ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สุดยอดมือกีต้าร์ระดับโลก (Guitarplayer of the word)

    ลำดับตอนที่ #4 : Stevie Ray Vaughan (สตีวี่ เรย์ วอห์น)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.36K
      2
      25 ก.ค. 53

    Stevie Ray Vaughan

     

    สตีวี่ เรย์ วอห์น เป็นอีกหนึ่งตำนานของสำเนียงกีตาร์ “เท็ก ซัส บลูส์”
    รวมทั้งเป็นบลูส์ผิวขาว ที่ต้นตำรับเพลงบลูส์อย่างมือกีตาร์บลูส์ผิวดำยังต้องยกนิ้วให้ ด้วยเหตุที่ว่าเขาไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนขาวที่เล่นเพลงบลูส์เท่านั้น 
    แต่เขา เล่นบลูส์และเข้าถึงเพลงบลูส์ด้วยจิตวิญญาณที่แท้จริง
    และเป็นบลูส์ผิวขาวที่สร้างทางและเสียงกีตาร์เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

     

             สตีวี่ เรย์ วอห์น เกิดในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1954 เริ่มสนใจดนตรีตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยซึมซับมาจาก จิมมี่ เรย์ วอห์น (Jimmie Ray Vaughan) ผู้เป็นพี่ชายซึ่งเป็นมือกีตาร์และหัวหน้าวง Texus Storm...เริ่มแรกที่สนใจดนตรี สตีวี่ เรย์ วอห์น อยากจะเล่นกลอง เพราะเขาไม่มีโอกาสได้จับหรือเล่นกีตาร์ของจิมมี่พี่ชายได้เลย ถ้าจะมีโอกาสได้จับฉวยกีตาร์ได้บ้าง ก็ต่อเมื่อจิมมี่พี่ชายไม่อยู่บ้าน ซึ่งจริงๆแล้วตัวเขาเองไม่ได้สนใจในกีตาร์เท่าไรนัก เพราะใจไปฝักใฝ่ในเรื่องกลองมากกว่า แต่เมื่อมีโอกาสได้แอบเล่นกีตาร์ของพี่ชายบ่อยครั้งเข้า เขาก็เริ่มติดใจในสำเนียงของกีตาร์ จนลืมเรื่องกลองไปโดยปริยาย ในเวลาต่อมาเป็นความโชคดีที่พี่ชายโละกีตาร์ 2 ตัวมาให้ ก็เท่ากับว่าเขาได้มีเวลาฝึกฝนมันอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องหลบๆซ่อนๆอีกต่อไป

             เขาฝึกฝนกีตาร์อย่างจริงจัง ทั้งจากฝึกฝนด้วยตัวเอง และศึกษาจากมือกีตาร์ที่เขาชื่นชอบ เช่นลอนนี่ แมค (Lonnie Mack), จิมมี่ รีด (Jimmy Reed) และมือกีตาร์ “คิง” ทั้งหลายไม่ว่าบี.บี. คิง (B.B. King), เฟรดดี คิง (Freddie King), อัลเบิร์ต คิง (Albert King) รวมทั้งกีตาร์ฮีโร่คนอื่นๆอย่าง อัลเบิร์ต คอลลินส์ (Albert Collins), จิมมี เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix), เคนนี่ เบอร์เรลล์ (Kenny Burrell) และจังโก้ ไรน์ฮาร์ดท์ (Django Rainhardt)

              สตีวี่ เรย์ วอห์น เริ่มเล่นวงครั้งแรกกับวง Blackbird ซึ่งเป็นวงที่เล่นเพลงในแนวริธึม แอนด์ บลูส์ ต่อมาเขาก็ออกมาเล่นกับวง The Chantones ของ ทอมมี่ แชนนอน (Tommy Shannon) ซึ่งเป็นเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกัน และเคยเป็นมือเบสส์ของวง Texus Storm ที่เป็นวงของพี่ชายเขาเอง...สตีวี่ เรย์ วอห์น เปลี่ยนวงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 1971 เขาได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองออสติน และได้เข้ามาร่วมกับวง Cast of Thousands และได้บันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในชุด A New Hi ซึ่งในช่วงนี้สตีวี่ เริ่มติดเหล้าเมายาตามแฟชั่นนิยมของนักดนตรีในยุคนั้น...ต่อมาเขาก็เข้าร่วม วง Crackerjack ที่มีทอมมี่ แชนนอนเพื่อนร่วมชั้นเรียนเล่นเบสส์ และอังเคิล จอห์น เทอร์เนอร์ (Uncle John Turner) อดีตมือกลองของจอห์นนี่ วินเตอร์ (Johnny Winter) เล่นกลอง

             ในช่วงหนึ่งสตีวี่ เรย์ วอห์น ได้มีโอกาสได้ไปชมการแสดงของอัลเบิร์ต คิง โดยนั่งติดชิดขอบเวที และสายตาจ้องมองการเล่นของอัลเบิร์ต คิงอยู่ตลอดเวลา จนการแสดงจบลง อัลเบิร์ต คิงได้เดินลงมาหาสตีวี่ เรย์ วอห์น และยืนจ้องมองอยู่นานก่อนที่จะเดินออกไป และให้หลังไปสามปี ซึ่งสตีวี่ เรย์ วอห์น มีชื่อเสียงแล้ว เขามีโอกาสขึ้นเวทีร่วมแจมกับอัลเบิร์ต คิง ตั้งแต่ต้นจนจบการแสดง ซึ่งอัลเบิร์ต คิงก็จำได้ พร้อมกับชี้หน้าถามในทำนองว่า...ฉันจำแกได้ แกใช่ไหมที่จ้องหน้าฉันไม่กระพริบ ตอนที่ฉันไปแสดงดนตรีที่เมืองออสติน

              ในปี 1979 สตีวี่ เรย์ วอห์น ตั้งวง Double Trouble เป็นของตัวเอง มีสมาชิก 3 คนด้วยกันคือ ทอมมี่ แชนนอน เกลอเก่าสมัยเรียนหนังสือเล่นกีตาร์เบสส์ คริส เลย์ตัน (Chris Layton) เล่นกลอง และลู แอนน์ (Lou Ann) ในตำแหน่งนักร้องนำ ที่ร่วมวงกันได้ไม่นานนัก ก็ถูกสตีวี่ เรย์ วอห์น อัปเปหิออกจากวง เพราะลู แอนน์ จะหนักไปเอาดีทาง “นักดื่ม” มากกว่าที่จะมาเอาดีทางด้าน “นักร้อง”พร้อม กับมีอัลบั้มชุดแรก Texus Flood ออกมาในปี 1983 ซึ่งทำให้สตีวี่ เรย์ วอห์นเป็นที่รู้จักของแฟนบลูส์ และคอเพลงร็อคทั่วโลก เพราะสำเนียงกีตาร์ในชุดนี้ เป็นสำเนียงเท็กซัส บลูส์ที่หนักหน่วงและดุดัน สามารถทำยอดขายได้ 500,000 แผ่น และเขาก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงแกรมมี่ อวอร์ดถึง 2 สาขาคือ Best Rock Instrumental กับ Best Traditional Blues และเขาก็คว้ามาได้หนึ่งรางวัลจากสาขา Best Traditional Blues และในปีเดียวกันนี้เขาก็ได้รับการโหวตเสียงจากผู้อ่านนิตยสาร Guitar Player ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีอิทธิพลต่อวงการเพลง จนได้รับรางวัลถึง 3 สาขาด้วยกันคือ Best New Talent, Best Blues Album และ Best Electric Blues Guitar

            อัลบั้มชุดที่สอง Doubble Troubble ออกตามมาในปี 1984 ก็ยิ่งตอกย้ำฝีมือกีตาร์ในแบบเท็กซัส บลูส์ที่เข้มข้น จนมีคนกล่าวว่านอกจากที-โบน วอคเกอร์ (T-Bone Walker) ที่เป็นสุดยอดของมือกีตาร์เท็กซัสแล้ว ก็มีสตีวี่ เรย์ วอห์น อีกคนที่มีความเป็นเท็กซัส บลูส์ที่ชัดเจนที่สุด จนถูกตั้งสมญานามจากแฟนเพลงว่า “Texus Guitar King” และในปีเดียวกันนี้เขาก็ได้รับรางวัล Entertainer of the year กับ Blues Intrumentalist จาก W.C. Handy National Blues Award มาครอง และนับเป็นครั้งแรกที่คนขาวได้รับรางวัลนี้

     

             ในปี 1985 อัลบั้มชุดที่ 3 Soul To Soul ก็ตามออกมาพร้อมกับความสำเร็จที่ท่วมท้น ชื่อเสียงของสตีวี่ เรย์ วอห์น และวง Doubble Troubble โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และแน่นอนที่เขาไม่อาจหนีพ้นเรื่องยาเสพติด ที่เป็นเรื่องปกติของนักดนตรีร็อคในสมัยนั้น...สตีวี่หนักไปทางเหล้าและ โคเคน ในบางครั้งแสดงดนตรีอยู่ดีๆก็ฟุบไปพร้อมๆกับกีตาร์เพราะฤทธิ์เหล้าและโคเคน ที่ล่อเข้าไปอย่างหนัก สตีวี่ เรย์ วอห์น เลิกๆเล่นๆกับ “โอสถหลอนประสาท” อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะเลิกได้อย่างเด็ดขาด และเดินเข้าสตูดิโออีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ห่างหายไปนานถึง 4 ปี เพราะมัวแต่ไปหลงทางเสียเวลา หลงติดยาเสียอนาคต

                ในปี 1989 อัลบั้มชุดที่ 4 In Step ก็คลอดออกมาด้วยความดุดันเข้มข้นเหมือนเคย ระยะเวลาที่ไปหลงระเริงอยู่กับยาเสพติด ก็ไม่ได้กัดกร่อนฝีมือของเขาให้ลดน้อยถอยลงไปแม้แต่น้อย มีแต่จะข้นคลั่กด้วยฝีมือที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ และปีนี้เขาก็ได้รับรางวัลแกรมมี่ ในสาขา Best Cointemporary Blues Recording มาครองอีกหนึ่งรางวัล หลังจากนั้นเขาก็เดินทางกลับเท็กซัสบ้านเกิด เข้าร่วมบันทึกเสียงกับจิมมี่ เรย์ วอห์น พี่ชายในชุด Family Style ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี เหมือนกับที่เขาทำกับ Doubble Troubble วงของตัวเอง

                    หลังจากหมดงานในสตูดิโอ สตีวี่ เรย์ วอห์น ก็ใช้เวลาหมดไปกับการแสดงคอนเสิร์ต จนกระทั่งมาถึงในวันที่ 25 สิงหาคม 1990 สตี วี่ เรย์ วอห์น และวง Doubble Troubble ของเขาได้ไปเปิดการแสดงดนตรีที่อัลไพน์ วัลเลย์ ในเมืองวิสคอนซิน ซึ่งในงานนี้มีมือกีตาร์บลูส์ระดับหัวแถวมาร่วมแสดงในงานกันมากมาย เป็นต้นว่า อีริค แคลพตัน (Eric Clapton), โรเบิร์ต เครย์ (Robert Cray), บัดดี กาย (Buddy Guy), บอนนี่ แรทท์ (Bonnie Raitt), บี.บี. คิง (B.B. King) และจิมมี่ เรย์ วอห์น พี่ชาย...หลังจบการแสดงเขาได้เดินทางต่อไปยังชิคาโก โดยเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวเพราะมีกำหนดการที่จะแสดงต่อกันที่นั่น โดยให้ลูกวงเดินทางตามไปสมทบภายหลัง แต่ด้วยทัศนวิสัยของอากาศไม่ดี ทำให้เฮลิคอปเตอร์เสียหลักบินไปชนเนินเขา ทำให้สตีวี่ เรย์ วอห์น เสียชีวิตนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวงการดนตรี โดยเฉพาะกับมือกีตาร์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานของเท็กซัส บลูส์...ศพของสตีวี่ เรย์ วอห์น ถูกฝังไว้ที่สุสาน Laurel Land Cemetary โดยที่หลุมฝังศพจะมีรูปปั้นเท่าตัวจริงของสตีวี่ เรย์ วอห์น ยืนถือกีตาร์อยู่หน้าหลุมฝังศพ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×