คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : พระราชประวัติ "พระบิดา"
เนื่องในวันที่24 กันยายน ของทุกปี เป็นวันมหิดล เพื่อเป็นการสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาเเห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ข้าพเจ้าจึงขออัญเชิญพระราชประวัติของพระองค์ เพื่อที่จะเป็นที่ประจักษ์ในความเสียสละของพระองค์ท่านที่จะพัฒนาการเเพทย์ของประเทศไทย
พระราชประวัติ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระราชสมภพในพระมหาราชวัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทร์ทราบรมราชชนนี มีพระธิดาและพระโอรส 3 พระองค์คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนครธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ด้านการศึกษา ในปี พ.ศ. 2448 ได้ทรงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก ในปีเดียวกันได้ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมศึกษาประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นได้ทรงศคกษาวิชาทหารและวิชาทหารเรือชั้นสูง ณ ประเทศเยอรมัน ขณะทรงศึกษาในปีสุดท้ายทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำ หลังจากการศึกษาหลักสูตร 4 ปี ได้ทรงเข้าปฏิบัติงานเป็นนายทหารราชนาวีเยอรมันเป็นเวลา 3 ปี ในปี 2458 ได้ทรงเสด็จนิวัติประเทศไทยและเข้ารับราชการในกองทัพเรือเป็นเวลา 9 เดือน ก็ทรงลาออกเนื่องจากทรงพบอุปสรรคในการพัฒนากองทัพเรือไทยให้เหมาะสมในช่วงที่ทรงลาออกนั้นได้รับทราบถึงความขาดแคลนต่างๆในด้านการแพทย์และการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย จึงตัดสินพระทัยศึกษาวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกาและทรงได้รับประกาศนียบัตรสามธารณสุขในปี 2464 หลังจากนั้นก็เสด็จกลับมาทรงทำงานอยู่กับราชแพทยาลัยระยะหนึ่งเเล้วจึงเสด็จสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาวิชาแพทย์ จนได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม เมื่อปี 2471 ในปีเดียวกันก็ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยและมีพระราชประสงค์จะทำหน้าที่แพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการไม่อาจสนองพระราช-ประสงค์ได้ เพราะเกี่ยวด้วยฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เองและราชประเพณี จึงทรงไม่พอพระทัยที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำประโยชน์จึงมีพระดำรัสว่า โดยความจงรักภักดีของฉันต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉันไม่สามารถจะรับหน้าที่ใดๆ ของรัฐบาลเพียงแต่เครื่องประดับและรับเงินเดือนสำหรับการทำเช่นนั้น ถ้าเรื่องเป็นเช่นนั้นฉันรู้สึกว่าฉันควรจะออกจากหน้าที่นั้นดีกว่า และให้ข้าราชการที่ควรจะทำหน้าที่และเป็นที่ต้องการได้รับเงินเดือนของรัฐบาลมากกว่าฉันเข้าทำแทนดังนั้นจึงทรงเปลี่ยนความตั้งพระทัยเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ทางโรงพยาบาลกราบทูลอัญเชิญมา สมเด็จพระบรมราชชนก ได้เสด็จถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2472 และได้เสด็จประทับร่วมอยู่กับครอบครัว ดร. อี.ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิคในครั้งนั้น ที่ประทับเป็นตึกเล็กๆ และทรงมีมหาดเล็กรับใช้เพียงคนเดียว ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล และปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญผู้หนึ่ง ไม่โปรดให้แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นของโรงพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานร่วมกับพระองค์ประพฤติต่อพระองค์เยี่ยงเจ้านายผู้สูงศักดิ์ทรงปฏิบัติพระองค์
เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญชน เวลาจ่ายใบสั่งยาก็ทรงลงพระปรมาภิไธยคล้ายสามัญชนว่ามหิดล สงขลา แม้ว่าพระสุขภาพจะไม่ดีนัก แต่ก็ทรงมีความสุขเป็นอันมากกับการมีโอกาสเป็นหมอได้อย่างเต็มที่ ในชั่วระยะเวลาไม่นานก็มีกิตติศัพท์แพร่หลายทั่วไปว่า มีแพทย์เป็นเจ้าฟ้ามาทรปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลแมคคอมิค ผู้ป่วยไข้ที่มารับการตรวจบำบัดโรคที่โรงพยาบาลครั้งนั้นขนานนามพระองค์ท่านว่า "หมอเจ้าฟ้า" สมเด็จพระบรมราชชนก มีโอกาสประทับที่เชียงใหม่ ให้ผู้คนชาวเชียงใหม่ได้ชื่นชมในพระกรุณาเพียงชั่วไม่ถึงเดือนก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2472 เพราะทรงประชวร ทรงประชวรอยู่ประมาณ 4 เดือน จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2472 เวลา 16.45 น. ก็เสด็จ ทิวงคต รวมพระชนม์มายุได้ 37 ปี 8 เดือน กับ 23 วัน เนื่องจากพระปับผาสะมีน้ำคั่งและพระหทัยวาย นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย ดังนั้นวันที่ 24 กันยายน จึงเรียกกันว่า “วันมหิดล”
แม้ว่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จทิวงคตไปแล้วถึง 70 ปี แต่พระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์และเกียรติ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
ก็ยังคงก้องกังวานอยู่ในหัวใจของปวงชนมิรู้คลาย.....
ที่มา: “พระราชประวัติ”. 2542. ข่าวศรีตรัง. ปีที่ 22 ฉบับที่ 10 (ต.ค)
ความคิดเห็น