่งครัดไม่ต่างกันนักคือ คนในขบวนต้องมักน้อย ได้เงินเดือนพอยังชีพ ทว่าต้องอุทิศตัวเสียสละอย่างสูง จะหวังความสะดวกสบายหาไม่ได้เลย แล้วยิ่งหวังว่าจะตั้งตัวได้ก็อย่าหวัง ก็เลยกลายเป็นว่าเอาไปเอาก็จะคัดกรองเหลือเฉพาะคนที่มีฐานะทางบ้านดี หรือไม่เป็นภาระจะอยู่ในขบวนการได้ยืดเยื้อหน่อย

    -พวกเขามีวิธีคิดที่แข็งตัวไม่ค่อยยืดหยุ่น คือทำตัวเคร่งครัดยิ่งกว่าพระ อาจเป็นเพราะจะได้ทนทานต่อสภาพงานการ คิดภาพเป็นดำเป็นขาว ดังนั้นไม่แปลกนักหากในเวลาต่อมาเมื่อผมพ้นจากการเป็นNGOมาทำงานข่าว หรือกระทั่งกลายเป็นนักธุรกิจแล้วจะถูก”รุ่นใหญ่”บอกว่า”ไอ้นี่มันเปลี่ยนไปแล้ว”(กล่าวคือเปลี่ยนสีแปรธาตุในทัศนะของรุ่นใหญ่เหล่านั้น)

    -พวกเขาปฏิเสธและออกจะชิงชังสังคมบริโภคนิยม ทุนนิยม หรือต่อต้านโลกาภิวัตน์ ดังมีเรื่องว่าเมื่อผมไปหาสุลักษณ์ที่บ้านนั้น ที่นั่นไม่มีทีวีให้ดู ลูกเขาต้องไปดูทีวีที่ข้างบ้าน ,เมื่อผมไปเยี่ยมญัค-อภิชาตนั้น เขานอนอยู่ที่”ตูบต่อเล้า”หรือบ้านปั้นดินเหนียวติดฉางข้าว แล้วจุดไต้หรือตะเกียง แทนไฟฟ้า,หรือเมื่อผมไปหาเปี๊ยก-บำรุง บุญปัญญาเพื่อโน้มน้าวให้เขามาเป็นแม่ทัพหน้าในการขับเคี่ยวกับภาครัฐที่กำลัง แย่งชิงทรัพยากร ไล่ที่ทำเขื่อนปากมูล ไล่ที่ปลูกป่ายูคา ไล่ที่ทำนาอุตสาหกรรมนาเกลือนั้น บำรุงกำลังรณรงค์เรื่อง”ภูมิปัญญาชาวบ้าน”อยู่อย่างเอาการเอางาน และเมื่อผมไปเยี่ยมพิภพ ธงชัย ที่หมู่บ้านเด็กนั้น ผมเห็นเด็กที่นั่นกำลังเป็น”สิ่งแปลกแยกกับโลกภายนอกที่มันเป็นจริง” หรือเมื่อผมไปหาโย-บำรุง คะโยธา ในหมู่บ้านที่กาฬสินธุ์นั้น เขากำลังหั่นมันสำปะหลังเลี้ยงหมูอยู่ เพราะเขาต่อต้านรำข้าวจากโรงสีไฟฟ้าฯลฯ

    -พวกเขาเน้นการรณรงค์ประชาชนใก้กลับไปใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ต่อต้านกระแสทุนสมัยใหม่ที่กำลังเชี่ยวกราก ดังนั้นเขื่อนทุกเขื่อนจึงเป็นเรื่องที่ต้องต่อต้าน เพราะไฟฟ้าไปสู่เมืองและไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมของกลุ่มทุน หรือบรรษัทข้ามชาติ ดังนั้นสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็จึงรณรงค์ตั้งสหกรณ์ครูและชาวนาให้เป็นเกียรติแก่ครูที่เสียสละในการต่อสู้ กับกลุ่มทุนท้องถิ่น,ญัค-อภิชาตจึงเขียนหนังสือ”คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”, บำรุง บุญปัญญา ก็จึงรณรงค์ชาวนาให้ทำเกษตรผสมผสาน และทำเกษตรแบบทำอยู่ทำกิน(ก่อนจะกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในวาระต่อมาอีก2ทศวรรษ),พิศิษฏ์ ชาญเสนาะ ก็พาชาวมุสลิมในสิเกา ฟื้นฟูป่าชายเลน,เตือนใจ ดีเทศน์ ฝังตัวในหมู่บ้านด้วยหัวใจอันเบิกบาน,ครูประทีปก็อยู่ในสลัมด้วยหัวใจอาสาสมัคร เช่นเดียวกับสุวิทย์ วัดหนู

    -พวกเขาไม่ได้ค่อยสนใจในสิ่งที่เรียกว่า”การต่อสู้ในเชิงโครงสร้างข้างบน”คือการขับเคี่ยวทางการเมืองนัก และออกจะปฏิเสธวิถีนั้น เพราะได้เห็นแล้วว่าพวกภาคประชาชนสายปฏิวัติก็ทำล้มเหลวมาแล้ว

    อย่างไรก็ตามโครงสร้างด้านบนบุกมาเยือนภาคประชาชนสายปฏิรูปอย่างไม่ตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐจะสร้างเขื่อนน้ำโจน จนสืบต้องพลีชีพเพื่อปกป้องป่าผืนนั้น,ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนปากมูลที่รัฐใช้ความรุนแรงกับช่าวนาเจ้าของพื้นที่อย่างไม่ไยดี,ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐและทุนเข้าไปทำลายพื้นที่นาข้าว3จังหวัดอีสานด้วยการหนุนกลุ่มทุนท้องถิ่นทำอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์,การไล่ชาวนาออกจากพื้นที่ให้ทหารไปปลูกไม้ยูคาลิปตัส,การรุกไล่ชาวบ้านในกรณีท่อก๊าซเมืองกาญจน์,การรุกไล่ชาวบ้านกรณีเหมืองแม่เมาะ,กรณีมลพิษนิคมอุตสาหกรรมลำพูน,กรณีโรงไฟฟ้าหินกรูด และท่อก๊าซไทย-มาเลย์

    เมื่อชาวนาอยู่ไม่สุข ใครเล่าจะมีแรงทำเกษตรผสมผสาน ทำเกษตรพออยู่พอกิน ฟอกย้อมหม่อนไหมด้วยสีธรรมชาติ รักษากันด้วยสมุนไพรยาป่า หรือจุดตะเกียงแข่งกับแสงนีออนกันต่อไป ก็จำเป็นอยู่เองที่NGOที่มีลักษณะต่อต้านการบริโภคนิยม ต่อต้านโลกภิวัตน์ จำต้องเข้าเป็นพลังหนุนชาวนา

    กระทั่งก่อรูปขบวนขึ้นเป็นสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน(สกยอ.)ใต้การนำของโย-บำรุง และอโศก ประสานสอน อดีตกรรมกรบ้าง,สมัชชาคนจนใต้ธงนำของNGOทั้งประเทศบ้าง มีสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์-บำรุง บุญปัญญาหนุนเนื่องบ้าง,กลุ่มต่อต้านเขื่อนปากมูลใต้การนำของวนิดา ตันติพิทักษ์บ้าง,ต่อต้านท่อก๊าซเมืองกาญจน์ใต้การนำของสุลักษณ์ และพ่วงเอาศิษย์สำนักในอดีตอย่างพิภพ ธงชัยออกมาบ้าง

    กระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็ได้ข้อสรุปที่จัดเจนว่าต้องมีคนของภาคประชาชนไปอยู่ใน สภา นั่นเองครูประทีป,ครูแดง,อาจารย์จอน,อาจารย์เจิม,ครูสุชน,ครูหยุย,ครูยุ่น และใครต่อใครจึงพาเหรดเข้าสภาสูงในยุคทักษิณทรงอำนาจเหนือตึกไทยคู่ฟ้า


    องก์ที่5.การบรรจบของ2สายธารในกรณีรัฐประหาร19กันยาฯ

    ส่วนภูมิธรรมที่เคยอยู่สายปฏิรูปด้วยการปลุกปั้นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอ ส.)ที่จุฬาฯปลุกปั้นคนรุ่นใหม่ออกไปเป็นอาสาสมัครในชนบท เป็นNGOหน่อใหม่มาหลายสิบรุ่นนั้น ผันแปรมาผนึกกับมิตรเก่าสายปฏิวัติในอดีต โดยการไปเป็นกุนซือทางการเมืองให้นายทุนชาติที่ชื่อทักษิณ แล้วก็พ่วงพรรคพวกจากจุฬาฯอย่างสุธรรม แสงปทุม ดึงเอาเกรียงกมล-หมอมิ้ง-จาตุรนต์(ซึ่งทิ้งชีวิตนักศึกษาแพทย์ไว้ในป่า แล้วมาเอาดีด้านรัฐศาสตร์)-พินิจ จารุสมบัติ-สุธรรม แสงปทุม-อดิศร เพียงเกษ-ไอ้ก้านยาว ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว(ปัญญาชาติรักษ์)-ผดุงศักดิ์ พื้นแสน หรือใครต่อใครในเวลาต่อมา

    กล่าวได้ว่าขณะที่ภาคประชาชนสายปฏิวัติใน อดีตกลมกลืนไปได้ดีกับนายทุนชาติ และพยายามยิ่งยวดในการเปลี่ยนเจ้าพ่อธุรกิจสื่อสารให้”เท้าติดดิน”ด้วยการ”แปลงภูมิปัญญาNGOให้เป็นทุน”ทั้ง30บาททุกโรค,พักหนี้เกษตรกร,ธนาคารคนจน,OTOP

    ทว่าด้านหนึ่งฝ่ายประชาชนสายปฎิรูปยังเดินหน้าต่อต้านโลกาวัตน์อย่างแข็งขืน และยืนท้าทายกระแสบริโภคนิยมอย่างทระนง มีบ้างบางส่วนที่เข้ามาเป็นสว.ภาคประชาชน(ซึ่งก็ยืนตรงข้ามกับทักษิณทั้งนั้น)

    กระแสขับเคี่ยวโค่นล้มทักษิณมาถึงก็ต่อเมื่อพลังกระแสหลักของสังคมไทย คือพลังจารีตนิยม+อนุรักษ์นิยม+อำนาจนิยม ไฟเขียวเต็มที่ให้กับสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นนายทุนชาติด้านสื่อและอดีตพันธมิตรผู้แนบแน่นกับทักษิณ “หัก”ทักษิณด้วยข้อหา”ทุนสามานย์”และทรราชย์แห่ง”ระบอบทักษิณ”

    ไม่ว่าจะเพราะทักษิณเป็นหรือไม่เป็นทุนสามานย์ หรือสนธิลิ้มฯเป็นทุนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทว่าพลพรรคร่วมค่ายซ้ายเก่าอย่างคำนูณ-ไพศาล-สำราญก็ออกศึกรำดาบพุ่งทวนไป ใส่ร่างทักษิณอย่างพร้อมเพียง พร้อมเพรียกหาพันธมิตรที่คุ้นเคยอย่างอาจารย์สมเกียรติ-พิภพ-ส.ศิวรักษ์-หงา คาราวาน-แอ๊ด คาราบาว-เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง-แก้วสรร อติโพธิ์ หนุนเนื่องด้วยประเวศ วะสี และฯลฯออกรบอย่างคับคั่ง

    ภาคประชาชนสายปฏิรูปทั้งมวลหรือเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ต่างร่วมเป็นพันธมิตรทั้งจงใจ และไม่ตั้งใจในการขับเคี่ยวโค่นล้มทักษิณในบริบท และบาทก้าวที่แตกต่างกันไป...

    อาจกล่าวได้ว่าภาคประชาชนสายปฏิรูปได้ลุกขึ้นมาโค่นล้มในสิ่งที่ฟากประชาชนสายการปฏิวัติกำลังฟูมฟักว่าเป็นชิ้นงานมาสเตอร์พีซของพวกเขา นั่นก็คือเศรษฐกิจประชาธิปไตยแบบ”ทักษิโนมิกส์”

    มาถึงตรงนี้คงพอเดากันออกแล้วว่า ทำไมภาคประชาชนสายปฏิรูปจึงก่อตัวขึ้นสู่กระแสสูงยิ่งในการต่อต้านทัดทานและ โค่นล้มทักษิณ ชินวัตร ก็เนื่องเพราะรากฐานเป็นมานั้นพวกเขารังเกียจกระแสบริโภคนิยม-ทุนนิยม-ทุน ข้ามชาติ กระทั่งเกิดนิยามศัพท์”ทุนสามานย์”ในเวลาต่อมา

    ความ สบายอกสบายใจของภาคประชาชนสายปฏิรูปในการล้มล้างทักษิณก็คือ พวกเขาไม่ได้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเลย เพราะประชาธิปไตยนั้นถูกล้มล้างไปโดยทักษิณก่อนหน้านั้นแล้ว...สิ่งที่พวกเขาโต่นล้มมันลงไปคือ”ระบอบทักษิณ”ต่างหาก

    ทว่าเนื่องจากประสบการณ์ของภาคประชาชนสายปฏิรูปในสายงานด้านการเมืองหรือโครง สร้างด้านบนนั้นมีข้อจำกัดมาก ทำให้พวกเขากำลังงุนงงสับสนกับตัวเองอยู่มากว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการรัฐประหาร19กันยาฯนั้นคืออะไร? ผลพวงที่ตามมานั้นมันเป็นอะไรแน่? ตกลงมันเป็นเผด็จการ หรือแค่”ช่วงเปลี่ยนผ่านหลังยุคทักษิณ”(Post Thaksin)ไปสู่ประชาธิปไตยที่ชาวบ้านพลเมืองจะได้ถึงยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพจริงๆจังๆ?

    คน ที่คิดได้ก่อนอย่างนักวิชาการอย่างศ.ดร.นิธิ,อาจารย์จอน,จรัล ดิษฐาอภิชัย,หมอเหวง,ครูประทีป ก็ออกโรงกลับลำมาต่อต้านผู้ยึดอำนาจรัฐประหารอย่างเอาการเอางานบ้าง หรือผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง

    คนที่มีความหวังว่าหลังยุคทักษิณจะดีขึ้นอย่างหมอประเวศก็ให้ศีลให้พรคณะรัฐประหาร ไป เขาจะฟังไม่ฟังก็อีกอย่าง หรือกว่าจะหาที่ยูเทิร์นเจออย่างสุริยะใส ที่ออกมาค้านไม่ให้พลเอกสนธิสืบทอดอำนาจ พรรคพวกเพื่อนฝูงแวดวงก็กาหัวแล้วว่า”ต้องปล่อยเกาะโดดเดี่ยวมันแล้วไอ้ใส”

    คนที่หลงเข้าไปเต็มแท่งเต็มลำอย่างแก้วสรร,เจิมศักดิ์,สำราญ,คำนูณ,ไพศาล,
    ศ. ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ(เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์) ก็ต้องเลือกข้างไปชัดๆด้วยการปลอบใจตัวเองว่า”เผด็จการทหารก็แค่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เลือกตั้งแล้ว ยังไง้ยังไงก็ยังดีกว่าทุนสามานย์อย่างระบอบทักษิณ”

    องก์สุดท้าย:รูดม่านนาฏกรรมบนลานพระรูปฯ

    สำหรับผมแล้ว ภาพของชาวบ้านที่แห่แหนนำดอกไม้ไปให้กำลังใจคณะรัฐประหาร ร่วมกันถ่ายรูปกับรถถัง และไปทัวร์กันยังกับงานรื่นเริงประจำปีที่ลานพระรูปฯในเหตุการณ์รัฐประหาร 19กันยาฯ สลับกับภาพที่ลุงแท็กซี่นวมทองต้องพลีชีพเพื่อปลุกสติสังคมนั้น...ว่าไปแล้วมันก็เป็นนาฏกรรมบนลานกว้างดีๆนั่นเอง

    ทว่า เป็นสุขนาฏกรรมของภาคประชาชนสายปฏิรูปที่ไร้เดียงสาทางการเมือง แต่เป็นโศกนาฏกรรมของภาคประชาชนสายปฏิวัติที่เคี่ยวกรำศึกงานการเมืองมาชั่วชีวิต

    แต่ทั้งหมดมันก็คือนาฏกรรมที่มีพลเมืองของประเทศนี้ สอดบรรสานเป็นอุปรากรวงใหญ่


    เพียงแต่สรรพสำเนียงแห่งเสียงเพลงบรรเลงของภาคประชาชนหนนี้ ฟังไม่เป็นสับปะรดขลุ่ยใดๆ และไร้รสนิยมอย่างน่าชัง...ท่ามกลางเสียงกลบเย้ยของพลังสายธารกระแสหลักอย่างหยามหยัน

    อีกคำรบหนึ่ง!


    เขียนไว้เมื่อ11 กรกฎาคม2550

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    คำนิยม Top

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    คำนิยมล่าสุด

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    ความคิดเห็น

    ×