ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องเก่าเล่าใหม่

    ลำดับตอนที่ #5 : เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ

    • อัปเดตล่าสุด 27 พ.ย. 54


    ใครเคยดูโขนมั่งครับ (ยกมือกันให้พรึ่บ 555+) ก็คงจะเคยดูมั่งแหละ ไม่ว่าจะเป็นโขนสดๆ รึว่าวิดีโอโขน (ใครอยากดูคลิป พิมพ์ในยูทูบว่า “โขน พรหมาศ 2552” หรือว่า “โขน นางลอย 2553” ก็ได้ครับ รับประกันความสนุก) ทุกคนคงจะเคยเห็นที่นักแสดงรำประกอบเพลงโดยที่ไม่มีเนื้อร้อง ใช่แล้วครับ นั่นคือการรำประกอบเพลงหน้าพาทย์ วันนี้เราจะมาพูดถึงเพลงหน้าพาทย์กัน
    การรำของโขนหรือละคร (ละครนอก-ใน) จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การรำตีบท และการรำหน้าพาทย์ การรำตีบทหมายถึงการรำที่ตีไปตามบทละคร บทพากย์ และบทร้อง ส่วนการรำหน้าพาทย์ เป็นการรำประกอบเพลง ไม่มีเนื้อร้อง แต่จะมีความหมายอยู่ในตัวของเพลงเอง ประกอบกิริยาอาการของผู้แสดง เช่น เพลงเสมอ ประกอบการเดินใกล้ๆ ของตัวละคร (เสมอนี้ เป็นภาษาเขมร แปลว่าเดิน มาจากคำว่า “เถมอ”) เป็นต้น
    เพลงหน้าพาทย์แบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ เพลงหน้าพาทย์ธรรมดา และเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง โดยเพลงหน้าพาทย์ธรรมดาจะประกอบการกิริยาอาการของผู้แสดงทั่วๆ ไป เช่น รัว ลา เร็ว ชุบ เชิด เสมอ โอด ทยอย ปฐม โล้ แผละ ฉิ่ง ชุบ เป็นต้น แต่เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง หรือเพลงหน้าพาทย์ชั้นครูนี่ เป็นเพลงที่มีความหมายศักดิ์สิทธิ์ มักเกี่ยวกับเทพเจ้า ผู้ทรงศีล อิทธิฤทธิ์ เป็นเพลงที่ฝ่ายดนตรีนาฏศิลป์ไทยให้ความเคารพ เพียงเมื่อได้ยินเสียงเพลงก็จะยกมือไหว้ เพื่อระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
    เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง มีอยู่หลายเพลงด้วยกัน เช่น
    ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ใช้ตอนพระนารายณ์บรรทมเหนือพระยาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร หรือตอนพระนารายณ์แผลงฤทธิ์
    ดำเนินพราหมณ์ ใช้กับการเดินทางในระยะใกล้ของพราหมณ์ หรือผู้ทรงศีล
    เสมอตีนนก หรือ เพลงหน้าพาทย์บาทสกุณี เพลงหน้าพาทย์อันดับสอง ใช้ในลักษระการเดินในระยะใกล้ๆ ของตัวพระ-นางที่สูงศักดิ์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอุมา พระลักษมี พระสุรัสวดี พระราม นางสีดา เป็นต้น
    และเพลงหน้าพาทย์ที่สูงที่สุดในวงการดนตรีนาฏศิลป์ไทย ก็คือ เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
    องค์พระพิราพเป็นใคร?
    พระพิราพ คือ อสูรเทพบุตรตนหนึ่ง มีอิทธิทธิ์มาก เพราะพระอิศวรแบ่งกำลังพระสมุทรและพระเพลิงให้ ประทานป่าให้พระพิราพทำอุทยาน พระพิราพได้ต้นชมพู่พวาทองมาปลูก กำชับทหารเฝ้าดูแลรักษา แล้วก็ไปเที่ยวสวรรค์ เมื่อพระรามเดินป่ามากับนางสีดาและพระลักษมณ์ เดินผ่านเข้ามายังอุทยานของพระพิราพ ทหารของพระพิราพเข้าขัดขวางแต่ถูกพระรามสังหารตายหมด เมื่อพระพิราพกลับมาจากสวรรค์ เห็นว่าสวนถูกทำลายทหารตายเสียหมด ก็กริ้ว เมื่อรู้ว่าเป็นฝีมือพระราม ก็ร่ายเวทย์กำบังกายจะทำร้ายพระราม แต่เห็นโฉมนางสีดา ก็ตกตะลึง ร่ายเวทให้ฟ้ามืดครึ้ม แล้วอุ้มนางสีดาเหาะหนีไป พระรามจึงแผลงศรเป็นพระอาทิตย์ สังหารพระพิราพเสียชีวิต
    ทำไมเพลงหน้าพาทย์ของอสูรเทพบุตร จึงเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงอันดับหนึ่ง?
    ผมถามคำถามนี้กับอาจารย์ที่สอนนาฏศิลป์ที่โรงเรียน (โรงเรียนผมมีชื่อสมัยโบราณว่า “โรงเรียนมัธยมชายหาดใหญ่” ปัจจุบันเป็นโรงเรียนสหฯ ที่นักเรียนชาย “หล่อมาก” ^^ ผมไม่ได้อยู่ในนั้นหรอก แต่เป็น “เอฟซี” ของน้องมาร์คนะคับ >///<) (แรด!!!!!!!!!!!!!!!!!!) นอกเรื่องมาเยอะ (อีกแล้ว) อาจารย์ผมก็ตอบมาว่า “ที่จริงพระพิราพองค์นี้เป็นร่างอวตารของพระอิศวร ที่เรียกว่า “ไภรวี” หรือที่แปลว่า น่ากลัว ไทยเรามาแผลงไอเป็นอิ วอเป็นพอ ใส่สระอาหลังรอเรือ บาลีอ่าน วิราพ”


     

    หัวโขนองค์พระพิราพ
    ผมสืบไปสืบมา อ้อ!!!! ยักษ์ที่เป็นเจ้าของสวนชมพู่พวาทองกับองค์พระพิราพ เป็นคนละองค์ละตนกัน
    ทำไมเป็นอย่างนั้น?
    ในรามยณะเรียกยักษ์ตนนี้ว่า “วิราธ” เป็นคนละคนกับ “องค์พระพิราพ” ไทยเรามาแปลให้เพี้ยน ว่าเป็นคนเดียวกัน พระพิราพเป็นร่างอวตารของพระอิศวรซึ่งฝ่ายนาฏศิลป์ไทยและอินเดียจะกลัวกันมาก ถือเป็นอาจารย์ฝ่ายโขนละคร ซึ่งในการครอบครู จะมีศีรษะที่ต้องครอบ 3 ศีรษะ คือ ศีรษะพระนารทฤาษี (ครูการแสดง) เทริด (ครูละคร) และศีรษะองค์พระพิราพ (ครูโขน) และถือเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพนี้เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุด

     

    การรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
    เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ใช้ประกอบการแสดงตอนพระพิราพออกป่า แสดงอิทธิฤทธิ์ ผู้ที่จะได้รับการถ่ายทอดท่ารำหรือเพลงก็จะคล้ายๆ กัน คือ ต้องอายุ 30 ปี บริบูรณ์ บวชเรียนแล้ว มีกิริยามารยาทเรียบร้อย บุคลิกเหมาะสม และได้รับพระบรมราชโองการให้ต่อเพลงหน้าพาทย์ ส่วนฝ่ายนาฏศิลป์จะเพิ่มกฎอีกข้อคือ ต้องเป็นตัวโขนฝ่ายยักษ์ และมีความเชี่ยวชาญในการรำฝ่ายยักษ์มาพอสมควร (สมัยโบราณอาจยกเว้นให้ฝ่ายตัวพระเรียนได้ เช่น อาจารย์อาคม สายาคม เป็นต้น)


     

    การครอบครูโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นัยว่าให้มหาเทพที่เป็นอวตารของพระนารายณ์ประสิทธิ์ประสาทให้
    อย่างที่บอกว่าฝ่ายนาฏศิลป์จะกลัวพระพิราพ เพราะว่าองค์พระพิราพเป็นอสูรเทพบุตรที่มีฤทธิ์มาก ใครผิดครูเป็นที่จะเจอดี ผมอ่านหนังสือเล่มนึง ได้ถ่ายทอดคำบอกเล่าของอาจารย์อาคม สายาคม ว่า “ผู้ที่ผิดต่อองค์พระพิราพจะเจอในลักษณะถูกเท้าสีดำทะมึนเหยียบอกเวลานอน รู้สึกอึดอัดตลอดเวลา” และก็มีเรื่องทำนองนี้ในเรื่องวาระสุดท้ายของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่ผมอ่านจากหนังสือ ชื่อ “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) : มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” ที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้รับเชิญจากครูโองการ (ครูทองต่อ กลีบชื่น) ลูกศิษย์ ให้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรอ่านโองการไหว้ครูให้กับกองดุริยางค์ทหารอากาศ และเมื่อท่านอ่านคาถาอัญเชิญองค์พระพิราพมาสู่บริเวณพิธีแล้ว ท่านเกิดไม่สบายกะทันหัน จึงรวบรัดพิธี จนลืมกล่าวคาถาเชิญเครื่องสังเวยให้กับองค์พระพิราพ ยังความไม่สบายใจมาให้กับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
    หลังจากกลับมา ก็อาการทรุดลง คุณหญิงชิ้น บุตรี ไปนิมนต์หลวงพ่อสดวัดปากน้ำมาช่วยรักษาอาการ ท่านก็บอกได้เพียงว่า “...ขอกับข้างบนแล้ว แต่เขาไม่ให้” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2497 หลวงประดิษฐ์ไพเราะมีอาการทรุดลงเข้าไปอีก ท่ามกลางลูกหลาน ภรรยาและหมอ ท่านยกมือขึ้นเหมือนไม่ได้สติ กำราวจับระนาด บรรเลงช้าๆ ราวกับบรรเลงเพลงลา จนลูกชายคนกลางต้องเอามือลงด้วยความสะเทือนใจ ฉับพลัน ทุกคนก็เห็นเป็นหน้ายักษ์สวมทับหน้ามนุษย์ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นานพอที่จะรู้สึกตัวว่าไม่ใช่ความฝัน องค์พระพิราพประทับแล้ว!!! สักครู่หนึ่งก็พลันหายไป เป็นหน้าหลวงประดิษฐ์ไพเราะอย่างเดิม ท่านยิ้มให้เหมือนสบายใจ และลมหายใจก็สิ้นสุดลง
    ผมไม่ไดเขียนให้ทุกท่านเชื่อตามที่ผมเชื่อ แต่ท่านสามารถสืบหาตามความเชื่อของท่านได้อีก เพราะนานาจิตตัง และท่านก็ไม่ควรลบหลู่
    ......ไม่เชื่อได้ แต่ห้ามลบหลู่ และผิดครู (อย่างเด็ดขาด)
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×