apinitta
ดู Blog ทั้งหมด

การเขียนนิยายเบื้องต้น (ต่อ)

เขียนโดย apinitta

๗.ความขัดแย้ง เป้าหมาย และแรงจูงใจ

 

เพื่อความสนุก เข้มข้น จริงจัง และมีเหตุผล ในเรื่องทุกเรื่อง พล็อตทุกพล็อต ตัวละครทุกตัว ที่สร้างขึ้นไม่อาจจะปราศจากสามอย่างนี้ไม่ได้

 

ความขัดแย้ง ( conflict คือ ปัญหาหรืออุปสรรค ขัดขวางไม่ให้ ตัวละครเอกของเราเข้าไปถึงเป้าหมายได้ง่าย ๆ เป็นสิ่งที่ตัวละครต้องพบ และต้องขจัดให้หมดไปโดยอาศัยพลังทุ่มเททั้งกายและใจ ไม่ใช่สิ่งที่พูดคุยกันแล้วก็หายไป ความสนุกมันจะอยู่ในตอนนี้ละ ว่าเขาจะทำอย่างไร เพียงแค่ความขัดแย้งก็สามารถนำเป็นพล็อตได้ ที่เห็นบ่อย ๆ ก็อยู่ในเรื่อง

  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับคน
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับธรรมชาติ
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับสิ่งที่เขาประดิษฐ์สร้างขึ้น
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับตัวเขาเอง
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับความเชื่อ สังคม พระเจ้า

 

 

เป้าหมาย ( goal เป็นเสมือนอนาคตที่ตัวละครต้องไปให้ถึง เป็นตัวกำหนดทิศทางให้ตัวละครเดินไป ตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องจะต้องมีเป้าหมายของตัวเอง ไม่สำคัญว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่มันจะต้องเป็นสิ่งที่ตัวละครต้องการอย่างจริงจัง ในการสร้างตัวละครขึ้นมาโดยเฉพาะตัวละครสำคัญ คุณต้องกำหนดเป้าหมายของเขาให้ได้อย่างชัดเจน

 

แรงจูงใจ ( motivation เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมของตัวละคร เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละครมีเหตุผลที่จะทำบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา และเป็นสิ่งที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจตัวละครมากขึ้น การสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละคร คุณต้องใส่แรงจูงใจให้เขา อย่างเหมาะสม และน่าเชื่อถือ และแรงจูงใจของตัวละครอาจจะมีหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ในการผลักดันให้เขาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รุนแรงออกมา

 

ลักษณะของพล็อตจากสามสิ่งนี้

ตัวละครจะต้องมีเป้าหมายบางอย่าง ซึ่งมันมาจากแรงจูงใจอันเป็นบางสิ่งในอดีตของตัวละครที่เป็นแรงผลักดันให้เขาต้องการ เป้าหมายนั้นอย่างรุนแรง และความขัดแย้งหรือปัญหาก็อยู่ระหว่างกลางตัวละครกับเป้าหมายนี้ วิธีการที่ตอบโต้กับปัญหา และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่เกี่ยวพันสลับกันไป จนปรากฏผลสุดท้ายในที่สุด เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการสร้างพล็อตอย่างง่าย ๆ

 

   ( วิธีสร้างและเอาความขัดแย้งลงไปในเรื่องหาอ่านได้ในหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )

 

 

 

TOP

 

       ๘. การเขียน ๕ อย่างที่ต้องมีในทุกนวนิยายทุกเล่ม

 

นักเขียนใหม่ มักจะมีปัญหาเสมอกับการเขียนลงไปในหน้ากระดาษ จด ๆ จ้อง อยู่นั่นแหละว่า จะเขียนลงไปอย่างไร จะเขียนยังไงมันจึงจะออกมาดี แต่หากจะแยกแยะการเขียนในนวนิยายทุกเรื่องแล้ว เราจะพบการเขียนอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน ที่นักเขียนเขียนออกมาได้เป็นเล่ม คือ

๑. เขียนบทสนทนา เป็นการสนทนาของตัวละครโต้ตอบซึ่งกันและกันในฉากเหตุการณ์หนึ่ง ๆ

๒. เขียนบรรยายหรือพรรณนา ซึ่งอาจจะเป็นการบรรยายโดยตรง หรือบรรยายในระหว่างเกิดการกระทำขึ้นก็ได้

  - บรรยายถึงตัวละครสำคัญ

  - บรรยายถึงสถานที่สำคัญ

  - ยิ่งสองสิ่งนี้สำคัญมาก ก็ยิ่งต้องบรรยายมาก

๓. เขียนถึงความคิดของตัวละคร

  - ความคิดจากการใช้มุมมองของบุคคลที่ 3 เช่น เธอคิดว่าเธอไม่ควรจะบอกความจริงเรื่องครอบครัวให้เขาฟังเลย

  - ความคิดของบุคคลที่ 1 ในเรื่องที่ใช้มุมมองของบุคคลที่ 3 เช่น มาริสาล้มตัวลงนอนอย่างอ่อนเพลีย ฉันต้องเป็นหวัดแน่ ๆ เลย เธอคิด แล้วฉันจะไปสอบพรุ่งนี้ได้อย่างไร

  - การให้ข้อมูลโดยการบอกเล่าในห้วงคิดของตัวละคร เช่น มาลีทรุดตัวนั่งบนเตียงอย่างเหนื่อยอ่อน ฉันไปต่อไม่ไหวแล้ว เธอคิด ตั้งแต่วันชัยเสียชีวิตลงเมื่อสิบปีที่แล้ว เธอต้องทำงานพิเศษเพิ่มมากขึ้น ทั้งทำงานเสริฟในตอนกลางคืน แล้วยังรับผ้ามาเย็บอีกในตอนกลางวัน เพื่อที่จะหาเลี้ยงลูก ๆ ถึงเจ็ดคน เธอเหนื่อยล้าเต็มที แล้วตอนนี้มันก็ถึงเวลาแล้วที่เธอต้องตัดสินใจทำตามข้อเสนอของทรงยศที่ต้องการ ...( เล่าไปเรื่อย ๆ )

๔. เขียนบอกเล่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

ทรงยศ เดินออกมาถึงถนนใหญ่ มีรถวิ่งตรงเข้ามา เขาโบกมือ รถคันนั้นชะลอ

ความเร็วลงแล้วคนขับก็ยกปืนขึ้นเล็งยิงมาที่เขา

๕. เขียนบอกเล่าเพื่อให้ข้อมูล

ชาญชัยเคยแต่งงานมาแล้วสองครั้ง อดีตภรรยาทั้งสองของเขาเสียชีวิตที่หนองน้ำนี้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องที่ผู้คนในหมู่บ้านต่างซุบซิบนินทากันว่า เขาอาจจะเป็นคนฆ่าเสียเอง

การเขียนทั้งห้าอย่างนี้ นักเขียนจะเน้นอะไรมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับลีลาการเขียนของแต่ละคน ที่สำคัญคือต้องทำให้มันสมดุลกัน (เท่าที่สังเกตจากการอ่านของตัวเอง ถ้ามีเขียนบอกเล่ามากเกินไปในสิ่งที่ไม่จำเป็นก็มักจะเปิดผ่านๆไปแต่ไม่เคยละเว้นบทสนทนาเลย) แต่ก็นั่นแหละ มันต้องสมดุลและเหมาะสม เขียนแล้วลองอ่านให้ตัวเองฟัง สังเกตว่าคุณให้น้ำหนักไปไหนส่วนไหนมากเกินไปหรือเปล่า

แบบฝึก ไปอ่านนวนิยายหลาย ๆ เรื่อง แล้วขีดเส้นใต้ดูว่า ในแต่ละย่อหน้าที่อ่านเป็นการเขียนแบบไหน เลือกเอาตอนที่คุณชอบไปเขียนในแบบที่ต่างออกไป ใน ๕ แบบข้างต้นแล้วอ่านดู 

   (เนื้อหาส่วนนี้ ยกมาจากตอนหนึ่งของคำแนะนำในหัวข้อเขียนลงอย่างไรให้เป็นนวนิยายหนึ่งเรื่อง จากหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )

 

 

 

TOP

 

 

๙. Show don't Tell

 

เป็นวิธีการเขียนลงไปในหน้ากระดาษ ที่นักเขียนใหม่ถูกแนะนำเสมอว่า ให้แสดงให้เห็น อย่าเพียงแต่บอก (show don't tell) มันแตกต่างกันอย่างไรมาดู

วนิดา เดินเร็วขึ้นเพื่อให้พ้นจากซอยที่ทั้งมืดและเงียบด้วยความกลัว

ประโยคนี้บอกเราว่า วนิดากลัว นี่คือการ บอกหรือ tell

วนิดา กอดกระเป๋าแน่น หัวใจเธอเต้นเร็ว มองซ้ายขวาแล้วซอยเท้าถี่ยิบเพื่อให้พ้นจากซอยที่ทั้งมืดและเงียบโดยเร็ว

ประโยค นี้ จะแสดงให้เราเห็นว่า วนิดากลัว โดยไม่ต้องบอกชื่อความรู้สึก (กลัว)ให้รู้ แต่คนอ่านคาดคะเนได้ว่าเธอกลัวจากการที่ เธอกอดกระเป๋าแน่น หัวใจเต้นเร็ว มองซ้ายขวา ซอยเท้าถี่ยิบ นี่ลักษณะของการแสดงให้เห็นหรือ show

แม้ว่าจะมีคำแนะนำอย่างนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า การเขียนแบบแสดงให้เห็น( show )จะดีกว่าการเขียนบอก (tell) เสมอ เพราะมันอยู่ที่วิธีเลือกใช้อย่างเหมาะสมต่างหาก ( มีคำแนะนำเพิ่มเติมในหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียนนวนิยายคุณเขียนได้ตัวเอง )

แบบฝึกหัด เขียนแสดงให้เห็นในเรื่องอารมณ์ต่อไปนี้

เด็กชายที่ถูกจับขังในห้องใต้ดินที่ทั้งมืดและเย็น เขียนแสดงให้เห็นว่า เขากลัว เขาตื่นเต้น เขาสนุก เขาโกรธ

สุภาพสตรีที่อยู่ในงานเลี้ยงหรูหรา เขียนแสดงให้เห็นว่า เธออาย เธอประหม่า เธอตื่นเต้น เธอสนุก เธอเบื่อ

 

 

 

TOP

๑๐. เปิดเรื่องอย่างไรให้น่าสน

 

การเขียนเปิดเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเสมือนการเชิญชวนให้คนอ่านสนใจ เพราะร้อยทั้งร้อย เวลาคนอ่านเลือกซื้อนวนิยายสักเล่ม จะต้องเปิดอ่านบทแรกของเรื่อง หากนักเขียนสามารถสร้างความสนใจ หรือ สร้างความสงสัยใคร่รู้ให้กับคนอ่าน จนอยากจะรู้เรื่องต่อไปได้ ก็เท่ากับว่าได้รับความสำเร็จไปก้าวหนึ่งแล้ว มีบางคนถึงกับลงมือเขียนไม่ได้เพราะ ไม่รู้จะเขียนอะไรลงไปในตอนแรก ๆ บางคนก็มีอาการผวา หน้ากระดาษเปล่า ๆ จนไม่ได้เริ่มเขียนสักที แต่จะมัวคิดมาก และเห็นว่ามันสำคัญมากจนเป็นสาเหตุให้คุณไม่สามารถลงมือเขียนได้เสียที ก็ขอบอกว่า ลงมือเขียนลงไปก่อนเถอะ อย่าไปคิดมาก เขียนลงไปให้มันจบให้ได้ เพราะคุณมีเวลาเหลือเฟือ ที่จะกลับมาแก้ไข เปลี่ยนแปลง มันทีหลัง ดีกว่าจะกลัวจนไม่ได้เขียน หากยังติดขัดอยู่ก็ลองอ่านวิธีเขียนเปิดเรื่องของคนอื่นแต่ง แล้วลองปรับใช้ให้เป็นของคุณเองก็แล้วกัน ไม่มีสูตรสำเร็จในการเปิดเรื่องให้น่าสน จะมีก็แต่คำแนะนำง่าย ๆ ( แต่ทำได้ยาก ) ว่า

จงเปิดเรื่องที่จับคนอ่านให้ติดอยู่กับมันให้ได้ สร้างความสนใจ ความสงสัย การคาดคะเน หรือก่อให้เกิดคำถาม จนอยากจะเปิดอ่านหน้าต่อไป

นักเขียนต่างมีวิธีเปิดเรื่องแตกต่างกันไปดังนี้

•  เปิดเรื่องด้วยคำพูดของตัวละคร

•  เปิดเรื่องด้วยการพรรณนาฉากสถานที่และสิ่งแวดล้อม

•  เปิดเรื่องด้วยการบรรยายเหตุการณ์

•  เปิดเรื่องโดยจดหมาย ข้อความ หรือวลี ที่สร้างความสนใจ

•  เปิดเรื่องโดยพรรณนาถึงตัวละคร

•  เปิดเรื่องโดยบอกถึงประวัติของตัวละครหรือสถานที่

•  ฯลฯ

 

การเขียนเปิดเรื่องไม่ว่าจะเริ่มแบบไหน สิ่งสำคัญคือ อย่าเยิ่นเย่อ บรรยายยืดยาว หรือบอกเล่าถึงความหลังจนน่าเบื่อ ควรจะนำเข้าไปสู่เรื่องราวหรือเข้าถึงตัวละครให้เร็วที่สุด

 

แบบฝึกหัด

ให้อ่านนวนิยายหลาย ๆ เรื่อง แล้วบันทึกการเขียนเปิดเรื่องของแต่ละเล่มไว้ แยกแยะดูว่า แบบไหนที่คุณชอบ ไม่ชอบ แล้วลองเขียนไปตามความคิดของคุณเอง

 

อ่านตัวอย่างการเขียนเปิดเรื่องที่นี่

 

 

 

TOP

 

๑๑. การตรวจแก้ไขต้นฉบับ

 

เมื่อเราเขียนนวนิยายจบแล้ว ใช่ว่าการเขียนหนังสือของเราจะจบลงเพียงแค่นั้น นักเขียนที่ดีมักจะทำการอ่านทบทวนตรวจแก้ผลงานตัวเองจนพอใจแล้วจึงจะนำออกไปสู่สาธารณะ และก็มีบางคนเหมือนกันที่คิดว่า ขั้นตอนนี้มันยากและน่าเบื่อเสียกว่าการเขียนในตอนแรกเป็นไหน ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร นักเขียนใหม่อย่างเราต้องใส่ใจเอาไว้เลยว่า ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ และควรทำทุกครั้งที่คุณเขียนต้นฉบับแรกเสร็จ มาเริ่มกัน

๑. วางแผน

ก่อนจะทำการตรวจแก้ควรจะวางแผนไว้เสียก่อนว่าจะตรวจทานเรื่องอะไรในการอ่านแต่ละครั้ง เช่น

  การตรวจแก้ไขครั้งที่หนึ่ง ดูโครงสร้างความไหลรื่นของเรื่องตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบ ตัวละครมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โครงเรื่องย่อยสัมพันธ์กับโครงเรื่องใหญ่ไหม แต่ละบทมีเบ็ดเกี่ยวให้คนอ่านติดตามหรือเปล่า ฯลฯ

  การตรวจแก้ไขครั้งที่สอง เพื่อเพิ่มเติมในสิ่งที่ขาดหาย หรือตัดทิ้งในสิ่งที่ไม่จำเป็น

  การตรวจแก้ไขครั้งที่สาม ดูรายละเอียดไปทีละอย่าง ทีละบท ภาษาที่เลือกใช้เหมาะสมแล้วหรือยัง แสดงออกถึงความหมายที่ต้องการจะสื่อไหม ใช้คำซ้ำซากหรือเปล่า

  การตรวจแก้อีกครั้งหลังจากที่แก้ไขไปแล้ว

๒. จัดเตรียม

  - ต้นฉบับ พิมพ์งานเขียนออกมา หากคุณทำมันในคอมพิวเตอร์ การอ่านในกระดาษกับการอ่านจากจอมอนิเตอร์มันแตกต่างกัน แม้จะต้องใช้ต้นทุนมากขึ้น คุณก็ต้องยอม และถ้าหากคุณเขียนมันด้วยลายมือของคุณเอง ก็จงใช้เครื่องพิมพ์ดีด พิมพ์มันออกมา ด้วยวิธีการนี้จะทำให้คุณเห็นงานของคุณในมุมมองใหม่ ความผิดพลาดจะชัดเจนยิ่งขึ้น ความใกล้ชิดกับผลงานของคุณก็มีมากขึ้น เมื่อคุณสามารถที่ลบ ขีดฆ่า โยงเส้นสายได้ตามใจชอบของคุณและ เพื่อสายตาของคุณเอง อย่าพยายามตรวจแก้ในจอมอนิเตอร์เด็ดขาด

( ในการพิมพ์ ควรจะมีระยะห่างระหว่างบรรทัดมากกว่าปกติ และส่วนกั้นหน้าและหลังให้เหลือพื้นที่กระดาษมากพอที่คุณจะเขียนลงไปได้ )

  - ปากกา ควรจะมีปากกาต่างสีที่เขียนได้ลื่นคล่องมือ สักสองสามสี

  - สมุดเล่มเล็ก เพื่อจดเอาไว้ว่า จะต้องเพิ่มเติมอะไร หรือแก้ไขในตอนไหนบ้าง

๓. จัดตารางเวลา

ในการตรวจแก้ ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ กำหนดเวลาแล้วเสร็จด้วย

๔.ขณะที่ทำการตรวจแก้

ให้แกล้งทำเป็นว่าคุณไม่เคยพบเห็นเรื่องนี้มาก่อนเลย ( จึงมีข้อแนะนำว่า หลังจากที่คุณเขียนหนังสือจบแล้ว ควรทิ้งมันไว้สัก 2-3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น แล้วจึงเอามาทำการตรวจแก้ ) อย่าอ่านด้วยความคิดว่าคุณคือคนเขียนเรื่อง แต่อ่านให้เหมือนกับคุณเป็นคนอ่านอื่น ๆ หรือเป็นนักวิจารณ์   

๕. อ่านดัง ๆ

เพื่อให้ตัวคุณเองได้ยินเสียงด้วย เริ่มอ่านตั้งแต่เริ่มต้น จนจบ พร้อมกับตั้งคำถามไปด้วย เช่น

  - ตัวละครที่ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ได้หายไปโดยไม่ได้อธิบายหรือเปล่า ( ตาย หรือเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ )เพราะตัวละครไม่ควรจะหายไปจากเรื่องเสียเฉย ๆ

  - ตัวละครยังคงเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไปจากตอนต้นของเรื่องไหม ถ้าเปลี่ยน ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือเปล่า

  - ฉากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มี ได้ช่วยให้เกิดไอเดีย หรือสร้างบทบาทใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อจะเชื่อมไปยังตอนจบไหม

  - คุณพบวัตถุประสงค์ในเรื่องที่คุณต้องการเสนอแล้วหรือยัง ( หาแก่นเรื่องของตัวเองเจอไหม )

  - ฉากเหตุการณ์ ในแต่ละบทเหมาะสม และเขียนออกมาได้ดีหรือยัง

  - ตัวสะกด ภาษาที่ใช้ เหมาะสมถูกต้องเพียงใด

  - ฯลฯ

๖. ระหว่างที่อ่าน

คุณสามารถแก้ไขความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อยไปได้ด้วย เช่น ตัวสะกด การใช้ภาษา

๗. ทำเครื่องหมายดอกจันทร์

ไว้ที่ตอนที่คุณเห็นว่าควรจะปรับเปลี่ยน และเขียนความคิดที่จะเปลี่ยนเอาไว้ใจสมุดโน้ตด้วย

๘. เมื่ออ่านจบทั้งเรื่อง

ก็ให้เริ่มอ่านใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มเติม หรือตัดทิ้งสิ่งที่ต้องการแก้ไขได้ ขั้นตอนนี้อย่าได้ทำจนกว่าคุณจะอ่านตลอดทั้งเรื่องจบก่อน บางครั้งเรื่องราวก็ผูกโยงสัมพันธ์กัน ทำให้ต้องแก้เป็นทอด ๆ จงมั่นใจว่าคุณต้องการที่จะเพิ่ม หรือตัดตอนใดตอนหนึ่งทิ้งไปจริง แล้วไม่ลืมที่จะไปแก้ผลที่ตามมาตอนหลังด้วย ขอแนะนำว่า ควรจะอ่านซ้ำที่คุณต้องการเพิ่ม หรือตัดทิ้งให้ดีเสียก่อน แล้วจึงแก้ไปทีละบท ๆ

๙. อ่านอีกครั้ง

หลังจากที่คุณรวมทุกอย่างที่คุณแก้ไขเข้าด้วยกันแล้ว

๑๐. สิ่งที่คุณตัดทิ้ง หรือไม่ใช้แล้ว

ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ควรจะทิ้งไปทันที ให้เก็บเข้าแฟ้ม “ ตัดทิ้ง ” เอาไว้เผื่อใช้เป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นได้

๑๑. ในการตรวจแก้ อย่าไปเสียดาย

หรือกลัวจะเสียเวลาที่จะตัดบางตอน หรือบางบททิ้งไปทั้งหมด นักเขียนบางคนเขียนลงไปเพราะรู้ในสิ่งที่เขียน หรืออาจจะรัก หรือสนุกกับตอนนั้น แต่เพราะการเขียน นวนิยายไม่ใช่การเขียนทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในหนังสือ แต่เป็นการเขียนสิ่งที่สำคัญที่สุดลงไปในหนังสือ หากบทไหน ตอนไหน ไม่ได้สอดคล้อง หรือทำให้เรื่องมันสอดคล้องเดินหน้าไปตามที่วางจุดประสงค์ไว้ ก็ควรทิ้งมันไป เอาไปใส่ในหนังสือเล่มต่อไปของคุณก็ได้

๑๒. ยิ่งคุณตรวจแก้มากเท่าไหร่

งานของคุณก็จะออกมาดีมากเท่านั้น ( ไม่ใช่ยิ่งแก้ยิ่งเละนะ )สิ่งหนึ่งที่ต้องขอเน้น และทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือ วิธีการตรวจแก้ หรือเรื่องที่จะแก้ไขนั้น นักเขียนแต่ละคนมีวิธีของตัวเองอาจจะไม่เหมือนใคร ไม่มีคำว่าถูกหรือผิดในการใช้แต่ละวิธี ตราบใดที่มันยังทำงานให้คุณได้ผล

(เป็นส่วนหนึ่งที่ยกมาจากหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยเอง )

 

 

TOP


โดย ฟีลิปดา 
๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘


http://www.forwriter.com/mysite/forwriter.com/newwriterroom/newwritebasic.htm

ความคิดเห็น

apinitta
apinitta 26 เม.ย. 56 / 10:40
http://www.forwriter.com/mysite/forwriter.com/newwriterroom/newwritebasic.htm   เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้นะคะ ตามลิงค์ พี่เจอเข้าโดยบังเอิญแล้วเห็นว่ามีประโยชน์จึงดึงมาไว้ให้น้อง ๆ อ่านกัน