คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : 1.อาณาจักรโพรทิสตา_Kingdom Protista
อาณาจักรโพรทิสตา
การจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์นั้นเกิดปัญหาที่สำคัญคือสิ่งมีชีวิต บางชนิดมีลักษณะทั้งพืชและสัตว์อยู่ในตัวเอง จึงทำให้นักพฤกษศาสตร์จัดไว้ในอาณาจักรพืช และนักสัตววิทยาก็จัดไว้ในอาณาจักรสัตว์ ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวอยู่ทั้งสองอาณาจักร ดังนั้น Ernst Haeckel นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันจึงได้ เสนอชื่อ โปรติสตา (protista) ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตพวกแรก ๆ ขึ้นมาใช้ จึงทำให้แยกสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีลักษณะของพืชหรือสัตว์ อย่างชัดเจน ออกจากอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์ แล้วตั้งเป็นอาณาจักรใหม่ ชื่อ "อาณาจักรโปรติสตา"
"อาณาจักรโปรติสตา"
ลักษณะสำคัญของโปรติสต์ (Protist)
1. ร่างกายประกอบด้วยโครงสร้างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ส่วนมากประกอบด้วยเซลล์เดียว (unicellular) บางชนิดมีหลายเซลล์รวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า โคโลนี (colony) หรือเป็นสายยาว (filament) แต่ยังไม่ทำหน้าที่ ร่วมกันเป็นเนื้อเยื่อ (tissue)หรืออวัยวะ (organ) แต่ละเซลล์สามารถทำหน้าที่ของความเป็นสิ่งมีชีวิตได้ครบถ้วนอย่าง อิสระ
2. ไม่มีระยะตัวอ่อน (Embryo) ซึ่งต่างจากพืชและสัตว์ที่มีระยะตัวอ่อนก่อนที่จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย
3. การดำรงชีพ มีทั้งชนิดที่เป็นผู้ผลิต (Autotroph) เพราะมีคลอโรฟิลล์ เป็นผู้บริโภค (Consumer) และเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียสาร (Decomposer)
4. โครงสร้างของเซลล์เป็นแบบยูคาริโอติก (Eucaryotic) ซึ่งมีเยื่อหุ้มนิวเคลียส ได้แก่ โพรโทซัว เห็ด รา ยีสต์ ราเมือก สาหร่ายต่าง ๆ
5. การเคลื่อนที่ บางชนิดเคลื่อนที่ได้โดยใช้ ซีเลีย (cilia) แฟลกเจลลัม (flagellum) หรือซูโดโปเดียม (Pseudopodium) บางชนิดเคลื่อนที่ไม่ได้
6. การสืบพันธุ์ ทั้งแบบไม่อาศัยเพศ (Asexual reproduction) และแบบอาศัยเพศ (Sexual reproduction) แบบอาศัยเพศมีทั้งชนิดคอนจูเกชัน (Conjugation) ซึ่งเกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ที่มีรูปร่างและขนาดเหมือนกัน มารวมกัน ดังเช่นที่พบในพารามีเซียม ราดำ เป็นต้น และชนิดปฏิสนธิ (fertilization) ซึ่งเกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ ที่มีรูปร่างและขนาดต่างกันมารวมกัน ดังเช่นที่พบในสาหร่ายเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้น
สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโปรติสตามีดังนี้
1. โปรติสต์ที่มีลักษณะคล้ายสัตว์ ได้แก่ สิ่งมีชีวิตในไฟลัมโปรโตซัว คือ พวกโปรโตซัวหรือที่เราเรียกว่า สัตว์เซลล์เดียว
2. โปรติสต์ที่มีลักษณะคล้ายพืช ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า พวกสาหร่าย (algae) แบ่งออกเป็น 6 ไฟลัม คือ
2.1 ไฟลัมคลอโรไฟตา (Phylum Chlorophyta) ได้แก่ สาหร่ายสีเขียว
2.2 ไฟลัมคริสโซไฟตา (Phylum Chrysophyta) ได้แก่ สาหร่ายสีน้ำตาลแกมทอง
2.3 ไฟลัมยูกลีโนไฟตา (Phylum Euglenophyta) ได้แก่ พวกยูกลีนา (จัดอยู่ในพวกโปรโตซัวด้วย )
2.4 ไฟลัมเฟโอไฟตา (Phylum Phaeophyta) ได้แก่ พวกสาหร่ายสีน้ำตาล
2.5 ไฟลัมไพร์โรไฟตา (Phylum Pyrrophyta) ได้แก่ พวกสาหร่ายเปลวไฟ หรือไดโนแฟลกเจลเลต (dinoflagellate) จัดอยู่ในพวกโปรโตซัวด้วย
2.6 ไฟลัมโรโดไฟตา (Phylum Rhodophyta) ได้แก่ สาหร่ายสีแดง
3. โปรติสต์พวกเห็ดรา และราเมือก แบ่งออกเป็น 2 ดิวิชัน คือ
3.1 ไฟลัมยูไมโคไฟตา (Phylum Eumycophyta) ได้แก่ พวกเห็ด รา ยีสต์
3.2 ไฟลัมมิกโซไมโคไฟตา (Phylum Myxomycophata) ได้แก่ ราเมือก
โปรโตซัว เป็นโปรติสต์เซลล์เดียวที่มีลักษณะคล้ายสัตว์ ในตอนแรกจึงถูกจัดอยู่ในอาณาจักรสัตว์ มีลักษณะสำคัญดังนี้
1. เป็นเซลล์เดียวบางชนิดเป็นเซลล์อยู่เดี่ยว ๆ บางชนิดรวมกันเป็นกลุ่ม (colony) มีขนาดเล็กต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
2. ไม่มีอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใด ๆ มีออร์กาแนลทำหน้าที่ต่าง ๆ ในเซลล์
3. มีเซลล์เมมเบรนเป็นกรอบของเซลล์บางชนิดมีโครงแข็งหุ้มเป็นสารพวกเซลลูโลส หรือเจลาติน
4. ขับถ่ายของเสียที่เป็นของเหลว โดยคอนแทรกไทล์ แวคิวโอล นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ ควบคุมสมดุลน้ำภายในเซลล์ด้วย จึงเรียกคอนแทรไทล์ของโปรโตซัวว่าเป็น ออสโมเรกูเลเดอร์ (osmoregulator)
5. การดำรงชีวิตมีทั้งที่หากินเป็นอิสระในน้ำเน่า เช่น อะมีบา สังเคราะห์ด้วยแสง สร้าง อาหารได้เอง เช่น ยูกลีนา เป็นปรสิต เช่น เชื้อไข้จับสั่น
6. การสืบพันธุ์ ตามปกติจะสืบพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ คือการแบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 นอกจากนี้ยังมีการสืบพันธุ์แบบมีเพศ คือการเข้าจับคู่กันหรือการคอนจูเกชัน (conjugation)
7. การเข้าเกราะ (encystment) พบในโปรโตซัวหลายชนิด เช่นยูกลีนา จะเข้าเกราะเมื่อ สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
8. รูปร่างมีหลายแบบ ส่วนใหญ่เป็นรูปไข่ ยาวรี หรือมีรูปร่างไม่แน่นอน
9. อวัยวะเคลื่อนที่ของโปรโตซัวในแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน ซึ่งจะนำมาใช้ในการแบ่ง หมวดหมู่ระดับคลาส เช่น มีแฟลกเจลลา ซีเลีย เป็นต้น
1.คลาสแฟลกเจลลา (Class Flagellate)
2.คลาสซาโคดินา (Class Sarcodina)
3.คลาสสปอโรซัว (Class Sporozoa)
4.คลาสซีเลียตา (Class Cillata)
5.คลาสซัคโทเรีย (Class Suctoria)
ไฟลัมคลอโรไฟตา ( Phylum Chlorophyta ) ได้แก่สาหร่ายสีเขียว ( green algae) มีทั้วหมดประมาณ 17,500 สปีชีส์ พบอยู่ในน้ำจืดมากกว่าในน้ำเค็ม พบในดินที่เปียกชื้น แม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ และในทะเล มีลักษณะที่สำคัญดังนี้
1. จำนวนเซลล์มีทั้งพวกเซลล์เดี่ยวหรือหลายเซลล์ต่อกันเป็นสายยาว หรือรวมกันเป็นกลุ่ม มีทั้งเคลื่อนที่ได้ และเคลื่อนที่ไม่ได้
- พวกเซลล์เดียวที่เคลื่อนที่ได้ โดยมีแฟลกเจลลัมใช้โบกพัด จำนวน 2-4 เส้น เช่น แคลมมิโดโมแนส ( Chlamydomonas )
- พวกเซลล์เดียวที่เคลื่อนที่ไม่ได้ โดยไม่มีแฟลกเจลลัม เช่น คลอเรลลา (Chlorella) คลอโรคอคคัม (Chlorococcoum)
- พวกหลายเซลล์ต่อกันเป็นสายยาว เช่น ยูโลทริกซ์ (Ulothrix) อีโดโกเนียม (Oedogonium) สไปโรไจรา หรือเทาน้ำ (Spirogyra)
- พวกหลายเซลล์เป็นกลุ่ม (Clolnial forms) เช่น วอลวอกซ์ (Volvox) เพดิแอสดรัม (Pediastrum) ซีนเตสมัน (Scenedesmus)
2. รงควัตถุที่พบจะเป็นเช่นเดียยวกับที่พบในพืชชั้นสูง คือ มีคลอโรฟิลล์ เอ, คลอโรฟิลล์ บี, คาโรทีน และแซนโทฟิลล์ รงควัตถุทั้งหมดนี้จะประกอบกันด้วยอัตราส่วนที่เหมือนกับพวกพืชชั้นสูงจึงทำให้มีสีเขียวสด รงควัตถุทั้งหมดนี้จะรวมกันอยู่ในเม็ดสี หรือพลาสติด (Plastid) ที่เรียกว่า คลอโรพลาสต์ โดยอาจจะมี 1 อัน หรือมากกว่า 1 อัน คลอโรพลาสต์ของสาหร่ายสีเขียวมีรูปร่างหลายแบบ เช่น
- รูปร่างเป็นเม็ด ๆ พบใน ไบรออปซิส (Bryopsis)
- รูปร่างเป็นเกลียว พบใน สไปโรไจรา (Spirogyra)
- รูปร่างเป็นคล้ายร่างแห พบใน อีโดโกเนียม (Oedogonium)
- รูปร่างเป็นแผ่น พบใน ยูโลทริกซ์ (Ulothrix)
- รูปร่างเป็นรูปดาว พบใน ซิกนีมา (Zygnema)
- รูปร่างเป็นรูปตัว U พบใน คลอเรลลา (Chlorella)
3. โครงสร้างของผนังเซลล์ ประกอบด้วย เซลลูโลส (Cellulose) บางชนิดมีเปกติน (Pectin) เคลือบอยู่ภายนอกบาง ๆ บางชนิดมีแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate)
4. อาหารที่เก็บไว้ก็คือ ไพรีนอยด์ (Pyrenoids) อยู่ในเม็ดคลอโรพลาสต์ เข้าใจว่าไพรีนอยด์เป็นโครงสร้างที่มีโปรตีนเป็นแกนกลาง และมีแผ่นแป้งหุ้มล้อมรอบอยู่
5. การสืบพันธุ์
- แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ในพวกเซลล์เดียว หรือหักสาย (Fragmentation) หรือสร้างสปอร์
- แบบอาศัยเพศ โดยคอนจูเกชัน (Conjugation) หรือการปฏิสนธิ (Fertilization)
6. แหล่งที่อยู่ สาหร่ายสีเขียวพบในน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ ในน้ำเค็มก็มีบ้างตามที่ชื้นแฉะทั่วไป เปลือกไม้ ใบไม้ ก้อนหินเปียก ๆ และบนหิมะก็มี บางชนิดอยู่ในภาวะพึ่งพากับรา เกิดเป็นไลเคน บางชนิดก็เป็นปรสิตของพืชชั้นสูง
ความสำคัญของสาหร่ายสีเขียว
1. สาหร่ายบางชนิดให้โปรตีนสูง เช่น ซีนเดสมัส (Scenedesmus) คลอเรลลา (Chlorella) และเพดิแอสตรัม (Pediastrum) จึงนำมาประกอบอาหารประเภทโปรตีนได้บางชนิดเป็นอาหารของสัตว์น้ำทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม เทาน้ำหรือสไปโรไจรานั้น ทางภาคอีสานนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ แต่มีโปรตีนต่ำ
2. สาหร่ายสีเขียวจะช่วยทำให้น้ำบริสุทธิ์โดยจะใช้ CO2 สังเคราะห์แสงและปล่อย O2 ออกมา
3. สาหร่ายสีเขียวเป็นผู้ผลิตที่มีมากที่สุดในน้ำจืดจึงมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหารของระบบนิเวศ
1. สาหร่ายสีน้ำตาลแกมทอง ( goldenbrown algae ) มีประมาณ 16,600 สปีชีส เป็นผู้ผลิตที่มีมากที่สุดในทะเล
2. รงควัตถุที่พบในเซลล์มีรงควัตถุสีเขียว คือ คลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ ซี และมีรงควัตถุสีน้ำตาล คือ ฟิวโคแซนทิน (Fucoxanthin) ซึ่งมีมากที่สุดถึง 75 % ของรงควัตถุทั้งหมด และลูเทอริน (Luthein) ปริมาณมากกว่าคลอโรฟิลล์จึงทำให้มีสีน้ำตาลแกมทอง
3. มีทั้งพวกเซลล์เดียวและหลายเซลล์อยู่กันเป็นสายหรือรวมเป็นกลุ่ม
4. ผนังเซลล์มีสารพวกซิลิกา (Sillica) สะสมอยู่ประมาณ 95% ทำให้มีลวดลายสวยงามมาก ผนังเซลล์ที่มีซิลิกาเรียก ฟรุสตุล (Frustule) ฟรุสตุลประกอบด้วย ฝา 2 ฝา ครอบกันอยู่สนิทแน่น แต่ละฝาเรียกทีกา (Theca) ฝาบนเรียก อีพิทีกา (Epitheca) มีขนาดใหญ่กว่าครอบอยู่บนฝาล่างซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย เรียก โฮโปทีกา (Hypotheca)
5. อาหารสำรองภายในเซลล์คือ หยดน้ำมัน (Oil droplet) และเม็ดเล็ก ๆ ของสารประกอบคาร์โบโฮเดรตชนิดพิเศษ เรียกว่า ลิวโคซิน (Leucosin) หรือ คริโซลามินารีน (Chrysolaminarin)
6. การสืบพันธุ์มีทั้งแบบไม่อาศัยเพศโดยการแบ่งเซลล์ออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนที่พบเสมอ ๆ ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นแบบอาศัยเพศ
ความสำคัญของสาหร่ายสีน้ำตาลแกมทอง
1. เป็นผู้ผลิตที่มากที่สุดในทะเล เป็นอาหารของปลา
2. เปลือกของไดอะตอมที่ทับถมกันอยู่มาก ๆ เป็นเวลานาน เรียกว่า ไดอะตอมเอเชียส เอิร์ธ (Diatomaceous earth) หรือไดอะตอมไมท์ (Diatomite) มีชื่อทางการค้าว่า Kieselguhr ในสมัยก่อนเคยใช้ในการกรองน้ำยาต่าง ๆ ใช้เป็นฉนวน หรือใช้ขัดเงาเครื่องโลหะต่าง ๆ ผสมยาสีฟัน ใช้ในการทำ dynamite ผสมในสีสะท้อนแสง ไดอะตอมเอเชียส เอิร์ธ พบมากเป็นภูเขาในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และทางภาคเหนือบางจังหวัดของประเทศไทย
3. ใช้ทดสอบเลนส์ของกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเลนส์มีคุณภาพสูงจะเห็นว่าฝาของไดอะตอมเป็นจุด ๆ แต่ถ้าคุณภาพต่ำจะเห็นเป็นเส้น
4. หยดน้ำมันที่สะสมในเซลล์ของไดอะตอม เมื่อเซลล์ตายไปหยดน้ำมันเหล่านั้นจะสะสมใต้พื้นดินเป็นแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมที่สำคัญของโลก
สาหร่ายในดิวิชันนี้เรียกว่า ยูกลีนอยด์ (euglenoid) ซึ่งจัดเป็นโปรโตซัวในคลาสแฟลก เจลลาตาด้วย มีลักษณะสำคัญดังนี้
4.1 มีคลอโรฟิลล์เป็นชนิด เอ และ บี คาโรทีน แซนโทฟิลล์
4.2 อาหารสะสมเป็นแป้ง เรียกว่า พาราไมลัม (Paramylum)
4.3 ไม่มีผนังเซลล์ มีแต่เยื่อเซลล์เหนียวๆ เรียกว่า Pellicle ทำหน้าที่เป็นขอบเขตของเซลล์
4.4 เป็นเซลล์เดียวมีแฟลกเจลลา 1-3 เส้นอยู่ทางด้านหน้า
4.5 ตัวอย่างของสาหร่ายดิวิชันนี้ได้แก่
- ยูกลีนา (Euglena) และฟาคัส (Phacus) มีแฟลก เจลลัม 1 เส้นอยู่ทางด้านหน้า อาศัยอยู่ในน้ำจืดและในดินที่ชื้นแฉะ
ไฟลัมพีโอไฟตา (Phylum Phaeophyta) มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. สาหร่ายในไฟลัมพีโอไฟตา เรียกโดยทั่วไปว่าสาหร่ายสีน้ำตาล (Brown algae) ทั้งนี้เพราะมีรงควัตถุที่ทำให้เกิดสีน้ำตาล คือ ฟิวโคแซนทีน (Fucoxanthin) อยู่มากกว่าคลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ ซี สาหร่ายสีน้ำตาลมีมากในทะเลตามแถบชายฝั่งที่มีอากาศเย็น มีเพียง 35 จีนัสที่พบในน้ำจืด สาหร่ายสีน้ำตาลมักเรียกชื่อทั่วไปว่า sea weed เพราะเป็นวัชพืชทะเล
2. ผนังเซลล์เป็นสารพวกเซลลูโลสและกรดอัลจินิก (alginic acid) ซึ่งสามารถสกัดสารอัลจิน (algin) มาใช้ประโยชน์ได้
3. รูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ขนาดเล็กต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จนถึงขนาดใหญ่มองเห็นด้วยตาเปล่า บางชนิดมีรูปร่างเป็นสายยาวแตกกิ่งก้าน เช่น Ectocarpus บางชนิดมีรูปร่างเป็นแผ่นแผ่แบนหรือคล้ายใบไม้โบกไหวอยู่ในน้ำ เช่น Laminaria บางชนิดคล้ายต้นปาล์มขนาดเล็กเรียกว่า Sea palm บางชนิดคล้ายต้นไม้เล็ก ๆ เช่น Sargassum หรือสาหร่ายนุ่น หรือรูปร่างคล้ายพัด เช่น Padina
4. สาหร่ายสีน้ำตาลมีหลายเซลล์ พวกที่มีขนาดใหญ่มากเรียกว่า เคลป์ (Kelp) ซึ่งอาจมีความยาว 60-70 เมตร เช่น Macrocystis , Nereocystis พวกที่มีขนาดใหญ่มักมีลักษณะเหมือนพืชชั้นสูงประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
4.1 โฮลด์ฟาสต์ (Haldfast) คือส่วนที่ทำหน้าที่เป็นราก สำหรับยึดเกาะแต่ไม่ได้ดูดแร่ธาตุเหมือนพืชชั้นสูง โฮลด์ฟาสต์ของพวกนี้สามารถแตกแขนงได้มาก และยึดเกาะได้แข็งแรง
4.2 สไตป์ (Stipe) หรือคอลลอยด์ (Colloid) คือส่วนที่อยู่ถัดจากรากขึ้นมาทำหน้าที่คล้ายลำต้น
4.3 เบลด (Blade) หรือลามินา (Lamina) หรือฟิลลอยด์ (Phylloid) คือส่วนที่ทำหน้าที่เป็นใบ บางชนิดมีถุงลม (air bladder หรือ Pneumatocyst) อยู่ที่โคนใบเพื่อช่วยพยุงให้ลอยตัวอยู่ได้ในน้ำ จากลักษณะดังกล่าวจึงถือกันว่าสาหร่ายสีน้ำตาลมีวิวัฒนาการสูงสุดในบรรดาสาหร่ายด้วยกัน (ยกเว้นสาหร่ายไฟ)
5. ส่วนประกอบของผนังเซลล์ เซลล์ของสาหร่ายสีน้ำตาลประกอบด้วย
5.1 ผนังเซลล์ มี 2 ชั้น ชั้นในเป็นพวกเซลลูโลส ชั้นนอกเป็นสารเมือก กรดอัลจินิกซึ่งจะอยู่ที่ผนังเซลล์และช่องว่างระหว่างเซลล์ โดยมีประมาณถึง 24% ของน้ำหนักแห้ง กรดอัลจินิกนี้เมื่อสกัดออกมาจะอยู่ในรูปของเกลืออัลจิเนต สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีคุณสมบัติเป็นตัวทำให้เกิดอิมัลชัน ( Emulsifying agent) และเป็นตัวคงรูป (Stabillzing agent)
5.2 คลอโรพลาสต์ มีเพียง 1 อัน หรือมีจำนวนมากในแต่ละเซลล์ขึ้นอยู่กับชนิด คลอโรพลาสต์ จะมีลักษณะกลมแบน (Platelike) หรือเป็นแฉกรูปดาว ไพรีนอยด์เกิดเดี่ยว ๆ เป็นแบบมีก้านติดอยู่ข้าง ๆ คลอโรพลาสต์ โดยมีผนังคลอโรพลาสต์หุ้มรวมไว้
5.3 นิวเคลียสมีเพียง 1 อัน ในแต่ละเซลล์
5.4 อาหารสะสมมี 3 ชนิด ได้แก่
1. โพลีแซกคาไรด์ที่ละลายน้ำ ได้แก่ ลามินาริน (Laminarin) หรือลามินาเรน (Laminaran) มีปริมาณตั้งแต่ 2-34 % ของน้ำหนักแห้ง
2. แมนนิตอล (Mannitol) พบเฉพาะในสาหร่ายสีน้ำตาลเท่านั้น
3. น้ำตาลจำพวกซูโครส (Sucrose) และกลีเซอรอล (Glycerol)
6. การสืบพันธุ์ สาหร่ายสีน้ำตาลมีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยมีวงชีวิตแบบสลับ (Alternation of generation) คล้ายกับพืช
ความสำคัญของสาหร่ายสีน้ำตาล
- ไจแอนด์ เคลป์ (giant kelp) เป็นสาหร่ายสีน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แผ่กระจายไปในทะเล ช่วยให้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นอาหารของสัตว์ทะเล - ลามินาลิน (Laminarin sp.) พาไดนา (Padina sp.) ฟิวคัส (Fucus sp.) นำมาสกัดสารโปตัสเซียมหรือใช้ทำปุ๋ยบำรุงดิน
- ซาร์กัสซัม (Sargussum sp.) หรือสาหร่ายทุ่น นำมาใช้ประกอบอาหารและให้โปรตีนสูง
- ลามินาเรีย (Laminaria sp.) และเคลป์ สามารถนำมาสกัดสารอัลจินซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น ทำอาหาร ยา กระดาษ ยาง สบู่ เส้นใย เป็นต้น
ไฟลัมโรโดไฟตา ( Phylum Rhodophyta ) มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. สาหร่ายในไฟลัมนี้เรียกว่า สาหร่ายสีแดง (red algae) มีอยู่ประมาณ 3,900 สปีซีส์ รงควัตถุภายในพลาสติดที่มีปริมาณมากนั้นมีสีแดง คือ คลอโรฟิลล์ ดี และไฟโคอิริทริท (Phycoerythrin) บางครั้งสาหร่ายสีแดงอาจปรากฏเป็นสีน้ำเงินเพราะมีรงควัตถุพวกไฟโคไซยานิน (Phycocyanin) รวมอยู่ในพลาสติดด้วย อย่างไรก็ตามสาหร่ายสีแดงก็มี คลอโรฟิลด์ เอ ซึ่งเป็นรงควัตถุหลักในการสังเคราะห์แสง และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือสาหร่ายแดงมีรงควัตถุแบคทิริโอคลอโรฟิลล์ เอ เหมือนดังที่พบในแบคทีเรียที่สังเคราะห์แสงด้วย
2. ส่วนประกอบของเซลล์
2.1 ผนังเซลล์ ประกอบด้วยผนังเซลล์ชั้นใน เป็นพวกสารเซลลูโลส และผนังเซลล์ชั้นนอกเป็นสารเมือกพวกซัลเฟตเตต แกแลกแตน (Sulfated galactan) ได้แก่ วุ้น (Agar) พอร์ไฟแรน (Porphyran) เฟอร์เซลเลอแรน (Furcelleran) และคาร์ราจีแนน (Carrageenan)
2.2 คลอโรพลาสต์มี 2 แบบ คือบางพวกมีลักษณะเป็นแฉกรูปดาว และมีไพรีนอยด์ตรงกลาง บางพวกมีลักษณะกลมแบน
2.3 อาหารสะสมเป็นแป้งมีชื่อเฉพาะว่า ฟลอริเดียนสตาซ (Floridean starch) อยู่ในไซโทพลาสซึม นอกจากแป้งแล้วยังสะสมไว้ในรูปของน้ำตาล ฟลอริโดไซด์ (Floridoside) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนน้ำตาลซูโครสในสาหร่ายสีเขียวและพืชชั้นสูง 2.4 สาหร่ายสีแดงเป็นสาหร่ายพวกเดียวที่ทุกระยะไม่มีแฟลกเจลลัมในการเคลื่อนที่
2.5 ภายในเซลล์มีทั้งชนิดที่มีนิวเคลียสเดียว และหลายนิวเคลียส
2.6 ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลมีบางชนิดเท่านั้นที่อยู่ในน้ำจืด
2.7 ตัวอย่างของสาหร่ายในไฟลัมนี้ ได้แก่
- พอร์ไฟรา (Porphyra) เมื่อตากแห้งแล้วใช้ใส่แกงจืดที่เรียกกันว่า จีฉ่าย กราซิลาเรีย (Gracilaria) นำมาสกัดสารคาร์แรกจิแนน (carrageenan) ใช้ในการทำวุ้น (agar) ซึ่งมีความสำคัญในการทำอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ ทำเครื่องสำอาง ทำยาขัดรองเท้า ครีมโกนหนวด เคลือบเส้นใย ใช้ทำแคปซูลยา ทำยา และใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เห็ดรา และราเมือก
- กราซิลาเรีย (Gracilaria) นำสารสกัดสารคาร์แรกจิแนน (Carrageenan) ใช้ในการทำวุ้น (agar) ซึ่งมีความสำคัญในการทำอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ ทำเครื่องสำอาง ทำยาขัดรองเท้า ครีมโกนหนวด เคลือบเส้นใย ใช้ทำแคปซูลยา ทำยา และใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
สมาชิกในไฟลัมนี้นิยมเรียกว่า ไดโนแพลเจลเลต (Dinoflagellates) เพราะมีแฟลกเจลลา 2 เส้น ยาวไม่เท่ากันเส้นหนึ่งอยู่ในร่องตามขวางของเซลล์ อีกเส้นหนึ่งอยู่ในร่องตามยาวของเซลล์
บางชนิด แฟลกเจลลัมอยู่ด้านหน้าทั้ง 2 เส้น แต่อย่างไรก็ตามสมาชิกที่มีหลายเซลล์อยู่เป็นกลุ่มและเป็นสายไม่เคลื่อนที่ก็มีเหมือนกัน และมีมากกว่า 1,000 ชนิด ที่สีปรากฏค่อนไปทางสีแดงเปลวไฟ ดังนั้นบางท่านจึงเรียกว่า สาหร่ายสีเปลวไฟ (Fire algae)
ลักษณะสำคัญ
1. รงควัตถุภายในเซลล์มีคลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ ซี แคโรทีน แซนโธฟิลล์ หลายชนิด ที่สำคัญคือ เพอริดินัม (Peridinum) และไดโนแซนธิน (Dinoxanthin)
2. อาหารสะสม คือ แป้ง (Starch) ซึ่งสะสมไว้ในหรือนอกคลอโรพลาสต์ นอกจากนั้นอาจมีหยดน้ำมัน
3. บางชนิดไม่มีผนังเซลล์ห่อหุ้ม เซลล์จะเปล่าเปลือย เช่น ยิมโนดิเนียม (Gymnodinium)
4. พบมากในทะเล บางพวกเรืองแสงได้ในที่มืด (Bioluminescence) ที่เราเรียกว่า พรายน้ำ บางชนิดพบในน้ำจืดและน้ำกร่อย
5. การสืบพันธุ์โดยมากเป็นแบบไม่อาศัยเพศโดยการแบ่งเซลล์และมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศบ้าง
ตัวอย่างและความสำคัญของสาหร่ายสีเปลวไฟ
1. สมาชิกของไฟลัมไพโรไฟตา ได้แก่ คริพโตโมแนส (Cryptomonas) นอคติลูคา (Noctiluca) เชอราเธียม (Ceratium) และเพอริดิเนียม (Peridinium) เป็นต้น
2. ไดโนแฟลเจลเลต เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสัตว์น้ำเล็ก ๆ ในทะเล แต่มีบางชนิดที่เป็นพิษ เช่น ในจีนัส Gonyaulax sp. และ Gymnodinium sp. เมื่อปรากฏมาก ๆ ในน้ำทะเลหรือเวลามีมาก ๆ (Bloom) จะทำให้ปลาและสัตว์น้ำตาย บางครั้งทำให้น้ำมีสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และในที่สุดกลายเป็นสีแดงเพราะการเปลี่ยนแปลงสีภายในเซลล์ เช่น กรณีที่เกิดกระแสน้ำสีแดง (red tides) สัตว์น้ำจืดเป็นจำนวนมากในทะเลแถบชายฝั่งฟลอริดา สหรัฐอเมริกา หรือกรณีที่เกิดในทะเลชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา
สาหร่ายในไฟลัมนี้เรียกว่า สาหร่ายไฟ เดิมที่เดียวสาหร่ายพวกนี้จัดอยู่ในไฟลัม คลอโรไฟตาเพราะมีรงควัตถุเป็นแบบแผนเดียวกัน กล่าวคือ มีคลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ ซี แคโรทีน และมีแซนโธฟิลล์หลายชนิด อาหารสะสมในเซลล์เป็นแป้ง ผนังเซลล์เป็นเซลลูโลส แต่ก็มีหลายลักษณะที่แสดงถึงว่าสาหร่ายไฟ หรือสโตนเวิร์ตส (Stoneworts) มีวิวัฒนาการสูงกว่า และแตกต่างจากคลอโรไฟตา สมควรแยกออกเป็นไฟลัมหนึ่งต่างหาก ด้วยลักษณะต่อไปนี้
1. สาหร่ายไฟ หรือสโตนเวิร์ตส์ เป็นสาหร่ายน้ำจืดมีขนาดใหญ่ แตกกิ่งแขนงคล้ายพืชชั้นสูง แตกกิ่งเป็นวง (Whoried) มีไรซอยด์ยึดเกาะพื้นดินทำหน้าที่คล้ายราก และไรซอยด์ยังช่วยขยายพันธุ์แบบไท่อาศัยเพศได้อีกด้วย
2. ทัสลัส มีลักษณะเป็นข้อ (node) และปล้อง (intornode) เหมือนพืชชั้นสูง การแตกกิ่งจะแตกออกบริเวณข้อและที่ข้อจะมีเซลล์ที่เจริญเติบโตจำกัดเป็นเกล็ดเล็ก ๆ อยู่รอบข้อมักจะเรียกกันว่า ใบ
3. โครงสร้างที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์มีลักษณะคล้ายพืชพวกมอส แทนที่จะเป็นเซลล์เดียวอย่างของสาหร่ายสีเขียว กล่าวคือมี โอโอโกเนียม (Oogonium ) สร้างไข่ และแอนธิริเดียม (antheridium) สร้างสเปิร์ม ความเห็นบางท่านจึงเชื่อว่าสาหร่ายไฟในไฟลัมคาโรไฟตามีวิวัฒนาการสูงสุดในบรรดาสาหร่ายด้วยกัน
4. ตัวอย่างของสมาชิกในไฟลัมคาโรไฟตามีประมาณ 6 จีนัส 250 ชนิด นิยมเรียกกันว่าสาหร่ายไฟ (Stoneworts) สำหรับจีนัสคารา (Chara sp.) และ Brittle worts สำหรับจีนัสไนเทลลา (Nitella sp.) ทั้งคารา และไนเทลลาชอบขึ้นในน้ำจืดที่มีน้ำใส พืนดินเป็นโคลนตม และมีหินปูน โดยเฉพาะคาราสามารถตรึงแคลเซียมคาร์บอเนตมาสะสมที่ผนังเซลล์ทำให้มีลักษณะแข็งและสากมือ ด้วยเหตุที่มีหินปูนสะสมอยู่ในผนังเซลล์นี้เอง จึงเรียกว่า Stone worts
สมาชิกในไฟลัมนี้เรียก ราแท้ (True fungi) ตัวอย่างได้แก่ เห็ด รา ยีสต์ ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. โครงสร้างของเซลล์เป็นแบบยูคาริโอติก (Eucariyotic cell) ส่วนมากมีหลายเซลล์ ยกเว้น ยีสต์ซึ่งมีเซลล์เดียว
2. ไม่มีคลอโรฟิลล์ จึงไม่สามารถสร้างอาหารได้ ต้องใช้อาหารจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
3. ผนังเซลล์ประกอบด้วยเซลลูโลส ไคติน (chitin) และลิกนิน
4. ร่างกายประกอบด้วยกลุ่มของเส้นใย เส้นใยแต่ละเส้นเรียกว่า ไฮฟา (Hypha) เส้นใยเหล่านี้มักรวมกันเป็นกระจุกเรียกว่า ไมซีเลียม (Mycelium) ในเห็ดเส้นใยมาอัดกันอยู่แน่นเป็นโครงสร้างสำหรับสร้างสปอร์ คือ ฟรุดติง บอดี (Fruiting body) ที่เรียกกันว่าดอกเห็ดนั่นเอง ยกเว้นในยีสต์ที่มีเพียงไฮพาเพียงอันเดียว เพราะมีเซลล์เดียว ไฮพาทำหน้าที่หลั่งน้ำย่อย ย่อยซากสิ่งมีชีวิต และสามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้อีกด้วย เส้นใยของราแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
4.1 เส้นใยมีผนังกั้น (septate hypha) คือ เส้นใยที่มีผนังกั้นทำให้มองดูเป็นห้องที่มีไซโตปลาสซึมและนิวเคลียส
4.2 เส้นใยที่ไม่มีผนังกั้น (nonseptate hypha) คือ เส้นใย ที่ไม่มีผนังกั้นทำให้มองดูทะลุตลอดเส้นใย ประกอบด้วยไซโตปลาสซึมและนิวเคลียสหลายนิวเคลียสกระจายอยู่ตลอดเส้นใย
5. การดำรงชีพเป็นผู้ย่อยอินทรียสารโดยการหลังน้ำย่อยออกมาย่อยอาหารแล้วจึงดูดอาหารโมเลกุลเล็กกลังเข้าสู่เซลล์ ไมซีเลียมอาจปรากฏเป็นกระจุกอยู่บนผิวหรือภายใต้ผิวของก้อนอาหาร เห็ดราบางชนิดที่เป็นปรสิตจะมีเส้นใยพิเศษ เรียกว่า ฮอสทอเรียม (Houstorium) แทงเข้าไปดูดอาหารจากเซลล์ของโฮสต์โดยตรง
6. รามีทั้งการสืบพันธุ์แบบอาศัย เพศและแบบไม่อาศัยเพศ แบบไม่อาศัยเพศโดยการแบ่งตัว (fission) การแตกหน่อ (budding) การหักหรือขาดออกของสาย (fragmentation) และการสร้างสปอร์ (spore formation) สำหรับแบบอาศัยเพศโดยการเทียบสาย (conjugation) แล้วมีการเคลื่อนตัวของไซโตปลาสซึม และนิวเคลียสเข้าผสมกัน เห็ดราเป็นผู้ย่อยอินทรียสารที่สำคัญมาก แต่ก็มีบางชนิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่มนุษย์ เช่น ทำให้อาหารบูดเสีย ทำให้เกิดโรคแก่สัตว์และพืช ทำให้บ้านเรือน เสื้อผ้า และเครื่องใช้เสียหาย เป็นต้น
นักอนุกรมวิธานบางท่านได้จัดแบ่งเห็ดราไว้เป็นไฟลัมยูไมโคไฟตา ซึ่งแบ่งเป็น 4 คลาส คือ
1.คลาสไฟโคไมซีดีส (Class Phycomycetes)
2.คลาสแอสโคไมซีตีส (Class Ascomycetes)
3.คลาสเบสิดิโอไมซีคีส (Class Basidiomycetes)
4.คลาสดิวเตอโรไมซีตีส (Class deuterromycetes)
เป็นโปรตีสต์ที่มีช่วงชีวิตที่มีลักษณะคล้ายสัตว์และช่วงชีวิตที่มีลักษณะคล้ายพืช ได้แก่ ราเมือก (Slime mold) เป็นต้น มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. มีเซลล์เป็นแบบยูคาริโอต ไม่มีผนังเซลล์ไม่มีคลอโรฟิลล์ประกอบด้วยกลุ่มของ โปรโตปลาสซึมที่แผ่กระจายมีลักษณะเป็นเมือก
2. การสืบพันธุ์มีวงชีวิตที่มีลักษณะคล้ายสัตว์สลับกับวงชีวิตคล้ายพืช คือ ในภาวะปกติของชีวิต มีลักษณะเป็นกลุ่มของโปรโตปลาสซึม แผ่กระจายคล้ายแผ่นวุ้น เซลล์แต่ละเซลล์ไม่มีผนังกั้น จึงทำให้นิวเคลียสกระจายอยู่ทั่วไปในเซลล์ มองดูคล้ายร่างแหเรียกว่า พลาสโมเดียม ( Plasmodium ) สามารถเคลื่อนที่และกินอาหารได้แบบอะมีบา ( Amoeboid movement ) พอถึงระยะที่มีการสืบพันธุ์ ราเมือกจะสร้างอับสปอร์ ( Sporangium ) ซึ่งภายในมีสปอร์ที่มีผนังเซลล์เป็นสารพวกเซลลูโลสเช่นเดียวกับพืช
3. ราเมือกดำรงชีวิตแบบภาวะมีการย่อยสลาย ( saprophytism ) แต่มีบางชนิด เช่น พลาสโมดิโอฟอรา ( plasmodiophora ) ทำให้เกิดโรครากโป่งในกะหล่ำปลีและผักอื่นๆ
วงชีพของราเมือก
ในระยะที่เรามักเห็นราเมือกได้ชัด คือ ภาวะปกติของราเมือกจะมีลักษณะคล้ายแผ่นวุ้นขนาดใหญ่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก รวมกันโดยไม่มีผนังกั้นเซลล์ จึงเห็นเป็นแผ่นมีนิวเคลียสจำนวนมาก มองดูคล้ายกับมีร่างแหอยู่ในแผ่นวุ้น ราเมือกอาจมีสีส้ม เหลือง ขาว หรือ ใส แผ่นวุ้นนี้เคลื่อนที่ได้คล้ายอะมีบาเรียกระยะนี้ว่า พลาสโมเดียม ต่อมาถึงระยะที่มีการสืบพันธุ์ ราเมือกจะหยุดเคลื่อนที่และเริ่มสร้างอับสปอร์ ระยะนี้เรียก ฟรุตติ้ง บอดี ( Fruiting body ) เมื่อสปอร์แก่ อับสปอร์แตกออก สปอร์ตกลงงอกเป็นเซลล์เล็กๆ เคลื่อนที่ได้ต่อมาเกิดการรวมตัวของเซลล์เล็กๆนี้เข้าด้วยกัน เป็นไซโกต ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นแผ่นวุ้นเคลื่อนที่หากินต่อไป ดังนั้น วงชีวิตของราเมือกจึงเป็นแบบสลับ ( alternation of generation )
ความสำคัญของราเมือก
1. ดำรงชีพภาวะย่อยสลาย ช่วยให้เกิดการสลายตัวของซากและสิ่งปฏิกูลต่างๆ
2. บางชนิดเป็นปรสิต เช่น พลาสโมดิโอฟอรา ( Plasmodiophora ) ทำให้เกิดโรครากโป่งในกะหล่ำปลีและผักอื่นๆ
ความคิดเห็น