คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : การตัดสินใจ
การตัดสินใจเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของทุกคน มีผลดีผลร้ายมาก ตัดสินใจถูกต้องก็ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ส่วนการตัดสินใจผิดพลาดอาจจะทำให้เสียเวลา เสียเงินทอง เสียสุขภาพ เดือดร้อนตนเอง หรือทำให้สังคมเดือนร้อนได้
คนเราตัดสินใจ เกือบจะทุกวินาที ในเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เรื่องเล็ก ๆ น้อยก็เป็นการตัดสินใจเหมือนกัน เช่น จะสมัครงานที่ไหนดี จะเลือกเรียนวิชาอะไรดี มื้อนี้จะกินอะไรดี หรือจะทำอะไรต่อไปดี กับเรื่องที่สำคัญ ปัญหาที่สลับซับซ้อน ยิ่งจะต้องมีความฉลาดรอบคอบในการตัดสินใจเป็นทวีคูณ ผลของการตัดสินใจของนักเรียน ม. ๑ จึงเทียบไม่ได้กับการตัดสินใจของผู้นำประเทศ
อย่างไรเรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี? เช่น นาย ก. ตัดสินใจที่จะขายเสื้อผ้าแล้วลงทุนซื้อของมา ถ้าเกิดขายดีขายหมด ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี แต่ถ้าขายไม่ดี ขายไม่หมด คนทั่วไปจะมองว่าตัดสินใจไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วต้องพิจารณากิจกรรมที่นาย ก. ทำ เช่น ถ้าขายเสื้อผ้าที่ซื้อมาถูกกฎหมาย เสียภาษีถูกต้อง ค้าขายอย่างสุจริต ไม่หลอกลวงลูกค้า ลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่โลภ ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี ที่ถูกต้อง น่ายกย่อง --- เราวัดจากผลลัพธ์ของการตัดสินใจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูกระบวนการที่ได้มาด้วย
หลักในการตัดสินใจ
จะตัดสินใจอย่างไรให้ดีที่สุด? ไม่นับการทำตามอำเภอใจ ก็มีหลักและวิธีที่นิยมใช้กันอยู่อย่างนับไม่ถ้วน เช่น
๑) ห้าขั้นตอนของกระบวนการตัดสินใจ
๑. ระบุปัญหา
๒. รวบรวมข้อมูล
๓. กำหนดและวิเคราะห์ทางเลือก
๔. ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด
๕. ลงมือทำและติดตามประเมินผล
๒) ถูกต้อง เหมาะสม ถูกกาละเทศะ
ตัดสินใจทำเฉพาะสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม กับกาละเทศะ กับวัย กับสถานการณ์
๓) ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
อะไรดีก็ทำ ไม่ดีก็ไม่ทำ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตัวเอง
๔) อริยสัจจ์สี่
๑. พิจารณาว่าอะไรคือปัญหาหรือทุกข์ (ทุกข์)
๒. หาสาเหตุของปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)
๓. รู้สภาวะที่ต้องการให้เป็น หรือสภาวะที่ทุกข์ตามข้อ ๑. หมดไป (นิโรธ) และ
๔. ด้วยวิธีไหนที่จะแก้ไขปัญหาหรือไม่ทุกข์ (มรรค)
๕) มรรคแปด
ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด (ดูรายละเอียดที่ ธรรมะไทยแลนด์)
๖) ความพอดี ทางสายกลาง
ความพอดี พอเหมาะ ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ทำไปตามสถานภาพ ตามความเป็นไปได้
๗) Objective Oriented
มุ่งที่วัตถุประสงค์หรือปัญหา
๘) Information Oriented
ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเพียงพอ
๙) Win/Win
ตัดสินใจโดยยึดหลักชนะ/ชนะ ให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มักใช้กับการเจรจาต่อรอง หรือการค้าขาย ซึ่งปกติจะมีอยู่สองฝ่าย เช่น นายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ซื้อกับผู้ขาย
๑๐) Job Specification + Priority
ตัดสินใจทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ และตามลำดับความสำคัญของงาน
๑๑) Low Risk / High Return
ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ความเสี่ยงต่ำที่สุด ได้ผลตอบแทนมากที่สุด หรือทำอย่างไรจะทำให้ความเสียงต่ำ แล้วผลตอบแทนสูง มักใช้กับการลงทุน
๑๒) เศรษฐกิจพอเพียง
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ในการตัดสินใจได้
ทักษะการตัดสินใจ
นอกจากหลักในการตัดสินใจที่กล่าวไว้ข้างต้น ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจดังจะกล่าวต่อไป ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ถูกรวบรวมมาไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการตัดสินใจ ดังนี้
ศิลปะของการตัดสินใจ
- นอกจากหลักหรือวิธีดังกล่าวมาแล้ว ยังมีอีกนับไม่ถ้วน จะเลือกใช้อันไหนดีก็แล้วแต่คุณจะพิจารณาล่ะ
- จะเลือกวิธีไหน ควรมีความยืดหยุ่น วิธีหนึ่ง ๆ อาจใช้ไม่ได้กับทุกปัญหา หรือทุกสถานการณ์
- วิธี่การแก้ปัญหาที่เราตัดสินใจเลือกแล้วอาจจะไม่ดีที่สุด ยังมีที่ดีกว่า ง่ายกว่า และประหยัดกว่า การจะเห็นหนทางนั้น อาจจะเข้าไปคุยกับผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ในงานนั้นหรืองานลักษณะใกล้เคียงกัน เขาบางคนอาจจะไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น ซึ่งจะนำเราเข้าไปใกล้คำตอบที่แท้จริง ส่วนบางคนอาจจะให้คำตอบที่ถูกต้องแบบใช่เลย หรือการพูดคุยกับผู้อยู่นอกวงการอาจจะได้คำตอบที่ดีกว่าง่ายกว่าที่ว่าใช่เลยเสียอีกก็เป็นได้
ความแน่วแน่
- หากจะให้ถึงเป้าหมายปลายทางได้เร็ว ไม่ควรวอกแวก ออกนอกเส้นทาง ถ้าจะทำเช่นนั้นก็ควรมีสติรู้ และตรวจสอบผลกระทบหากจะข้องแวะ หรือเปลี่ยนเส้นทาง
การวางแผน
- การออกแบบหรือวางแผนในสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจนเพียงพอ ครอบคลุมองค์ประกอบที่สำคัญให้ครบถ้วน จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น
ความลังเล
- กับเรื่องที่เราเปลี่ยนใจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่ใจ เราอาจจะทำการตัดสินใจหลาย ๆ ครั้ง หมายความว่าตัดสินใจแล้วเว้นเวลาไว้สักระยะหนึ่งจึงตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ทำอย่างนี้ซ้ำหลาย ๆ รอบ เพื่อให้ได้การตัดสินใจที่ดีที่สุด นอกจากนั้นในแต่ละครั้งของการตัดสินใจจะมีการเปลี่ยนกรอบหรือแนวคิดในการตัดสินใจ เช่น ระบุเป้าหมายและแนวทาง หรือคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งาน ความสวยงาม ความจำเป็น ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น เวลาของการที่ต้องแก้ไขงาน ผลกระทบต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการตัดสินใจฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงหนึ่งหรือสองฝ่าย และการออกไปสำรวจและเปรียบเทียบ อย่างนี้เป็นต้น
- ในเรื่องเดียวกัน การตัดสินใจครั้งที่สอง หรือครั้งที่สาม อาจจะดีกว่าการตัดสินใจครั้งแรก เพราะได้คิดหลายด้าน และยืนยันหนักแน่นแล้ว
- ทำใจสมมุติตัดสินใจโดยยังไม่บอกอีกฝ่ายหนึ่งให้ทราบ เลือกทางที่เราสนใจที่สุด ด้วยเหตุผลและความรู้สึก แล้วรอเวลาดูว่าเราจะมีความคิดเห็นอะไรใหม่ ๆ ที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านการตัดสินใจของเราบ้าง เมื่อถึงเวลานัดหมาย เราจึงแจ้งผลการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของเรา
- การตัดสินใจที่ดีควรตัดสินใจให้ได้ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น หากถ้ามีอุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งของฆราวาสผู้ประพฤติธรรมดี ซึ่งก็คือการนำธรรมะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตทางโลกมากเกินไป เรียกว่า "ดีเกินไป" ดีเกินกว่าที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาในทางโลกได้อย่างง่ายดาย มีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างสรรค์ เพราะธรรมที่ยึดถือเกินเหล่านั้นเป็นอุปสรรค จึงตัดสินใจไม่ได้ ลังเล จะตัดสินใจอะไรก็ห่วงแต่ว่าจะเบียดเบียนเขาหรือจะทำให้เขาลำบาก จนหารู้ไม่ว่าในขณะนั้นอาจกำลังเบียดเบียนตนเองหรือถูกเบียดเบียน อาการของการผ่านด่านนี้ไปได้ จิตใจจะไม่มีธรรมที่เกินไปเหล่านั้นมาเหนี่ยวรั้งไว้ ใจจึงเป็นอิสระ เห็นทางเลือกที่สร้างสรรค์ ประหยัดกว่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทางที่ตัดสินใจเลือกตามหลักแล้วก็ไม่ได้เบียดเบียนเขาเลย ไม่เบียดเบียนตัวเอง แล้วใจตนก็เบาสบาย มีความสุขด้วย เพราะเป็นการตัดสินใจที่มุ่งสู่สิ่งที่ควรจะเป็น
ความเข้าใจ
- ควรได้ข้อมูลชัดเจนถูกต้องเพียงพอ ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้
๑. แสงสว่างเพียงพอที่จะเห็นตำหนิที่อาจถูกปกปิดอยู่
๒. ถ้าข้อมูลยังไม่พอ ยังหาไม่เจอ อาจจะมองรอบ ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนยิ่งขึ้น
๓. ไม่งง เราสามารถแก้งงด้วยการเดินหรือย้ายที่อย่างมีสติ - เมื่อติดขัดไม่สามารถตัดสินใจได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลหรือขาดความรู้เชิงลึก อาจจะปรึกษาผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ หรือเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังสามารถหาความรู้ หาข้อมูลเพิ่มเติม จากแหล่งต่าง ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต หนังสือ เป็นต้น
- ตรวจสอบความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตรงกัน ในเรื่องที่นำมาพูดคุยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีประเด็นที่สำคัญหลุดไป อีกนัยหนึ่งคือ ประเด็นหรือแนวทางการปฏิบัติที่คู่เจรจาพูดถึงหรือเสนอ ควรจะต้องมีการยืนยันว่าเข้าใจตรงกันทั้งเราและเขา หากเขาเสนอแนวทางแล้ว เราเฉย ๆ เขาอาจจะทึกทักทำตามนั้น ซึ่งต่อมาอาจจะมีผลกระทบต่อคุณภาพงาน หลังจากนำแนวทางนั้นไปปฏิบัติ
- การตัดสินใจผิดอาจมาจากความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดอาจมาจากการได้รับข้อมูลที่ผิด การที่จะให้ได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด อาจทำดังนี้
๑. อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หรือพยายามที่จะให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ อย่างน้อยควรมีข้อมูลจากฝ่ายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๒. ก่อนที่จะยอมรับเป็นความเข้าใจ อาจจะตั้งเป็นข้อสมมุติฐานและตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อสมมุติฐานนั้นก่อน
๓. ข้อมูลที่ได้รับมาบ่อยครั้งไม่ได้เป็นเช่นนั้นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์
ก่อนการตัดสินใจ
- ในเบื้องต้น ควรตัดข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น งบประมาณ ออกไปก่อน เพื่อเปิดรับข้อเสนอและความคิดเห็นต่าง ๆ ทำให้เห็นทางเลือกที่หลากหลาย เมื่อจะตัดสินใจจริง ๆ จึงนำข้อจำกัดเหล่านั้นมาพิจารณาประกอบ
สภาวะที่เหมาะแก่การตัดสินใจ
- ควรตัดสินใจในขณะที่จิตใจสงบ เบาสบาย
- การตัดสินใจที่เป็นอิสระจะไม่โอนเอนไปตามคำพูด ความเห็น หรือข้อกำหนด แต่จะต้องพิจารณาหลาย ๆ แง่มุม และให้เข้าใจถูกต้องเสียก่อน
ความรอบคอบ
- เมื่อตัดสินใจแล้ว ถามตัวเองอีกทีว่า “ทำไม?” คือตัดสินใจอย่างมีเหตุผลมีข้อมูล
- ควรคำนึงถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ หากลงมือทำตามที่ตัดสินใจ เช่น ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม คน ฯลฯ
- ควรพิจารณาหลาย ๆ ด้าน (ดูมิติของการพิจารณาที่จะกล่าวต่อไป หรือดูเรื่องเก้าอี้สี่ขา) หลีกเลี่ยงไม่ให้การตัดสินใจถูกครอบงำ สิ่งที่ครอบงำ ได้แก่ ความเกรงใจ ความเกรงกลัวต่อบาปจนเกินความพอดี การนึกถึงผลกระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่งจนลืมเป้าหมายที่ควรจะเป็น เป็นต้น
- มิติของการพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจ ประกอบด้วย
๑. ดูแนวลึก - ควรคิดให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ เช่นว่า เราอยากจะปลูกต้นกล้วยหลาย ๆ ต้น แต่พอได้หน่อกล้วยมา ๒๐ หน่อ ปรากฏว่าเพิ่งมานึกได้ว่า จะต้องใช้พื้นที่ขนาดไหน ดินแค่ไหน จะใส่อะไรไว้ ถ้าคิดตลอดตั้งแต่เริ่มอยาก อาจจะตัดสินใจได้ดีขึ้น
๒. ดูแนวกว้าง - พิจารณาหลาย ๆ ด้าน ตัวอย่างได้แก่ การซื้อบริการเก็บพื้นที่เว็บไซต์ควรคำนึงถึงหลายเรื่อง เป็นต้นว่า สิ่งที่ผู้ให้บริการให้ บริการหลังการขาย ค่าใช้จ่าย ความเร็วที่ผู้เข้าชมเว็บจะสามารถเปิดไฟล์เอกสารได้ ฯลฯ
๓. ดูภาพรวม
๔. ดูรายละเอียด - สนใจรายละเอียดบางอย่าง เช่น ขนาดและจำนวนเสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหลังหนึ่ง
สิ่งช่วยในการตัดสินใจ
- กัลยาณมิตรหรือผู้มักคอยคัดค้าน เราอาจปรึกษาเขาเพื่อให้ได้มุมมองความคิดที่แตกต่าง และอาจทำให้การตัดสินใจของเราดีขึ้นด้วย คืออาศัยเขาเป็นสติภายนอกอีกชั้นหนึ่ง
- หาเทคนิคที่ช่วยในการตัดสินใจหรือหาคำตอบ เช่น การถามคำถามถอยหลัง เป็นต้น
การป้องกันไม่ให้ตัดสินใจผิดพลาด
- เพื่อป้องกันที่จะไม่ตัดสินใจผิดพลาด ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในสถานการณ์ต่อไปนี้
๑. รีบเร่ง
๒. ฉุกละหุก ทันทีทันใด
๓. เกิดอารมณ์ เช่น เกิดความอยาก ความต้องการ ความโกรธ ความสนใจใคร่รู้ ความกลัว ความกังวล ฯลฯ
ปกติแล้วเราสามารถเลื่อนการตัดสินใจไปได้ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็น่าที่จะทำใจให้สงบก่อนที่จะตัดสินใจ - เมื่อเขายื่นข้อเสนอหรือให้ความเห็นที่กระตุ้นให้เราตัดสินใจทันทีหรืออย่างรวดเร็ว เราควรยืดเวลาออกไป และตัดสินใจขณะที่ใจสงบ ไม่มีอะไรมากระตุ้นเร่งเร้า
- บางครั้งเราเองต่างหากที่เร่งรัดตัวเอง เมื่อยังไม่มีตัวเลือกที่เป็นที่พอใจ แล้วเราพยายามจะเร่งรัดตัดสินใจให้จบ ๆ ไป จะทำให้เครียดเสียเปล่า ๆ เมื่อยังไม่ได้สิ่งที่ดีที่ต้องการที่หมดจด ก็อาจจะยังไม่ตัดสินใจ เลื่อนไปก่อน กลับไปตั้งหลักก่อน ยังตัดสินใจไม่ได้ ก็ไม่ควรต้องรีบร้อน
- ในหลายกรณี มองอย่างผิวเผินเราควรจะต้องรีบตัดสินใจ เตรียม หรือทำ เพราะคิดว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงยากทำยาก แต่ในความเป็นจริงทุกสิ่งอนิจจัง สิ่งที่เราเตรียมอาจจะไม่ได้ใช้หรือไม่เหมาะกับการใช้งาน มีปัญหาเมื่อถึงเวลานั้น เราจึงควรใจเย็น ๆ ศึกษาให้รู้รายละเอียดให้รู้วิธีการ อาจจะพบว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายหลังไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่จะเป็นการดีถ้าเราเห็นภาพคร่าว ๆ ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคตแล้วให้พร้อมและเว้นที่ไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็จะเป็นการดี
- โดยธรรมดา สิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ มักจะมีตำหนิหรือความไม่สมบูรณ์ หากแต่ตำหนินั้นไม่สมควรที่จะปล่อยผ่านไป ควรทักท้วง แก้ไข แต่เนิ่น ๆ จะดำเนินการได้ง่าย
- การตัดสินใจผิดพลาด อาจจะเกิดจากการงง ไม่รู้ทิศรู้ทาง ...
การตัดสินใจซื้อ
- ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าที่สำคัญและราคาแพงหรือจำนวนมาก ควรสำรวจหลาย ๆ ร้าน เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบได้
หลังจากตัดสินใจ
- ที่สำคัญไม่แพ้การตัดสินใจอันดีเลิศ คือกระบวนการทำให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นจนจบงาน มีข้อปลีกย่อยแล้วแต่งาน เป็นต้นว่าการจัดซื้อสิ่งของอาจจะมีกิจกรรมย่อย ดังนี้ การวางแผนระบุรายละเอียดของสิ่งที่ต้องการ การตรวจสอบการเข้ากันได้ของสิ่งของต่าง ๆ ที่จะจัดซื้อมาประกอบรวมกัน การเลือกสถานที่ ช่องทาง หรือคนที่เราจะไปติดต่อ และการใช้ไหวพริบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
- เมื่อตัดสินใจเสร็จสิ้นแล้ว ควรนำจิตกลับสู่ที่อยู่ของจิตคือมีสติรู้ปัจจุบันและดูแลตรวจสอบสิ่งที่รับผิดชอบดูแล
การไม่โทษคนอื่นและไม่ซ้ำเติมใคร
- ใครตัดสินใจอะไร ต้องรับผลเอง จะโทษคนอื่นไม่ได้
- คนที่ตัดสินใจผิดพลาด แล้วปรับปรุงแก้ไข ดีกว่า คนที่ไม่เคยตัดสินใจทำอะไรเลย
ความรัก
- กับเรื่องความรัก จะเหมือนกับเพลงหรือเปล่านะ “ไม่ต้องมีเหตุผล ถ้าคนจะรักกัน!!!”
ความคิดเห็น