ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รู้ไว้ ใช่ว่า ใส่บ่า แบกหาม

    ลำดับตอนที่ #79 : เรื่องเหลือเชื่อ กับเรือ สุพรรณหงส์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 124
      0
      27 ธ.ค. 48

    ช่วงนี้ในกรุงเทพฯไปไหนมาไหน จะเห็นแต่เรื่องราวเกี่ยวกับเอเปคเต็มไปหมด โดยเฉพาะสัญลักษณ์(Logo)ประชาสัมพันธ์การประชุมเอเปก 2003 ที่มีรูปหัวเรือสุพรรณหงส์บนลูกโลกนั้น สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งเรือสุพรรณหงส์ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเป็นไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดี



    เมื่อพูดถึงเรือสุพรรณหงส์แล้วนับว่าเป็นเรือที่มีที่มาน่าสนใจไม่น้อย โดยประวัติคร่าวๆของเรือลำนี้ คือ เรือที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยใช้ชื่อว่า“เรือศรีสุพรรณหงส์”



    ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการปรับปรุงเรือศรีสุพรรณหงส์ที่ชำรุดทรุดโทรมครั้งใหญ่ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น“เรือสุพรรณหงส์”จากนั้นก็ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน (อ่านประวัติเพิ่มเติมได้ใน“เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์”สุดยอดแห่งนาวาสถาปัตยกรรมสยาม)



    นอกจากความงามและความสำคัญของเรือสุพรรณหงส์ที่มีต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว เรือลำนี้ยังมีเรื่องราวเล่าขานที่ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อ เกิดขึ้นเสมอ



    สำหรับเรื่องเหลือเชื่อที่หลายคนอาจจะทราบเลาๆหรือเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกระบวนพยุหยาตราชลมารคเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยคุณราตรี บัวประดิษฐ์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ได้เล่าว่า



    “ในปีนั้น(พ.ศ.2539) นับเป็นปีพิเศษที่กระบวนพยุหยาตราฯ ได้นำเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ มาแล่นเป็นเรือเอกลำแรก ทำให้เรือสุพรรณหงส์ ซึ่งเดิมเคยเป็นเรือเอกมาตลอดกลายเป็นเรือรองแล่นตามหลัง



    “เมื่อนำเรือสุพรรณหงส์แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาออกตามหลังเรือนารายณ์ทรงสุบรรณได้สักพัก จู่ๆก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น คือเกิดมีพายุลมแรงมากโดยที่ไม่มีวี่แววของฝนตั้งเค้าพัดมาที่เรือสุพรรณหงส์ ขณะที่เรือลำอื่นยังแล่นได้ตามปกติ



    “แล้วเรือสุพรรณหงส์ก็เบนหัวเรือทำท่าเหมือนจะกลับอู่อยู่ท่าเดียว ทั้งๆที่เหล่าฝีพายซึ่งล้วนแต่มีฝีมือดี พยายามจะตั้งลำให้แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ก็ไม่เป็นผล เรือไม่ยอมไปตามจนสุดท้ายเมื่อเรือเกือบจะล่ม เหล่าฝีพายก็ต้องนำเรือกลับเข้าอู่เรือพระราชพิธี”



    คุณราตรี บัวประดิษฐ์ เล่าให้ฟังเหมือนเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปไม่นานก่อนที่จะเล่าต่ออีกว่า เรื่องนี้มีคนที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนต่างรู้ดี ทั้งนี้หากมาดูกันตามประวัติศาสตร์ กระบวนพยุหยาตราฯนั้น เรือสุพรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งเอกมาตลอด แต่ในวันนั้นได้นำเรือนารายณ์ทรงสุบรรณไปแล่นเป็นเรือเอกแทน ทำให้เรือสุพรรณหงส์ไม่ยอม ซึ่งถ้าดูตามลำดับชั้นแล้วเรือนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นเรือรูปสัตว์ที่มียศรองเรือสุพรรณหงส์อยู่แล้ว



    “ซึ่งในการจัดริ้วกระบวนปี 2539 นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับสั่งว่า ถ้าจะให้ท่านประทับเรือนารายณ์ทรงสุบรรณก็ไม่ควรที่จะเอาเรือสุพรรณหงส์ลง เพราะกระบวนพยุหยาตราฯจะต้องเป็นเรือลำใดลำหนึ่งเท่านั้น”



    นอกจากเรื่องเหลือเชื่อของเรือสุพรรณหงส์ที่หลายคนเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตราฯปี พ.ศ. 2539 แล้ว คุณราตรียังเล่าเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ฟังว่า



    “ในอดีตที่นี่(พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี)เป็นเพียงสถานที่เก็บเรืออย่างเดียวเท่านั้น ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี แต่ว่าสถานที่ยังไม่ดีพอ เมื่อดิฉันมาก็ตั้งใจที่จำสถานที่แห่งนี้ให้ดีขึ้นเนื่องจาก เป็นที่เก็บเรือของพระมหากษัตริย์และมีแห่งเดียวในโลก



    “จึงได้ทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านาง เจ้าที่เจ้าทาง พร้อมทั้งบอกท่านว่ามีความปรารถนาที่จะทำที่นี่ให้ดี และก็ต้องการงบประมาณเพื่อมาปรับปรุง ขอดลบันดาลใจให้ท่านผู้ใหญ่ให้งบประมาณในการสนับสนุนในการพัฒนา ซึ่งจากการ ที่ไหว้แล้วก็ได้รับงบประมาณมาโดยตลอด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ดิฉันก็มีความเชื่อมาโดยตลอด”



    เมื่อพูดถึงเรื่องแม่ย่านางแล้ว คุณราตรีเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ที่เรือสุพรรณหงส์เคยมีผู้เฒ่า ผู้แก่ หลายคน เห็นแม่น่านาง เป็นผู้หญิงผมยาว ผมขาว เดินไปมาอยู่ที่หัวเรือในยามค่ำคืน



    “ซึ่งเรื่องที่เรือมีแม่ย่านางนี้ หลายคนคงจะทราบดีว่าเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการต่อเรือ เพราะการที่จะสร้างเรือขึ้นมาหนึ่งลำนั้น จะต้องมีการจัดพิธีบวงสรวง พิธีบอกกล่าวเทพยดาหรือแม่ย่านาง ที่ประจำเรือซึ่งทำจากต้นไม้ ทั้งนี้เป็นพิธีความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ส่วนแม่ย่านางเรือแต่ละลำนั้นจะเฮี้ยนแค่ไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเรือลำนั้น



    “สำหรับพิธีกรรมบวงสรวงเรือสุพรรณหงส์นั้นก็เหมือนกับพิธีกรรมทั่วๆ ไป คือมีของเซ่นไหว้ อย่างหัวหมู เป็ด ไก่ ของคาว ของหวาน ขนมต้มแดงต้มขาว และก็จะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีกรรมทั้งก่อนที่จะสร้างเรือเพื่อเป็นการขออนุญาต และเมื่อสร้างเรือเสร็จแล้วก่อนที่จะนำเรือลงสู่แม่น้ำก็จะมีการบวงสรวงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการขอพรและความเป็นสิริมงคลให้กับฝีพายและนายทหารต่างๆ ที่อยู่ประจำบนเรือ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นประเพณีโบราณที่สืบต่อกันมาช้านาน”



    อีกสิ่งหนึ่งที่ถ้าคุณราตรีไม่เล่าออกมาก็จะไม่รู้เลยว่า ที่โขนเรือสุพรรณหงส์นั้นจะมีการนำเหรียญบาทที่ด้านหน้าเป็นรูปในหลวงและด้านหลังเป็นรูปตราแผ่นดินใส่ลงไปในโขนเรือพร้อมทั้งทำพิธี ตามความเชื่อสมัยก่อนที่เชื่อกันว่าเพื่อความเป็นสิริมงคล”



    สำหรับเรื่องลี้ลับน่าเหลือเชื่อเกี่ยวกับเรือสุพรรณหงส์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ คุณราตรี คนเดิม เล่าเพิ่มอีกว่า ที่เรือลำนี้จะมีคนตายเซ่นสังเวยทุกปี โดยคนที่ตายส่วนมากก็มักจะเป็นพวกที่ไปลบหลู่เรือ อย่าง นายทหารคนหนึ่งเมื่อเมาแล้วได้เข้าไปนั่งในเรือแล้วก็ฉี

    ่รดเรือ หลังจากนั้นทหารคนนั้นก็จมน้ำตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่เป็นคนว่ายน้ำแข็ง



    “ส่วนอีกคนหนึ่ง ไปพูดจา ดูถูก ลบหลู่ จากนั้นก็เกิดเหตุเป็นไป คือว่ายน้ำอยู่ดีๆ จมน้ำตายไปเฉยเลย โดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่นี่(พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี)มีน้ำท่วมมาก ลูกคนงานที่นี่อยู่ดีๆก็ตกน้ำตาย สำหรับที่นี่แล้วคล้ายๆกับว่าทุกปีจะ

    ต้องมีคนตายเสมอ



    “อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เหลือเชื่อมากๆและมักจะเกิดขึ้นบ่อยก็คือ สำหรับผู้ที่มาถ่ายรูป ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว นักเรียน นักศึกษา ถ้าไม่มีการไหว้ขอขมาก่อนแล้ว ก็จะเกิดเหตุการณ์แปลกๆเกิดขึ้นกับรูปเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ถ่ายไม่ติด รูปที่ถ่ายมาเสีย ดำหมด

    ขาวหมด ต้องกลับมาขอขมาเพื่อถ่ายใหม่” คุณรารีเล่าด้วยด้วยความระทึกขวัญ



    สำหรับเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อของเรือสุพรรณหงส์นั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่สำหรับสิ่งที่พิสูจน์ได้แน่ๆเกี่ยวกับเรือสุพรรณหงส์ก็คือ ความสวยงามวิจิตรของโขนเรือ และลำเรือ ที่ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดแห่งนาวาสถาปัตยกรรม ซึ่งคนที่อยากดูความงามและอยากฟังเรื่องราวอันเหลือเชื่อเกี่ยวกับเรือสุพรรณหงส์ก็สามารถเดินทางไปรับชมและรับฟังได้หลังหมดงานเอเปคที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ริมคลองบางกอกน้อย ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ ฝั่งตรงข้ามกับสถานีรถไฟธนบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2424-0004 และ 0-2224-1370





    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×