(สนพ.อรุณ) Erika No Nikki บันทึกของเอริกะ

โดย senorita-p

นิยายกลิ่นอายญี่ปุ่น เรื่องราวของบุตรสาวนักบวชที่ต้องกลายมาเป็นสื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า แถมยังไปมีพันธะบางอย่างกับทายาทหนุ่มแห่งตระกูลเก่าแก่ผู้เกลียดเรื่องลี้ลับเป็นที่สุด

อ่านนิยาย

รีวิวจากนักอ่าน

รีวิว

เป็นนิยายที่ให้ความรู้สึกเหมือนล่องลอยไปในอากาศ

รีวิวถึงลำดับตอนที่ 87

เยี่ยมมาก
โดยทั่วไปแล้วเราค่อนข้างที่จะชื่นชอบความเป็นธีมญี่ปุนที่ให้ความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่พึ่งพาได้
เนื่อเรื่องเราขอไม่พูดอะไรมาก
โทคิซาวะ เอริกะสาวน้อยอายุสิบแปดปีเป็นบุตรสาวของนักบวชแห่งศาลเจ้าโทคิซาวะที่เงียบขรึมและไม่ค่อยเข้าหาคนอื่นเท่าไรนักแต่วันหนึ่งก็ต้องจับพลัดจับพลูมีพันธะกับบุตรชายของบ้านนิวาตะนามว่า ชูอิจิ
ณ ที่นี่ เราขอชื่นชมผู้เขียนที่ความสามารถเขียนพระ-นางให้มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่อยู่ร่วมกันได้เพราะปกติแล้วหมวดนิยายแฟนตาซีจะหาค่อนข้างยากที่นิสัยของพระ-นางจะคล้ายกันตรงที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใครแต่ก็ยังแทรกนิสัยปลีกย่อยเข้าไปเพื่อความสมจริงได้อย่างดีเยี่ยม รวมทั้งตัวละครอื่นๆที่มีสีสันให้ความรู้สึกว่านิยายไม่ได้เครียดจนเกินไป

**จากนี้จะมีการสปอยล์เนื่องเรื่องพอสมควรหากใครที่ยังไม่ได้อ่านกรุณากดปิดนะคะ**

ตัวละครต่างๆ

นางเอก-โทคิซาวะ เอริกะ-เป็นคนจิตใจดี ชอบช่วยเหลือ และเก่งมากในเรื่องการวิเคราะห์อะไรหลายๆอย่างได้ชัดเจน อย่างเช่นตอนที่เปิดหน้าตักเจรจากับนิวาตะ ชูอิจิหรือตอนที่ต่อกรกับคิวบิโนะโยโกะแต่ก็ยังขาดความรู้ทั่วๆไปอย่างเช่นเรื่องรักๆใคร่ๆที่เจ้าตัวไม่เยแส
พระเอก-นิวาตะ ชูอิจิ-เป็นคนมีความรับผิดชอบสูงมาก ตรงต่อเวลา อบอุ่นและใจดีถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เจ้าคิดเจ้าแค้น อาทิเช่นตอนที่ต้องติดอยู่ในบ้านโฮซากิสองต่อสองกับเอริกะก็พยายามสรรหาคำมาต่อล้อต่อเถียงหรือว่าตอนที่รู้ความจริงว่าพี่ชายของตนคือนักบวชกลับชาติมาเกิดใหม่แต่เจื่อไปด้วยความห่วงใยจึงไม่น่าแปลกที่ใครหลายคนจะชื่นชอบตัวละครตัวนี้
ตัวละครสมทบ-น่าแปลกที่มนุษย์ปกติอย่างเราๆน้อยนักที่จะได้โลดเล่นในนิยายเรื่องนี้ อาทิเช่น โทคิซาวะ ยาฮิโระ มักจะห่วงลูกสาวและชอบจินตนาการเพ้อไปเรื่องความสัมพันธ์ของลูกสาวและชูอิจิได้แปลกสุดกู่ และที่ขาดไม่ได้ก็คือมินาโมโตะ ฮิคาริ เราขอนับถือนักเขียนที่เขียนตัวละครได้น่ารักและแปลกไม่เหมือนใครทั้งจุกจิกเรื่องกินและงี่เง่าเรื่องบ้าๆ
โครงเรื่อง

นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หักยกล้อแล้วยังหมุนตะลบกลางอากาศได้หลายรอบ ผู้เขียนได้นำจุดปลีกย่อยต่างๆมารวมไว้ด้วยกันและยังมีแก่นสารความรู้อย่างลึกซึ้งและการวิเคราะห์ตรรกะเหตุผลของนางเอก

โดยรวมแล้ว

ถือเป็นนิยายที่มีความกลมกล่อมให้รสชาติแบบผู้ใหญ่ ทั้งความไม่ตรงกับใจของชูอิจิหรือความไร้เดียงสาของเอริกะ ซึ่งเจือไปด้วยความห่วงใยสายใยเส้นกั้นบางๆแต่ทางผู้วิจารณ์หวังว่าผู้เขียนจะแต่งนิยายดีให้นักอ่านทุกท่านต่อไปนะคะ
reviewer author
@Milky Home
29 ก.ค. 59 / 10:36 น.

0

นิยายกลิ่นอายญี่ปุ่นที่ชี้นำจินตนาการของผู้อ่าน

รีวิวถึงลำดับตอนที่ 72

เยี่ยมมาก
Erika No Nikki อ่านแค่ชื่อเรื่องก็สัมผัสได้ว่ากำลังจะได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือไลท์โนเวลสักเรื่อง เพราะสไตล์การตั้งชื่อมาแนวญี่ปุ่นจ๋ามาก ตรงตามคำแนะนำเรื่องแบบย่อๆ ที่ผู้เขียนโปรยไว้ว่า "นิยายแฟนตาซีกลิ่นอายญี่ปุ่น" อย่างยิ่ง เหมือนหลุดเข้าไปในบรรยากาศของศาลเจ้าเก่าๆ ในเมืองเล็กๆของประเทศญี่ปุ่นอย่างไรอย่างนั้น ด้วยบรรยากาศในเรื่องที่ผู้เขียนบรรยายออกมาผ่านตัวอักษรให้รู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ แต่เนื้อเรื่องกลับไม่ได้ผ่อนคลายตามบรรยากาศเหล่านั้นเลย เพราะเนื้อหาของเรื่องนี้เต็มไปด้วยความลึกลับ ภูตผี เวทมนตร์ ปีศาจ เจือปนมาด้วยความหวานเล็กๆ และผู้ชายหน้าตาดี(?)เต็มไปหมด ซึ่งแทนที่บรรยากาศของเรื่องสบายๆจะไปขัดกับเนื้อหาที่เข้มข้นจนพาลให้เสียอรรถรสนั้นก็เปล่าเลย สองอย่างนี้กลับเข้ากันได้อย่างน่าประหลาดและสามารถทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากจะอ่านต่อไปเรื่อยๆ



เนื้อเรื่องกล่าวถึงโทคิซาวะ เอริกะ เด็กสาวม.ปลายวัย 18 ปี ลูกสาวนักบวชผู้ดูแลศาลเจ้าที่บังเอิญต้องมารับหน้าที่เป็นมิโกะ สื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า และมีเหตุให้ต้องไปผูกสัมพันธ์กับทายาทตระกูลผู้มีอิทธิพลของประเทศอย่างนิวาตะ ชูอิจิ อย่างไม่ตั้งใจ เด็กสาวที่มีแต่เรื่องราวเหนือธรรมชาติเข้ามาสร้างปัญหาให้ชีวิต กับนักธุรกิจหนุ่มผู้บังเอิญเป็นกุญแจดอกสำคัญในการที่จะทำให้เธอมีชีวิตรอดต่อไปจึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์และปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆมากมายทั้งจากน้ำมือมนุษย์และอมนุษย์ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนั้นก็ได้นำไปสู่การเปลี่ยนความรู้สึกที่มีให้อีกฝ่ายระหว่างชายหนุ่มกับเด็กสาวไปทีละนิด



การบรรยายเรื่องด้วยภาษาที่เนิบนาบ ใช้คำง่ายเห็นภาพตามชัดเจน อ่านแล้วรู้สึกสงบจิตสงบใจประหนึ่งโดนชำระล้างด้วยพลังมิโกะ แม้ว่าเนื้อหาที่อ่านนั้นจะกำลังเป็นฉากการปะทะกันของปีศาจและมนุษย์หรือฉากกระอักเลือดของตัวเอกก็ตาม ช่วยทำให้ฉากนองเลือดดูนุ่มนวลลงจนกลมกลืนกับความพยายามไฝ่หาความสงบสุขในชีวิตของตัวเอกได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งยังหาคำผิดในเรื่องได้ยากยิ่ง จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้เราประทับใจกับเรื่องนี้มาก ยังไม่รวมถึงเนื้อเรื่องที่มีความซับซ้อน มีปมปริศนามาให้คิดตามเป็นระยะๆ เช่น เรื่องของชูอิจิและความลับของตระกูลนิวาตะ มีการหักมุมให้พอตื่นเต้น เช่่น เรื่องแม่ของเอริกะ หรือมีการอธิบายถึงที่มาของเทพเจ้า ภูตผี ปีศาจ การสาปแช่ง ตลอดจนพิธีการและของศักดิ์สิทธิ์ต่างๆตามความเชื่อของประเทศญี่ปุ่นที่ค่อนข้างละเอียด บ่งบอกว่าผู้เขียนทำการบ้านมาเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เนื้อเรื่องของ Erika No Nikki มีความโดดเด่นมากขึ้นไปอีก



ตัวละครเอกของเรื่องอย่างเอริกะและชูอิจิมีคาแรคเตอร์ที่ค่อนข้างโดดเด่น ความขี้รำคาญแต่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นของเอริกะพอมาอยู่กับความนิ่งขรึมแต่ใจดีของชูอิจิแล้วมันช่างเข้าคู่เคมีกันได้อย่างลงตัว อีกทั้งตัวละครอื่นๆในเรื่องอย่างคุณพ่อของเอริกะ ลูกพี่ลูกน้องของชูอิจิ รวมถึงฮิคาริและชูริวก็เป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเรื่อง ชนิดที่ว่าถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านี้ คนอ่านอาจจะไม่ได้จิกหมอนกับฉากน่ารักของคู่พระ-นางก็เป็นได้ แต่ส่วนตัวแล้วประทับใจชูเฮเป็นพิเศษ



ความสัมพันธ์ของตัวละครคือจุดเด่นอีกเรื่องหนึ่งของนิยายเรื่องนี้ เพราะเป็นนิยายแฟนตาซีที่มีกลิ่นอายของความรัก ดังนั้นความสัมพันธ์ของชูอิจิและเอริกะจึงถูกให้ความสนใจทั้งจากตัวละครอื่นๆภายในเรื่องรวมถึงผู้อ่านแทบทุกคน ซึ่งผู้เขียนสามารถทำออกมาได้อย่างลงตัว กล่าวคือ แม้ความสัมพันธ์ของพระ-นางจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างเชื่องช้ายิ่งกว่าการจราจรบนถนนลาดพร้าวตอนหกโมงเย็น แถมฉากน่ารักหวานแหววก็หาได้ค่อนข้างน้อยเหมือนเวลารอแท็กซี่แต่แท็กซี่ไม่ค่อยจะมาแถมมีแต่รถเมล์ก็ตาม แต่เพราะความช้าและการมีน้อยนี่แหละ ทำให้เมื่อฉากน่ารักๆของตัวละครคู่นี้ออกมาทีไรคนอ่านแทบจะกัดผ้าเช็ดหน้ากันด้วยความฟินไปเลยทีเดียว นอกจากนี้ประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่โดดเด่นเท่าใดนักก็ถูกทำให้โดดเด่นประทับใจขึ้นมาได้ด้วยการปรากฏตัวของตัวละครตัวเดียวที่ชื่อว่านิวาตะ ชูเฮ



อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจหรือคิดไปในทางเดียวกัน จึงได้บรรยายความคิดของตัวละครในเรื่องลงไปในลักษณะของการเน้นเพื่อชักจูงความคิดของผู้อ่านมากเกินไป เช่น ในตอนที่ 2 ที่เอริกะคิดว่า "ดูเหมือนว่าฉัน...จะไปถามอะไรแปลกๆ เข้าแล้วสินะ" หรือที่พ่อของเอริกะคิดว่า "แสดงว่าอาจจะทำอะไร...ให้เดือดร้อนมาถึงตัวเองสินะ"



การใช้คำว่า "ดูเหมือน/แสดงว่า/เหมือนว่า/หรือว่า/งั้นถ้า" และลงท้ายด้วยคำว่า "สินะ/รึไง/รึเปล่า" ในห้วงความคิดของตัวละครหลายครั้งในแต่ละตอนของเรื่อง ซึ่งจากที่อ่านตั้งแต่บทที่ 1 จนจบภาค 1 แล้วพบว่ามีค่อนข้างเยอะไปจนถึงเยอะมาก เสมือนผู้เขียนไม่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ใช้ไหวพริบปฏิภาณในการตีความคำพูดและการกระทำของตัวละครด้วยตนเอง ต้องเดินตามเศษขนมปังที่ผู้เขียนโปรยไว้เท่านั้น ซ้ำยังเป็นเศษขนมปังชิ้นใหญ่มากจนไม่ต้องใช้ความสามารถใดใดในการมองหาเสียด้วย



ผู้เขียนเน้นย้ำความคิดของตัวละครหนึ่งที่มีต่ออีกคำพูดหรือการกระทำของตัวละครหนึ่งไปแล้วว่าพูดแบบนี้แสดงว่าเป็นแบบนี้เท่านั้น ให้ผู้อ่านได้แต่คิดตามที่ผู้เขียนบรรยายผ่านตัวละครอย่างเดียว และเป็นการเน้นที่ค่อนข้างชัดเจนด้วยการขึ้นย่อหน้าใหม่และบรรยายไว้เฉพาะช่วงความคิดนั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้คิดจินตนาการต่อยอดไปทางอื่น เหมือนฮันเซลที่โปรยเศษขนมปังเพื่อหาทางกลับบ้านด้วยตัวเอง แต่กลายเป็นว่าเกรเทลน้องสาวของเขามีแผนที่ตรงดิ่งกลับบ้านอยู่กับตัว ทำให้ไม่ต้องตามเศษขนมปังที่กระจัดกระจายไปจนไปเจอบ้านขนมหวานของแม่มด นิทานจึงจบลงแบบเย็นชืดเพราะไม่มีการเปิดช่องให้คนอ่านได้จินตนาการต่อยอดแบบถูกบ้างผิดบ้างเลย



การพยายามชี้นำให้คนอ่านคล้อยตามเป็นสิ่งที่ดี แต่การชี้นำที่มากเกินไปจะทำให้อรรถรสในการอ่านและความสนุกสนานลดลง เนื่องจากบางครั้งความสนุกของการอ่านบางทีก็มาจากการพยายามเดาเรื่องด้วยตนเองของผู้อ่าน ทั้งยังทำให้เกิดการใช้คำซ้ำในเรื่อง การบรรยายเพียงว่า "ทำเช่นนี้อยู่หลายครั้งจนคนมองเริ่มผิดสังเกต" (อ้างอิงจากบทที่2) เท่านี้ก็ทำให้ผู้อ่านสามารถคิดภาพตามได้แล้วว่าเอริกะกำลังทำอะไรแปลกๆ จนทำให้เป็นที่สงสัยของชายผู้ดูแลสวนโดยไม่ต้องเน้นย้ำความคิดของเอริกะว่าตัวเองทำอะไรแปลกๆ อยู่สินะ จะทำให้เนื้อเรื่องดูกระชับมากขึ้น และทำให้การใช้คำซ้ำจำพวก "ดูเหมือน/แสดงว่า/หรือว่า....สินะ/รึไง/รึเปล่า" ในเรื่องน้อยลงไปด้วย



ส่วนตัวตัวละครชูริว น้องชายของชูอิจิ แม้จะบอกว่าเขาเป็นเป็นตัวสร้างสีสันของเรื่อง แต่ด้วยนิสัยที่ราวกับถอดกันมาจากชูอิจิแทบทุกระเบียดนิ้วก็ทำให้บทบาทของเขาถูกพี่ชายกลบทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งยังทำให้บทบาทของชูอิจิในเรื่องอ่อนลงไปเมื่อสองพี่น้องปรากฎตัวอยู่ในตอนเดียวกัน หากอ่านแต่จากมุมมองและความคิด ไม่ได้อ่านชื่อหรือการบรรยายลักษณะอื่นๆ ก็สามารถคิดว่าสองคนนี้เป็นคนเดียวกันได้เลย



นอกจากนี้ การบรรยายเรื่องอย่างย่อๆว่า "กลิ่นอายญี่ปุ่น" แต่ใช้คำว่า "ทายาทมาเฟียตระกูลใหญ่" ก็ทำให้รู้สึกสะดุดนิดๆ เพราะถ้าพูดถึงมาเฟียแล้ว หากต้องการให้ได้กลิ่นอายญี่ปุ่นจริงๆ ควรใช้คำว่ายากูซ่าจะทำให้ได้กลิ่นอายญี่ปุ่นมากขึ้นมากกว่า และคำผิดที่เด่นที่สุดคือคำว่า "ผูกพันธ์" ในคำแนะนำเรื่องแบบย่อๆ ควรเป็น "ผูกสัมพันธ์" หรือ "ผูกพัน" มากกว่า เนื่องจากคำว่าผูกพันธ์ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม



โดยรวมแล้ว บันทึกของเอริกะเป็นนิยายที่น่าอ่านและอ่านแล้วสนุกเรื่องหนึ่ง ด้วยพล็อตเรื่องที่มีความลึกล้ำ การผนวกเอาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเล่าโบราณต่างๆของญี่ปุ่นมาไว้ในเรื่อง เนื้อเรื่องที่มีปริศนาให้ขบคิด ความสัมพันธ์ของตัวละครให้ชวนลุ้นตาม ตลอดจนตัวละครชายหนุ่มหน้าตาดีมากหน้าหลายตาอย่าง 3 พี่น้องตระกูลนิวาตะ เคโกะ และเหล่าพลพรรคตัวประกอบนักเรียนชายม.ปลายทั้งหลายในงานแข่งกีฬา หากการเน้นย้ำความคิดของตัวละครและการชักจูงความคิดของผู้อ่าน ตลอดจนคำซ้ำที่มาจากความคิดที่ถูกเน้นย้ำเหล่านั้นมีมากเกินไปทำให้อรรถรสในการอ่านลดลง และตัวละครบางตัวที่มีลักษณะนิสัยทับซ้อนกันจนชวนสับสนและกลบความโดดเด่นกันเอง


สุดท้าย ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ต่อไป อย่างไรเสียคำวิจารณ์นี้ก็เป็นเพียงมุมมองและความเห็นของผู้อ่านคนหนึ่งจากบรรดาผู้อ่านหลายคนของนิยายเรื่องนี้เท่านั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการคิดและตัดสินใจของตัวผู้เขียนเอง
reviewer author
@แฝดลั้นลา
7 ก.ย. 58 / 14:31 น.

0