ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมสัตว์โลก และสัตว์ในตำนาน

    ลำดับตอนที่ #37 : พญาครุฑ (เวณไตย)....Garuda....

    • อัปเดตล่าสุด 3 ต.ค. 51






    พญาครุฑ  (เวณไตย)
    ....Garuda....
    พญาครุฑจ้าวแห่งเวหา














    พญาครุฑนั้นมีนามว่าท้าวเวนไตย (อ่านว่า เว นะ ไต แปลว่า ลูกของนางวินตา หมายความว่า ครุฑ ด้วย) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดีว่า ท้าวสุบรรณ




    นอกจากนั้นครุฑยังมีชื่อเรียกอื่นดังนี้

    • กาศยปิ (บุตรแห่งพระกัศยปมุนี)
    • เวนไตย (บุตรแห่งนางวินตา)
    • สุบรรณ (ผู้มีปีกอันงาม)
    • ครุตมาน (เจ้าแห่งนก)
    • สิตามัน (ผู้มีหน้าสีขาว)
    • รักตปักษ์ (ผู้มีปีกสีแดง)
    • เศวตโรหิต (ผู้มีสีขาวและแดง)
    • สุวรรณกาย (ผู้มีกายสีทอง)
    • คคเนศวร (เจ้าแห่งอากาศ)
    • ขเคศวร (ผู้เป็นใหญ่แห่งนก)
    • นาคนาศนะ (ศัตรูแห่งนาค)
    • สุเรนทรชิต (ผู้ชนะพระอินทร์)



    เป็นสัตว์กึ่งเทพ ในตำนานปรัมปราของอินเดีย ปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่นมหากาพย์มหาภารตะ  เล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับพญานาค และทะเลาะเป็นศัตรูกัน นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ปราณะ   ที่ชื่อว่า ครุฑปุราณะ เป็นเรื่องเล่าของพญาครุฑ




    ตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์     เชื่อว่าปกติอยู่ที่วิมานฉิมพรี      มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรีที่ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้



    แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์     ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งหมายถึง "ขนวิเศษ"









    ลักษณะทั่วไปของพญาครุฑ





    พญาครุฑมีกายเป็นรัศมีสสีทองมีเดชมีอำนาจมากที่สุดในหมู่ครุฑทั้งหลาย    โดยอาศัยเกาะอยู่ตามต้นงิ้ว   อาศัยผลงิ้วและน้ำดอกไม้จากต้นงิ้วเป็นอาหารทิพย์ 



    ครุฑเป็นสัตว์กึ่งโอปปาติกะ  หรือกึ่งพวกกายทิพย์คล้ายชาวลับแลและพวกพญานาคอยู่อีกมิติหนึ่งจากโลกของเรา  ผู้ที่จะสามารถพบเห็นครุฑได้ต้องเคยมีบุญร่วมกับพวกเขามาจึงสามารถรับรู้ถึงกั
    นและกันได้  เหมือนกับผู้ที่สามารถติดต่อกับพญานาคได้ก็เช่นกันล้วนเป็นผู้ที่มีวาสนาต่อกันมาตั้งแต่อดีตทั้งนั้น    ไม่ใช่เรื่องสาธารณะที่จะรู้กันได้ทั่วไป  เช่นเรื่องสามัญ





    ลูกครุฑจะโตขึ้นนับเวลาเป็นข้างขึ้นข้างแรมตามจันทรคติ   เติบโตด้วยบุญกุศลที่เคยทำมา   หากลูกครุฑตนใดที่มีบุญญาธิการมาก   อำนาจบุญจะบันดาลให้เกิดผลงิ้วทิพย์และน้ำหวานจากดอกไม้มาบำเรอลูกครุฑตนนั้นๆ   และลูกครุฑตนดังกล่าวจะจำเริญวัยได้อย่างรวดเร็ว






    ครุฑเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง สามารถบินได้รวดเร็ว ทั้งยังมีสติปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด อ่อนน้อม ถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ น่าสรรเสริญ




    ครุฑพอจะแบ่งได้ 5 ประเภทคือ


    1.  ตัวเป็นคนอย่างธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่มีปีก
    2. 
    ตัวเป็นคน หัวเป็นนก
    3.  ตัวเป็นคน หัวและขาเป็นนก

    4.  ตัวเป็นนก หัวเป็นคน

    5.  รูปร่างเหมือนนกทั้งตัว




    ครุฑในทางพุทธศาสนา     จัดเป็นเทวดาชั้นต่ำประเภทหนึ่งภายใต้การปกครองของท้าววิรุฬหก    ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศให้ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑเพราะทำบุญเจือด้วยโมหะ



    ครุฑมีกำเนิดทั้ง 4 แบบ คือ
    1. โอปปาติกะ  (เกิดแบบผุดขึ้น)
    2. ชลาพุชะ (เกิดในเถ้าไคล)
    3. อัณฑชะ  (เกิดในไข่)
    4. สังเสทชะ (เกิดในครรภ์)



    มีที่อยู่ตั้งแต่พื้นมนุษย์ ป่าหิมพานต์   ป่าไม้งิ้วรอบเขาพระสุเมรุ จนถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา


    ครุฑชั้นสูงจะมีกำเนิดแบบโอปปาติกะ มีขนสีทอง    มีเครื่องประดับแบบเทพบุตรเทพธิดา มีชีวิตอยู่เหมือนเทวดา แปลงกายได้ และบริโภคอาหารทิพย์เช่นเดียวกันเทวดา   แต่ครุฑบางประเภทก็กินผลไม้หรือเนื้อสัตว์ บางประเภทถ้าผูกเวรกับนาค ก็จะกินนาคเป็นอาหาร หรือถ้าผูกเวรกับสัตว์นรกในยมโลก ก็จะสมัครใจไปเป็นนายนิรยบาลลงทัณฑ์สัตว์นรก







    อิทธิ์ฤทธิ์ของพญาครุฑ



    อำนาจของพญาครุฑนั้นท่านว่าลึกลับมากนัก ในตำนานของฮินดูกล่าวว่าตั้งแต่แรกเกิดมานั้นพญาครุฑก็มีรัศมีกายที่สว่างไสวเป็นที่อัศจรรย์   ส่อให้รู้ว่าเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ มีอานุภาพเป็นอเนกอนันต์ มีฤทธิ์วิชาผาดโผนพิสดารทั้งนี้มีเรื่องกล่าวไว้อีกว่าครั้งหนึ่งพญาครุฑเคยลองฤทธิ์กับองค์พระนารายณ์มหาเทพหนึ่งในสามของทางศาสนาพราหมณ์ การรบกันนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั้งสามโลกธาตุ



    พญาครุฑสามารถต่อสู้ด้วยความสามารถ รบกันไปเท่าใดก็หาแพ้ชนะกันไม่ จนในที่สุดพระนารายณ์และพญาครุฑจึงตกลงกันว่าขอให้เสมอกันในการรบระหว่างเรา และท่าน พระนารายณ์อนุญาตให้พญาครุฑสามารถอยู่เหนือเศียรตนได้ และพญาครุฑก็นอบน้อมโดยการยินยอมให้พระนารายณ์สามารถนำตนเป็นพาหนะไปยังสถาน ที่ต่าง ๆ ได้เช่นกัน




                จึงถือกันในหมู่ครูบาอาจารย์กันต่โบราณว่า พญาครุฑ  เป็น เทพเดรัจฉานที่มีอานุภาพอิทธิฤทธิ์เทียบเท่าพระผู้เป็นเจ้าอย่างพระนารายณ์ อานุภาพของครุฑจึงเป็นที่อัศจรรย์ของทั่วโลกธาตุ นอกจากนี้ยังมีประวัติอีกว่าพระอินทร์เองก็เคยลองฤทธิ์กับพญาครุฑใช้วัชระฟาดพญาครุฑ




    แต่องค์พญาครุฑเป็นกายสิทธิ์หาได้เป็นอันตรายแต่อย่างใดไม่ พระอินทร์พยายามอยู่หลายทางก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่องค์ครุฑได้ จนพระอินทร์มีความเคารพในอานุภาพของพญาครุฑว่ามีฤทธิ์เดชเทียบเท่าพระผู้ เป็นเจ้าจริงในที่สุดพญาครุฑจึงได้สลัดขนตนเองออกมาหนึ่งเส้นให้แก่พระ อินทร์เพื่อเป็นเกียรติแก่พระอินทร์ด้วยเช่นกัน





    สิทธิอำนาจพญาครุฑสัตว์กายสิทธิ์ที่ไม่มีผู้ใดสามารถฆ่าให้ตายได้มีอายุยืนเสมือนว่าเป็นอมตะนั้น นับเป็นเรื่องลี้ลับที่ผู้รู้พยายามค้นคว้า และเสาะหาที่มาแห่งพลังอำนาจดังกล่าว จนเกิดการสร้างเครื่องรางต่าง ๆ ขึ้น อำนาจพญาครุฑสามารถจำแนกได้ถึง ๘ ประการ โดยนับเอาอำนาจหลัก ๆ ได้ดังนี้คือ



    ๑.     เป็นมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ เป็นสิทธิอำนาจอันเฉียบขาด

    ๒.    สามารถลบล้างอาถรรพ์และคุณไสย์ทั้งปวง ภูติผีปิศาจกลัวไม่กล้าเข้าใกล้

    ๓.    เป็นสื่อนำความเจริญรุ่งเรือง ยศถาบรรดาศักดิ์มาสู่ชีวิตหน้าที่การงาน

    ๔.    ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัยเป็นคงกระพัน

    ๕.    เป็นเมตตามหานิยม

    ๖.     นำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้

    ๗.    ทำมาค้าขายดีเป็นสื่อนำโชคลาภนานาประการ

    ๘.    สัตว์ร้าย เขี้ยวงาสารพัด งูเงี้ยวเขี้ยวขอ อสรพิษไม่กล้ากล้ำกรายเข้าใกล้ เพราะเกรงตบะบารมีขององค์พญาครุฑเป็นที่สุด

     

    อำนาจพญาครุฑยังมีมากกว่านี้อีกมาก แล้วแต่ท่านใดจะรู้จักใช้ ในตำราทางไสยเวทพุทธาคมมีทั้งการใช้ยันต์ครุฑให้ผลดีในทางคงกระพันชาตรี มีนะพญาครุฑใช้ลงตบเข้าหน้าผากเป็นคงกระพันชาตรีกันเขี้ยวงาอสรพิษได้



    ทั้งนะพญาครุฑนี้เมื่อประสิทธิ์ลงไปยังตัวคนผู้ใดแล้วยังสามารถทรหดอดทน เดินไกลไม่เหนื่อย เป็นวิชาตัวเบาชั้นยอด และเป็นเมตตามหานิยมชั้นสูงอีกด้วย ยังมีคาถาพญาครุฑซึ่งเมื่อกล่าวพระคาถานี้งูพิษรวมไปจนถึงตะขาบแมงป่องและสัตว์ร้ายต่าง ๆ ทั้งหลายจะหลบหนีไปสิ้นโดยพระคาถาพญาครุฑท่านว่าดังนี้



    โอมพญาครุฑจะเห็นผล หลีกไปให้พ้น พญาหนจะเดินทาง เคาะงอ เคาะงอ


    ก่อนว่าพระคาถานี้ให้นมัสการพระรัตนตรัยเสียก่อนด้วยนะโม ๓ จบและท่องพระคาถานี้ก่อนออกเดินทางตั้งสติส่งจิตไปถึงพญาครุฑจะปลอดภัยทุกประการ




    การบูชาพญาครุฑประกอบกับพยาปักษาชาติอันมีฤทธิ์ทั้งหลายนั้น ท่านให้สักการะคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จากนั้นให้ตั้งจิตระลึกถึงพญาครุฑท่าน ด้วยการทำสมาธิภาวนาเป็นสื่อถึงองค์พญาครุฑว่า ครุฑโธ จนจิตสงบหรือระลึกชื่อ พญาวายุภักษ์ หรือ ท่องคำว่า การะวิโก อันเป็นคาถาหัวใจพญาการเวกก็ว่าได้




    จากนั้นเมื่อเห็นว่าจิตสงบลงบังเกิดเสียงนกร้องระงม จากบริเวณที่มีนกอยู่ใกล้ ๆ จนบางครั้งอาจมีนกมาบินเวียนวนอยู่เป็นทักษิณาวัตรอย่างน่าอัศจรรย์ หรือมีฝูงนกมาทานอาหารที่เราเซ่นไหว้ อาการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเป็นศุภมงคลอย่างประเสริฐแล้ว สื่อให้เห็นว่าจิตเราพิธีกรรมเราที่ตั้งถึงองค์พญาครุฑและเหล่าพญาปักษาชาติทั้งหลายอันมีฤทธิ์นั้นท่านรับรู้แล้ว และท่านทั้งหลายจะช่วยเหลือเราอย่างสุดวามสามารถโดยตลอด









    ตำนานเกี่ยวกับพญาครุฑ


    ผู้ประพันธ์ผลงานนี้   ศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา
    จากหนังสือเรื่อง      “ภาตรนิยาย”








    ครุฑ  เป็นพญาวิหค เจ้าแห่งนกทั้งปวงด้วยเริ่มเรื่องที่ผู้แม่นางวินตา ที่เป็น ๑ ในชายาจำนวนมากมายของพระฤษีกัศยป และมีน้องสาวชื่อว่า กัทรู หรือ สรุสา (ซึ่งก็เป็นชายาด้วยเหมือนกันทั้งสองพี่น้อง)  



    ครั้งหนึ่งคอยดูแลพระฤษีกัศยปเทพบิดร จนเป็นที่พอใจ และได้ให้พรแก่ทั้งสองนางฝ่ายน้องสาวได้ขอพรก่อน โดยขอไว้ว่า


    “ข้าพเจ้าขอมีบุตรเป็นนาค ๑๐๐๐ ตัว มีฤทธิ์ร้ายแรง และแปลงได้ได้สารพัด ดังใจนึก”

    พระมุนีฤษีก็ให้พรนั้นแก่ชายาไป

    ฝ่ายนางวินตานี่สิ

    “ข้าพเจ้าของมีบุตรเพียง ๒ แต่ขอให้มีเดชล้นฟ้า หาผู้ใดเสมอมิได้ จงมีชัยชนะเหนือนาคทั้งหลาย ทุกเมื่อ...”

    พระเทพบิดรก็ให้พรไป และพูดกลับแก่นางวินตาเหมือนรู้ทันว่า


    “เจ้า จะได้พรดังขอ แต่เจ้าของพรด้วยจิตริษยาต่อน้องของเจ้า เจ้าได้ผูกเวรขึ้นมาแล้ว และมันจะทำให้เจ้าตกระกำ ยากลำบากมากมายจนเลือดตากระเด็น แต่อย่างไรเสีย เจ้าจะพ้นทุกข์เวรนี้ได้เพราะบุตรของเจ้า ผู้เป็นลูกกตัญญู”


    กล่าวจบ พระฤษีกัศยป ก็ขึ้นสวรรค์ไปช่วยพระอินทร์กวนน้ำทิพย์









    ไม่นานทั้ง ๒ พี่น้อง ก็คลอดบุตรออกมาเป็นไข่ ฝ่ายนางกัทรู ได้เป็นไข่ ๑๐๐๐ ฟอง และนางวินตาออกมาเพียง ๒ ฟอง



    เวลา ผ่านไป ๕๐๐ ปี ไข่นางกัทรูแตกออกมาเป็นนาคทั้งหมด บังเกิดความอิจฉาแก่ผู้พี่เสมอ ยามที่ได้เห็นแม่ลูกฝ่านน้องเหย้าหยอกกันอย่างมีความสุข จนทำให้ตบะแตกลงทุน ทุบ ไข่ฟองแรก ปรากฏว่ามีกุมารอยู่ในนั้นคนหนึ่ง แต่มีร่างกายแค่ท่อนบน คือ พระอรุณ





    พระอรุณ เห็นแม่ทำดังนั้นก็โกรธมาก สาปแม่ทันทีว่า




    “ดูก่อน แม่ช่างทำแก่ข้าได้ ข้ามีร่างการครึ่งตัวเช่นนี้เพราะความขาดสติแท้ ๆ นับแต่นี้ไป แม่จงตกเป็นทาสของนางกัทรู และพวงนาคทั้งหลาย จะต้องทนทุกข์เวลาช้านาน หาความสุขมิได้”




    แต่ในที่สุดก็สงสาร เพราะความจริงที่ว่านางวินตาก็คือแม่ของตน จึงลดคำสาปลง


    “อีก ๕๐๐ ปี ไข่อีกฟองจะแตกออก และเขาจะเป็นผู้ช่วยแม่ออกจากทุกข์นี้เอง”



    กล่าวจบ ก็ลอยขึ้นไปนภาไปเป็นสารภีให้พระอาทิตย์ พระอรุณผู้มีร่างกายใหญ่โต ขนาดมีเพียงครึ่งเดียว ก็สามารถบังแสงของพระอาทิตยได้ ลดแสงเป็นสีแดงอ่อน ๆ จึ่งเรียกแสงอาทิตย์แรกจับขอบฟ้าว่า...แสงอรุณ นั้นเอง







    และถึงคราวที่ นางวินตาจะกลายเป็นไปตามคำสาปก็มาถึง นางไปพนันกับน้องสาวแพ้ เรื่องสีของขนม้าอุจไรศรพ (ม้านี้ออกมาจากการกวนน้ำทิพย์) ว่ามีสีอะไร นางวินตาจำได้ว่าเป็นสีขาวทั้งตัวม้า จึงตอบไปว่าสีขาว




    ฝ่ายน้องสาวคิดทางต้องชนะ เพราะผู้แพ้จะต้องตกเป็นทาสของอีกฝ่าย นางจึงโกงโดยให้ลูก ๆ นาคทั้งหลายแปลงกายไปเป็นเส้นขนหางม้าสีดำ



    นางวินตาจึงแพ้ และตกเป็นทาสตามคำสาป



    นาง วินตาถูกใช้งาน ทำงานหนักสารพัดเช้ายันเย็น ทุกข์อยากแสนสาหัส หาความสุขมิได้จนในที่สุด ไข่อีกฟองก็ครบอายุ ๑๐๐๐ ปี และ แตกออก




    ปรากฏเป็นร่างนกยักษ์แสนสง่า ร่างกายมหึมา สว่างไสวกว่าแสงพระอาทิตย์ ๑๐๐ เท่า ได้บินขึ้นสู่เวหา จนถึงทางโครจรแห่งสูรยาทิตย์ รัศมีอันมหาศาลรุ่งโรจน ทำให้ทวงเทพแตกตื่นกันเสียไม่มี รีบลนลานไปเข้าเฝ้าพระอัคนิเทพถามหาที่มาที่ไป






    พระอัคนีก็อธิบายว่า แสงนี้เป็นแสงรัศมีแห่งบุตรของพระฤษีกัศยปเทพบิดรด้วยพรอันประเสริฐ






    ทวยเทพทราบดังนั้นจึงมาขอร้อง ให้มหาวิหคโปรดลงรัศมีลงหน่อยเถิด
    พญานกก็ยอมทำตามด้วยใจอันเมตตา และบินกลับมาหามารดาของตน
    อันได้ชื่อว่า แม่เป็นทาส ลูกก็ย่อมตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยเช่นนั้น เมื่อพญาเวนไตย ทราบถึงความเป็นอยู่อันทุกข์ตรมของมารดา ก็เศร้าใจหนักหนา คิดหาทางช่วยตลอดเวลาแต่ยังไม่ประสบโอกาส









    วันหนึ่ง นางกัทรู อยากเดินทางไปยัง เกาะรามณียกะ ที่กลางสะดือทะเล โดยนางวินตาแบกนางกัทรู และเวนไตยแบกนาคทั้ง ๑๐๐๐ด้วยความเกลียดชัง จึงแกล้งบินขึ้นฟ้าไปสูง ๆ ไปสูงลิบจนเข้าใกล้สายโคจรของพระเทวาอาทิตย์เกินไป นาคทั้งหลายพากันสลบไปหมด




    แม่นาคทั้ง ๑๐๐๐ เห็นดังนั้นก็สวดมนต์อ้อนวอนพระอินทร์ พระอินทร์จึงบัลดาลฝนตกห่าใหญ่ ทำให้นาคทั้งหลายฉุ่มฉ่ำ ฟื้นขึ้นมาทั้งหมด

    จุดนี้เอง พญาเวนไตย จึงผู้ใจเจ็บกับท้าววัชรินทร์เป็นต้นมา








    เมื่อถึงที่สุดแห่งความกตัญญูต่อมารดา พญาเวนไตยจึงขออิสรภาพกับนางกัทรูและเหล่านาคตรง ๆ ไปเลย


    ผลคือพวกนาคเหล่านั้นต้องการหม้อน้ำอมฤตของพระอินทร์มาแลกเปลี่ยน เพราะอยากมีความเป็นนิรันดรอย่างผู้พี่ คือพระอินทร์นั้นเอง







    พญาเวนไตยดีใจเป็นที่สุด จึงรีบไปบอกมารดาเล่าความให้ฟัง แต่การเดินทางไปเขาสุเมรุไกลมากมาย





    แม่ จึงแนะลูกว่า “ลูกต้องอาศัยเรี่ยวแรงมหาศาล จึ่งเดินทางไปถึงสวรรค์ ลูกจงกินเหล่านิษาท อันเป็นคนเถื่อนที่มีอยู่จำนวนมากมายในป่าเป็นอาหารเถิด”




    เวนไตยมีใจยินดี กราบอำลามารดา นางวินตาจึงสอนลูกเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมให้พร




    “ลูกรัก ผู้มีอำนาจเรืองฤทธิ์เดช แต่อย่าได้ทะนงตน    ลูกต้องเคารพวรรณะพราหมณ์ อันเป็นวรรณะสูงสุด ต้องเคารพยำเกรง ให้เกียรติเหนือตน ตลอดเวลาถ้าเจ้าหลงกลืนพราหมณ์ จักมีอาการแสบร้อนทรมาน จงรีบคายเสีย”






    “บัดนี้ลูกกตัญญูของแม่จักเดินทางออกไปเพื่อช่วยแม่    ขอให้ประสพความสำเร็จทุกประการ    พระวายุปกป้องปีกของลูก พระอาทิตย์ และพระจันทร์ปกป้องเบื้องล่างของลูก    พระอัคนีปกป้องศีรษะของลูก และ เหล่าทวยเทพวสุปกป้องกายอื่น ๆ ของลูกเจ้าจงรีบไปเถิด แม่จะคอยอยู่ที่นี้”



    เมื่ออำลา และรับพร พญาเวนไตยจึงออกเดินทางโดยระหว่างนั้นก็เสพเหล่านิษาทไปเป็นจำนวนมาก







    และหนึ่งในนั้น ได้เผลอกลืนพราหมณ์ผู้มีภรรยาเป็นนิษาทลงไป
    เกิดอาการแสบร้อน ทรมาน จึ่งนึกถึงคำของแม่ รีบคายออกมาทั้งพราหมณ์ และภรรยา




    พราหมณ์เห็นความอ้อนน้อม และกตัญญูของพญาปักษา ก็เอ็นดูทันทีให้พรอันทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานสมปรารถนา






    พญาเวนไตยแม้จักกินนิษาทมากแค่ไหนก็ไม่อิ่ม คิดหาเหยื่อใหม่   โดยร่อนลงบนเขาเหมกูฏอันเป็นที่ตั้งของพระกัศยปพรหมฤษี     ผู้เป็นบิดาจึงแนะว่าให้ไปกินพญาเต่า และพญาช้าง ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นอสูรด้วยกันทั้งคู่     ที่สู้รบไม่รู้แพ้ ชนะ จึงสาปกันและกันเป็นให้เป็นสัตว์เช่นนี้ ที่ทะเลสาบใหญ่ทางทิศเหนือจากนี้






    เมื่อ ได้รับคำแนะจากบิดา เวนไตยก็รีบไปจับ ใช้ปากจับสัตว์ยักษ์ทั้งสองที่กำลังต่อสู้กันอยู่ และโผจับกิ่งไทรใหญ่ กิ่งหนึ่งหวังจะกินอาหารที่ได้มา แต่ทานน้ำหนักไม่ไหว หักลง





    ที่กิ่งไม้นั้นเอง มีเหล่าพราหมณ์แคระ พาลขิลยะ มีร่างกายเท่านิ้วมือ ห้อยหัวลงดินบำเพ็ญเพียรอยู่ จำนวนหลาย ๑๐๐๐๐ ตน พญาวิหคจึงไม่กล้าทิ้งกิ่งไม้
    เกรงอันตรายเกิดแก่เหล่าพราหมณ์ แต่หาที่วางเหมาะ ๆ ไม่ได้ จึงต้องกลับมาหาบิดา






    พระเทพบิดรก็ได้เล่าความทั้งหมดที่เกิดแก่เหล่าพราหมณ์แคระ ก็พากันสรรเสริญและให้พร






    “มหา ปักษิน จากนี้ไปท่านจงมีนามว่า ครุฑ คือผู้รับภาระอันหนัก ไม่ว่าภาระใด ๆ ก็สำเร็จลุล่วงทุกครั้งไป มีพลังมหาศาลไม่มีวันพร่อง เป็นผู้สามารถตลอดกาล ใคร ๆ อย่าได้ต้านทานต่อสู้ได้เลย”





    พญาครุฑเอากิ่งไทรไปทิ้งทะเล และกินเหยื่อที่ริมหาดนั้นเอง แล้วก็รีบบินไปเทวโลกทันที



    ครู่เดียวเท่านั้น ก็มาถึงนครอมราวดีของท้าววัชรินทร์มา ถึงพญาครุฑก็เล็งมายัง วิมานไวชยันต์ อันเป็นที่เก็บหม้อน้ำอมฤตไว้ พระวิศวกรรมออกมาขวาง พญาครุฑก็ตบกลิ้งไปด้วยกรงเล็บมหึมา เทพทั้งหลาย รวมทั้งพระอินทร์ก็ต้านทานไว้ไม่ได้เลย





    เมื่อเข้าใกล้หม้อน้ำทิพย์ที่ถูกเก็บหลังกรงจักรหมุนติ้ว ๒ อัน
    มีงูร้ายตาแดงกล่ำ ๒ ตัวขดอยู่เบื้องล่างของหม้อ





    พญาครุฑกระพือปีก ฝุ่นฟุ้ง ไปทั่วจนงูลืมตาไม่ขึ้นและย่อร่างเข้าไปในกรงจักร ทำลายเสียแล้วเอาหม้อน้ำทิพย์ออกมาจนได้ขณะบินออกมาสู่นภาพร้อมหม้อน้ำอมฤต แผ่ปีกบังแสงอาทิตย์เป็นสง่าเหลือคณานับ







    พระวิษณุแลเห็นความสง่าสุดบรรยาย พอพระทัยยิ่ง ตรัสสรรเสริญ และมอบพรให้พญาครุฑซึ่งพญาครุฑก้มศีรษะลงคารวะอย่างนอบน้อม และขอไป ๒ ข้อ คือ




    “ข้าพระองค์ขอเป็นเพียงพาหนะของพระองค์ชั่วชีวิต และประการ ๒ คือ ข้าพระบาทของมีชีวิตเป็นอมตะ ไม่ต้องดื่มน้ำอมฤตเหมือนเทวาทั้งหลาย”



    พระวิษณุก็มอบพรให้  ระหว่างทางกลับ พระอินทร์มีความเสียดายยิ่งนัก ตามมาแย่งคืนก็สู้แรงพญานกไม่ได้ แม้เขวี่ยง วัชระ เทพตราวุธประจำกาย
    เสียงดังสนั่นปานสวรรค์แตกสลาย ก็ไม่ได้ระคายเคืองพญาครุฑเลย
    (เพราะได้รับพรไปแล้ว)





    พญาครุฑจึงกล่าวแก่ท้าววัชรินทร์ว่า





    “ดูก่อนท้าววาสพ จงเร่งสำนึกตัว ท่านเป็นพี่คนโตของข้า ข้าก็เคารพความนี้อยู่แล้วนอกเหนือจากนั้น ท่านยังเป็นราชาแห่งเหล่าทวยเทพ ข้าก็ยิ่งเคารพยำเกรงท่านมากขึ้นไปอีกครั้งนี้ท่านตามมาต่อสู้ แม้ข้าทำร้ายท่าน ท่านก็จะเสียเกียติแต่เอาเถอะ ข้าจะยอมลดเกียรติลง ยอมให้ขนของข้าหลุดร่วง ๑ เส้น เพื่อแสดงว่า อาวุธของพี่ข้าได้ผลสามารถทำร้ายข้าได้ ต่อไปภายหน้าข้าจะไม่ให้โอกาสท่านแล้ว จงสำนึกคำของข้าไว้”




    กล่าวจบ ขนสีทองสว่างรุ่งโรจนก็หลุดร่วงลง เปล่งประกายราวกับมีพระอาทิตย์อีกดวง





    พระอินทร์สิ้นทิฐิกล่าวขอโทษพญาครุฑ และกล่าวถึงเหตุ และผลของการใช้น้ำอมฤตพญาครุฑได้ฟังวาจาอ้อนน้อมก็ใจอ่อน และตอบว่ายังไงเสียก็ต้องนำหม้อไปเพื่อช่วยมารดา





    “แต่เอาเถอะ หลังจากที่ข้านำหม้อน้ำทิพย์นี่ไปให้นาคแล้ว จงเป็นหน้าที่ของท่านต่อไปเถิด”





    พระอินทร์จึงล่องหนตามพญาครุฑไปด้วยเมื่อนำหม้อน้ำทิพย์มาให้พวกนาค และปล่อยนางวินตาแล้ว นาคก็ตรงเข้าสู่หม้อน้ำทิพย์ทันที พญาครุฑห้ามไว้ ว่า





    “จงลงไปอาบน้ำชำระกาย และสวดมนต์คายราตรีเสียก่อน จึงค่อยมาดื่ม”



    เหล่านาคเชื่อก็ทำตาม พระอินทร์ก็ฉวยโอกาสนั้น นำหม้อกลับไปได้ รีบกลับเทวโลกทันที

    นาคขึ้นมาไม่เห็นหม้อตกใจ แต่ก็ยังโชคดีที่ยังมีละอองน้ำทิพย์เกาะบนยอดหญ้าอยู่





    เหล่านาคจึงหลงพากันเลียน้ำค้างธรรมดาบนยอดหญ้าคาคมที่ปาดลิ้นจึงทำให้งูทั้งหลายมีลิ้น ๒ แฉกเป็นต้นมา








    พญาครุฑพาแม่ไปส่งยังสำนักของพระกัศยปเทพบิดรแล้วกลับมาปฏิบัติการจองเวรแก่นาคทั้งปวง ไล่จับนาคกิน ฉีกพุง กินมันเปลว และเลือด เป็นอาหารอย่างสำราญใจ





    นาคทั้งหลายก็หนีไปอยู่สะดือทะเล อันเป็นที่ตั้งของนครโภควดีของพญาวาสุกิ ราชาแห่งนาคทั้งปวง



    พญาครุฑก็กระพือปีกแหวกน้ำออกจับนาคขึ้นมาได้อีก พญาวาสุกิเห็นไม่ดี
    จึงทำสัญญาต่อพญาครุฑว่าจะทำพิธีสรรปพลี สังเวยนาคแก่พญาครุฑวันละตัวณ ลานหินริมฝั่งทะเล พญาครุฑก็ยอม






    เลือดของนาคที่หยอดลงพื้นกลายเป็นมรกตนาคสวาทน้ำลายปนเลือดครั้งสุดท้าย กลายเป็นพลอยครุฑกานต์ เรี่ยราดอยู่ตามชาดหาดนั้นเอง









    ตำนานพญาครุฑกับนางกากี








    ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภภิกษุผู้กะสันจะสึกรูปหนึ่งตรัสให้โอวาทว่า "ภิกษุ ธรรมดามาตุคาม (แม่บ้าน) ใคร ๆ ก็รักษาไว้ไม่ได้ โบราณบัณฑิตในครั้งก่อน ถึงจะยกมาตุคามขึ้นไปไว้ในวิมานฉิมพลีในท่ามกลางมหาสมุทรก็ไม่อาจรักษาสตรีได้" แล้วได้นำอดีตนิทานมาสาธก ว่า...





              กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชาผู้ครองเมืองพาราณสี มีมเหสีพระนามว่า กากาติ มีพระรูปโฉมงดงามยิ่ง ใครเห็นใครก็ลุ่มหลงในความงาม ในวันหนึ่งมีพญาครุฑตนหนึ่งแปลงร่างเป็นมนุษย์มาเล่นสกา (การพนันชนิดหนึ่ง)กับพระราชา




    ได้พบเห็นพระนางกากาตินั้นแล้วเกิดความรักใคร่ในนาง จึงแอบพานางหนีไปอยู่ที่วิมานฉิมพลีอันเป็นที่อยู่ พระราชาเมื่อไม่พบเห็นพระเทวีจึงตรัสเรียกคนธรรพ์ชื่อ นฏกุเวรมาเข้าเฝ้า พร้อมมอบหมายให้นำพระเทวีกลับมาให้ได้




              ฝ่าย คนธรรพ์ทราบที่อยู่ของครุฑแล้ว จึงไปนอนแอบซุ่มอยู่ในดงตะไคร้ข้างสระลูกหนึ่ง พอครุฑบินไปจากสระก็แอบกระโดดเกาะระหว่างปีกครุฑไปจนถึงวิมานฉิมพลี แอบได้เสียกับพระนางกากาติที่วิมานนั้น แล้วก็อาศัยครุฑนั้นแหละกลับมาเมืองพาราณสีอีก ในวันหนึ่งขณะที่พญาครุฑเล่นสกากับพระราชาอยู่ คนธรรพ์ก็ทำทีเป็นถือพิณมาที่สนามสกา ขับร้องเป็นเพลงว่า





              "หญิงรักคนรักของเราอยู่ ณ ที่แห่งใด กลิ่นของนางยังหอมฟุ้งมาที่แห่งนั้น ใจของเรายินดีในนางใด นางนั้นชื่อกากาติ อยู่ไกลจากที่นี้"





              พญาครุฑพอได้ฟังแล้วสะดุ้งจึงถามเป็นนัยว่า "ท่านข้ามทะเลมหาสมุทรทั้ง ๗ แห่งไปได้อย่างไร ท่านขึ้นวิมานฉิมพลีได้อย่างไร"





    นฏกุเวรจึงตอบว่า "เราข้ามทะเลมหาสมุทรทั้ง ๗ แห่งได้ก็เพราะท่าน ขึ้นวิมานฉิมพลีได้ก็เพราะท่านนั้นแหละ"





              พญา ครุฑพอได้ทราบความจริงแล้ว ก็กล่าวติเตียนตนด้วยความเสียใจว่า "ช่างน่าติเตียนเสียนี่กระไร เรามีร่างกายใหญ่โตเสียเปล่าไม่มีความคิด จึงเป็นพาหนะให้ชายชู้ของเมียทั้งไปและกลับ น่าเจ็บใจจริง ๆ" กล่าวจบก็คืนร่างเป็นพญาครุฑไปนำพระนางกากาติมาคืนพระราชาแล้วไม่หวนคืนกลับ มาเล่นสกากับมนุษย์อีกเลย







    การใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์






    ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงได้มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ (หรือ พระครุฑพ่าห์) หมายถึง ครุฑซึ่งเป็นพาหนะ เป็นรูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา


                                                  





    ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่     ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำ พระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น


    พระราชลัญจกร ร.2





    ซึ่งจากการที่เราใช้ตราครุฑเป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่น ดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับ หนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วๆไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ






    ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่าธงมหาราช    เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ 3 ลำคือเรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน





    นอกเหนือจากการที่ตราครุฑปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดิน ในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต






    ต่อมาในรัชกาลที่ 6ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้ แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูป เป็นต้นแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน





    ปัจจุบันการขอพระราชทานตราตั้งนี้ต้องยื่นคำขอต่อสำนักพระราชวัง เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวัง เรียกคืนเนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานฯตาย หรือเลิกประกอบกิจการหรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ







    ประเทศอินโดนีเซียเป็น อีกประเทศหนึ่ง ที่ใช้ครุฑ (Garuda) เป็นเป็นตราประจำแผ่นดิน โดยครุฑของอินโดนีเซียนั้นเป็นนกอินทรีทั้งตัว สายการบินประจำชาติอินโดนีเซียก็ใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์ คือสายการบิน Garuda Airlines





    ที่มาของข้อมูล

    : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%91
    : http://www.himmapan.com/thai/himmapan_bird_garuda.html
    : http://www.devalai.com/story3.htm
    : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=18-12-2007&group=6&gblog=6
    : http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt05.php
    : http://www.satit-kku.com/community/index.php?automodule=blog&blogid=13&showentry=90
    :
    ศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา  จากหนังสือเรื่อง “ภาตรนิยาย”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×