กรมอุตุนิยมวิทยา
ประวัติของกรมอุตุนิยมวิทยา
ผู้เข้าชมรวม
3,607
ผู้เข้าชมเดือนนี้
2
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ประวัติกรมอุตุนิยมวิทยา
ถือกำเนิดในกองทัพเรือ โดยพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงนำวิชาการอุตุนิยมวิทยามาสอนในโรงเรียนนายเรือ เมื่อ พ.ศ.2449 เริ่มดำเนินงานในกรมทดน้ำ กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อ พ.ศ.2466 และค่อมาปลายปีได้จัดตั้งเป็นแผนกอุตุนิยมศาสตร์และสถิติ กองรักษา กรมทดน้ำ (ปัจจุบันคือ กรมชลประทาน) โอนกิจการเป็นกองอุตุนิยมวิทยา สังกัดกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2479 ยกฐานะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2485 สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2505 สังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515 ปัจจุบันสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545
หน้าที่และความรับผิดชอบของกรมอุตุนิยมวิทยา
กรมอุตุนิยมวิทยามีภารกิจเกี่ยวกับบริหารจัดการด้านอุตุนิยมวิทยา โดยการตรวจ เฝ้าระวัง ติดตามรายงานสภาวะอากาศ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ ให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยาแก่กิจการต่างๆ ด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อประโยชน์สูงสุด ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นการป้องกันการเกิดภัยพิบัติ และความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เอกชนและหน่วยงานของรัฐจากภัยธรรมชาติ
การแบ่งส่วนราชการของกรมอุตุนิยมวิทยา
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองสื่อสารสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา
- กองเครื่องมืออุตุนิยมวิทยา
- สำนักเฝ้าระวังและเตือนสภาวะอากาศ
- สำนักพยากรณ์อากาศ
- สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา
- สำนักอุตุนิยมวิทยาขนส่ง
- ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
- ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี
- ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา
- ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก จังหวัดภูเก็ต
สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมอุตุนิยมวิทยา
- กรุงเทพมหานคร ความถี่ AM.1287 KHz โทร. 0-2399-4015
- จังหวัดนครราชสีมา ความถี่ FM.94.25 MHz โทร. 0-4425-5841
- จังหวัดพิษณุโลก ความถี่ FM.104.25 MHz โทร. 0-5525-8585
- จังหวัดระยอง ความถี่ FM.105.25 MHz โทร. 0-3865-5075-6
- จังหวัดชุมพร ความถี่ FM.94.25 MHz โทร. 0-7751-1421
- จังหวัดภูเก็ต ความถี่ FM.107.25 MHz โทร. 0-7621-1494
อุตุนิยมวิทยาที่ควรรู้
ความกดอากาศต่ำ (Low Pressure Area)
หมายถึง บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำเมื่อเทียบกับบริเวณใกล้เคียงในระดับเดียวกัน กับมีลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางคล้ายกับก้นหอยในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ ท้องฟ้ามีเมฆมาก ถ้าหากมีความกดอากาศต่ำมาก จะเป็นพายุดีเปรสชั่น และอาจพัฒนาขึ้นเป็นพายุโซนร้อน หรือพายุใต้ฝุ่น
ความกดอากาศสูง (High Pressure Area)
หมายถึง บริเวณที่มีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณข้างเคียง ท้องฟ้าแจ่มใสและความหนาวเย็น กระแสลมจะพัดเวียนออกจากศูนย์กลางในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ อิทธิพลของความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ทำให้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว
ร่องมรสุม (Monsoon Trough)
มีลักษณะเป็นแนวทางพาดขวางทางทิศตะวันตก-ตะวันออก ในร่องมรสุมเป็นบริเวณความกดอากาศต่ำ มีกระแสอากาศไหลขึ้นลงสลับกัน ร่องมรสุมจะอยู่ในเขตร้อนใกล้ๆเส้นศูนย์สูตร โดยมีกระแสลมพัดจากบริเวณความกดอากาศสูงที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้เข้าสู่ร่องนี้ มีการขึ้นลงตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์ ความกว้างประมาณ 6-8 องศาละติจูด เป็นบริเวณที่มีเมฆมาก และฝนตกอย่างหนาแน่น
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)
หมายถึง พายุที่เกิดเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน ลักษณะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างตามแนวทางการเคลื่อนที่ของพายุ มีระบบการหมุนเวียนของลมเข้าหาศูนย์กลางของพายุในทิศทวนเข็มนาฬิกาสำหรับพายุในซีกโลกเหนือ และตามเข็มนาฬิกาสำหรับพายุในซีกโลกใต้ บริเวณศูนย์กลางของพายุจะมีความกดอากาศต่ำ มีลักษณะเป็นวงกลมอากาศ ในบริเวณนี้จะเป็นอากาศอุ่นและมีความชื้นสูง แหล่งพลังงานที่สำคัญของพายุหมุนเขตร้อนคือ ความร้อนและความชื้นจากมหาสมุทร พายุจะก่อตัวขึ้นเฉพาะเหนือทะเลและมหาสมุทรเท่านั้น แต่เมื่อก่อตัวขึ้นแล้วอาจจะเคลื่อนที่เข้าสู่แผ่นดินได้ อุณหภูมิน้ำทะเลที่เหมาะสมสำหรับการเกิดพายุหมุนเขตร้อนคือ ตั้งแต่ 27 องศาเซลเซียส ขึ้นไป แต่การที่จะเกิดพายุได้นั้นต้องมีปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่น อุณหภูมิและความชื้นของบรรยากาศในระดับความสูงต่างๆ เป็นต้น
การแบ่งกำลังของพายุตามความเร็วของลมใกล้ศูนย์กลาง
1. พายุดีเปรสชั่น (Tropical Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางน้อยกว่า 34 นอต หรือ 63 กม/ชม.
2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นพายุที่มีกำลังปานกลาง มีความเร็วลมสูงสุด ใกล้ศูนย์กลาง ระหว่าง 34-64 นอต หรือ 63-117 กม/ชม.
3. พายุใต้ฝุ่น (Tyhoon) เป็นพายุที่มีกำลังแรงที่สุด มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ตั้งแต่ 65 นอต หรือ 118 กม/ชม. ขึ้นไป
พายุฟ้าคะนอง (Thunder Storm)
บางครั้งเรียกว่า พายุไฟฟ้า (Electrical Storm) โดยทั่วไปเป็นพายุที่เกิดเฉพาะท้องถิ่น เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) มีฟ้าแลบ (Lighting) กับ ฟ้าร้อง (Thunder) รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้มักจะมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเกิดขึ้น บางครั้งยังมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เป็นพายุที่เกิดช่วงเวลาอันสั้น มีน้อยครั้งที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมง
ฟ้าหลัว
หมายถึง ลักษณะของอากาศที่ประกอบด้วยอนุภาคของเกลือจากทะเล หรือมหาสมุทร หรือของควันไฟ และละอองฝุ่นจำนวนมากมายล่องลอยอยู่ทั่วไป และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้มองเห็นอากาศเป็นฝ้าขาวในบรรยากาศ บริเวณที่ฟ้าหลัวเกิดขึ้นจะทำให้ทัศนวิสัยลดลงแม้ในอากาศดี ฟ้าหลัวธรรมดาจะทำให้ทัศนวิสัยลดลงไปถึง 2 ใน 3 ของทัศนวิสัยปกติ
ลมพัดสอบ
หมายถึง การเบียดตัวเข้าหากันของลม 2 ฝ่ายบริเวณใกล้พื้นโลก ทำให้อากาศบริเวณแนวเบียดตัวลอยขึ้นเบื้องบน ตามแนวนี้มักจะมีเมฆฝนเกิดขึ้น และในที่สุดก็จะตกลงมาเป็นฝน
การพยากรณ์อากาศ
การพยากรณ์อากาศ คือ การคาดหมายสภาวะอากาศของลมฟ้าอากาศ รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาข้างหน้า ตัวอย่างเช่น การคาดหมายลมฟ้าอากาศใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าจะมีลักษณะอย่างไร อาทิ จะมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองหรือไม่ ลมจะพัดทิศอะไร ด้วยความเร็วขนาดไหน เป็นต้น การพยากรณ์อากาศแบ่งได้ตามระยะเวลาของการคาดหมาย ดังนี้
1. พยากรณ์อากาศระยะปัจจุบัน (Nowcast) พยากรณ์ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
2. พยากรณ์อากาศระยะสั้นมาก (Very short-range Forecast) พยากรณ์ระหว่าง 3-12 ชั่วโมง
3. พยากรณ์อากาศระยะสั้น (Short-range Forecast) พยากรณ์ระหว่าง 12-72 ชั่วโมง
4. พยากรณ์อากาศระยะปานกลาง (Medium-range Forecast) พยากรณ์ระหว่าง 3-10 วัน
5. พยากรณ์อากาศระยะนาน (Long-range Forecast) พยากรณ์ตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป
องค์ประกอบของการพยากรณ์อากาศ
ในการที่จะพยากรณ์อากาศได้นั้นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1. การตรวจอากาศ
2. การสื่อสารข้อมูลข่าวอากาศ
3. การวิเคราะห์ลักษณะอากาศ
1. การตรวจอากาศ
การตรวจอากาศนั้น กระทำเพื่อให้ได้ทราบถึงสภาวะอากาศปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย การตรวจอากาศผิวพื้นและการเฝ้าระวัง การตรวจอากาศซั้นบน การตรวจอากาศทะเล การตรวจอากาศด้วยดาวเทียม การตรวจอากาศด้วยเรดาร์ และการตรวจอากาศด้วยเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ
2. การสื่อสารข้อมูลข่าวอากาศ
การสื่อสารข้อมูลข่าวอากาศ เป็นการรับส่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจอากาศ และการสื่อสารข้อมูลนั้นนับว่ามีความสำคัญต่อการพยากรณ์อากาศเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีการตรวจอากาศ แต่ถ้าไม่มีระบบการสื่อสารข้อมูลแล้ว การพยากรณ์อากาศก็ไม่สามารถที่จะกระทำได้ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่ตรวจวัดได้จากสถานีอุตุนิยมวิทยาในส่วนภูมิภาค จะส่งมายังส่วนกลางผ่านระบบโทรคมนาคมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลและข่าวสารเหล่านี้ จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ และการพยากรณ์อากาศต่อไป อย่างไรก็ตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในประเทศนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้ในการพยากรณ์อากาศได้ เพราะระบบลมฟ้าอากาศนอกประเทศมีส่วนอย่างมากต่อสภาวะอากาศในประเทศไทยด้วย จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศ โดยผ่านทางระบบโทรคมนาคมรอบโลก (Global Telecommunication System GTS) ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางการสื่อสารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. การวิเคราะห์ลักษณะอากาศ
สามารถแบ่งขั้นตอนเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
การบันทึกผลการตรวจอากาศที่ได้รับทั้งหมดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลงบนแผนที่หรือแผนภูมิทางอุตุนิยมวิทยาชนิดต่างๆ เช่น แผนที่อากาศผิวพื้น แผนที่อากาศชั้นบน แผนภูมิการหยั่งอากาศชั้นบนด้วยสัญลักษณ์มาตรฐานทางอุตุนิยมวิทยา
ขั้นตอนที่ 2
การวิเคราะห์ผลการตรวจอากาศที่ได้รับจากขั้นตอนแรก โดยการลากเส้นแสดงค่าองค์ประกอบทางอุตุนิยมวิทยา เช่น เส้นความกดอากาศเท่าที่ระดับน้ำทะเลเฉลี่ย เพื่อแสดงตำแหน่งและความรุนแรงของระบบลมฟ้าอากาศ เส้นทิศทาง และความเร็วลมในระดับความสูงต่างๆ เพื่อแสดงลักษณะอากาศในระดับบน และเส้นแสดงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตามความสูง เพื่อแสดงเสถียรภาพของบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดเมฆและฝน
ขั้นตอนที่ 3
การคาดหมายการเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนที่ของตัวระบบลมฟ้าอากาศที่วิเคราะห์ได้ในขั้นตอนที่ 2 โดยใช้วิธีการพยากรณ์อากาศแบบต่างๆ
ขั้นตอนที่ 4
การออกคำพยากรณ์ ณ ช่วงเวลาและบริเวณที่ต้องการ โดยพิจารณาจากตำแหน่งและความรุนแรงของระบบลมฟ้าอากาศที่ได้ดำเนินการไว้แล้วในขั้นตอนที่ 3
ขั้นตอนที่ 5
การส่งคำพยากรณ์อากาศไปยังสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ต่อไปสู่ประชาชนและส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปตามความเหมาะสม เช่น การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากลมฟ้าอากาศ
เกณฑ์ที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศ
จำนวนน้ำฝนที่ตกรวมระยะเวลา 24 ชั่วโมง
ฝนตกวัดจำนวนไม่ได้ ปริมาณน้อยกว่า 0.1 มิลิเมตร
ฝนตกเล็กน้อย ปริมาณ 0.1-10.0 มิลลิเมตร
ฝนตกปานกลาง ปริมาณตั้งแต่ 10.1-35.0 มิลลิเมตร
ฝนตกหนัก ปริมาณตั้งแต่ 35.1-90.0 มิลิเมตร
ฝนตกหนักมาก ปริมาณตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป
พยากรณ์อากาศบริเวณที่มีฝนตก
ฝนบางแห่ง มีฝนไม่เกิน 20 % ของพื้นที่
ฝนเป็นแห่งๆ มีฝนเกิน 20 % แต่ไม่เกิน 40 % ของพื้นที่
ฝนกระจาย มีฝนเกิน 40 % แต่ไม่เกิน 60 %ของพื้นที่
ฝนเกือบทั่วไป มีฝนเกิน 60 % ของพื้นที่ แต่ไม่เกิน 80 % ของพื้นที่
ฝนทั่วไป มีฝนเกิน 80 % ของพื้นที่
ฝนเป็นบริเวณกว้าง มีฝนอยู่ในขอบเขตของพายุ
เกณฑ์อุณหภูมิของอากาศ
อากาศร้อน มีอุณหภูมิตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส
อากาศร้อนจัด มีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
อากาศเย็น มีอุณหภูมิน้อยกว่า 23 องศาเซลเซียส ลงไปถึง 16 องศาเซลเซียส
อากาศหนาว มีอุณหภูมิน้อยกว่า 16 องศาเซลเซียส ลงไปถึง 8 องศาเซลเซียส
อากาศหนาวจัด มีอุณหภูมิน้อยกว่า 8 องศาเซลเซียส ลงไป
ท้องฟ้าและเมฆ
ท้องฟ้าแจ่มใส (Fine) ไม่มีเมฆ/น้อยกว่า 1 ส่วน
ท้องฟ้าโปร่ง (Fair) จำนวนเมฆ ตั้งแต่ 1-3 ส่วน
เมฆบางส่วน (Partly cloudy) จำนวนเมฆ ระหว่าง 3-5 ส่วน
เมฆเป็นส่วนมาก (Cloudy) จำนวนเมฆ ระหว่าง 5-8 ส่วน
เมฆมาก (Very Cloudy) จำนวนเมฆ ระหว่าง 8-9 ส่วน
เมฆเต็มท้องฟ้า (Overcast) จำนวนเมฆ 10 ส่วน
หมายเหตุ คำว่า “ส่วน” หมายถึง 1/10 ของท้องฟ้า
ลักษณะทะเล
ทะเลเรียบ (Smooth) คลื่นสูง ไม่เกิน 0.50 เมตร
ทะเลมีคลื่นเล็กน้อย (Slight) คลื่นสูง ตั้งแต่ 0.50-1.25 เมตร
ทะเลมีคลื่นปานกลาง (Moderate) คลื่นสูง ตั้งแต่ 1.25-2.50 เมตร
ทะเลมีคลื่นจัด (Rough) คลื่นสูง ตั้งแต่ 2.50-4.00 เมตร
ทะเลมีคลื่นจัดมาก (Very rough) คลื่นสูง ตั้งแต่ 4.00-6.00 เมตร
ทะเลมีคลื่นใหญ่ (High) คลื่นสูง ตั้งแต่ 6.00-9.00 เมตร
ทะเลมีคลื่นใหญ่มาก (Very high) คลื่นสูง ตั้งแต่ 9.00-14.00 เมตร
ทะเลมีคลื่นใหญ่และจัดมาก (ทะเลบ้า) (Phenomenal) คลื่นสูง เกินกว่า 14.00 เมตร
ผลงานอื่นๆ ของ Germet++Zircon ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ Germet++Zircon
ความคิดเห็น