ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ArchaeologY.....โบราณ ณ กาล

    ลำดับตอนที่ #1 : ลูกปัดต่างชาติ ในแหล่งโบราณคดีไทย

    • อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 52


    ลูกปัด อาจ      

    ลูกปัด อาจให้นิยามได้ว่า เป็นวัตถุหรือประดิษฐกรรมขนาดเล็กอย่างหนึ่ง ซึ่งทำจากวัตถุดิบหลายอย่างต่างๆกัน โดยเมื่อนำมาขัด  ฝน ปั้นหรือหลอมหล่อรูปทรงและแต่งแต้มให้เป็นรูปลักษณะต่างๆแล้วต้องมี รูเพื่อร้อยเส้นด้าย สำหรับห้อยหรือแขวนประดับตกแต่งร่างกาย หรือสถานที่  ลูกปัดที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี หมายความว่า พบในแหล่งโบราณคดีหนึ่งๆ ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนคตินิยมหรือรสนิยมของกลุ่มชนเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ แต่ยังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชนอื่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันได้ด้วย นั่นก็คือการให้ และรับซื่งกันและกัน  ค่าอายุของแต่ละชุมชนมีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาว่าชุมชนใดจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับในกรณีที่มีวัตถุพยานลูกปัดที่มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ขณะเดียวกันก็ต้องดูวัตถุบ่งชี้อื่นๆประกอบกันไปด้วย  ยังต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า  ความเหมือนกันอาจมาจากสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เป็นกระบวนการพัฒนาทางสติปัญญาของมนุษย์ที่คล้ายคลึงกันโดยไม่ต้องรับหรือลอกเลียนแบบ จึงต้องพิจารณาความเป็นไปได้ด้านอื่นๆประกอบกันเสมอ

    ลูกปัดอาจเป็นหลักฐานสำคัญที่จะให้ค่าอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีที่มีชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมในพื้นที่หนึ่งๆได้เหมือนกัน แต่เนื่องด้วยขนาดที่จำกัดของลูกปัดและปริมาณตัวอย่างที่มีน้อย ทำให้การใช้ลูกปัดมากำหนดอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีนั้นไม่เป็นไปอย่างกว้างขวาง อายุสมัยของแหล่งโบราณคดีที่มีค่าอายุทางตรงจึงมาจากค่าอายุที่ได้จากโบราณวัตถุอื่น และค่าอายุเหล่านี้ก็ถือเป็นค่าอายุของลูกปัดที่พบรวมอยู่ในแหล่งนั้นๆด้วย  ยังมีการกำหนดอายุแหล่งโบราณคดีโดยวิธีเปรียบเทียบโบราณวัตถุและลักษณะวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันกับแหล่งที่ทราบผลอายุแน่นอนแล้ว ลูกปัดบางลักษณะก็อาจะกำหนดได้ด้วยวิธีนี้ แต่จากหลักฐานที่ปรากฎพบว่า การนำลูกปัดมาใช้เป็นตัวกำหนดอายุมีความยุ่งยากมากกว่า เนื่องจากลูกปัดบางลักษณะมีอายุการผลิตและใช้งานสืบทอดยาวนาน ยากต่อการตัดสินลงไปว่าเป็นวัตถุของยุคสมัยใด หากไม่นำหลักฐานอื่นมาประกอบ

    ลูกปัดที่เป็นประดิษฐกรรมรุ่นแรกๆของมนุษย์ทำจากวัสดุที่หาง่ายในธรรมชาติ เนื่องจากข้อจำกัดของวัสดุที่นำมาทำลูกปัดและเทคโนโลยี ทำให้ลูกปัดประเภทนี้มีรูปแบบพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดทางวัฒนธรรมกันก็ได้  ลูกปัดที่ทำจากกระดูกและเปลือกหอยในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ ๖,๕๐๐ ๕,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยพบจากแหล่งขุดค้นในถ้ำ และต่อมาประมาณ ๔,๐๐๐ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ก็พบอยู่ในแหล่งอื่นๆที่เป็นพื้นราบหรือกลางแจ้ง ลูกปัดที่ทำจากหินหรือแร่ประกอบหินในไทย แม้จะพบในแหล่งก่อนประวัติศาสตร์บางแหล่ง แต่ก็พบเพียงเล็กน้อย และลูกปัดหินหรือแร่เหล่านี้ก็มักเป็นรูปแบบพื้นฐานปรากฎในแหล่งต่างๆทั่วโลก  เริ่มปรากฎหลักฐานเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ ๓,๕๐๐ ปีมาแล้วว่า หินวัตถุดิบชนิดดีจำพวกคาร์เนเลียนจากแหล่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุถูกส่งเป็นสินค้าออก เพื่อทำลูกปัดกันอย่างแพร่หลายในดินแดนเอเชียตะวันตก  การผลิตและค้าขายลูกปัดดำเนินเรื่อยมาหลายสมัย มีลูกปัดทั้งที่คงรักษารูปลักษณะเดิมที่ทำกันมาหลายศตวรรษและลูกปัดแบบใหม่ๆเป็นไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การลอกเลียนแบบหรือแม้กระทั่งการซื้อวัตถุดิบเข้ามาในประเทศเพื่อผลิต หลักฐานลูกปัดที่พบในแหล่งโบราณคดีประเทศไทยก็มีตัวอย่างทำนองนี้ให้เห็นเป็นเค้ามูลอยู่  แม้ลูกปัดหินในไทยจะพบมาแล้วแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่เป็นรูปแบบพื้นฐาน และยังมิได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการติดต่อทางวัฒนธรรมกับชุมชนอื่น ลูกปัดหินที่นักโบราณคดีเริ่มพิจารณาว่า น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงการสัมพันธ์ติดต่อกับชุมชนอื่น เริ่มจากแหล่งโบราณคดีที่พบลูกปัดหินแบบฝังเส้นสีแต้มลวดลาย อันเป็นสมัยที่ปรากฎหลักฐานในที่อื่นๆเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดและการส่งเป็นสินค้าออก

    แหล่งโบราณคดีดอนตาเพชร นับเป็นแหล่งที่มีค่าอายุสมัยตามการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว และเชื่อว่าแหล่งนี้เป็นตัวอย่างของแหล่งแรกรับวัฒนธรรมของดินแดนโพ้นทะเลที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ลูกปัดหินแบบฝังเส้นสีที่ทำจากหินคาร์เนเลียนและโอนิกซ์ พิจารณาแล้วสันนิษฐานว่าทางหนึ่งคงมาจากอินเดียที่เมืองอริกาเมดุ และที่เมืองนี้เองยังมีแหล่งผลิตลูกปัดโอนิกซ์ฝังเส้นสีที่มีชื่อเสียง อีกทางอาจได้มาจากตะวันออกกลาง ส่วนลูกปัดแก้วซึ่งพบรวมกับลูกปัดหินในแหล่งดอนตาเพชรนี้ ปรากฎผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ว่า เป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมแก้วจากดินแดนแทบเมดิเตอเรเนียน ข้อมูลนี้ย่อมชี้ชัดว่าแหล่งดอนตาเพชรเป็นแหล่งสมัยแรกประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งที่ปรากฎลูกปัดต่างชาติ ลูกปัดแก้วที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในชั้นวัฒนธรรม อาจเป็นของนำเข้าเพราะยังไม่พบหลักฐานแสดงถึงการผลิต แต่บางท่านก็สันนิษฐานว่าชุมชนบ้านเชียงน่าจะรู้จักการผลิตแก้วขึ้นเองได้ เนื่องมาจากความก้าวหน้าทางโลหกรรมและเครื่องปั้นดินเผา อย่างไรก็ตามลูกปัดแก้วจากบ้านเชียงก็มีลักษณะที่แผกออกไปจากลูกปัดแก้วในตลาดการค้าขายที่ผลิตกันอยู่ในอินเดีย ตะวันออกกลางและเมดิเตอเรเนียน หากลูกปัดแก้วเหล่านี้ไม่ได้ผลิตขึ้นที่บ้านเชียง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า บ้านเชียงติดต่อรับลูกปัดแก้วลักษณะเช่นนี้มาจากที่ใด

    การผลิตลูกปัดหินแบบฝังเส้นสีแต้มลวดลายและลูกปัดแก้ว โดยการซื้อวัตถุดิบและเทคโนโลยี เริ่มปรากฎเป็นเค้าให้เห็นในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว เป็นแหล่งแรกรับวัฒนธรรมโพ้นทะเลจากทั้งสองฝั่งคือทั้งแทบทะเลจีนใต้และทะเลอันดามัน อย่างไรก็ตามยังมีลูกปัดอีกหลายลักษณะในแหล่งนี้ที่มีลักษณะแสดงให้เห็นว่า เป็นของที่มีแหล่งผลิตมาจากเมดิเตอเรเนียนและตะวันออกกลางด้วย แต่จะเข้ามาติดต่อค้าขายโดยตรงหรือส่งผ่านเมืองท่าอินเดียยังไม่อาจวินิจฉัยได้ เมื่อลูกปัดเปล่านี้เข้ามาแพร่หลายในดินแดนแทบนี้ เขาสามแก้วอาจเป็นแหล่งผลิตลูกปัดเสียเองในเวลาต่อมาโดยอาจรับเทคโนโลยีหรือซื้อวัตถุดิบเข้ามา มีหลักฐานคือ หินวัตถุดิบอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์  ข้อที่ว่าอาจมีการซื้อวัตถุดิบเข้ามาผลิตนั้นพิจารณาจากคุณภาพของหินวัตถุที่ใช้ทำลูกปัดกับหินวัตถุดิบประเภทเดียวกันที่มีในประเทศพบว่ามีความแตกต่างกัน ดังนั้นอาจะตั้งสมมติฐานได้ว่าคนโบราณในชุมชนเขาสามแก้ว อาจพัฒนาการผลิต เพื่อใช้ในชุมชนหรือส่งเป็นสินค้าป้อนชุมชนอื่น โดย ก) นำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ แล้วนำมาทำลูกปัด ข) ใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่มีในท้องถิ่น แล้วใช้กรรมวิธีการหุงแร่ วีธีหลังนี้ถือได้ว่าเป็นการนำเข้าทางเทคโนโลยี โดยปรับใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น  ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือแหล่งเขาสามแก้วปรากฎลูกปัดแก้วแบบเขียนสีและแต้มลวดลาย ที่เรียกกันทั่วไปว่า ลูกปัดตา ลูกปัดลักษณะนี้แพร่หลายในแทบโรมัน เมดิเตอเรเนียน  แหล่งเขาสามแก้วยังพบลูกปัดขนาดเล็กที่มีเทคนิคการทำง่ายๆ เป็นเทคนิคพื้นฐาน คือเทคนิค ดึง ยืด ตัด ใส่ส่วนผสมเพื่อทำให้เกิดสีและเนื้อแก้วประกอบกับเทคนิคการทำบางประการทำให้เกิดเป็นลูกปัดที่มีสีสีนต่าง ลูกปัดลักษณะนี้มีนักโบราณคดีบันทึกไว้ว่าพบอยู่มากในแหล่งโบราณคดีที่อินโดนีเซีย ชาวท้องถิ่นเรียก มูติศาลา แล้วยังพบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดินแดนแทบหมู่เกาะแปซิฟิค บางคนจึงขนานนามให้ว่า เป็น ลูกปัดลมสินค้า แต่นายปีเตอร์ ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิค  ลูกปัดแก้วอินโด-แปซิฟิค พบหลักฐานแหล่งผลิตเป็นอุตสาหกรรมในดินแดนประเทศไทยและเวียดนาม แหล่งที่เวียดนามคือแหล่งออกแก้ว ส่วนที่แหล่งประเทศไทยคือที่ควนลูกปัด แหล่งนี้พบหลักฐานอื่นร่วมกับลูกปัดที่บอกให้ทราบถึงการติดต่อกับอินเดียที่น่าสนใจ คือตราประทับอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นอักษรของอินเดียใต้ มีวัตถุพยานที่สำคัญคือ ลูกปัดทรงลุกทุ่นทำด้วยตะกั่วจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้แล้วยังพบลูกปัดทรงลูกทุ่นหรือลูกปัดมีขั้ว ทั้งที่ทำด้วยหินและแก้วรูปแบบต่างๆไม่น้อยกว่า ๔๐ รูปแบบ ลูกปัดทรงลูกทุ่นเป็นรูปแบบของอียิปต์ ทำสืบต่อมาโดยกรีซ โรมัน และดินแดนแถบเมดิเตอเรเนียน อินเดียก็เริ่มทำลูกปัดทรงเดียวกันนี้ แม้ลูกปัดทรงนี้จะเกิดในที่อื่นก่อน แต่ก็พบน้อย เมื่อเทียบกับแหล่งที่พบในประเทศไทย จึงอาจนำมาเป็นข้อพิจารณาได้ว่าลูกปัดทรงนี้อาจเป็นรูปแบบนิยมคือเมื่อรับมาแล้วก็กลายเป็นแบบเฉพาะอย่างหนึ่งที่แหล่งอุตสาหกรรมผลิตในประเทศไทยผลิตเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาดโลก ในสมัยต่อมาเปลี่ยนแหล่งผลิตจากที่คลองท่อมมาเป็นที่แหล่งเหมืองทอง ซึ่งอยู่ในทำเลที่เป็นเมืองท่าฝั่งตะวันตก  จากผลวิเคราะห์ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่าแหล่งเหมืองทอง มีแนวทางการผลิตที่ต่างออกไปจากแหล่งควนลูกปัด คือนิยมเลียนแบบเทคโนโลยีการผลิตลูกปัดแก้วจากตะวันออกกลางมากกว่าอินเดีย  แม้ว่าหลักฐานเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันออกหลายเมืองที่มีการติดต่อค้าขายกับจีน แต่กลับไม่ปรากฎการเข้ามาของลูกปัดจีนในยุคต้นๆของการติดต่อ แต่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ก็พบหลักฐานว่าลูกปัดจากจีนมาปรากฎขึ้นในแหล่งเมืองท่าทางฝั่งตะวันออก เป็นลูกปัดแก้วแบบเกลียวสีสันต่างๆที่มีแหล่งผลิตที่จีน

    การเข้ามาของลูกปัดต่างชาติสู่ชุมชนบนผืนแผ่นดินไทยเท่าที่กล่าวมาโดยลำดับ ลูกปัดเหล่านี้เป็นวัตถุพยายานว่ามีชุมชนที่ติดต่อกับดินแดนโพ้นทะเลมาก่อนหลักฐานการรับวัฒนธรรมทางภาษาหรือศาสนาซึ่งปรากฎเป็นวัตถุพยานในสมัยหลัง

    ________________________________________________________________________

    เรื่องนี้เราทำงานส่งอาจารย์   เห็นว่ามันน่าสนใจเลยเอามาลง  ถ้าใครอยากได้รูปจะพยายามหาให้นะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×