ลำดับตอนที่ #1
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : เด็กฝึกงาน
บทที่1 เด็กฝึกงาน
พูดถึงปักกิ่ง สิ่งที่เด่นชัดในความรู้สึกที่ได้แบกเป้เที่ยวเมื่อหลายปีก่อน คือความรู้สึกขุ่นเคืองเล็กน้อยในเรื่องเล่ห์เหลี่ยมของผู้คนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งก็ไม่ผิดจากที่คนไทยอย่างเราเม้าส์กันสนุกปาก แต่กระนั้น สิ่งที่ผมได้พบก็เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของมหานครนี้ เมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจการเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาวจีนกว่า 1,300 ล้านคน
การเรียนภาษาจีนตามตำราอย่างเดียวนั้น หรือแม้กระทั่ง จะมีช่องดาวเทียมให้ดูอย่าง CCTV ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเข้าใจวัฒนธรรมและพื้นฐานความคิดของคนจีนสมัยใหม่ ทำให้ผมได้แต่เฝ้าภาวนาว่า สักวัน คงจะมีเวลาและโอกาสในการทำความเข้าใจปักกิ่งให้มากกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อถึงฤดูผลัดใบจังหวะหัวใจเปลี่ยน ผมมีโอกาสศึกษาต่อระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจที่กรุงเทพฯ และมีช่วงปิดเทอมใหญ่ ให้หัวใจว้าวุ่นตอนจบปีหนึ่ง ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะพุ่งเป้าไปฝึกงานในประเทศจีน เพราะถ้าได้ไปจริง จะเหมือนเล่นได้ไพ่ป๊อกสามเด้ง
เด้งแรก ได้ภาษาและประสบการณ์ เด้งสองได้เรียนรู้วัฒนธรรมแบบจีนๆ และสามคือเห็นช่องทางการทำธุรกิจในเมืองจีน ซึ่งอย่างหลังนี่แหละครับที่สำคัญสุด
แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ บริษัทไหนจะกล้ารับผมเข้าฝึกงาน? เพราะปัญหาของการรับเข้าฝึกงานอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจให้คนแปลกหน้าเข้ามาทำงานในบริษัทในระยะสั้น มากกว่าคำนึงถึงเรื่องพื้นฐานการศึกษา
การที่จะรับเข้าทำงานได้ ต้องทำให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจแน่ใจได้ว่า ผมจะไม่ก่อความเสียหายขึ้นในองค์กรของเขา แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงฝึกงานไปแล้วก็ตาม
โดยมารยาทการขอฝึกงานของคนไทย จะต้องรอให้บริษัทแรกปฎิเสธก่อน จึงค่อยไปหาบริษัทที่สองและสามตามลำดับ หากเขาตอบรับ จะได้ไม่ต้องปฎิเสธกันภายหลัง เสียทั้งเครดิตตัวเองและสถาบัน
“ซึ่งตรงกันข้ามกับของคนจีนโดยสิ้นเชิง”
จางฉวง เพื่อนคนจีนที่เรียนอยู่ Guang Hua Business School ของ Pekking University(PKU) บอกว่าเวลานักศึกษาเอ็มบีเอจะฝึกงาน จะกระจายจดหมายไปหลายๆบริษัท แล้วรอจนกว่าที่ใดที่หนึ่งจะตอบรับ
ที่เข้มข้นกว่านั้นคือ หากฝึกงานในองค์กรขนาดใหญ่ ต้องฝึกงานอย่างน้อย 6 เดือน
หมายความว่า แม้จะเปิดเทอมแล้ว ก็ต้องกลับไปเป็นม้าใช้ ช่วยงานที่บริษัทนั้นๆ อยู่ตามเวลาจะอำนวย โดยไม่อิดออด
ถึงจะรู้วิธีการขอฝึกงานสไตล์จีน แต่ตัวผมลองคิดตรองดู ก็ปลงใจขอเลือกใช้วิธีแบบไทยๆดีกว่า โดยเริ่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่ สัญชาติไทย ที่ไปลงทุนครอบคลุมเกือบทุกกิจการในประเทศจีน ผมจึงรีบส่งจดหมาย พร้อมเอกสารไปเรียบร้อยแต่เนิ่นๆ
ตามเรื่องมาเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีลำดับชั้นในการทำงานซับซ้อน ทำให้ไม่มีใครกล้าตัดสินใจรับผมเข้าทำงาน เพราะกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งกันในองค์กร
ความหวังที่จะฝึกงานที่เมืองจีน ดูมืดมนเหลือเกิน เวลาปิดเทอมก็งวดเข้ามาทุกขณะ จนกระทั่งพี่ซัน รุ่นพี่ม.เชียงใหม่ ที่ทำงานอยู่ในปักกิ่ง ได้เข้ามาเป็นฮีโร่ฉายสปอตไลท์ไปยังหนทางสู่แดนมังกร โดยเสนอทางออกว่า
ให้ผมเอาหน้าซื่อๆไปขอฝึกงานที่บริษัทขนาดกลางสัญชาติจีนดูเลยดีกว่า โดยข้อดีของการเลือกองค์กรขนาดนี้คือผมจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากกว่าการเข้าไปอยู่ในองค์กรยักษ์ใหญ่ ทางพี่ซันเองก็จะใช้เครดิตส่วนตัวเป็นกำลังภายในช่วยผลักดันผมอีกแรง
การเปลี่ยนเป้าหมาย แต่ก็ยังไม่ละซึ่งความพยายาม สุดท้ายบริษัท Green Futures ตอบรับผมเข้าฝึกงานในช่วงฤดูร้อน
ซึ่งทำให้ผมกลายเป็นมนุษย์สัญชาติไทยเพียงคนเดียวในบริษัทนี้ในที่สุด!!!
ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนระอุอันแสนจะทารุณ ในประเทศไทย (มีนาคม-พฤษภาคม)กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่อากาศดีที่สุดในปักกิ่ง ผมรู้สึกถึงสายลมเอื่อยๆ อากาศกำลังเย็นสบาย ไม่หนาวหิมะตก และไม่ร้อนรากเลือด การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้นทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในปักกิ่งเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จีนเริ่มจริงจังกับปัญหามลพิษ ตลอดจนโครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ เพิ่มความสะดวกด้านระบบคมนาคมขนส่งอีกหลายเส้นทาง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็คึกคัก
สนามบินอาคาร 3 ออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลกนามว่า นอร์แมน ฟอสเตอร์ที่สร้างไว้เพื่อรองรับโอลิมปิกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้นในอนาคต สร้างเสร็จไวเหมือนโกหก เพราะเนรมิตในเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น มีพื้นที่กว่าหนึ่งล้านตารางเมตร
อาคารทันสมัย โอ่โถง นั่นเป็นเรื่องปกติของสนามบินยุคใหม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าผู้สร้างใส่ใจในความสุขเล็กๆน้อยๆของผู้โดยสารหรือเปล่าก็คือ
ห้องน้ำ
ยามเข้าไปสำรวจ ก็เห็นได้ชัดเลยว่าจีนใส่ใจในเรื่องการออกแบบห้องน้ำเป็นอย่างมาก ตำแหน่งของห้องน้ำที่กระจายอยู่ทั่วอาคารผู้โดยสาร มีขนาดกว้างสบาย ใช้วัสดุในการก่อสร้างอย่างดี ทางด้านความสะอาดที่เป็นจุดอ่อนสำคัญตลอดมาในประวัติศาสตร์ ก็ได้รับการแก้ไขไปหมดสิ้น และที่สำคัญกว่านั้น พลันที่ลุกขึ้นมา ระบบอินฟราเรดที่ตำแหน่งหัวคนนั่ง จะสั่งให้กดน้ำเองโดยอัตโนมัติ
โอ้ ปักกิ่ง เมืองเดิมที่ผมเคยรู้จัก ได้เปลี่ยนไปตลอดกาลแล้ว
ข้อมูลปักกิ่ง
ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนมาตั้งแต่ปี1403 สมัยราชวงศ์หมิง ชิง จนกระทั่งเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ ในปี1949 มีพระราชวังต้องห้ามเป็นจุดศูนย์กลาง มีโครงสร้างถนนวงแหวน 6 วงล้อมรอบ มีอาณาเขต16,800ตารางกิโลเมตร มี 8 เขตเมืองชั้นใน 8 เขตชั้นนอก และ2county มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 15 ล้านคน
การขอวีซ่า
สถานทูตจีนประจำประเทศไทย 57 ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ 10310 โทรศัพท์ 0-2245-7033
ประเภทของวีซ่า
Type L วีซ่าท่องเที่ยว ขอได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารประกอบอื่น ระยะเวลาสูงสุดคือ 3 เดือน สามารถต่ออายุได้อีก 30 วัน หรือเปลี่ยนเป็นวีซ่านักเรียนได้ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียม 400 หยวน สำหรับวีซ่าอายุไม่เกิน 1 ปี และ 800 หยวนหากมากกว่า 1 ปี
Type X วีซ่านักเรียน มีระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 3 ปี ต้องใช้เอกสารรับรอง JW-202 ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการจีนจะเป็นผู้ออกให้ ในการสมัครวีซ่าประเภทนี้
Type F วีซ่านักเรียน ลักษณะเหมือน Type X แต่ว่าจะไม่สามารถต่ออายุหรือเปลี่ยนประเภทวีซ่าได้อีก ต้องใช้เอกสารรับรอง JW-202 ในการสมัครเช่นกัน เหมาะกับนักศึกษาที่มาเรียนในระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน
Type Z วีซ่าทำงาน ต้องมีหนังสือเชิญจากรัฐบาลจีน สัญญาว่าจ้างจากกรมแรงงาน หรือใบผูเชี่ยวชาญต่างชาติเพื่อประกอบการขอวีซ่าสามารถต่ออายุได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีการต่อสัญญาทำงาน
ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า
ค่าธรรมเนียมจะขึ้นอยู่กับ ระยะเวลา จำนวนครั้งในการเข้าออกประเทศ และเวลาในการรับวีซ่า
Single เข้าได้ 1 ครั้ง Double เข้าได้ 2 ครั้ง Multiple เข้ากี่ครั้งก็ได้ จนกว่าหมดอายุวีซ่า
โดยปกติจะใช้เวลา 4 วันทำการ แต่ถ้าต้องการใช้เร็วกว่านั้น ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงขึ้น
1 วัน | 2-3 วัน | 4 วัน | |
Single | 2,200 | 1,800 | 1,000 |
Double | 3,200 | 2,800 | 2,000 |
Multiple/ครึ่งปี | 4,200 | 3,800 | 3,000 |
Multiple/ 1 ปี | 5,700 | 5,300 | 4,500 |
อากาศ (ข้อมูลจาก www.weather.com)
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น