ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลักการเขียนนิยาย(ฉบับปรับปรุง)

    ลำดับตอนที่ #2 : ควรทำอย่างไรเมื่อจะเริ่มเขียนนิยาย?

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 13.03K
      197
      20 มี.ค. 56



    คุยกันก่อน

     

    หลังจากที่พบว่าบทความ หลักการเขียนนิยายเบื้องต้นมีน้องๆ หลายคนสนใจ และนำมันไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 ซึ่งตัวพี่เองก็ภูมิใจมาก ที่น้องๆ ได้ประโยชน์จากบทความนั้นเป็นเวลาช้านาน
     

    และไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าบทความอันเกิดจากการแนะนำด้วยปลายปากกาของพี่สาวคนนี้ จะแพร่กระจาย และถูกส่งต่อให้เหล่าน้องๆ รุ่นหลังได้ประโยชน์ตามไปด้วย

    แม้บทความในช่วงแรก จะไม่ได้ผ่านการตรวจทานคำผิดเลย ซึ่งเป็นบทความแนะนำที่มีข้อบกพร่อง เพราะคำบางคำอาจส่งผลให้น้องๆ นำไปใช้แบบผิดๆ และเขียนไม่ถูกตามต้นแบบการแนะนำในบทความของพี่

    ต้องขอออกตัวก่อนว่า พี่ไม่ใช่นักเขียนนิยายที่เก่งกาจแต่อย่างใด เพียงแค่อยากแบ่งปันประสบการณ์จากเวทีนักเขียนให้น้องๆ ได้ใช้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้เท่านั้น ด้วยใจประสงค์ว่าเมื่อน้องๆ เติบโตขึ้นจากเวทีแห่งนี้ มันจะทำให้รากฐานในการเขียนของน้องๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีที่สุด

     

    ขอเอาอะไรมาชำแหละให้น้องๆ ได้อ่านกันในบทเกริ่นนำเสียหน่อย เรื่องแรกจะขอกล่าวในการใช้ไวยากรณ์ และการสะกดที่ถูกต้อง ซึ่งมันมีประโยชน์มากๆ ในการสะกดคนอ่านให้ไม่สะดุด เพราะบางทีเจ้าคำผิดจำนวนเล็กน้อยก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเบื่อแบบกะทันหันขึ้นในทันทีที่พบเจอ

     

    พี่สาวจะขอยกตัวอย่างนำมาให้ทราบกัน เพราะจุดประสงค์ที่จะทำให้น้องๆ หลายคนเข้าถึง และแยกแยะว่ามันสำคัญได้อย่างไร?

     

    ตัวอย่างที่ 1

     

    อดัมวิ่งอยู้บนทางเท้า เขาเดินใปเกบดอกเดซี่ขึ้นมาดม จมูกของเขาสำผัดอะไรบางอย่างได้ มันไม่เหมือนดอกเดซี่ที่เขาเคยลู้จัก

     

    ถ้าถามพี่อัญว่ารูปแบบการบรรยายสวยไหม พี่สาวคนนี้ให้คะแนนเกือบเต็ม ซึ่งน่าจะแปลว่าดี แต่ด้วยรูปแบบประโยคที่สละสลวยเพียงใด มันก็ไม่สามารถทำให้คนอ่านรู้สึกชื่นชอบได้แน่ๆ เพราะทุกคนที่อ่านต้องใช้เวลาในการสะกดคำที่ไม่มีในพจนานุกรม และคนอ่านก็จะเบื่อลงโดยเร็วที่สุด ถ้าทั้งหน้ากระดาษมีแต่คำผิดเยอะแยะ
     

    การตรวจทานนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำเป็น แม้แต่นิยายของนักเขียนมืออาชีพยังต้องการคนมาพิสูจน์ตัวอักษร ซึ่งโดยวิสัยของนักเขียนจริงๆ แล้ว ทุกคนควรเริ่มใช้คำให้ถูกต้องจนติดเป็นนิสัยจะดีกว่า

     

    เพียงแค่ปรับเปลี่ยนแก้คำให้ถูกต้อง(หมายถึงให้สะกดถูกต้อง) น้องๆ ก็จะได้นิยายที่เนี้ยบเหมือนเป็นระดับมืออาชีพขั้นต้นแล้วจริงๆ

     

    อดัมวิ่งอยู่บนทางเท้า เขาเดินไปเก็บดอกเดซี่ขึ้นมาดม จมูกของเขาสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง ซึ่งมันไม่เหมือนดอกเดซี่ที่เขาเคยรู้จักมาก่อน

     

    จากตัวอย่างข้างบนพี่คิดว่าน้องๆ คงสังเกตเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า... การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องมันยกระดับมาตรฐานในงานเขียนได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งในเวลาที่เราตรวจทานซ้ำอีกรอบ ตัวเราเองมักจะสังเกตเห็นเองว่าควรเพิ่มลด หรือตัดทอนคำบางคำให้ดูสละสลวยแบบไหน และนั่นก็คือเคล็ดลับอีกข้อที่พี่อัญภูมิใจเสนอ

     

    นิยายที่ดีมักมีคำเขียนผิดหรือพิมพ์ตกน้อยมาก บ่งบอกให้รู้ถึงความตั้งใจของนักเขียนนิยายว่า..พวกเขาเหล่านั้นมีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะนำมาตัดสินคุณภาพของนักเขียน

     

    แล้วด้วยความกลัวจะเสียเวลาของน้องๆ ที่กำลังมีไฟลุกโชติช่วง พี่สาวเลยจะขอบอกใบ้กลเม็ดเคล็ดลับอีกข้อหนึ่ง ที่นักเขียนส่วนมากไม่ค่อยรู้กันมาบอก ก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหาหลักๆ ในการสอนเขียนนิยาย
     

    เพราะเหตุใดพี่ถึงนำเกร็ดเล็กๆ มาบอกกล่าวขึ้นต้น ขอตอบกลับเพียงคำเดียวว่า นี่คือพื้นฐานที่ดีที่สุดสำหรับนักเขียนเบื้องต้นจนไปถึงนักเขียนมืออาชีพเลยทีเดียว

     

    การอ่าน

     

    การอ่านนั้นทำให้เรารู้ตะเข็บของประโยคได้เร็วที่สุด และยังทำให้เรารู้ถึงรูปแบบประโยคที่เรียงร้อยได้ไม่งดงามเท่าที่ควรด้วย แต่การอ่านที่พี่อัญกำลังพูดถึงคือ การอ่านงานของตัวเอง ด้วยการอ่านออกเสียง

     

    อธิบายไปน้องๆ คงยังไม่เข้าใจแน่นอน แต่บทความสอนเขียนนิยายของพี่สาวส่วนมากก็เน้นรูปแบบเข้าใจง่ายอยู่แล้ว ดังนั้นจะให้น้องๆ ลองอ่านประโยคข้างล่างด้วยการอ่านออกเสียงดู และไม่จำเป็นต้องอ่านด้วยน้ำเสียงอันดังเท่าไหร่ เพียงแต่ให้น้องๆ ตระหนักถึงอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้ว่า ประโยคมันไม่ไหลลื่น!

     

    ท้องฟ้ายามเช้าแดดทอแสงเป็นประกายเจิดจ้า นกน้อยตัวหนึ่งบินว่อนเป็นรูปวงกลมเหมือนพยายามจะบอกอะไรบางอย่าง เป็นเวลาเดียวกับที่แฮรี่ พอเถอะ หันขวับขึ้นไปมองโดยทันที เด็กชายมองอยู่นาน เขาไม่รู้ว่าบางอย่างที่ว่านั้นคืออะไร แต่ทุกๆ ครั้งที่เขามอง เขาเริ่มเห็นอะไรบางอย่างดำมืดลอยล่องวนตามก้นของเจ้านกน้อยตัวนั้น ราวกับว่ามันกำลังไล่งับเหมือนหมาล่าเนื้อเลยทีเดียว

     

    ถ้าอ่านออกเสียงแล้วจะทราบได้ทันทีว่ารูปประโยคมันดูไม่เข้ารูปเข้ารอย แต่ถ้าอ่านในใจก็จะมองไม่เห็นว่ามันติดขัดตรงไหน ซึ่งจุดเล็กๆ ที่ทำให้ต้องฝืนอ่าน หรือหยุดกึกลงนั่นแหละที่เราเรียกว่าตะเข็บข้อต่อของประโยค

     

    พูดไปน้องๆ อาจจะยังไม่เห็นภาพได้ชัดเจน พี่อัญจะขอลงมือแก้ประโยคให้น้องๆ ได้อ่านออกเสียงใหม่กันอีกที

     

    ท้องฟ้ายามเช้าตรู่มีแสงแดดทอเป็นประกาย และในเวลานั้นเอง เจ้านกน้อยตัวหนึ่งก็บินวนไปมาเป็นรูปวงกลมด้วยอาการกระสับกระส่าย ดูราวกับว่ามันพยายามจะบอกอะไรบางอย่างที่อันตราย แฮรี่ไม่ทันสังเกตเห็น หลังจากเขายืนมองพฤติกรรมของมันเป็นเวลานาน แต่แล้วเด็กชายก็ต้องเด้งตัวลุกขึ้น เมื่อเขาพบเงาร่างสีดำขนาดมหึมากำลังบินไล่ตามหลังเจ้านกอ้วนตัวนั้นอยู่

     

    พี่สาวอยากให้น้องๆ ลองเปรียบเทียบความรู้สึกที่ได้อ่านออกเสียงในตัวอย่างที่หนึ่งและสองดู ซึ่งพี่อัญขอรับประกันเลยว่า น้องๆ ต้องรู้สึกว่าการอ่านออกเสียงในตัวอย่างที่สองนั้นง่ายกว่า แม้เนื้อเรื่องจะคล้ายคลึงกันก็ตามที

    และสิ่งที่พี่กำลังจะบอกก็คือ ตัวอย่างที่สองแม้อ่านในใจก็จะได้ความรู้สึกไหลลื่นมากกว่า จนลืมไปเลยว่า มันเป็นเพียงตัวอย่างที่ให้ทดลองอ่านเท่านั้น

    น้องๆ ลองกลับไปอ่านงานเขียนของตัวเองดูอีกครั้งด้วยการอ่านออกเสียงนะคะ และเมื่อใดที่น้องๆ พบว่าอ่านแล้วรู้สึกประโยคมันจะตะกุกตะกักล่ะก็ แสดงว่ามนต์สะกดอย่างหนึ่งได้หายไปจากบทความของน้องๆ แล้ว

    จงอย่าลืมว่านิยายที่ดีควรทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกไหลลื่นเพื่อซึมซับเนื้อหาของนิยายเข้าไปให้มากที่สุด และเพื่อการนั้น น้องๆ จะหลีกเลี่ยงการตรวจทานไม่ได้แม้แต่ประโยคเดียว จงพยายามนึกถึงความรู้สึกของคนอ่านอยู่เรื่อยๆ เพราะนักเขียนที่ดี ย่อมต้องเป็นนักอ่านที่ดีด้วย

     

     

     

     

     

    วรรคตอนสำคัญไฉน...

     

    มาพูดถึงพื้นฐานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก่อนจะเข้าสู่บทเรียนอย่างจริงจัง พี่อัญกำลังคิดว่า..น้องๆ ควรมีพื้นฐานในการวรรคข้อความให้ได้ใจความเสียก่อน

     

    การวรรคข้อความนั้น ไม่ใช่จู่ๆ นึกจะวรรคก็วรรคได้เลยนะคะ ควรมีพื้นฐานในการเว้นวรรคตอนเพื่อระบุใจความนั้นๆ ให้เป็นรูปประโยคขึ้นมา

    มันก็เหมือนการกำหนดลมหายใจในการอ่าน ซึ่งเวลาคนเราพูดกันโดยที่ไม่ใช่ภาษาเขียนก็คงเรียกได้ว่า หยุดหายใจ

    ใช่ค่ะ! เราจะหยุดลมหายใจของคนอ่านด้วยเครื่องหมายวรรคตอน และจะหยุดให้คนอ่านพักชั่วประเดี๋ยวเพื่อให้คนอ่านมีเวลาในการรับข้อความเพื่อแปลรูปก่อนเข้าสู่สมอง

    ส่วนนี้ก็สำคัญ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ควรมาเรียนรู้ได้ทีหลังในระหว่างเขียน แน่นอน..น้องๆ ควรรับทราบก่อนเริ่มเขียนตั้งแต่ตอนนี้

     

    พี่ยกตัวอย่างให้น้องๆ ได้ลองอ่านแล้วเปรียบเทียบเลยนะคะ

     

    ตัวอย่างที่ 1

     

    อรุณ เป็นเด็กเลี้ยงแกะซึ่งเขามีแกะอยู่ตัวหนึ่งที่มีสีสันแปลกตาออกไป แกะตัวนั้นของเขามีเขายาวโง้งคล้ายกับนอแรดมีจงอยปากโผล่ยื่นออกมาเหมือนนกแก้ว และที่สำคัญไปกว่านั้นแกะตัวนี้ยังมีขาทั้งหมด หกขา

     

    ตัวอย่างที่ 2

     

    อรุณเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ซึ่งเขามีแกะอยู่ตัวหนึ่งที่มีสีสันแปลกตาออกไป แกะตัวนั้นของเขามีเขายาวโง้งคล้ายกับนอแรด มีจงอยปากโผล่ยื่นออกมาเหมือนนกแก้ว และที่สำคัญไปกว่านั้น แกะตัวนี้ยังมีขาทั้งหมดหกขา

     

    หากน้องๆ สังเกตดีๆ จะพบว่าการเขียนบรรยายทั้งสองตัวอย่างเหมือนกัน จะมีก็แค่รูปแบบการเว้นวรรคที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งพี่สาวคงไม่ต้องแนะนำอีกว่าแบบไหนเป็นแบบที่ถูกต้อง พี่อัญรู้..น้องๆ ทุกคนเข้าใจแล้วว่าแบบไหนเป็นแบบที่น่านำมาใช้

     

    การเว้นวรรค อาจรวมไปถึงรูปแบบการเว้นบรรทัดเพื่อดึงอารมณ์ของผู้อ่านให้สนใจมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับฉากในการ์ตูนที่ใช้การเขียนลายเส้นแสดงถึงความอลังการณ์เร้าอารมณ์ของผู้อ่านด้วยภาพของพื้นหลัง

     

    เช่น ตัวอย่างที่ 1

     

    ตูม! เสียงระเบิดดังขึ้น เอ็ดมันไม่รู้ว่ามันมาจากที่ไหน และชั่วอึดใจหนึ่ง เขาก็สังเกตเห็นอะไรบางอย่างโผล่พ้นขอบกำแพงเข้ามา โครม! ใบหน้าผิดแผกจากมนุษย์นั้นกำลังแสยะยิ้ม เอ็ดมันหน้าซีดลงในทันทีที่เขาพบเห็น ชายหนุ่มไม่รู้ว่ามันคือตัวอะไรกันแน่!

     

    ตัวอย่างที่ 2

     

    ตูม!

     

    เสียงระเบิดดังขึ้น เอ็ดมันไม่รู้ว่ามันมาจากที่ไหน และชั่วอึดใจหนึ่ง เขาก็สังเกตเห็นอะไรบางอย่างโผล่พ้นขอบกำแพงเข้ามา

     

    โครม!

     

    ใบหน้าผิดแผกจากมนุษย์นั้นกำลังแสยะยิ้ม

     

    เอ็ดมันหน้าซีดลงในทันทีที่เขาพบเห็น ชายหนุ่มไม่รู้ว่ามันคือตัวอะไรกันแน่!

     

     

     

    จากที่น้องๆ เห็นจากตัวอย่าง น้องๆ คงพอทราบแล้วว่า การเว้นบรรทัดเพื่อแสดงคำเอฟเฟคนั้น สามารถเร้าอารมณ์คนอ่านได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันจะมีประโยชน์ในช่วงน้องๆ ต้องการทำให้คนอ่านตื่นเต้น งุนงง สงสัย รวมไปถึงฉากที่ต้องการใช้ในการเปิดตัวของเรื่อง

     

    ซึ่งพี่อัญคิดว่านี่คือการ เริ่มที่จะเขียนเบื้องต้นจริงๆ และเป็นความรู้ที่ไม่เคยมีใครแนะนำแบบเข้าใจง่ายๆ สักเท่าไหร่ และมันก็เป็นจุดที่น้องๆ ควรเรียนรู้ก่อนที่จะเข้าสู่บทต่อไป

     

     

     

    คอมเม้นต์หรือติดต่อพี่อัญยาได้ที่ด้านล่างเลยค่ะ สำหรับน้องๆ ที่ต้องการรู้ให้ลึกกว่านั้น ก็สามารถถามไถ่กันได้แบบเป็นกันเอง แล้วพบกันในบทหน้านะคะ สวัสดีค่ะ (บทความนี้มีลิขสิทธิ์ โปรดให้เครดิตชื่อดิฉันในการเผยแพร่ข้อความด้วย ไม่ได้ต้องการประโยชน์อย่างอื่นมากมายไปกว่านั้น) นามแฝงปากกาบทความ อัญยา

    ตรวจทานคำผิด โดย 
    Love Actually

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×