รายการตอบโจทย์ ตอน "จำนำข้าว...หายนะเศรษฐกิจข้าวไทย" กับแขกรับเชิญ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกอากาศ 15 ตุลาคม 2555
ผู้ดำเนินรายการ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
ผู้ดำเนินรายการ : สวัสดีครับท่านผู้ชมครับ รายการตอบโจทย์ทำเรื่องข้าวต่อเนื่องมาหลายวันเชิญขาใหญ่ในวงการมาทั้งสิ้นตั้งแต่อาจารย์อัมมาร์ สยามวาลา ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รู้เรื่องข้าวดีที่สุดคนหนึ่ง ทำมาตั้งแต่ตอนหนุ่มจนถึงปัจจุบันเป็นนักวิชาการอาวุโส ต่อเนื่องด้วยอาจารย์โอฬาร ชัยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าทำวิจัยเรื่องข้าวมากับอาจารย์อัมมาร์นั่นแหละครับ มาวันนี้จะเชิญขาใหญ่ในทางเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องข้าวมาตลอดชีวิตอีกคน จะมาสนทนากับเราเรื่องปัญหาข้าว เรื่องการจำนำข้าวของรัฐบาลครับ เป็นทั้งอดีตประธาน TDRI เป็นอดีตคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร ครับ อาจารย์สวัสดีครับ
อาจารย์นิพนธ์ : สวัสดีครับ
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับรัฐบาลบอกว่านโยบายรับจำนำข้าวชาวนาได้ประโยชน์ทั้งประเทศ แล้วก็ได้ประโยชน์จริงๆ นักวิชาการอย่างอาจารย์มาขวางทำไมครับ
อาจารย์นิพนธ์ : ได้ประโยชน์จริงๆ ครับ ไม่ได้ปฏิเสธครับ แต่ประโยชน์ที่ได้เนี่ย ได้กับเกษตรกรที่มีฐานะร่ำรวยและก็มีฐานะปานกลาง ส่วนเกษตรกรที่ยากจนไม่ได้ประโยชน์ ต้องพูดอย่างนี้ว่า ชาวนาทุกคนไม่ใช่ว่ายากจน มีชาวนาที่ร่ำรวย ร่ำรวยนี่หมายความว่าเราจัดลำดับรายได้ของชาวนา มีชาวนาที่อยู่ในกลุ่มที่รายได้ร่ำรวยที่สุด 4 กลุ่มมีอยู่ประมาณ 1,000,000 ครัวเรือน ซึ่งเป็นคนที่เข้าโครงการรับจำนำข้าว ทีนี้ถ้าไปดูตัวเลขผลของการจำนำข้าว เอาตัวเลขนาปรังจะเห็นชัดที่สุด คนที่เป็นชาวนาเล็กๆ เอาคนที่ได้ประโยชน์ก่อน ชาวนาเล็กๆจำนำได้ไม่เกิน 100,000 บาท ก็ประมาณ 7-8 ตัน มีที่ดินน้อย คนพวกนี้มีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของชาวนาที่เข้าโครงการ แต่จำนวนเงินที่ได้เพียง 8% ทีนี้พอมาดูชาวนาที่ร่ำรวยจำนำข้าวได้เงินเกิน 600,000 มีอยู่ 5% แต่ได้เงินไป 19 % ส่วนพวกชาวนาที่อยู่ระดับปานกลางคือ จำนำข้าววงเงิน 100,000 - 600,000 บาท มี 62% ได้เงินไปประมาณ 73% เห็นได้ชัดว่ากลุ่มที่ปานกลางกับกลุ่มที่ร่ำรวยได้ประโยชน์ นี่เป็นข้อมูลจากชาวนาที่เข้าโครงการหนึ่งล้านครัวเรือน แต่อย่าลืมว่ามีชาวนาทั้งหมดสี่ล้านครัวเรือน อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เข้าโครงการขายข้าวในตลาดมีข้าวเหลือขายก็จะได้ประโยชน์จากราคาสูงขึ้น อันนี้จริง แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ผลิตข้าวไม่พอกินต้องซื้อข้าวหรือผลิตข้าวพอดีไม่ได้ขายข้าว พวกนี้ก็จะมีประมาณอีกหนึ่งล้านครัวเรือนที่ไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าชาวนาทั้งหมดไดประโยชน์นั้นไม่จริง
ผู้ดำเนินรายการ : ตกลงแล้วอาจารย์จะบอกว่า ที่รัฐบาลเอาเงินไปช่วยนั้นเป็นชาวนาปานกลางกับร่ำรวย ในขณะที่ชาวนาที่ยากจนที่ควรจะช่วยก็ไม่ได้ช่วย
อาจารย์นิพนธ์ : ใช่ครับมีอยู่หนึ่งล้านครัวเรือนที่ไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นโครงการนี้ก็เข้าใจได้ ชาวนาที่มีฐานะปานกลางเป็นคนส่วนใหญ่ ฐานเสียงอยู่ตรงนี้
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าฟังอย่างนี้แล้วต่อไปนักวิชาการจะเอาอะไรไปค้านในเมื่อฐานเสียงนี้เป็นชาวนาทั้งประเทศ อาจารย์จะไปสู้กับชาวนาทั้งประเทศไหวเหรอครับ
อาจารย์นิพนธ์ : เราไม่ได้ไปสู้กับชาวนา เพราะเราอยากให้ชาวนามีฐานะดีขึ้น นโยบายที่เราอยากจะเห็นคือนโยบายที่จะช่วยชาวนาโดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนเป็นหลัก หรือชาวนาที่มีฐานะปานกลางระดับล่าง ไม่ใช่ไปช่วยชาวนาที่มีฐานะร่ำรวย ผมคิดว่านโยบายควรจะเป็นแบบนี้
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับนอกจากชาวนาแล้วยังมีโรงสี มีโกดัง มีเซอร์เวเยอร์ที่เข้ามาในกระบวนการค้าข้าวอีก อาจารย์ยังต้องรบกับพวกนี้อีก
อาจารย์นิพนธ์ : อันนี้เป็นศึกหนักที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะว่าอะไรครับอาจารย์
อาจารย์นิพนธ์ : เพราะว่า โรงสีนี่ทำธุรกิจลำบากนะครับ เวลาทำธุรกิจนี่ต้องแข่งขันกันสูง มีโรงสีหลายพันโรงในประเทศไทย ไอ้การสีข้าวขายเนี่ยมันได้กำไรนิดเดียว ส่วนใหญ่โรงสีที่อยู่กันได้เนี่ยได้จากการเก็งกำไรราคา ต้องมีความสามารถในการติดตามภาวะราคาเก็งกำไร ดังนั้นพอมีโครงการนี้เข้ามา โรงสีที่เข้าโครงการนี้ได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากตัวเลขข้าว 1 ตัน ที่รัฐบาลให้ 500 บาทต่อตัน แล้วรัฐบาลให้เป็นผลผลิต แล้วคิดอัตราการสีดีหน่อย ถ้าไม่โกงไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เขาจะได้กำไรจากการทำธุรกิจปกติ 200-300 บาทแล้ว เพราะฉะนั้นเขาชอบมากโครงการนี้ เพราะว่าไม่ต้องไปกู้เงิน ไม่ต้องไปซื้อข้าวมาตุนเอาไว้เพราะเป็นข้าวรัฐบาล เสร็จแล้วเวลารัฐบาลขายข้าว คนพวกนี้ซื้อข้าวรัฐบาลได้อีกเพราะคนอื่นไม่กล้าประมูลเพราะข้าวมันอยู่ในคลังของเขา ไอ้คลังกลางของรัฐบาลเนี่ย รัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของคลังเอง รัฐบาลไปเช่าคลังของโรงสีของใครต่อใคร เพราะฉะนั้นเขาจึงซื้อข้าวได้จากรัฐบาล คนอื่นไม่กล้าประมูลกัน เพราะคนอื่นไม่รู้ว่าข้าวในโกดังมันมีคุณภาพอย่างไร ไม่นับที่มีการสูญเสียที่มีข่าวว่าไปเอาข้าวมาจากต่างประเทศ ทั้งลาวทั้งเขมร แล้วถ้าสมมุติว่าส่งข้าวเข้าไปในโกดัง แล้วร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ กับเซอร์เวเยอร์ จ่ายเงินใต้โต๊ะให้เซอร์เวเยอร์กับเจ้าหน้าที่ ส่งข้าวขาดน้ำหนัก ก็ได้กำไรอีก ทั้งหมดนี่มันหอมหวลมาก ทำธุรกิจอะไรก็ไม่ดีเท่ากับธุรกิจที่มีเส้นมีสายกับรัฐบาล แล้วก็ได้กำไรเยอะแยะเป็นกอบเป็นกำ แต่กำไรนี่มาจากความสามารถมั้ย ไม่ใช่เลย เป็นกำไรที่เอาเงินมาจากภาษีประชาชนทั้งนั้นครับ
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วถ้าทีนี้รัฐบาลบอกจะส่งรองนายกรัฐมนตรี อดีตนายตำรวจเก่า มือปราบเก่าเข้าไปปราบคอร์รัปชั่น จับไหวไหมครับอาจารย์
อาจารย์นิพนธ์ : คือไม่ไหวหรอกครับ จับยังไงก็ไม่ไหว ให้ขนข้าราชการมาทั้งประเทศก็จับไม่ไหว
ผู้ดำเนินรายการ : ทำไมมันจับไม่ได้ครับอาจารย์
อาจารย์นิพนธ์ : จับไม่ได้ครับเพราะธุรกิจอันนี้เนี่ยเราเรียกว่าเหมือนกับการสร้างบ้านหรือคอนโดที่เขา Build in เฟอร์นิเจอร์ไว้เรียบร้อยแล้ว มันออกแบบระบบการจำนำที่มันเอื้อต่อการทุจริตแบบ Build in
ผู้ดำเนินรายการ : มันเป็นยังไงครับ Build in คอร์รัปชั่นเนี่ยครับอาจารย์
อาจารย์นิพนธ์ : ราคาข้าวสูงมากทำให้มีพ่อค้าไปซื้อข้าวจากต่างประเทศ ที่นี้ซื้อเข้ามาแล้วมันไม่ถูกจับ เราเห็นโรงสีนี้ทำ โรงสีอื่นเห็นก็ทำตาม เกษตรกรบางคนที่รับจ้างปลูกข้าวญี่ปุ่น ไปจดทะเบียน แอบจดทะเบียน แล้วก็เอาใบทะเบียนไปขายให้โรงสี ได้สองต่อคือ ขายข้าวก็ขายข้าวญี่ปุ่นนอกโครงการแล้วยังเอาทะเบียนมาขายให้โรงสีได้อีก พอเกษตรกรเพื่อนบ้านเห็นไอ้คนนี้ทำแล้วไม่ถูกจับ เพราะเป็นอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์ ไม่มีใครฟ้องก็เริ่มทำบ้าง เพราะฉะนั้นระบบนี่มันเอื้อต่อการทุจริต เรียกว่าทุจริตแบบฝังใน แบบ Build in เรียบร้อย
ผู้ดำเนินรายการ : ทีนี้ถ้าระบบมันเป็นแบบนี้ รัฐบาลก็ต้องรู้อยู่ รัฐบาลรู้โครงสร้างอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไปจับทีละจุด ทีละจุด เพื่อไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นได้ไหมครับ
อาจารย์นิพนธ์ : ยากครับ เพราะว่าอย่าลืมว่ามันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เกษตรกรหนึ่งล้านคน โรงสีอีกเป็นพันโรง อยู่กระจายทั่วประเทศไทย จะไปจับตอนไหนครับ ขนข้าวเข้าไปแล้วอยู่ในโกดัง น้ำหนักต่ำกว่าที่กำหนด คุณจะไปเอาข้าวในโกดังเป็นหมื่นๆ ตัน ออกมาชั่งใหม่ได้ไหม แล้วกี่โรงสีครับ กี่โกดังครับ ระบบทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะทุจริต ไม่ทุจริตก็ได้กำไรแล้ว ยิ่งทุจริตยิ่งได้กำไรมาก ตรงนี้เนี่ยคุณเล่นกับแรงจูงใจของคน มันต้องปรับระบบใหม่ ระบบใหม่ที่ดีคือรัฐบาลต้องไม่เข้ามาค้าขาย ทันทีที่รัฐบาลเข้ามาค้าขาย มันเลยเป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้มีการทุจริต
ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลบอกไม่ทันแล้วครับ นี่เป็นการค้าขายแล้วก็สู้กับตลาดโลก นี่จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศผู้ผลิตข้าวอย่างไทยถูกเขากดราคา วันนี้จะสร้างระบบใหม่ไปสู้กับตลาดโลกยังไงครับอาจารย์
อาจารย์นิพนธ์ : ที่รัฐบาลคุยเอาไว้ตอนต้น ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ว่าจะขายในราคาที่เรียกว่า cost plus คือเอาราคา 15,000 บวกต้นทุนอื่นๆ ซึ่งมันก็จะตกประมาณ 800 กว่าเหรียญ เวลานี้รัฐบาลไม่กล้าพูดแล้วเพราะว่ารัฐบาลก็รู้แล้วว่าไม่มีใครซื้อข้าวในราคาขนาดนั้น เพราะข้าวในคุณภาพเดียวกันซื้อจากประเทศอื่นได้ในราคา 400-500 เหรียญ ประเทศไทยเวลานี้ตั้งราคา 600 เหรียญ ยังไม่มีใครอยากจะซื้อเลย เพราะฉะนั้นเวลานี้รัฐบาลรู้แล้วว่าทำไม่ได้ ตลอดปีที่ผ่านมารัฐบาลขายได้แค่หนึ่งล้านกว่าตัน บวกกับที่ขายได้ภายในสิ้นปีนี้ที่ท่านรัฐมนตรีพูดว่าอีกประมาณหนึ่งล้านตัน ก็รวมเป็นสองล้านตันเท่านั้นเอง ในขณะที่ปีๆหนึ่ง อย่างปี 2554 ตลอดปีเราขายได้เกือบๆ 11 ล้านตัน เราขาย 160 ประเทศ เราอาศัยผู้ส่งออก กลไกของการส่งออก ร้อยกว่าคน
ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลบอกขายไม่ได้ไม่เป็นไร อาจารย์ใจเย็นๆ เดี๋ยวเอาไปเก็บไว้ตามค่ายทหารตามดอนเมือง เดี๋ยวรอราคาขึ้นแล้วค่อยขาย เก็บไว้ก่อนได้มั้ยครับอาจารย์
อาจารย์นิพนธ์ : เก็บไว้ให้เสียเหรอครับ เก็บมีต้นทุนนะครับ หนึ่งคือค่าดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้เงินกู้ก่อน ปีนึงที่คำนวณคร่าวๆก็ 5,000 กว่าล้าน สองมีค่าข้าวเสื่อม ข้าวเน่า มีการวิจัยบอกว่าข้าวเก็บไว้มันมีการเสื่อมคุณภาพ สองอย่างนี้ปีนึงเนี่ยคาใช้จ่ายที่สูญเสียไปปีนึงก็หมื่นล้านแล้ว แล้วถามว่าถ้ารอให้ราคาเพิ่มขึ้น มันคุ้มกับความเสียหายที่เกิดมั้ย แล้วรัฐบาลไม่ได้เป็นพ่อค้า ไม่ได้ตามภาวะราคา คุณรู้ได้ไงว่าวันไหนราคาขึ้น วันไหนราคาลง มันเป็นเรื่องการเก็งกำไรทั้งสิ้น รัฐบาลไม่ควรเข้ามาทำธุรกิจเก็งกำไร แล้วถ้าธุรกิจแบบนี้มันเอาเงินภาษีของเราไปเก็งกำไร เหมือนเล่นการพนัน เอาเงินภาษีไปเล่นการพนัน ถ้าชนะก็โชคดีไป แพ้ก็คือเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐบาล นี่คือปัญหา ถ้านักธุรกิจเขาเก็งกำไรแล้วขาดทุนมันก็เงินของเขา ทำไมเราต้องสนับสนุนรัฐบาลให้มาเก็งกำไร นี่คือคำถามของผม
ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลก็บอกว่าเก็งกำไรเพื่อมีโอกาสชนะ ไม่งั้นก็ต้องอยู่แบบนี้ทั้งปีทั้งชาติ ชาวนาไม่มีโอกาศลืมตาอ้าปาก
อาจารย์นิพนธ์ : เรื่องช่วยเหลือมันต้องช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ถามว่ารัฐบาลมีปัญญาจะขายมั้ย และก็มีการพยายามจะผูกขาด มีการกล่าวหาว่าพ่อค้าต้องการผูกขาด ต้องเข้าใจว่าไม่ได้มีประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการขายข้าวเพียงประเทศเดียว มีประเทศผู้ขายคนอื่นๆที่แข่งกับเรา แล้วก็มีประเทศผู้ซื้อ แล้วถามว่าใครกดราคา ถ้าปีไหนมีข้าวเยอะราคาจะต่ำ พอผู้ซื้อเขารู้ว่าเขาจะซื้อที่ไหนก็ได้ เขาก็จะซื้อในราคาต่ำ ไม่มีใครอยากซื้อของแพง คนขายก็อยากขายของแพง อย่างปีไหนที่ไม่มีของ เช่นปี 2551 ของมันน้อย โหราคาพุ่งทะลุฟ้าเลย ปีนั้นเนี่ยผู้ส่งออกโก่งราคา เพราะฉะนั้นที่บอกว่าผู้ส่งออกกดราคานั้น ไม่มีพ่อค้าคนไหนอยากขายของถูกหรอก ไม่มีประเทศไหนในโลกที่รัฐบาลค้าขายเก่งกว่าพ่อค้า ระบบสังคมนิยมที่พยายามมาทำธุรกิจการเกษตรเนี่ยมันพังพินาศไปหมด
ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลก็บอกว่าเอาแบบOPECไงครับอาจารย์ รวมประเทศผู้ผลิตข้าวเอาเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดี๋ยวจะเป็น AEC ด้วย จับมือกันไปปั่นราคาข้าวในตลาดกัน
อาจารย์นิพนธ์ : เรียกว่า OREC ก็แล้วกันเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ข้าวไม่เหมือนกับน้ำมัน น้ำมันเก็บไว้ในดินไม่เสียอะไร ดอกเบี้ยมันเพิ่มขึ้นด้วยเพราะน้ำมันมันขาดแคลน ราคาก็มีแต่วันที่จะขึ้น ส่วนข้าวเอาเก็บไว้ในโกดัง ปีๆนึงต้นทุนมันขึ้นไป 10% แล้วราคาจะขึ้นไป 10% ด้วยหรือเปล่า เพราะข้าวเน่ามีดอกเบี้ยอันนี้ประการที่หนึ่ง ประการที่สองสมมุติทำสำเร็จรวมตัวกันได้ ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้ พ่อค้าบางคนเริ่มเบี้ยว แอบไปขายในราคาต่ำ และบางทีเกษตรกรประเทศผู้ซื้อปลูกข้าวมากขึ้นเพราะข้าวมันแพง มันคุ้มที่จะอัดปุ๋ย อัดยา พอที่อื่นปลูกข้าวมากขึ้นปีต่อไปราคาตก มันไม่เหมือนน้ำมัน น้ำมันปลูกไม่ได้ เพราะสถานการณ์อย่างนี้อย่าไปฝันเลยว่าเราจะตั้งองค์กรเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่แล้วประสบความสำเร็จ คุมพ่อค้าก็ไม่ได้ คุมเกษตรกรก็ไม่ได้ เกษตรกรทั่วโลกมีเป็นร้อยล้านคน ไหนจะพ่อค้าทั่วโลกมีกี่คน แล้วจริงๆก็เคยทำมาแล้วในทศวรรษ 1970 เนี่ย ประเทศกำลังพัฒนามีแร่มีอะไรต่างๆอยากจะคุมแล้วไม่สำเร็จ ยกเว้นอย่างเดียวคือน้ำมัน
ผู้ดำเนินรายการ : ตกลงเกมนี้เนี่ยรัฐบาลมีโอกาสชนะมั้ยครับ
อาจารย์นิพนธ์ : แพ้ครับ แต่ในทางการเมืองรัฐบาลชนะครับ ในทางเศรษฐกิจไม่มีทางชนะแล้วก็จะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทย
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าในทางการเมืองรัฐบาลชนะแล้วชนะเห็นชัดมาก แต่ในทางเสรษฐกิจมันไปไม่ได้ ทีนี้มันจะอยู่กันยังไงครับอาจารย์ แล้วประเทศจะเป็นยังไง
อาจารย์นิพนธ์ : รัฐบาลก็จะเดินนโยบายนี้ไป รัฐบาลก็จะได้รับการเลือกตั้ง เพราะมีคนที่สนับสนุนนโยบายนี้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ก็ตาม รัฐบาลก็จะหามาตรการอื่นๆไปรองรับเพื่อดึงคะแนนเสียง ในทางการเมืองนั้นชนะแน่ แต่ในทางเศรษฐกิจนั้นอย่าลืมว่าเวลาที่อุตสาหกรรมข้าวไทยก็จะพังแล้ว เราไม่มีทางนำเอาอุตสาหกรรมข้าวไทยกลับคืนมา พ่อค้าข้าวไทยที่มีคุณภาพ ระบบการค้าที่อาศัยข้าวที่มีคุณภาพนี้จะหมดไป แล้วพ่อค้าก็ไปทำธุรกิจต่างประเทศ ไปช่วยต่างประเทศหรือไม่ก็เลิกอาชีพไป วันใดวันหนึ่งถ้ามันพังไปแล้ว เราจะเอาคนพวกนี้กลับมาทำไม่ได้ ยกตัวอย่างระยะสั้นง่ายๆ เวลานี้ที่บอกเรื่องคุณภาพข้าวนี่เห็นชัดเจนเลย คุณเอาข้าวหอมมาเก็บไว้ในคลัง ความหอมในข้าวนี่มันเป็นสารระเหย 4-5 เดือน นี่ความหอมมันไปเกือบหมด แล้วมันก็แข็งขึ้น ราคาตก เวลาที่เขาขายข้าวหอมเขาจะขายกันต้นปีนะครับ เกี่ยวมาเสร็จแล้วเนี่ย ฮ่องกงจะรีบซื้อ แล้วฮ่องกงจะมีห้องเย็นพิเศษของเขา เราไม่ต้องสต็อก ก็รีบขายไปให้เขา ส่วนข้าวนึ่งเป็นข้าวธรรมดา แล้วเราขายได้ให้อาหรับ ให้แอฟริกา แล้วมันต้องเอาข้าวเปลือกมานึ่ง แล้วพอรัฐบาลรับจำนำข้าว 7 วันนี่เอาข้าวเปลือกมาสีหมด ไม่มีข้าวนึ่งขาย เวลานี้ก็เปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้าน ให้เวียดนาม ให้อินเดียเขาส่งข้าวนึ่ง ทั้งๆที่เป็นข้าวราคาสูง รัฐบาลบอกอยากขายข้าวราคาแพง เรากำลังทำสิ่งที่มันตรงกันข้าม ผลที่ออกมามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการอยากให้เป็น
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับพูดคุยเรื่องข้าวมาหลายวันก็มีคนใจดีครับ ส่งเอกสารมา เป็นเอกสารจากกระทรวงการคลังส่งไปถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงว่าด่วนที่สุด ดูหน้าสุดท้ายลงชื่อว่ามาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทีนี้จะจับประเด็นว่าคุณกิตติรัตน์เป็นคนของรัฐบาลแล้วส่งอะไรมาถึงรัฐบาลมีหลายต่อหลายประเด็น อ่านแล้วไม่เข้าใจต้องขอถามนักเศรษฐศาสตร์หน่อย ในประเด็นที่ห้า เขาบอกว่าพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรอบวงเงินการค้ำประกันและการให้กู้ต่อเป็นบาท ตามมาตร 25 และ 28 นี้นะครับ กำหนดให้ในปีงบประมาณที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันและการให้กู้ต่อเป็นบาทได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งในปี 2556 มีกรอบวงเงินดังกล่าวอยู่ที่ 480,000 ล้านบาท และเนื่องจากกรอบวงเงินกู้และวงเงินค้ำประกันดังกล่าวมีอยู่อย่างจำกัด คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้พิจารณาเห็นชอบและรับทราบแผนนี้แล้ว และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการยริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2556 ซึ่งภายใต้แผนการดังกล่าวมีกรอบเงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ 150,000 ล้านบาท คุยไปคุยมาทั้งหมดนี้เขาสรุปว่า กรอบเงินที่ไปกู้มาทั้งหมดนี้ที่เอามาใช้กับเรื่องข้าว คิดเป็นร้อยละ 55 ของกรอบวงเงินค้ำประกันตาม พรบ. บริหารหนี้สาธารณะ ที่อ้างถึงทั้งหมด อาจารย์ครับนี่มันภาษาเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ เขาบอกว่า มีอยู่ 480,000 ล้านใช้ไปแล้วร้อยละ 55 หมายความว่าไงครับ
อาจารย์นิพนธ์ : ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ท่านเห็นปัญหา ทุกวันนี้รัฐบาลมีรายการใช้จ่ายเยอะ ถ้าเอาเงินไปใช้จ่ายเรื่องข้าวไป 55% ก็เหลือเงินที่เอาไปพัฒนาประเทศ ไปทำถนน ไฟฟ้า ประปา 45% แล้วถ้าสมมุติมีข้าวเพิ่มขึ้นมาอีก ภาระหนี้สาธารณะนี้มันก็เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องกู้เงินมาถมรายการนี้มากขึ้น ก็หมายความว่ารัฐบาลจะเหลือเงินที่ใช้ในการลงทุนพัฒนาประเทศน้อยลง ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีการคลังที่ท่านเป็นห่วงเรื่องนี้
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับแล้วนักเศรษฐศาสตร์ ท่านรัฐมนตรีคลัง ทำหนังสือนี้ออกมาแสดงถึงความกังวลอะไรครับ
อาจารย์นิพนธ์ : ผมคิดว่าเรากังวลว่าจะไม่มีเงินไปพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่าโครงการนี้เป็นการกระตุ้นรายได้ เพราะว่าไปทำให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการกระตุ้นรายได้มันต้องมีการกู้เงินมาใช้ เสร็จแล้วมันก็ทำให้ไปเบียดเม็ดเงินที่จะไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วอะไรคือที่สุดของความน่ากลัวของโครงการรับจำนำข้าวนี้ครับ
อาจารย์นิพนธ์ : ที่สุดแล้วนี่เราก็รู้ว่ารัฐบาลไม่มีปัญญาขายข้าวหรอก แล้วเราก็ดูสถิติในการขายข้าวก็รู้ว่ามันขายไม่ได้จริง จนสุดท้ายเราก็จะขาดทุนสะสมไปเรื่อยๆ ปีนึงแสนกว่าล้าน มันยังไม่พังหรอก แต่ถ้าทำติดต่อกันสามสี่ปี กลายเป็นเงินสี่ห้าแสนล้าน ถึงวันใดวันหนึ่งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากระทบกระเทือนประเทศไทย ถึงวันนั้นรัฐบาลจะไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ในการพยุงภาวะเศรษฐกิจให้มันกลับดีขึ้นมา แล้วถ้ารัฐบาลตัดสินใจลุย ใช้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก ตอนนั้นจะเกิดเรื่องใหญ่เกิดวิกฤตเหมือนประเทศกรีกเวลานี้ แล้วเมื่อเกิดวิกฤต เงินไหลออก ต่างประเทศเลิกเชื่อมั่น ก็ต้องรัดเข็มขัด คนที่เดือดร้อนที่สุดก็จะเป็นประชากรที่ยากจน เพราะเวลาที่รัฐบาลต้องรัดเข็มขัดก็จะต้องตัดรายจ่ายทางสังคมที่จะกระทบกระเทือนกับคนจน คนชั้นล่าง แล้วคนพวกนี้หนีไปไหนไม่ได้ แต่คนชั้นบนขนเงินออกนอกประเทศได้ คนที่มีฐานะหนีออกไปอยู่นอกประเทศได้ คนที่มีความรู้หนีออกไปอยู่นอกประเทศได้ คนที่ฐานะไม่ดีต้องอยู่ในประเทศก็เกิดภาวะฝืดเคือง อดอยาก ลำบาก นี่คือวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะละตินอเมริกา
ผู้ดำเนินรายการ : ทั้งหมดนี้คือตอบโจทย์ในค่ำคืนนี้ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ที่มา รายการตอบโจทย์ ตอน "จำนำข้าว...หายนะเศรษฐกิจข้าวไทย" กับแขกรับเชิญ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกอากาศ 15 ตุลาคม 2555
ผู้ดำเนินรายการ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
ดูเรื่องราวน่ารู้ ความรู้ทั่วไป สุขภาพ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี อื่นๆได้ที่นี่
http://megatopic.blogspot.com
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น